มีโซทีลิโอมา (Mesothelioma)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 4 กันยายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดมีโซทีลิโอมา?
- มีโซทีลิโอมามีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยมีโซทีลิโอมาได้อย่างไร?
- มีโซทีลิโอมามีกี่ระยะ?
- รักษามีโซทีลิโอมาอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?
- มีโซทีลิโอมามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- มีวิธีตรวจคัดกรองมีโซทีลิโอมาไหม?
- ป้องกันมีโซทีลิโอมาได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- เนื้องอก (Tumor)
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- โรคปอด (Lung disease)
- ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
บทนำ
มีโซทีลิโอมา/เมโสเธลิโอมา (Malignant mesothelioma นิยมเรียกสั้นๆว่า Mesothelioma)คือ เนื้องอกร้ายแรง/มะเร็งของเนื้อเยื่อชนิดที่เรียกว่า Mesothelium ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อบางๆที่ ปกคลุม ห่อหุ้ม ป้องกัน อวัยวะต่างๆที่อยู่ภายในร่างกายทุกอวัยวะ เช่น เยื่อหุ้มปอด (มะเร็งเยื่อหุ้มปอด/ Pleural mesothelioma หรือ Malignant pleural mesothelioma), เยื่อบุช่องท้อง (มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง/ Peritoneal mesothelioma หรือ Malignant peritoneal mesothelioma), เยื่อหุ้มหัวใจ(มะเร็งเยื่อหุ้มหัวใจ/ Pericardial mesothelioma) เป็นต้น
มีโซทีลิโอมา เป็นมะเร็งพบน้อย มักมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือการสัมผัสกับฝุ่นแร่ใยหิน(Asbestos)เรื้อรัง/โรคแอสเบสโตสิส(Asbestosis)
แร่ใยหิน เป็นแร่ธรรมชาติของเปลือกโลก(พื้นผิวโลก คือ แร่ธาตุในหิน และในดิน) ที่ลักษณะเป็นเส้นใยที่มีคุณสมบัติ ทนความร้อน ทนไฟ ทนต่อสารเคมีต่างๆ และราคาถูก จึงนิยมนำมาทำเป็นอุปกรณ์ ฉนวนไฟฟ้า ฉนวนความร้อน วัสดุก่อสร้างต่างๆ เช่น กระเบื้อง และเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างผนังอาคาร ซึ่งปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้มีข้อกำหนดชัดเจนโดยเฉพาะปริมาณในการใช้แร่ชนิดนี้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
ใยแร่ใยหิน มีคุณสมบัติที่เมื่อร่างกายได้รับจากการสูดดม และจากการสัมผัส จะส่งผลให้เกิดการอักเสบ(ชนิดไม่ใช่จากการติดเชื้อ) ระคายเคือง ต่อเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะ เนื้อเยื่อปอด และเนื้อเยื่อหุ้มอวัยวะต่างๆที่เรียกว่า Mesothelium จนก่อให้เกิดเป็นพังผืดถาวรของเนื้อเยื่อนั้นๆ ซึ่งเนื้อเยื่อพังผืดที่เกิดขึ้นเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งได้ โดยเป็นมะเร็งชนิดที่เรียกว่า “เนื้องอก/มะเร็งมีโซทีลิโอมา (Malignant mesothelioma หรือ Mesothelioma)”
มีโซทีลิโอมา ที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ จะมีธรรมชาติของโรคเหมือนกัน จึงมีวิธีรักษาเหมือนกัน มีการพยากรณ์โรคเหมือนกัน ที่พบบ่อย คือ ที่เยื่อหุ้มปอด รองไปคือ เยื่อบุช่องท้อง นอกนั้น ที่มีรายงานน้อยมาก เช่นที่ เยื่อหุ้มหัวใจ หรือ เยื่อหุ้มอัณฑะ เป็นต้น
มีโซทีลิโอมา เป็นโรคพบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบบ่อยในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 3 เท่า โดยในคนงานเหมืองแร่ ใยหินมักพบโรคหลังได้รับฝุ่นใยหินต่อเนื่องนานประมาณ 20-30 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ทั่วโลกพบโรคมีโซที่ลิโอมาได้แตกต่างกัน ตามเชื้อชาติ การทำเหมืองแร่ใยหิน และการนำแร่ใยหินมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยในแต่ละปีพบโรคนี้ได้ประมาณน้อยกว่า 1 ถึง 40 รายต่อประชากร 1 ล้านคน
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดมีโซทีลิโอมา?
สาเหตุเกิดมีโซทีลิโอมาที่แน่นอน ยังไม่ทราบ แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือการได้รับฝุ่นแร่ใยหินเรื้อรัง ดังได้กล่าวแล้วใน”บทนำ”
ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น ที่มีรายงาน เช่น
- การได้รับสารเคมีที่ชื่อ Thorium dioxide ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเกี่ยวการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ต่อเนื่อง หรือในปริมาณสูง
- นอกจากนั้น มีรายงานว่า อาจสัมพันธ์กับการมีความผิดปกติทางพันธุกรรม (จีน/ยีน/Gene)ชนิดไม่ถ่ายทอด ที่เรียกว่า Tumor suppressor gene
มีโซทีลิโอมามีอาการอย่างไร?
อาการของมีโซทีลิโอมา เป็นอาการที่เกิดจาก
- การกดเบียดทับของก้อนเนื้อมะเร็งต่ออวัยวะข้างเคียง
- อาการระคายเคืองจากการเกิดพังผืดในเยื่อหุ้มอวัยวะต่างๆ และในเนื้อเยื่อของอวัยวะเหล่านั้นเอง
- และอาการจากมีการสร้างน้ำ/ของเหลวสร้างจากจากเซลล์มะเร็งที่ส่งผลให้เกิดภาวะมีน้ำ/ของเหลวขังในอวัยวะนั้นๆ ซึ่งยิ่งก่อให้เกิดการกดเบียดทับต่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดโรคมากยิ่งขึ้น เช่น ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดเมื่อเกิดมีโซทีลีโอมาของเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น
ซึ่ง อาการจาก มีโซทีลิโอมา จะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งและชนิดของอวัยวะที่เกิดโรค เช่น
ก. เมื่อเกิดโรคในเยื่อหุ้มปอด และ/หรือในเนื้อเยื่อปอด: อาการที่พบ เช่น
- ไอเรื้อรัง มักร่วมกับเจ็บหน้าอกเวลาไอ
- แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ/หายใจลำบาก เนื่องจากมีพังผืดและก้อนเนื้อในปอด ในเยื่อหุ้มปอด ร่วมกับยังเกิดมีของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอด(ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด)
- และน้ำหนักตัวจะลดลงอย่างมาก
ข. เมื่อเกิดโรคในเยื่อบุช่องท้อง: อาการที่พบ เช่น
- แน่น อึดอัดท้อง จากก้อนเนื้อ และจากมีน้ำในท้อง/ท้องมาน
- เหนื่อย หอบ/หายใจลำบากจากก้อนเนื้อและน้ำในท้องเบียดดันกะบังลม
- กินได้น้อย คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย และ/หรือ ลำไส้อุดตัน จากการกดเบียดทับกระเพาะอาหารและลำไส้ของก้อนเนื้อและจากน้ำในท้อง
- ผอมลงแต่น้ำหนักตัวไม่ลดมาก เพราะมีน้ำหนักตัวเพิ่มจากน้ำในท้อง
- และอาจคลำพบก้อนเนื้อผิดปกติในช่องท้อง
ค. เมื่อเกิดโรคที่เยื่อหุ้มหัวใจ: อาการที่พบ เช่น
- เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นผิดปกติ เต้นเบา
- ความดันโลหิตต่ำ
- เหนื่อยมาก
- ตัวบวม
- ภาวะช็อก
ง. เมื่อเกิดโรคกับเยื่อหุ้มอัณฑะ: อาการที่พบ เช่น
- อัณฑะข้างเกิดโรค บวม มีก้อนเนื้อที่โตเร็ว ร่วมกับ
- ปวด และเจ็บอัณฑะ
นอกจากนั้น คือ อาการจากการแพร่กระจายของโรค ซึ่งมักแพร่กระจายไปในเนื้อปอด และไปเยื่อหุ้มปอดตำแหน่งต่างๆทั่วช่องอกทั้งปอดซ้ายและปอดขวา ซึ่งอาการจะเช่นเดียวกับที่กล่าวใน หัวข้อ อาการเมื่อเกิดโรคที่เยื่อหุ้มปอดแต่เป็นอาการที่ รุนแรงกว่ามาก
