มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue sarcoma) / มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue sarcoma)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 11 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนมีกี่ชนิด? เกิดกับเนื้อเยื่ออ่อนส่วนไหนบ้าง?
- โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนมีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนรักษาอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนอย่างไร?
- โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนรุนแรงไหม?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนไหม?
- ป้องกันโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มะเร็ง (Cancer)
- ซาร์โคมา มะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma)
- มะเร็งในเด็ก (Pediatric cancer)
- คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- โบว์สัญลักษณ์โรคมะเร็ง (Awareness ribbons of common cancer)
- สัญลักษณ์โรคมะเร็ง (Symbol of cancer)
บทนำ
มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน(Soft tissue sarcoma)/มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue sarcoma)คือ โรคที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่ออ่อน หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(เช่น กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อไขมัน เส้นใย หลอดเลือด เส้นประสาท เซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของกระดูกและของกระดูกอ่อน) เกิดเจริญเติบโตผิดปกติ แบ่งตัวอย่างรวดเร็วโดยร่างกายไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวนี้ได้ จนในที่สุดเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งที่รุกราน/ทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่เกิดโรค ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง เข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และในที่สุดแพร่กระจายทางกระแสโลหิตสู่อวัยวะต่างๆโดยเฉพาะสู่ ปอด ซึ่งการเกิดมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนนี้จะเกิดตำแหน่งใดของเนื้อเยื่ออ่อนก็ได้ทั่วร่างกาย
เนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue) หรืออาจเรียก เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) ได้แก่ เนื้อเยื่อในกลุ่ม กล้ามเนื้อ หลอดเลือด ท่อ/สาย/หลอดน้ำเหลือง เอ็น เนื้อเยื่อเส้นใย เนื้อเยื่อไขมัน และเส้นประสาท ซึ่งเนื้อเยื่อในกลุ่มนี้เมื่อเกิดเป็นโรคมะเร็ง จะมีธรรมชาติของโรคคล้ายคลึงกัน รวมทั้ง ปัจจัยเสี่ยง อาการ การวินิจฉัย แนวทางการรักษา ความรุนแรงของโรค การตรวจคัดกรอง และการป้องกัน ดังนั้นทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็งจึงจัดให้เป็นโรครวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และเมื่อเป็นโรคมะเร็งจะเรียกว่า “ โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน(Soft tissue sarcoma)” หรือ “โรคมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue sarcoma)” แต่นิยมเรียกว่า ‘โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน’ มากกว่า ดังนั้นในบทนี้ จึงขอใช้คำว่า “โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน”
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน เป็นโรคที่พบได้น้อย เพียงประมาณ 1%ของโรคมะเร็งทั้งหมดในผู้ใหญ่ และประมาณ 3% ของโรคมะเร็งในเด็ก พบในทุกอายุ ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ พบในผู้ใหญ่ได้สูงกว่าในเด็กมาก อายุที่พบบ่อยอยู่ในช่วงประมาณ 50-60 ปี โดยพบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงเล็กน้อย
ทั่วโลกมีรายงานพบมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนได้ประมาณ 4.5 รายต่อประชากร 1แสนคน ส่วนในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งช่วงปี พ.ศ.2553-2555 พบมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในชายไทย 1.2รายต่อประชากรชาย 1แสนคน และในหญิงไทย1รายต่อประชากรหญิงไทย 1แสนคน
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนมีกี่ชนิด? เกิดกับเนื้อเยื่ออ่อนส่วนไหนบ้าง?
