ยาขับเสมหะ (Expectorants) และยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 11 พฤศจิกายน 2556
- Tweet
ก่อนอื่น เรามาดูการกำจัดเสมหะโดยธรรมชาติของร่างกายก่อน ซึ่งโดยปกติระบบทางเดินหายใจมีการสร้างมูกตลอดเวลาอยู่แล้ว เพื่อให้ความชุ่มชื้น ป้องกัน และกำจัดเชื้อโรค มูกที่ขับออกมาทางปากเรียกว่า “เสมหะ” นั่นเอง (ปกติเรากลืนลงท้อง) เมื่อมีการอักเสบหรือติดเชื้อในระ บบทางเดินหายใจ จะมีการหลั่งสารต่างๆ/มูกออกมามากขึ้น โดยเฉพาะสารในกลุ่มโปรตีน ทำให้เสมหะเหนียวข้นมากขึ้น การขับออกจึงยากขึ้น
ยาขับเสมหะ (Expectorants)
ยาขับเสมหะ คือยาที่ออกฤทธิ์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้มูก ทำให้เสมหะมีความเหนียวข้นน้อย ลง ไอหรือขับออกมาได้ง่ายขึ้น เนื่องจากในคนที่ป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจ นอกจากเสมหะจะมากขึ้น เหนียวข้นขึ้นแล้ว ยังมักจะแห้งกว่าปกติ จากมีการหายใจที่เร็วขึ้น จึงทำให้เยื่อเมือกที่บุในทางเดินหายใจ และมูก แห้งลงกว่าปกติ
ยาที่ขายในท้องตลาด เช่น
- Guaifenesins (Glycerol guaicolate) ซึ่งเป็นส่วนผสมโดยทั่วไปของยาบรรเทาอาการหวัดในท้องตลาด
- Terpin hydrate
- Ammonium chloride และ
- การรักษาด้วยการดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียง ก็ช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะ และช่วยให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้นขึ้นได้ครับ
ยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
ยาละลายเสมหะ คือยาที่ออกฤทธิ์ในการทำลายการเกาะกันของโปรตีนในมูก ทำให้เสมหะมีความเหนียวข้นลดลง โดยอาจจะย่อยโปรตีน หรือเพียงแค่ทำลายคุณสมบัติทางเคมีก็ได้ ทำให้เสมหะใส ความเหนียวลดลง จึงขับเสมหะออกมาง่ายขึ้น
ยาในกลุ่มนี้ที่มีขายในท้องตลาดบ้านเรา เช่น
- Acetyl cysteine ซึ่งพบว่ามีประโยชน์ในคนไข้โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(โรคซีโอพีดี/COPD)
- Carbocysteine เป็นยาในกลุ่มเดียวกันกับ Acetyl cysteine คือ ออกฤทธิ์เหมือนกัน
- Bromhexine
- Ambroxol
สรุป
ยาทั้งสองกลุ่ม ไม่ได้แตกต่างกันในเรื่องผลการรักษา และไม่เกี่ยวกับการรักษาการติดเชื้อครับ ชอบตัวไหนใช้ตัวนั้น
อนึ่ง
1.ในเด็กสามารถใช้ยาได้ทั้ง 2 กลุ่ม แล้วแต่แพทย์จะเห็นเหมาะสม รวมทั้งใช้ในหญิงตั้งครรภ์ได้ด้วย แต่ทั้งนี้ต้องใช้ในปริมาณตามที่ระบุในฉลากยาเท่านั้น ซึ่งการใช้ยาในผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้ วิธีที่ปลอดภัยที่สุด คือ ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
2 ต้องตระหนักเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาว่า เมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ
บรรณานุกรม
- http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=169 [2013,Oct28].
- http://utaisuk.blogspot.com/2013/01/blog-post_26.html [2013,Oct28].