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” เช่น การไอเรื้อรัง ผอมลงโดยไม่ทราบสาเหตุ คลำได้ก้อนเนื้อในอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงต่อการสูดดมแร่ใยหิน เช่น ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหิน ควรรีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยมีโซทีลิโอมาได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมีโซทีลิโอมาได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ อาชีพ สิ่งแวดล้อม การสัมผัสแร่ใยหิน
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจภาพอวัยวะที่มีอาการด้วย เอกซเรย์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เช่น ที่ปอด(เมื่อมีอาการทางการหายใจ), ที่ช่องท้อง เมื่อมีอาการทางช่องท้อง เป็นต้น
- แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนจะได้จาก
- การเจาะ/ดูดน้ำ หรือ เซลล์จากก้อนเนื้อ เพื่อการ ตรวจทางเซลล์วิทยา
- หรือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ซึ่งเมื่อทราบว่าเป็น มีโซทีลิโอมา แน่นอนแล้ว แพทย์จะตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อประเมินระยะของโรค เช่น
- เอกซเรย์ปอด หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด เพื่อดูการลุกลามแพร่กระจายของโรค(ถ้ายังไม่ได้ตรวจในช่วงวินิจฉัยโรค)
- การตรวจช่องท้องและตับด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูการแพร่กระจายของโรคเช่นกัน
- และการตรวจเลือดเพื่อดูสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย เช่น
- การตรวจซีบีซี/CBC
- การตรวจค่าน้ำตาลในเลือด(ดูโรคเบาหวาน)
- ตรวจดูการทำงานของไต และของตับ เป็นต้น
- การตรวจปัสสาวะ
มีโซทีลิโอมามีกี่ระยะ?
การจัดระยะโรค มีเฉพาะมีโซทีลิโอมาของเยื่อหุ้มปอด ส่วนโรคที่เกิดกับอวัยวะอื่นๆให้อนุโลมปรับใช้จากระยะโรคของมีโซทีลิโอมาเยื่อหุ้มปอด เพราะโรคนี้ในอวัยวะอื่นๆนอกเหนือจากเยื่อหุ้มปอด เป็นโรคพบน้อยมาก จึงไม่สามารถนำมาศึกษาจนกำหนด/จัดเป็นระยะโรคได้
มีโซทีลิโอมาของเยื่อหุ้มปอดแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่1: โรคลุกลามอยู่เฉพาะในเยื่อหุ้มปอดเพียงปอดด้านเดียว โดยไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง หรือแพร่กระจาย โรคระยะนี้ยังสามารถผ่าตัดได้ ซึ่ง
- ถ้าโรคลุกลามไม่มาก จัดเป็นระยะ 1A
- ถ้าโรคลุกลามมาก จัดเป็นระยะ 1B
- ระยะที่2: โรคยังลุกลามอยู่ในเยื่อหุ้มปอดด้านเดียว ร่วมกับลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องอกด้านเดียวกับรอยโรค และโรคยังสามารถผ่าตัดได้
- ระยะที่3: แบ่งเป็น 2 ระยะย่อย คือ
- ระยะ3A: โรคยังลุกลามอยู่ในเยื่อหุ้มปอดด้านเดียว แต่ลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียงหลายอวัยวะ เช่น กะบังลม ปอด หัวใจ และช่องอก และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องอกด้านเดียวกับรอยโรค
- ระยะ3B: โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องอกแต่เป็นด้านตรงข้ามกับรอยโรค หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า จัดเป็นโรคระยะที่ผ่าตัดไม่ได้
- ระยะที่4: โรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ เนื้อปอด เยื่อหุ้มปอด เยื่อบุช่องท้อง และ/หรือ หัวใจ
รักษามีโซทีลิโอมาอย่างไร?