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มีหลากหลายชนิดย่อย ประมาณได้ถึง 50 ชนิดย่อย แต่ทุกชนิดเป็นเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า ซาร์โคมา(Sarcoma) ทั้งนี้
- ประมาณ 40% จะเกิดกับเนื้อเยื่ออ่อนของขา
- ประมาณ 20% เกิดกับเนื้อเยื่ออ่อนของแขน
- ประมาณ 20% เกิดกับเนื้อเยื่ออ่อนในช่องท้อง (Intra and retroperitoneal cavity)
- ประมาณ 10% เกิดกับเนื้อเยื่ออ่อนในส่วนลำตัว
- และประมาณ 10% เกิดกับเนื้อเยื่ออ่อนในส่วนศีรษะและลำคอ
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน แต่มีปัจจัยเสี่ยง คือ
- การได้รับสารเคมีบางชนิดเรื้อรัง เช่น สารฆ่าหญ้า Phenoxy herbicide หรือสารเคมีบางชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก เช่น Vinyl chloride
- เคยได้รับรังสีไอออนไนซ์ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รังสีจากการตรวจโรค รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา) ในปริมาณสูง เช่น จากรังสีรักษาในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ
- มีพันธุกรรมผิดปกติบางชนิด ทั้งชนิดถ่ายทอดได้ และชนิดไม่ถ่ายทอด
- อาจจากมีภาวะบวมเรื้อรังจากท่อน้ำเหลืองอุดตัน เช่น ภาวะแขน หรือขาบวมเรื้อรัง แต่ปัจจัยเสี่ยงจากสาเหตุนี้พบเป็นสาเหตุได้น้อยมาก
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบบ่อยของโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน คือ มีก้อนเนื้อโตผิดปกติในบริเวณ/ส่วนไหนของร่างกายก็ได้ มักโตเร็ว ไม่ปวด ไม่เจ็บ นอกจากนั้น อาการจะขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดโรค เช่น
- ถ้าเกิดใกล้บริเวณข้อ จะก่ออาการติดขัดในการใช้ข้อ
- เมื่อเกิดในช่องท้องส่วนใกล้กับกระเพาะอาหาร จะกดเบียดทับกระเพาะอาหาร ก่ออาการ แน่นอึดอัดท้อง และ/หรือคลื่นไส้ อาเจียนเมื่อกินอาหาร
- หรือเมื่อเกิดในช่องท้องส่วนล่างจะกดลำไส้ใหญ่ ก่ออาการ ท้องผูก ปวดท้อง จาก ลำไส้อุดตัน เป็นต้น
- เมื่อโรคมะเร็งนี้เกิดในเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ภายนอกร่างกาย เช่น แขน ขา ลำตัว เมื่อโรคลุกลามมาก ก้อนเนื้ออาจแตกเป็นแผลเรื้อรัง เลือดออก แผลอาจติดเชื้อ และเกิดอาการเจ็บปวดที่ก้อนเนื้อได้
- นอกจากนั้น เมื่อโรคลุกลามมาก อาจลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆก้อนมะเร็ง หรือแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป ส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองเหล่านั้น โต คลำได้ เช่น เมื่อเกิดโรคที่ขา อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบด้านเดียวกับโรค และ/หรือคลำได้ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้าซึ่งมักพบด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา เป็นต้น
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีก้อนเนื้อผิดปกติ ไม่ว่าจะเกิดในตำแหน่งใดของร่างกาย และเมื่อก้อนไม่ยุบหายไปเอง และโดยเฉพาะเมื่อก้อนโตขึ้นตลอดเวลา ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใด
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพันได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจคลำก้อนเนื้อและต่อมน้ำเหลืองต่างๆ การตรวจภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดโรคด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือคลื่นแม่เหล็กเอมอาร์ไอ (MRI) แต่การวินิจฉัยโรคที่แน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
นอกจากนั้น คือ การตรวจต่างๆเพื่อประเมินระยะโรคและสุขภาพผู้ป่วย เช่น การตรวจเลือด เพื่อดูการทำงานของ ไขกระดูก ตับ และของไต การตรวจภาพปอดและหัวใจด้วยเอกซเรย์ธรรมดา ดูโรคของปอด หัวใจและการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด และการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ตามอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น ตรวจสแกนกระดูกเพื่อดูโรคแพร่กระจายเข้ากระดูก เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง หรือปวดกระดูกส่วนต่างๆมาก เป็นต้น
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนมีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน แบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ และในบางระยะอาจแบ่งย่อยได้อีกซึ่งแพทย์โรคมะเร็งใช้เพื่อช่วยเลือกวิธีรักษา และเพื่อการศึกษา แต่ที่แตกต่างกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ คือ ยังขึ้นกับการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง(Cell grading ย่อว่า G) ว่าเป็นเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวต่ำ(G1) หรือ ชนิดแบ่งตัวสูง(G2,G3 ความรุนแรงโรคสูงขึ้นตาม G ที่สูงขึ้น) และขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดโรค ซึ่งในบทความนี้ขอยกตัวอย่างระยะโรคเฉพาะของตำแหน่งโรคที่พบบ่อยคือ แขน ขา และ ลำตัว ซึ่งทั้ง 4 ระยะได้แก่
- ระยะที 1 โรคจำกัดอยู่เฉพาะอวัยวะต้นกำเนิด แบ่งย่อยเป็น
- ระยะ1A: ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 5 ซม. เซลล์มะเร็งเป็นชนิดแบ่งตัวต่ำ(G1)
- ระยะ1B: ก้อนมะเร็งโตกว่า 5ซม.แต่ไม่เกิน 15ซม. และเซลล์มะเร็งยังเป็น G1
- ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งขนาดไม่เกิน 5 ซม. และเซลล์มะเร็งเป็น G2,หรือ G3
- ระยะที่ 3: แบ่งย่อยเป็น
- ระยะ3A: ก้อนมะเร็งโตเกิน5ซม. แต่ไม่เกิน10ซม. ยังจำกัดอยู่เฉพาะในอวัยวะที่เกิดโรค และเซลล์มะเร็งเป็นชนิด G2,หรือ G3
- ระยะ3B: ก้อนมะเร็งโตเกิน10ซม. ยังจำกัดอยู่เฉพาะในอวัยวะที่เกิดโรค แต่เซลล์มะเร็งเป็นชนิด G2,หรือ G3
- ระยะที่ 4 โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสโลหิต (เลือด) เข้าสู่อวัยวะต่างๆที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่กระจายเข้าสู่ปอด
อนึ่ง: ระยะโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน นิยมจัดระยะโรคตามคำแนะนำขององค์กรด้านโรคมะเร็ง สหรัฐอเมริกา (the American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC ปัจจุบัน คือ ed 8th)
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนรักษาอย่างไร?
วิธีหลักในการรักษาโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน คือ
- การผ่าตัดก้อนเนื้อ ต่อจากนั้นพิจารณาจาก การผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมดหรือไม่ ระยะของโรคมะเร็ง และชนิดของเซลล์มะเร็ง เพื่อการรักษาต่อเนื่องเพิ่มเติมด้วย
- รังสีรักษา และ/หรือ
- ยาเคมีบำบัด
- ส่วนยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในการศึกษาวิจัย เพราะยาฯส่วนใหญ่ยังไม่มีประสิทธิภาพพอในขั้นที่เป็น การรักษามาตรฐาน
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่
ก. การผ่าตัด เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
ข. รังสีรักษา เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา ) และเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มโอกาสเกิดกระดูกหัก และการบวมแขน หรือขา เมื่อฉายรังสีรักษาโรคบริเวณ แขน หรือขา
ค. ยาเคมีบำบัด เช่น อาการ คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา : การดูแลตนเอง)
ง. ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียง เช่น การเกิดผื่นคล้ายสิวทั่วตัวที่รวมถึงใบหน้า ท้องเสียเรี้อรัง แผลต่างๆหายยาก ถ้ามีลำไส้อักเสบมีโอกาสเกิดลำไส้ทะลุได้จากการที่แผลที่ผนังลำไส้หายช้า
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนรุนแรงไหม?
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เป็นโรคมีความรุนแรง/การพยากรณ์โรคดีในระดับปานกลาง โอกาสรักษาได้หายขึ้นกับ
- ระยะโรค
- ชนิดเซลล์มะเร็ง
- ขนาดก้อนมะเร็ง
- การผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมด
- ตำแหน่งเกิดโรค เช่น บางตำแหน่งผ่าตัดไม่ได้ หรือมะเร็งที่เกิดในเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกจากผิวหนัง เช่น ส่วนลึกของแขน ขา หรือ ในช่องท้อง ในอุ้งเชิงกราน
- การดื้อต่อรังสีรักษาและต่อยาเคมีบำบัดของเซลล์มะเร็ง อายุ และสุขภาพผู้ป่วย
ทั่วไป อัตรารอดที่ห้าปีหลังการรักษา ใน
- โรคระยะที่ 1 ประมาณ 80-90%
- โรคระยะที่ 2 ประมาณ 60-70%
- โรคระยะที่ 3 ประมาณ 20-50% และ
- โรคระยะที่ 4 ประมาณ 0-10%
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนไหม?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ดังนั้นที่ดีที่สุด คือการสังเกตตนเอง เมื่อพบมีก้อนเนื้อผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาโรคแต่เนิ่นๆ
ป้องกันโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วที่หลีกเลี่ยงได้ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้ เช่น การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีมีพิษต่างๆอย่างเรื้อรัง เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในทุกโรคมะเร็ง รวมถึงมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/มะเร็งเนื้อเยื่อกี่ยวพัน จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ อย่าหยุดการรักษาไปเองโดยไม่แจ้ง แพทย์ พยาบาล
นอกจากนั้น แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด: เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น คลื่นไส้อาเจียน จนกิน/ดื่มน้ำไม่ได้ หรือกิน/ดื่มน้ำได้น้อยลง
- มีอาการต่างๆที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีไข้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย ควรรีบมาโรงพยาบาลด่วน
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกหรือท้องเสียมาก นอนไม่หลับทุกคืน
- เมื่อกังวลในอาการ
บรรณานุกรม
- Clark,M. et al. (2005). Soft-tissue sarcoma in adults. N Engl J Med. 353, 701-711.
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
- Halperin, E., Perez, C., and Brady, L. (2008). Perez and Brady: Principles and practice of Radiation Oncology (5th edition). Philadelphia: Wolters Kluwer/ Lippincott Williams & Wilkins.
- Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- http://en.wikipedia.org/wiki/Soft-tissue_sarcoma [2018,Oct20]
- https://www.cancer.org/cancer/soft-tissue-sarcoma/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Oct20]
- http://cancerworld.net/e-grandround/managing-adult-soft-tissue-sarcomas-and-gastrointestinal-stromal-tumours/ [2018,Oct20]
- https://www.cancer.org/cancer/soft-tissue-sarcoma/detection-diagnosis-staging/staging.html [2018,Oct20]