มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal Cancer)
- โดย แพทย์หญิง ชลศณีย์ คล้ายทอง
- 17 มีนาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคมะเร็งหลอดอาหารคืออะไร?
- โรคมะเร็งหลอดอาหารมักพบในใคร?
- อะไรเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลอดอาหาร?
- โรคมะเร็งหลอดอาหารมีอาการอย่างไรบ้าง?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งหลอดอาหารได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งหลอดอาหารมีกี่ระยะ?
- รักษาโรคมะเร็งหลอดอาหารอย่างไร?
- การรักษามะเร็งหลอดอาหารมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคมะเร็งหลอดอาหารรุนแรงไหม?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งหลอดอาหารไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคมะเร็งหลอดอาหารได้อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- มะเร็ง (Cancer)
- โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract disease)
- คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)
- ซาร์โคมา มะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
บทนำ
มะเร็งหลอดอาหาร(Esophageal cancer)คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ณจุดใดก็ได้ของหลอดอาหารเกิดกลายพันธ์เจริญเติบโตแบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็ง รุกราน/ทำลายหลอดอาหาร และรุกราน/ลุกลามเข้าทำลายเนื้อเยื่อ/ อวัยวะข้างเคียงหลอดอาหาร ต่อมน้ำเหลืองในช่องอก จนในที่สุดแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองต่างๆทั่วร่างกายนอกช่องอก เช่นที่ เหนือกระดูกไหปลาร้า ลำคอ และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด/โลหิตไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด กระดูก และตับ
อนึ่ง หลอดอาหาร (Esophagus) มีลักษณะเป็นท่อกลวง มีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ซึ่งเป็นอวัยวะต่อเนื่องมาจากคอหอย และอยู่หลังท่อลม ส่วนปลายของหลอดอาหารเป็นกล้ามเนื้อหูรูด ซึ่งสามารถบีบตัวให้หลอดอาหารปิด เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อยกลับสู่หลอดอาหาร หลอดอาหารเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ทำหน้าที่เป็นทางลำเลียงอาหารไปสู่กระเพาะอาหารเท่านั้น แต่ไม่มีหน้าที่ในการย่อยอาหาร
ในบทนี้ จะกล่าวถึงโรคมะเร็งหลอดอาหาร ที่เรียกในภาษาแพทย์ว่า Esophageal cancer ซึ่งมะเร็งหลอดอาหารนี้ เป็นมะเร็งพบบ่อยเป็นอันดับ 8 ของทั่วโลก และมักพบบ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ที่มีรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปีพ.ศ. 2558 พบโรคนี้เป็นลำดับที่ 9ของมะเร็งในชายไทย แต่ไม่ติดใน10ลำดับแรกของมะเร็งในหญิงไทย
มะเร็งหลอดอาหารโรคมะเร็งหลอดอาหารคืออะไร?
โรคมะเร็งของหลอดอาหาร เป็นโรคมะเร็งที่เหมือนโรคมะเร็งอื่นๆ คือการที่เซลล์ภายในหลอดอาหารมีการแบ่งตัวในจำนวนมากขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา และบางครั้งเซลล์มะเร็งเหล่านี้จะมีการแพร่กระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง และ/หรือ กระแสเลือด (โลหิต) ทำให้เกิดการแพร่กระจายของตัวโรคไปยัง เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆได้ทั่วตัว
โรคมะเร็งหลอดอาหารมักพบในใคร?
มะเร็งหลอดอาหารเป็นโรคของผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักพบในช่วงอายุ 55-65 ปี โดยสามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่มักพบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า
อะไรเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลอดอาหาร?
ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถบอกสาเหตุของมะเร็งหลอดอาหารได้อย่างชัดเจน แต่พบมีปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งหลอดอาหารหลายปัจจัย ได้แก่
- ความผิดปกติของพันธุกรรมของแต่ละคน ซึ่งไม่ใช่ชนิดถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
- เชื้อชาติ: พบอุบัติการณ์ของโรคสูงขึ้นในชาว อิหร่าน โซเวียต และจีน และพบได้น้อยในชาวอเมริกา
- การดื่มสุรา และ/หรือ การสูบบุหรี่
- การขาดสารอาหารบางชนิด จากการบริโภคอาหารไม่ครบทุกหมู่ (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่) อย่างต่อเนื่อง
- อาจจากการบริโภคอาหารบางชนิดอย่างต่อเนื่อง เช่น อาหารที่มีสารไนโตรโซ (Nitroso compound) หรือ ไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งมีอยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ใส่สารนี้เป็นสารกันบูด อาหารประเภทย่าง เช่น ปลาทะเลย่าง ปลาหมึกย่าง นอกจากนี้สารบางอย่างที่ใช้ปรุงรสอาหาร อาจเป็นตัวการเพิ่มการเกิดไนโตรซามีนได้ เช่น พริก และพริกไทย ซึ่งใส่ในอาหารที่มี เนื้อสัตว์และเครื่องแกง
- อาจจาก โรคกรดไหลย้อน (ไหลกลับ) ทำให้เยื่อบุภายในหลอดอาหารเกิดการบาด เจ็บเสียหายต่อเนื่อง เรื้อรัง และกลายเป็นมะเร็งของหลอดอาหารได้
- อาจจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดของหลอดอาหาร
- อาจจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุภายในหลอดอาหารจากสาเหตุต่างๆ เช่น การกลืนน้ำยาล้างห้องน้ำ การกลืนน้ำกรด หรือ น้ำด่าง ทำให้เยื่อบุภายในหลอดอา หารเกิดความเสียหายต่อเนื่อง เรื้อรัง และกลายเป็นมะเร็งของหลอดอาหารได้
โรคมะเร็งหลอดอาหารมีอาการอย่างไรบ้าง?
โรคมะเร็งหลอดอาหารในระยะเริ่มแรก มักจะไม่แสดงอาการอะไร แต่เมื่อเป็นมากขึ้นจะแสดงอาการคล้ายคลึงกับอาการของโรคที่พบในบริเวณหลอดอาหาร คือ
- กลืนอาหารไม่สะดวก รู้สึกติด กลืนแล้วเจ็บ ตามตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่บริเวณลำคอจนถึงระดับลิ้นปี่ ซึ่งจะเริ่มด้วยการกลืนอาหารแข็งลำบาก และต่อมาจะกลืนอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม ลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะกลืนน้ำ หรือ น้ำลายไม่ได้
- สำลักเวลากลืน หรือไอ ขณะกินอาหาร
- มีเลือดปนน้ำลาย หรือเสมหะเป็นเลือด หรือ อาเจียนเป็นเลือด
- เมื่ออาการเหล่านี้เป็นมากขึ้นจะส่งผลให้กินอาหารได้น้อยลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว และ
- เมื่อโรคลุกลามเข้าประสาทกล่องเสียง ผู้ป่วยอาจมีเสียงแหบลง
- อาจคลำต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้า หรือที่คอที่โตขึ้นได้ หรือ
- แสดงอาการที่เกิดจากโรคมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปวดหลัง เมื่อโรคแพร่กระจายเข้าสู่ กระดูกสันหลัง เป็นต้น
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งหลอดอาหารได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งหลอดอาหารได้จาก
- ประวัติอาการผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกาย ซึ่งการตรวจร่างกายอาจไม่พบความผิดปกติอะไร ยกเว้นเป็นโรคในระยะลุกลาม อาจคลำต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้า หรือที่คอที่โตขึ้นได้ หรืออาการที่เกิดจากโรคลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปวดหลัง เมื่อโรคกระจายเข้าสู่กระดูกสันหลัง เป็นต้น
- ตรวจเพิ่มเติมทางเอกซเรย์ ด้วยการเอกซเรย์กลืนแป้ง หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูภาพ ตำแหน่ง พยาธิสภาพของหลอดอาหาร รวมไปถึงหาการลุกลามของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆใกล้เคียง หรือดูการแพร่กระจายของต่อมน้ำเหลืองในช่องอกหรือในช่องท้อง เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
- การส่องกล้องตรวจพยาธิสภาพของหลอดอาหารและตัดชิ้นเนื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันว่าเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร แต่หากตรวจพบว่ามีต่อมน้ำ เหลืองที่ไหปลาร้า หรือที่คอโต แพทย์อาจทำการตัดต่อมน้ำเหลืองนั้นไปตรวจแทนได้เช่นกัน
- การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อดูเม็ดเลือด และเกล็ดเลือดก่อนทำการรักษา
- การตรวจเลือดอื่นๆทางห้องปฏิบัติการ เช่น
- เพื่อดูการทำงานของไต
- เพื่อดูการทำงานของตับ
- เพื่อดูระดับเกลือแร่
- เพื่อดูระดับสารมะเร็งชนิด ซีอีเอ (CEA, Carcinoembryonic antigen)
นอกจากนั้น แพทย์ยังอาจพิจารณาทำการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมอื่นๆตามข้อบ่งชี้ เช่น
- เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องอกและปอด ถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่กระจายไปบริเวณใกล้เคียงกับหลอดอาหาร หรือแพร่กระจายไปปอด
- อัลตราซาวด์ภาพช่องท้อง เพื่อดูความผิดปกติในบริเวณช่องท้อง ถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่กระจายไปที่ตับ หรือในช่องท้อง
- การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เช่น การ สะแกนกระดูก ถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่กระ จายไปกระดูก
โรคมะเร็งหลอดอาหารมีกี่ระยะ?