การรักษาหลักของโรคมีโซทีลิโอมา คือ การผ่าตัด นอกจากนั้น คือการใช้ยาเคมีบำบัด ส่วนรังสีรักษาจะพิจารณาใช้รักษาร่วมกับการผ่าตัด และ/หรือยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยเป็นรายๆไป เพราะโรคนี้มักตอบสนองไม่ดีต่อรังสีรักษา
ส่วนการรักษาวิธีอื่น เป็นการรักษาเฉพาะในการศึกษาวิจัย คือ
- การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานต่อการเกิดการอักเสบจากเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันบำบัด(Immunotherapy)
- และ การใช้ความร้อน(Hyperthermia)ช่วยเพิ่มการตอบสนองของโรคต่อยาเคมีบำบัด(Heated intraoperative intraperitoneal chemotherapy) ซึ่งใช้เฉพาะโรคที่เกิดในช่องท้อง ไม่ใช้กับโรคเกิดในปอด เพราะเนื้อเยื่อปอดจะทนต่อความร้อนสูงไม่ได้
มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษามีโซทีลิโอมาขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่
- การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
- ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ /หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่ออวัยวะต่างๆที่ได้รับการฉายรังสี(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีบริเวณปอด)
- ภูมิคุ้มกันบำบัด(Immunotherapy): แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภูมิคุ้มกันบำบัด
อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด ที่รวมถึงมีโซทีลิโอมาจะสูงและรุนแรงขึ้นเมื่อ
- ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
- มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
- สูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
- เป็นผู้สูงอายุ
มีโซทีลิโอมามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
มีโซทีลิโอมา เป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคที่เลว เป็นโรครุนแรง ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากโรคนี้เกือบทุกราย เพราะเป็นโรคที่ธรรมชาติของโรครุนแรง กล่าวคือ
- โรคลุกลาม แพร่กระจาย เจริญเติบโต รวดเร็ว พบเกิดพร้อมกันได้หลายจุดในอวัยวะเดียวกัน หรือในอวัยวะอื่นๆ
- ผ่าตัดออกให้หมดได้ยาก
- ตอบสนองต่อรังสีรักษาได้ไม่ดี
- พอจะตอบสนองได้บ้างกับยาเคมีบำบัด แต่ก็จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่ตอบสนองไม่ดีต่อยาเคมีบำบัด
- มีอัตราการเกิดเป็นซ้ำสูงมาก
- และเกิดเป็นซ้ำได้รวดเร็วหลังครบการรักษาครั้งแรก คือ มักภายใน 6 เดือน
ทั้งนี้อัตราอยู่รอด(อัตราการมีชีวิตอยู่ได้หลังจากเกิดโรค) ขึ้นกับ
- ระยะโรค
- การผ่าตัดก้อนเนื้อได้หมด
- การตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด
- อายุ
- และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
ทั่วไป อัตรารอดที่ห้าปีหลังวินิจฉัยโรคได้
- ในโรคระยะที่ 1 ประมาณ 18%
- ระยะที่2 และ3 ประมาณ 10%
- ระยะที่ 4 ประมาณ 0- 5%
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึง มีโซทีลิโอมา แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และ
- เรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
มีวิธีตรวจคัดกรองมีโซทีลิโอมาไหม?
เนื่องจากเป็นโรคมะเร็งชนิดที่พบน้อยมาก จึงยังไม่มีคำแนะนำจากองค์กรด้านโรคมะเร็งในการตรวจคัดกรองโรคนี้ แต่กำลังอยู่ในการศึกษาอย่างจริงจัง เพราะเป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคเลวมาก การพบโรคในระยะต้นๆที่ยังไม่มีอาการ จึงอาจช่วยยืดอายุผู้ป่วยได้
ขณะนี้ กำลังมีการศึกษาในคนกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ด้วยการตรวจเลือดดูค่าสารที่พบสูงขึ้นในคนที่เป็นโรคนี้ ได้แก่ ‘สาร Soluble mesothelin-related peptide (SMRP)’ แต่ยังไม่สามารถสรุปเป็นคำแนะนำได้ และยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ควรตรวจเลือดดูค่าสารนี้เมื่อไร ตรวจบ่อยแค่ไหน และเมื่อพบสารตัวนี้สูงในเลือด แพทย์จะต้องดำเนินการอย่างไร
ป้องกันมีโซทีลิโอมาได้อย่างไร?
การป้องกันโรคมีโซทีลิโอมา คือ ป้องกัน หลีกเลี่ยง การสูดดมและการสัมผัสฝุ่น แร่ใยหิน เช่น
- การเลือกใช้วัสดุต่างๆในการสร้างบ้านที่ปลอดจากแร่ใยหิน
- ส่วนผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ใยหิน หรือในอุตสาหรรมที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันการสูดดม และต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำของผู้ประกอบการ และจากกองควบคุมกำกับประเภทงานจากกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
บรรณานุกรม
- AJCC Cancer Staging Manual, 8th edition
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Mesothelioma[2019,Aug17]
- https://www.cancer.org/cancer/malignant-mesothelioma/detection-diagnosis-staging/survival-statistics.html[2019,Aug17]
- https://emedicine.medscape.com/article/280367-overview#showall[2019,Aug17]