มัลติเพิลมัยอีโลมา มะเร็งเอ็มเอ็ม (MM: Multiple myeloma)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 กุมภาพันธ์ 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมามีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมามีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมารักษาอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาอย่างไร?
- โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมามีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง (Peripheral blood stem cell and bone marrow transplantation in cancer)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
บทนำ
มัลติเพิลมัยอีโลมา(Multiple myeloma) เป็นโรคมะเร็งของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งของไขกระดูก ที่เรียกว่า “พลาสมาเซลล์” (Plasma cell, เม็ดเลือดขาวชนิดสร้างสารภูมิคุ้มกันตานทานโรคให้กับร่างกาย) โดยในโรคเอ็มเอ็มนี้ พลาสมาเซลล์จะมีลักษณะเจริญผิดปกติ เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็ง และทวีจำนวนขึ้นอย่างมาย จนทำลายเนื้อกระดูกที่อยู่โดยรอบไขกระดูก ก่อให้เกิดอาการปวดกระดูกตำแหน่งที่เกิดโรค และกระดูกส่วนนั้นจะหักได้ง่าย
นอกจากนั้น เซลล์มะเร็งเอ็มเอ็มเหล่านี้
- ยังรวมตัวกันเป็นก้อนเนื้อมะเร็งตามอวัยวะต่างๆได้ เช่น ที่ผิวหนัง หรือในกระดูก และ
- เซลล์มะเร็งเหล่านี้ ยังสร้างสารภูมิต้านทานที่เป็นสารโปรตีนชนิดผิดปกติขึ้น ที่สำคัญ คือ ‘Monoclonal protein หรือ M protein (เอ็มโปรตีน)’ และ ‘Beta2 microglobulin’ จึงส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง จึงติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
- ซึ่งโปรตีนที่ผิดปกติดังกล่าว จะไปจับตามอวัยวะต่างๆ ก่อให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะนั้นๆ โดย เฉพาะไต ส่งผลให้เกิดไตวาย จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
- นอกจากนั้น เซลล์เม็ดเลือดปกติทุกชนิดของไขกระดูก ก็จะถูกแทนที่ด้วยเซลล์มะเร็งเอ็มเอ็มนี้ จนส่งผลถึงการสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆ เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด ลดต่ำลง ผู้ป่วยจึงเกิด
- ภาวะติดเชื้อได้ง่าย
- ภาวะซีด
- และภาวะเลือดออกได้ง่ายร่วมด้วยเสมอ
มัลติเพิลมัยอีโลมา เป็นมะเร็งพบน้อย เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุเฉลี่ย อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยพบน้อยกว่า 1% ในคนอายุต่ำกว่า 35 ปีลงมา พบเกิดในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงเล็กน้อย ในสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ในผู้ชาย 7.2 รายต่อประชากรชาย 1 แสนคน และในผู้ หญิง 4.6 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน
ในประเทศไทย มีรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี พ.ศ. 2558 พบโรคนี้ในผู้ชาย 1.0 รายต่อประชากรชาย 1 แสนคน และในผู้หญิง 0.8 รายต่อประ ชากรหญิง 1 แสนคน
อนึ่ง มะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma) อีกชื่อคือ Plasma cell myeloma แพทย์มักเรียกโรคนี้ย่อว่า โรคเอ็มเอ็ม/ เอมเอม (MM) ซึ่งบางครั้งตัวย่อนี้จะไปซ้ำกับโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Malignant melanoma, MM) ได้
โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
มัลติเพิลมัยอีโลมา เป็นมะเร็งที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิด แต่ปัจจัยเสี่ยงหรือโอกาสพบโรค สูงขึ้นมากกว่าบุคคลกลุ่มอื่นคือ
- ผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- พันธุกรรม: เพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
- เชื้อชาติ: เพราะพบโรคได้สูงในคนผิวดำมากกว่าในคนผิวขาว
- อาชีพการงาน: เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนที่มีอาชีพเกษตรกร หรือเกี่ยวกับอุตสาหกรรม น้ำมัน ทั้งนี้อาจเป็นผลจากการได้รับสารเคมีต่อเนื่อง เช่น ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีในขั้นตอนการผลิตน้ำมัน
โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมามีอาการอย่างไร?
ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา แต่ทั่วไปในโรคระยะแรก ผู้ป่วยมักไม่มี อาการ แต่จะมีอาการในระยะที่โรคเป็นมากแล้ว
โดยเมื่อมีอาการ อาการที่พบบ่อย จะเป็นอาการที่เกิดจาก
- มีความผิดปกติในการทำงานของไขกระดูก
- จากการมี ‘เอ็มโปรตีน’สูงในร่างกาย
- จากมีก้อนเนื้อที่เกิดจากเซลล์มะเร็งรวมตัวกันในอวัยวะต่างๆ
- และจากกระดูกทั่วร่างกายถูกทำลาย
ก. อาการจากไขกระดูกทำงานผิดปกติ: คือ เซลล์ปกติของไขกระดูกจะถูกแทนที่ด้วยเซลล์มะเร็ง จึงเกิดภาวะ
- เม็ดเลือดขาวที่ปกติต่ำ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- เม็ดเลือดแดงต่ำ ส่งผลให้เกิดภาวะซีด
- และเกล็ดเลือดต่ำ ส่งผลให้เลือดออกง่าย
ข. อาการจากมีเอ็มโปรตีนในเลือดสูง: เอ็มโปรตีนนี้จึงไปจับตามอวัยวะต่างๆ ทำให้อวัยวะนั้นๆทำงานไม่ได้ โดยเฉพาะ ไปจับที่ไต ส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ นอกจากนั้นยังเป็นสาเหตุให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ ผู้ป่วยจึงติดเชื้อได้ง่าย
ค. อาการจากมีการจับรวมตัวกันของเซลล์มะเร็งส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อในอวัยวะต่างๆ: เช่น ที่ผิวหนัง ผู้ป่วยจึงมาพบแพทย์ด้วยมีก้อนผิดปกติในตำแหน่งต่างๆของร่างกาย
ง. อาการจากกระดูกถูกทำลาย: จะส่งผลให้เกิดอาการ
- ปวดกระดูกมาก
- กระดูกหักได้ในหลายๆตำแหน่งทั่วร่างกาย
- และถ้าเกิดกับกระดูกสันหลังอาจส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังหัก
- และ/ หรือร่วมกับมีเซลล์มะเร็งลุกลามจากกระดูกสันหลังเข้ากดทับไขสันหลัง จนก่อให้เกิดภาวะอัมพาต แขน/ขาอ่อนแรง และ/หรือ มีอาการทางปัสสาวะ/อุจจาระ คือปัสสาวะ/อุจจาระไม่ออก
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการของผู้ป่วย
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจเลือดซีบีซี (CBC)
- การตรวจเลือดดูค่าโปรตีนที่ผิดปกติซึ่งจะสูงขึ้นมาก
- การเอกซเรย์กระดูกต่างๆทั่วร่างกายซึ่งจะพบรอยโรคที่ค่อนข้างเฉพาะสำหรับโรคนี้
- การเจาะตรวจไขกระดูกเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
- และ/หรือการตัดชิ้นเนื้อจากไขกระดูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมามีกี่ระยะ?
มะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมามีการจัดแบ่งระยะโรคได้หลายแบบ แต่ที่นิยมคือ จัดตามระบบของ ISS (International staging system) โดยแบ่งโรคเป็น 3 ระยะตาม
- ปริมาณค่าโปรตีน Beta2- microglobulin และค่าโปรตีน Albumin ในเลือด (โดยการตรวจเลือดด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ) ซึ่งความรุนแรงโรคจะสูงขึ้นตามค่าโปรตีนเหล่านี้ที่สูงขึ้น
- ปริมาณค่าเอนไซม์ LDH ในเลือด(LDH/ Lactase dehydrogenase คือ เอนไซม์ที่ใช้กระบวนการทำงานของเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย โดยเฉพาะ เซลล์เม็ดเลือด และเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเมื่อเซลล์เหล่านี้ บาดเจ็บ เสียหาย ตาย LDHในเลือดจึงสูงขึ้น โดยค่าปกติของ LDHหน่วยเป็น Unit/Litre, U/L จะขึ้นกับแต่ละห้องปฏิบัติการ ทั่วไปประมาณ 100–190 U/L)
- และการมีสารพันธุกรรม/จีน/ยีน/Gene ผิดปกติ
ทั้งนี้ ระยะโรคของโรคเอ็มเอ็ม คือ
- ระยะที่ 1 หรือ กลุ่ม1: ได้แก่
- ค่า Beta2- microglobulin น้อยกว่า 3.5 มิลลิกรัม/ลิตร
- ค่า Albumin มากกว่า/เท่ากับ 3.5กรัม/เดซิลิตร
- ค่า LDH ปกติ
- จีนอยู่ในกลุ่ม โรคไม่รุนแรง
- ระยะที่ 2 หรือกลุ่มที่2 : ไม่ใช่โรคระยะที่ 1 หรือ ระยะที่ 3
- ระยะที่ 3 หรือ กลุ่มที่3: ได้แก่
- ค่า Beta2- microglobulin มากกว่า/เท่ากับ 5.5 มิลลิกรัม/ลิตร ไม่ว่าค่า Albumin จะ เป็นเท่าไรก็ตาม
- และจีนอยู่ในกลุ่มโรครุนแรง
- และ/หรือ ค่า LDH สูงกว่าปกติ
โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมารักษาอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคเอ็มเอ็ม ได้แก่
ก. การรักษามะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาในระยะที่ไม่มีอาการ แต่แพทย์วินิจฉัยได้จากการตรวจ เลือดเพื่อวินิจฉัยโรคอื่นๆ ได้แก่
- จะยังไม่มีการรักษา
- แพทย์จะใช้วิธีเฝ้าติดตามอาการ จนกว่าผู้ป่วยมีอาการ จึงจะให้การรักษา
ข. วิธีรักษามะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาระยะที่มีอาการ:
- อาจเป็นการให้ยาต่างๆ เช่น
- ยาเคมีบำบัด
- ยาสเตียรอยด์
- ยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง (เช่น ยา Bortezomib)
- บางครั้งอาจเป็นการฉายรังสีรักษา กรณีมีก้อนเนื้อ หรือมีอาการปวดกระดูกจากการลุกลามของโรค
- บางครั้งอาจเป็นการผ่าตัด กรณีกระดูกหักหรือเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าไขสันหลัง
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์/การปลูกถ่ายไขกระดูก (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง)
- และบ่อยครั้ง เป็นการรักษาร่วมกันระหว่างวิธีต่างๆดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นกับ
- ระยะโรค
- อาการผู้ป่วย
- ดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- และความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาขึ้นกับวิธีรักษา คือ
- ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการ มีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ชนิดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมามีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ ท้องผูก ท้องเสีย มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ อ่อน เพลีย ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว หัวใจเต้นผิดปกติ ตับอักเสบ
- รังสีรักษา: ผลข้างเคียงจะแตกต่างกันไปขึ้นกับตำแหน่งอวัยวะที่ได้รับการฉายรังสีรักษา (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รังสีรักษา)
- การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์/การปลูกถ่ายไขกระดูก: แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง
อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดรวมทั้งโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาจะสูงขึ้นอีก เมื่อ
- ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
- เมื่อมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
- ในผู้สูบบุหรี่
- เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- และในผู้สูงอายุ
โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมามีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
มะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาเป็นมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรค/ ธรรมชาติของโรครักษาควบคุมได้ค่อนข้างยาก และ จากการที่โรคมักเกิดในผู้สูงอายุ จึงยิ่งเป็นข้อจำกัดในการใช้วิธีรักษาต่างๆ เช่น ยาเคมีบำบัด ยารักษาตรงเป้า และ/หรือ การปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคนี้มักเสียชีวิตจากผลข้างเคียงของโรค ที่สำคัญคือ
- จากภาวะติดเชื้อที่รุนแรง เนื่องจากโรคนี้เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และ
- จากภาวะไตวาย ซึ่งเป็นผลจากเซลล์มะเร็งสร้างโปรตีนผิดปกติที่จะไปจับในไต จนเป็นเหตุให้ไตเสียการทำงาน
นอกจากนั้น ผู้ป่วยมักมีคุณภาพชีวิตที่ด้อยลงไปมาก
- จากการปวดกระดูกเรื้อรังที่รักษาควบคุมได้ยาก
- จากภาวะกระดูกหักง่าย และ
- จากอัมพาตจากเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าไขสันหลัง
อนึ่ง ความรุนแรงของมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา นอกจากขึ้นกับธรรมชาติของโรคเองแล้ว ยังขึ้นกับ
- ระยะโรค
- จำนวนชิ้นกระดูกที่มีโรครุกราน/ลุกลาม
- ค่าแคลเซียมในเลือดที่สูงขึ้น
- ประสิทธิภาพการทำงานของไต
- อายุ
- และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ที่รวมถึงโรคร่วมต่างๆด้วย
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ค่ากึ่งกลางของการมีชีวิต(Median survival) จะประมาณได้ดังนี้
- โรคระยะที่ 1: มีค่ากึ่งกลางของการมีชีวิตนานมากกว่า 60 เดือนขึ้นไป
- โรคระยะที่ 2: มีค่ากึ่งกลางของการมีชีวิต ประมาณ 50-80 เดือน และ
- โรคระยะที่ 3: มีค่ากึ่งกลางของการมีชีวิต ประมาณ 30-40 เดือน
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาตั้งแต่ในระยะที่ยังไม่มีอาการ
และดังกล่าวแล้วว่า ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา ดังนั้นเมื่อมีอาการผิด ปกติต่างๆที่อาการเลวลงเรื่อยๆ ไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองในระยะเวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ แต่ถ้าเป็นอาการรุนแรงก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เช่น แขนขา อ่อนแรง/เป็นอัมพาต เป็นต้น
ป้องกันโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาอย่างไร?
เมื่อดูจากปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ เป็นเรื่องยากที่จะป้องกันการเกิดมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา ซึ่งการป้องกันที่พอเป็นไปได้คือ พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่างๆ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรหาวิธีป้องกัน เช่น การสวมใส่หน้ากากป้องกันการสูดดมสารเหล่านั้น เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดรวมทั้งมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา จะมีหลักการและวิธีการที่คล้ายคลึงกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ ใช้ยา ที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดกระดูกมากขึ้น
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น แขนขาชา หรืออ่อนแรง
- มีไข้โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ขึ้นผื่น
- เมื่อกังวลในอาการ
นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- และเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
บรรณานุกรม
- Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
- Imsamran,W . et al. (2015). Cancer in Thailand. Volume. V, 2010-2012. Thai National Cancer Institute. Ministry of Public Health
- Nau,K. et al. (2008). Multiple myelom. Am Fam Physician. 78, 853-859.
- Palumbo, A., and Anderson, K. (2011). Multiple myeloma. NEJM. 364,1046-1060
- http://www.cancer.ca/en/cancer-information/cancer-type/multiple-myeloma/treatment/targeted-therapy/?region=on [2019,Feb2]
- https://emedicine.medscape.com/article/204369-overview#showall [2019,Feb2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Multiple_myeloma [2019,Feb2]
- https://www.cancer.org/cancer/multiple-myeloma/detection-diagnosis-staging/staging.html [2019,Feb2]
- https://www.cancer.org/cancer/multiple-myeloma/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019,Feb2]