การแบ่งระยะของโรคมะเร็งหลอดอาหารนั้น แบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1: ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก อยู่เฉพาะภายในหลอดอาหาร
- ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งลุกลามถึงเนื้อเยื่อชั้นนอกของหลอดอาหาร และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง/ต่อมน้ำเหลืองช่องอก 1-2 ต่อม
- ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งลุกลามออกมาทะลุเนื้อเยื่อชั้นนอกของหลอดอาหารเข้าสู่อวัยวะ /เนื้อเยื่อข้างเคียง และ/หรือ มีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง/ต่อมน้ำเหลืองช่องอกมากกว่า 2 ต่อมขึ้นไป
- ระยะที่ 4: โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองไกลๆ เช่น ในช่องท้อง ไหปลาร้า หรือที่คอ และ/หรือ เข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่นๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อย คือ ปอด กระดูกตับ และผิวหนัง
รักษาโรคมะเร็งหลอดอาหารอย่างไร?
มีปัจจัยหลายอย่างที่จะเป็นตัวกำหนดวิธีรักษามะเร็งหลอดอาหารของแพทย์ ซึ่งที่สำคัญ คือ ระยะของโรค, ตำแหน่งของโรคมะเร็งที่เกิดในหลอดอาหารว่า เป็นหลอดอาหารในส่วนลำคอ หลอดอาหารในส่วนช่องอก หรือ หลอดอาหารส่วนปลายที่อยู่ติดกับกระเพาะอาหาร, และปัจจัยของผู้ป่วยเอง ได้แก่ อายุ ความสมบูรณ์แข็งแรง และโรคประจำตัวของผู้ป่วย, ซึ่งการรักษาหลัก สามารถแบ่ง เป็น 3 วิธีดังนี้
- ผ่าตัด: มักให้การรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหารระยะต้นๆ และเป็นโรคในหลอดอาหารส่วนช่องอก หรือ หลอดอาหารส่วนปลายที่อยู่ติดกับกระเพาะอาหารที่ผ่าตัดได้ นอกจากนั้นยังสามารถทำการผ่าตัดเพื่อช่วยบรรเทาอาการกลืนลำบาก หรือผู้ป่วยในระยะลุกลามที่ไม่สามารถกลืนอาหารทางปากได้เอง โดย ผ่าตัดให้อาหารทางสายยาง/สายให้อาหารบริเวณหน้าท้องเข้าสู่กระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กแทนได้
- ฉายรังสีรักษา: อาจเป็นการฉายรังสีเพียงวิธีการเดียว หรือ ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด หรือทั้งฉายรังสีฯ ให้ยาเคมีบำบัด และทำการผ่าตัดร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการรักษาของผู้ป่วยในแต่ละราย ซึ่งวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี แบ่งได้ 2 อย่าง คือ
- เพื่อควบคุมโรค มักรักษาในผู้ป่วยระยะลุกลามไม่มาก และมีสุขภาพร่างกายสม บูรณ์แข็งแรง โดยมักร่วมกับการรักษาอื่นๆคือ ยาเคมีบำบัด และ/หรือ การผ่าตัด
- เพื่อประคับประคองอาการ ซึ่งจะรักษาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากมะเร็งลุกลามมาก หรือมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ โดยมักจะทำการรักษาเพื่อบรรเทาอาการจากการกลืนลำบาก กลืนเจ็บ หรืออาการปวดจากการกระจายของมะ เร็งไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง และ/หรือ กระดูก
- ยาเคมีบำบัด: มีวัตถุประสงค์การรักษาเช่นเดียวกับรังสีรักษา
- การรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ในมะเร็งหลอดอาหารนั้น ยังอยู่ในการศึกษาวิจัย และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมากๆ
การรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหารมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน/อาการข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน) จากการรักษาในแต่ละวิธีนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธีที่ผู้ป่วยได้รับรักษา และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วมกัน
- ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด: เช่น อาการปวด การมีเลือดออก การติดเชื้อ การบาดเจ็บจากการผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง
- ผลข้างเคียงจากการให้รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีเฉพาะในบริเวณต่างๆที่ผู้ป่วยได้รับ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา, เรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีบริเวณปอด)
- ผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัด: เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง ยาฯกดการทำงานของไขกระดูกทำให้มีภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และมีเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา)
อนึ่ง อาจพบผลข้างเคียงในระยะยาว (ระยะเวลาหลังครบการรักษาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปจนตลอดชีวิตของผู้ป่วย) ได้ด้วย แต่โดยทั่วไปโอกาสเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้พบได้น้อย ประมาณ 5-15% เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีบริเวณลำคอ หรือทรวงอก จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
โรคมะเร็งหลอดอาหารรุนแรงไหม?
โรคมะเร็งหลอดอาหาร จัดเป็นโรคมะเร็งมีความรุนแรงสูง/การพยากรณ์โรคไม่ดี แต่ความรุนแรงของโรคนั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง ได้แก่
- ระยะของโรค คือ ระยะของโรคที่สูงขึ้น ก็จะมีความรุนแรงของโรค สูงขึ้นด้วย
- ตำแหน่งที่เกิดโรค หากเป็นโรคบริเวณหลอดอาหารในส่วนลำคอจะมีผลการรักษาที่แย่กว่าหลอดอาหารในส่วนอื่นๆ เพราะการรักษาด้วยการผ่าตัดทำได้ ยาก
- อายุ พบว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยจะมีผลการรักษาที่ดีกว่าผู้ป่วยที่อายุมาก เพราะผู้ป่วยอายุน้อยมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและสามารถทนต่อการดูแลรักษาได้ดีกว่า
- สภาพร่างกายและโรคร่วมอื่นๆของผู้ป่วยที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน พบว่าผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงจะมีผลการรักษาที่ดี กว่า เพราะสามารถทนต่อการรักษาได้ดีกว่า
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งมะเร็งหลอดอาหารไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรอง (การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง) ให้พบมะเร็งหลอดอาหารในระยะเริ่มแรกตั้งแต่ยังไม่มีอาการ
- ดังนั้น เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าว จึงควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ
- หรือหากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น เป็นโรคกรดไหลย้อน หรือมีประวัติการกลืนน้ำยาล้างห้องน้ำ การกลืนน้ำกรด/ด่าง ซึ่งส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุภายในหลอดอาหาร ก็ควรทำการรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร
ป้องกันโรคมะเร็งหลอดอาหารได้อย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งหลอดอาหาร แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ
- การหลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การติดเชื้อโรคต่างๆ ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด รวมมะเร็งหลอดอาหารจะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น ท่อให้อาหารทางหน้าท้องหลุด ปวด/เจ็บตามอวัยวะต่างๆรุนแรง มีแผลกดทับ
- มีไข้ โดยเฉพาะร่วมกับอาการท้องเสีย
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว คลื่นไส้อาเจียนรุนแรงต่อเนื่อง ท้องผูก หรือ ท้องเสีย รุนแรงต่อเนื่อง
- กังวลในอาการ
นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และ เรื่อง
- การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด