มะเร็งอัณฑะ (Testicular cancer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 20 มกราคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคมะเร็งอัณฑะมีกี่ชนิด?
- โรคมะเร็งอัณฑะเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งอัณฑะมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งอัณฑะได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งอัณฑะมีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งอัณฑะรักษาอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งอัณฑะอย่างไร?
- โรคมะเร็งอัณฑะรุนแรงไหม?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอัณฑะไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคมะเร็งอัณฑะอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (Anatomy and physiology of male reproductive organ)
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (Anatomy and physiology of male reproductive organ)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
บทนำ
มะเร็งอัณฑะ (Testicular cancer หรือ Testicular carcinoma)คือ โรคที่เกิดจากเซลล์อัณฑะในตำแหน่งใดของอัณฑะก็ได้ เกิดมีการแบ่งตัวได้เองผิดปกติ ที่ร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้ จนในที่สุดเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็งขึ้น ที่รุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อต่างๆในอัณฑะ ลุกลามออกนอกอัณฑะ เข้าไปในเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง เข้าต่อมน้ำเหลือง และ/หรือ แพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองไกลอัณฑะ เช่น เหนือกระดูกไหปลาร้า และ/หรือแพร่ฯทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่มักเข้าสู่ ปอด
มะเร็งอัณฑะ เป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อยเพียงประมาณ 2% ของมะเร็งทั้งหมดทั่วร่างกาย ซึ่งในประเทศไทย โรคมะเร็งอัณฑะไม่ติด 1ใน10ของมะเร็งพบบ่อยของชายไทย
โรคมะเร็งอัณฑะ เป็นโรคมะเร็งของวัยหนุ่ม พบได้สูงในช่วงอายุ 15-35 ปี แต่สามารถพบได้ในทุกอายุ ทั้งในเด็กจนถึงในผู้สูงอายุ ทั่วไปมักพบเกิดกับอัณฑะด้านเดียว โดยโอกาสเกิดเท่ากันทั้งด้านซ้ายและด้านขวา แต่ประมาณ 5% พบเกิดกับอัณฑะได้ทั้ง 2 ข้าง
ในปีพ.ศ. 2551 ในสหราชอาณาจักร พบโรคมะเร็งอัณฑะ 6.7-7.3 รายต่อประชากรชาย 1 แสนคนต่อปี ส่วนในประเทศไทย ผู้ป่วยช่วงปี พ.ศ. 2553-2555(รายงานโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2555) พบผู้ป่วยได้ 0.7รายต่อชายไทย 1แสนคนต่อปี
โรคมะเร็งอัณฑะมีกี่ชนิด?
โรคมะเร็งอัณฑะมีหลากหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุดประมาณ 90% เป็น ชนิด’เจิมเซลล์/มะเร็งเจิมเซลล์ (Germ cell cancer/Germ cell tumor)’ ดังนั้นโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งอัณฑะ จึงหมายถึง มะเร็งชนิดนี้เท่านั้น ซึ่งรวมทั้งในบทความนี้ด้วย
โรคมะเร็งอัณฑะชนิดเจิมเซลล์ ยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักคือ
- ชนิด ”เซมิโนมา (Seminoma)” ซึ่งพบได้ประมาณ 40%ของเจิมเซลล์ทั้งหมด
- ส่วนอีกประมาณ 60% เป็นชนิดที่เรียกว่า ชนิด “ไม่ใช่เซมิโนมา (Non -seminoma)” ซึ่งชนิด”ไม่ใช่เซมิโนมา”นี้ ยังแบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด เช่น
- Embryonal carcinoma
- Yolk-sac tumor
- Teratoma และ
- Choriocarcinoma
ทั้งนี้ โรคมะเร็งเจิมเซลล์นี้ มักมีเซลล์มะเร็งได้หลายชนิดร่วมกัน และเซลล์มะเร็งชนิดรุนแรงที่สุด คือชนิดโคริโอคาร์ซิโนมา (Choriocarcinoma) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้น้อยมาก น้อยกว่า 1% ของมะเร็งอัณฑะทั้งหมด
โรคมะเร็งอัณฑะเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรคมะเร็งอัณฑะ แต่พบมีปัจจัยเสี่ยง คือ
- เพศ โรคมะเร็งชนิดนี้พบได้เฉพาะในเพศชายเท่านั้น
- คนที่อัณฑะยังค้างอยู่ในอุ้งเชิงกราน/อัณฑะค้างในท้อง (Undescended testis หรือ Cryptorchidism) ไม่เคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ ซึ่งพบเกิดโรคมะเร็งอัณฑะได้สูงกว่าผู้ชายปกติ 10-40 เท่า
- เชื้อชาติ พบได้สูงกว่าในชายชาวตะวันตกประมาณ 5 เท่าของชายผิวดำ
- มีความผิดปกติของโครโมโซม (Chromosome) คู่ที่ 1 หรือ คู่ที่ 12
- โรคผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้มีอัณฑะฝ่อ (Testicular atrophy)
- ติดเชื้อไวรัส เอชไอวี หรือโรคเอดส์
โรคมะเร็งอัณฑะมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคมะเร็งอัณฑะไม่ใช่อาการเฉพาะของโรค แต่เป็นอาการเหมือนกับโรคของอัณฑะทั่วไป อย่างไรก็ตามอาการของโรคมะเร็งอัณฑะที่พบบ่อย คือ
- คลำได้ก้อนเนื้อในอัณฑะ หรืออัณฑะโต ไม่เจ็บ
- ปวดหน่วงอัณฑะด้านนั้น
- จู่ๆอัณฑะด้านนั้นบวม หรือคล้ายมีน้ำอยู่ในถุงอัณฑะ
- อาจรู้สึกเจ็บ/ขัดอัณฑะหรือถุงอัณฑะด้านนั้น
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งอัณฑะได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งอัณฑะได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจคลำอัณฑะทั้งสองข้าง
- อาจตรวจภาพอัณฑะทั้งสองข้างด้วยอัลตราซาวด์
- อาจตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็ง เพื่อช่วยการวินิจฉัยชนิดเซลล์มะเร็ง เพราะเซลล์มะเร็งบางชนิดสร้างสารมะเร็งได้ เช่น ดูค่าสาร AFP (Alpha fetoprotein)ที่สร้างจากมะเร็งชนิด Yolk sac tumor
- ซึ่งหลังจากพบมีก้อนเนื้อชัดเจน แพทย์มักแนะนำการผ่าตัด และตรวจอัณฑะหลังการผ่าตัดด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อการวินิจฉัยโรคมะเร็งที่แน่นอน
ทั้งนี้จะไม่มีการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้ออัณฑะก่อนผ่าตัดรักษา เพราะการตัดชิ้นเนื้อจะต้องผ่านถุงอัณฑะ ซึ่งจะส่งผลให้โรคมะเร็งลุกลามเข้าถุงอัณฑะได้ ซึ่งถ้าก้อนเนื้อนั้นเป็นโรคมะเร็ง การลุกลามเข้าถุงอัณฑะ จะทำให้โรคมะเร็งลุกลามรุนแรงขึ้น รักษาได้ยากขึ้น นอกจากนั้น เมื่อพบก้อนเนื้อในอัณฑะ การรักษาคือ การผ่าตัดเสมอ ดังนั้น การผ่าตัดอัณฑะ (ผ่าตัดด้านเดียว ด้านที่ผิดปกติ) จึงเป็นทั้งการวินิจฉัยโรคและการรักษาไปพร้อมๆกัน
ภายหลังเมื่อทราบว่าเป็นโรคมะเร็งอัณฑะแล้ว มักมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะของโรค เช่น
- การตรวจภาพช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูการลุกลาม และการแพร่กระจายของโรคเข้าต่อมน้ำเหลือง และเข้าอวัยวะต่างๆในช่องท้อง (ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจตรวจภาพนี้ก่อนผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์)
- การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ดูการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด
- การตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะเพื่อประเมินสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย เช่น
- ตรวจ ซีบีซี (CBC)
- ตรวจเลือดดูการทำงาน ของตับ และของไต
- และตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งเพื่อประเมินว่าหลังผ่าตัดยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่หรือไม่ ซึ่งสารมะเร็งนี้ แพทย์ใช้ช่วยประเมิน ระยะโรค ความรุนแรงของโรค วิธีรักษา และในการติดตามผลการรักษา
โรคมะเร็งอัณฑะมีกี่ระยะ?
เนื่องจากมะเร็งอัณฑะเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงต่ำ แม้มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต (เลือด) แล้วก็ยังมีโอกาสรักษาได้หายสูง โรคมะเร็งอัณฑะจึงจัดแบ่งเป็นเพียง 3 ระยะ ซึ่งในแต่ระยะยังแบ่งย่อยได้อีก เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยในการวางแผนการรักษา การพยากรณ์โรค และเพื่อการศึกษาวิจัย ทั้งนี้ทั่วไป ทั้ง 3 ระยะได้แก่
- ระยะที่1: โรคลุกลามอยู่เฉพาะในอัณฑะ ยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และเซลล์มะเร็งไม่สร้างสารมะเร็ง/สารมะเร็งปกติ โดยแบ่งเป็น 3ระยะย่อย ได้แก่
- ระยะ1A: โรคลุกลามออกนอกท่อสร้างอสุจิ
- ระยะ1B: โรคลุกลามเข้าเนื้อเยื่อติดกับอัณฑะ
- ระยะ1S: ไม่ทราบการลุกลามของโรคว่าเข้าอวัยวะใดบ้าง แต่ต้องยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่2: โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง และ/หรือ มะเร็งสร้างสารมะเร็งสูงไม่มาก และแบ่งเป็น 3 ระยะย่อย ได้แก่
- ระยะ2A: โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองไม่เกิน5ต่อม และแต่ละต่อมขนาดโตไม่เกิน5ซม.
- ระยะ2B: โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง เกิน5ต่อม แต่ละต่อมขนาดโต ไม่เกิน5ซม.
- ระยะ2C: ต่อมน้ำเหลืองโตเกิน5ซม.
- ระยะที่3: โรคแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลือง และ/หรือ ทางกระแสโลหิต แบ่งเป็น 3 ระยะย่อย คือ
- ระยะ3A: โรคแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ไกลจากอัณฑะ เช่น เหนือกระดูกไหปลาร้า หรือ ขาหนีบ และ/หรือ แพร่กระจายฯสู่อวัยวะเพียงอวัยวะเดียวคือ ปอด
- ระยะ3B: มะเร็งเป็นชนิดสร้างสารมะเร็งสูงระดับปานกลาง
- ระยะ3C: มะเร็งเป็นชนิดสร้างสารมะเร็งสูงมาก, และ/หรือ มะเร็งแพร่กระจายหลายอวัยวะ หรือแพร่กระจายเข้าอวัยวะอื่นที่ไม่ใช่ปอด เช่น ตับ กระดูก
อนึ่ง โรคมะเร็งระยะศูนย์(Stage0) เป็นระยะที่แพทย์มะเร็งหลายท่านไม่จัดเป็นมะเร็ง เนื่องจากเซลล์มะเร็งยังไม่รุกราน(Non invasive) เพียงเริ่มก่อตัวในเยื่อบุผิวของท่อ/หลอดสร้างอสุจิ และเซลล์มะเร็งยังไม่สร้างสารมะเร็ง โรคระยะนี้พบน้อยๆมากๆ อัตรารอดที่ห้าปีหลังผ่าตัดเกือบ100%
โรคมะเร็งอัณฑะรักษาอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งอัณฑะที่เป็นหลักสำคัญ คือ การผ่าตัดอัณฑะเฉพาะด้านที่เกิดโรค
ต่อจากนั้นแพทย์จะประเมินจาก ชนิดเซลล์มะเร็ง, ระยะโรค, และสุขภาพของผู้ป่วย, เพื่อให้การรักษาต่อเนื่องต่อไป ซึ่งอาจเป็น
- การเฝ้าติดตามสังเกตอาการผู้ป่วยเป็นระยะๆ(Active surveillance)
- การฉายรังสีรักษา (อาจเป็นการฉายรังสีต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก และ/หรือในบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้า ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์)
- และ/หรือการให้ยาเคมีบำบัด
- ส่วนการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ยังไม่มีตัวยาที่เป็นการรักษามาตรฐาน และตัวยายังมีราคาแพงมหาศาลเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้
อนึ่ง แนวทางการรักษาโรคมะเร็งอัณฑะในระยะต่างๆ เช่น
ก. ในโรคระยะที่ 1: หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจเลือกวิธีรักษาต่อเนื่อง เป็น
- การเฝ้าติดตามโรคเป็นระยะๆ หรือ
- การฉายรังสีรักษา หรือ
- ยาเคมีบำบัด ก็ได้
ทั้งนี้ ทั้ง 3 วิธีการใหผลการรักษาที่เท่าเทียมกัน แต่มีข้อดี และข้อด้อยที่แตกต่างกัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ แต่ผู้ป่วย/ครอบครัวต้องเป็นผู้ตัดสินใจเลือกวิธีรักษาเอง
ข. ในโรคระยะที่ 2: การรักษาหลังการผ่าตัด อาจเป็น ยาเคมีบำบัด ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา หรือรังสีรักษาวิธีการเดียว ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็ง
ค.ในโรคระยะที่3: การรักษาหลังการผ่าตัด มักเป็น ยาเคมีบำบัด และร่วมกับรังสีรักษาเฉพาะจุดที่โรคดื้อต่อยาเคมีบำบัด
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งอัณฑะอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งอัณฑะ ขึ้นกับวิธีรักษา และผลข้างเคียงจะมีโอกาสเกิดสูงขึ้นเมื่อ
- ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
- ผู้ป่วยสูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- มีโรคเรื้อรังประจำตัว โดยเฉพาะ
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคที่ก่อการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง
- และในผู้สูงอายุ
อนึ่ง ตัวอย่างผลข้างเคียงจากการรักษา ได้แก่
- การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอัณฑะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
- รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่อเนื้อเยื่อในช่องท้อง (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน)
- ยาเคมีบำบัด: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด การมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
- ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้
โรคมะเร็งอัณฑะรุนแรงไหม?
โรคมะเร็งอัณฑะ จัดเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงต่ำดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม โอกาสรักษาได้หายยังคงขึ้นกับ
- ระยะโรค
- ชนิดของเซลล์มะเร็ง
- ขนาดก้อนมะเร็ง
- ปริมาณสารมะเร็งที่ขึ้นสูง
- อายุ
- และสุขภาพผู้ป่วย
โดยทั่วไป มะเร็งอัณฑะ เป็นโรคมะเร็งที่มีโอกาสรักษาหายได้สูงถึงแม้ในระยะที่มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตแล้วก็ตาม ทั้งนี้ อัตรารอดที่ห้าปี ในโรคระยะต่าง เช่น
- โรคระยะที่1 สูงถึงประมาณ 90-100%
- ระยะที่ 2 ประมาณ 80-90% และ
- ระยะที่ 3 ยังสูงถึงประมาณ 50-70%
อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยประมาณ 5-10% ที่โรคดื้อต่อรังสีรักษาและต่อยาเคมีบำบัด ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้ การรักษาค่อนข้างไม่ได้ผล
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอัณฑะไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอัณฑะให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ ตรวจให้พบโรคเร็วที่สุด โดยหมั่นสังเกต และคลำอัณฑะของตนเอง (ตรวจคลำทั้ง 2 ข้าง) เมื่อพบสิ่งผิดปกติ หรือสงสัยกังวลว่า ผิดปกติ หรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
ป้องกันโรคมะเร็งอัณฑะอย่างไร?
เมื่อดูจากปัจจัยเสี่ยง การป้องกันโรคมะเร็งอัณฑะเต็มร้อย เป็นไปไม่ได้ แต่มีการศึกษาระบุว่า การผ่าตัดแก้ไขภาวะอัณฑะไม่ลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ/อัณฑะค้างในท้องตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยรุ่นสามารถลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งอัณฑะลงได้ ดังนั้นผู้ปกครอง จึงควรสังเกตและคลำอัณฑะของบุตรหลานตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก เมื่อพบมีภาวะอัณฑะไม่เคลื่อนลงถุงอัณฑะ (คลำไม่พบอัณฑะในถุงอัณฑะ) ควรนำเด็กพบศัลยแพทย์ เพื่อได้รับคำแนะนำ และการรักษาที่เหมาะสม
ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด รวมถึงมะเร็งอัณฑะ จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ และ
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น คลำได้ก้อนที่ขาหนีบ หรือมีก้อนในอัณฑะหลังจากผ่าตัดออกไปแล้ว
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียนทุกครั้งที่กินอาหาร/ดื่มน้ำ
- มีไข้ โดยเฉพาะร่วมกับอาการท้องเสีย
- กังวลในอาการ
นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในอีกบทความเรื่อง
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
บรรณานุกรม
- Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
- Halperin, E., Perez, C., and Brady, L. (2008). Perez and Brady: Principles and practice of Radiation Oncology (5th edition). Philadelphia: Wolters Kluwer/ Lippincott Williams & Wilkins.
- Hanna, N., and Einhorn,L. (2014). N Engl J Med. 371, 2005-16
- Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- https://www.cancer.org/cancer/testicular-cancer/detection-diagnosis-staging/staging.html [2018,Dec29]
- https://www.cancer.org/cancer/testicular-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Dec29]
- https://find.cancerresearchuk.org/?xss-q=testicular+cancer [2018,Dec29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Testicular_cancer [2018,Dec29]