มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
- โดย แพทย์หญิง ชลศณีย์ คล้ายทอง
- 27 ธันวาคม 2561
- Tweet
สารบัญ
- มะเร็งปากมดลูกพบในใครได้บ้าง?
- อะไรเป็นสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก?
- มะเร็งปากมดลูกมีอาการอย่างไร?
- ผู้หญิงควรจะเริ่มตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูกเมื่อใด?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งปากมดลูกแบ่งเป็นกี่ระยะ?
- รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร?
- การรักษาโรคมะเร็งปาดมดลูกมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?
- โรคมะเร็งปากมดลูกรักษาหายไหม?
- มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
บทความที่เกี่ยวข้อง
- อวัยวะเพศภายในสตรี: กายวิภาคอวัยวะเพศภายในสตรี (Anatomy of female internal genitalia) / สรีรวิทยาอวัยวะเพศภายในสตรี (Physiology of female internal genitalia)
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งระยะศูนย์ (Stage 0 cancer)
- วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer screening) โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer screening) และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer screening)
- แป๊บสเมียร์: การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap- smear หรือ Pap test)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- ถุงยางอนามัยสตรี (Female condom)
- การส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy)
- การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า (Loop electrosurgical excision procedure –LEEP)
- การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย (Cervical conization)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
มะเร็งปากมดลูกพบในใครได้บ้าง?
จากสถิติทั่วโลกนั้น มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ซึ่งรวมทั้งในประเทศไทยด้วย เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ มักพบในช่วงอายุ 30-70 ปี(พบสูงช่วงอายุ 45-55 ปี) แต่สามารถพบได้บ้างในอายุน้อยกว่านี้ และในผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
สถิติเกิดมะเร็งปากมดลูกของหญิงไทย รายงานในพ.ศ. 2558 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ป่วยช่วงปี พ.ศ. 2553-2555 พบได้ 14.4 รายต่อประชากรหญิง1 แสนคน
มะเร็งปากมดลูกอะไรเป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก?
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก คือ ปากมดลูกติดเชื้อไวรัส ชื่อ ฮิวแมน แปปิลโลมา ไวรัส(Human Papilloma Virus) เรียกสั้นๆว่า เอชพีวี (HPV) หรือ ไวรัสหูดนั่นเอง ไวรัส เอชพีวี มีทั้งหมดกว่า 100 ชนิด แต่ที่ทำให้ติดเชื้ออวัยวะสืบพันธุ์มีประมาณ 30-40 ชนิด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มเสี่ยงต่ำจะทำให้เกิดการเป็นหูดหงอนไก่ และกลุ่มเสี่ยงสูงจะทำให้เกิดมะเร็ง ซึ่งที่พบบ่อย คือ มะเร็งปากมดลูก
ไวรัสชนิดนี้ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิว หรือเยื่อบุในอวัยวะสืบพ้นธุ์ จึงทำให้เชื้อไวรัสเข้าไปอยู่ที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงของ เนื้อเยื่อ หรือ เซลล์ ของปากมดลูก กลายเป็นเซลล์/เนื้อเยื่ออักเสบเรื้อรัง(ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก) และเป็นมะเร็งในที่สุด โดยระยะเวลาตั้งแต่ติดเชื้อไวรัสจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งนั้น ใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี แต่อาจเร็ว หรือ ช้ากว่านี้ได้
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกอีกด้วย โดยแบ่งเป็น
ก. ปัจจัยเสี่ยงของฝ่ายหญิง ที่สำคัญ คือ
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย(ต่ำกว่า 18 ปี)
- มีคู่นอนหลายคน
- คลอดบุตรจำนวนหลายคน(มากกว่า 3 คนขึ้นไป)
- เป็นโรคเรื้อรังหรือโรคที่ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ โดยเฉพาะติดเชื้อไวรัส เอชไอวี/โรคเอดส์ (HIV/ AIDs)
- มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน เช่น เริม หรือ หนองใน
- เคยมีความผิดปกติ(การอักเสบเรื้อรัง)ของปากมดลูก โดยตรวจพบ จากการตรวจภายใน และจากตรวจเซลล์ปากมดลูก ที่เรียกว่า แป๊บสเมียร์ หรือ แป๊บเทส/Pap Smear หรือ Pap Test (วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ )
- สูบบุหรี่
- มีประวัติการใช้ยาฮอร์โมนเพศ ชนิดไดอีธีลสติลเบสทรอล (Diethylstilbestrol เรียกย่อว่า DES/ดีอีเอส) เพื่อป้องกันการแท้งบุตร
- อาจจากขาดสารอาหารบางชนิด เพราะพบว่า ผู้หญิงที่รับประทานผักและผลไม้น้อย มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดพบบ่อย รวมทั้งมะเร็งปากมดลูก สูงกว่าคนที่รับประทานผักและผลไม้มาก
- อาจจากมีปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขไม่ทั่วถึง หรือ เพราะมีลูกมาก
- อาจจากพันธุกรรม
ข.ปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายชายที่เป็นคู่นอน ที่สำคัญคือ
- มีคู่นอนหลายคน
- มีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม และ/หรือ หนองใน
- มีประวัติเป็นมะเร็งสืบพันธุ์อวัยวะเพศชาย
- เคยมีคู่นอนที่มีประวัติเป็นมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของมะเร็งปากมดลูก คือ
ก. ในระยะเริ่มแรกหรือในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลย แต่ตรวจพบจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (แนะนำอ่านรายละเอียดในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่)
ข. เมื่อโรคเริ่มเป็นมาก อาการที่พบบ่อย ก็คือ
- การมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด โดยอาจจะเป็นเลือดออกกะปริบกะปรอยช่วงระหว่างรอบเดือน ประจำเดือนมานานผิดปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดหลังจากพ้นวัยหมดประจำเดือนถาวรไปแล้ว หรือ มีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์(เดิมไม่เคยมี)
- นอกจากนั้นผู้ป่วยบางรายอาจมีตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น และ/หรือมีเลือดปนออกมาด้วย
- รวมไปถึงบางรายอาจมีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
ค. แต่ถ้าหากโรคมะเร็งลุกลามไปมากขึ้นหรือลุกลามไปอวัยวะอื่นๆในบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้มีอาการ
- ปวดหลัง หรือปวดก้นกบ หรือปวดหลังร้าวลงขาหากโรคไปกดทับเส้นประสาท
- อาจมีปัสสาวะเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือด หากโรคลุกลามเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ หรือเข้าลำไส้ใหญ่
- อาจขาบวมหากโรคลุกลามไปกดทับท่อน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน หรือทำให้ท่อน้ำเหลืองเหล่านั้นอุดตัน
- และอาจมีปัสสาวะผิดปกติ มีอาการของไตวายเฉียบพลันหากโรคลุกลามไปกดทับท่อไต (ท่อไตอยู่ติดกับปากมดลูก)
ผู้หญิงควรจะเริ่มตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูกเมื่อใด?
ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทุกช่วงอายุ ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเสมอ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่) หรือที่เรียกว่า ตรวจแป๊ปสเมียร์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และ
ผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มเมื่ออายุประมาณ 21-25 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ ในทั้ง2กรณี เมื่อพบความผิดปกติ แพทย์อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ตรวจแป๊บสเมียร์ซ้ำ หรือ นัดตรวจแป๊บสเมียร์บ่อยขึ้น หรือ ตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกเพื่อ การตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร?
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น แพทย์จะทำการตรวจทางช่องคลอด/การตรวจภายใน พร้อมตรวจ คลำหน้าท้อง และตรวจทางทวารหนัก เพื่อจะได้เห็นปากมดลูกอย่างชัดเจนรวมไปถึงคลำการลุกลามของโรคในอวัยวะข้างเคียง (คลำได้ทางทวารหนัก) หากพบก้อนเนื้อ และ/หรือ แผล แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา
หรือในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่พบก้อนเนื้อ หรือแผลชัดเจน แต่จากการตรวจแป๊บสเมียร์ สงสัยความผิดปกติ แพทย์นรีเวชอาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยกล้องขยายที่เรียกว่า คอลโปสโคป (Colposcope) และพิจารณาตัดชิ้นเนื้อในส่วนที่ผิดปกติ เพื่อส่งตรวจทางพยาธิเพิ่มเติมต่อไป
นอกจากนั้นยังมีการตรวจอื่นๆที่อาจช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น การขูดมดลูก การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า การผ่าตัดปากมดลูก/การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย หรือตามแต่แพทย์นรีเวชจะเห็นว่าเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
โรคมะเร็งปากมดลูกแบ่งเป็นกี่ระยะ?
โรคมะเร็งปากมดลูกนั้นแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะ 0 มะเร็งระยะ0 หรือระยะเริ่มแรกก่อนเป็นมะเร็ง คือ ระยะที่เซลล์ของปากมดลูกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง สามารถตรวจพบได้จากการตรวจแป๊บสเมียร์ ยังไม่สามารถพบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายได้
- ระยะที่ 1 คือ ระยะที่มีเซลล์มะเร็งอยู่เฉพาะบริเวณปากมดลูกเท่านั้น
- ระยะที่ 2 คือ ระยะที่มะเร็งลุกลามออกจากปากมดลูกไปบริเวณช่องคลอดส่วนบนหรือบริเวณอุ้งเชิงกรานแต่ยังไม่ลุกลามถึงผนังอุ้งเชิงกราน
- ระยะที่ 3 คือ ระยะที่มะเร็งลุกลามไปจนติดผนังอุ้งเชิงกราน, หรือ ก้อนมะเร็งมีการกดทับท่อไต ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงจนไตด้านนั้นไม่ทำงาน(อาจทั้งสองไต), หรือลุกลามลงถึงช่องคลอดส่วนล่าง
- ระยะที่ 4 คือ ระยะที่มะเร็งลุกลามเข้าสู่อวัยวะข้างเคียง คือ กระเพาะปัสสาวะ และ/หรือ ลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก หรือมะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก สมอง และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองอยู่ไกลปากมดลูก เช่น ในช่องท้อง
รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร?
แนวทางการรักษามะเร็งปากมดลูกนั้น ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่ผู้ป่วยเป็น สภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วย โรคร่วมอื่นๆที่ผู้ป่วยเป็นอยู่(เช่น เบาหวาน และโรคหัวใจ) รวมไปถึงความต้องการมีบุตรของตัวผู้ป่วยเอง(เมื่อเกิดโรคในอายุน้อย) และดุลพินิจของแพทย์
ก. ระยะ0: การรักษาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. การทำลายเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก: ได้แก่
- การใช้ความเย็นจัด (ไครโอเซอร์เจอรี/Cryosurgery)จี้ทำลาย
- การใช้เลเซอร์จี้ทำลาย
- การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า (LEEP/ลีป)
- การผ่าตัดปากมดลูก/การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย (Conization /โคไนเซชัน)
ทั้งนี้ หลังจากที่ทำการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว ผู้ป่วยยังต้องทำการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจแป๊บเสมียร์ และอาจต้องตรวจ คอลโปสโคป ทุก 3-6 เดือนหรือตามที่แพทย์นรีเวชนัดตรวจ (มักใช้รักษาเมื่อผู้ป่วยยังต้องการมีบุตร)
2. การตัดมดลูก: เพื่อเอามดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด มักใช้ในกรณีที่
- ผู้ป่วยมีบุตรเพียงพอแล้ว
- ผู้ป่วยมีอายุมาก หรืออยู่ในภาวะหมดประจำเดือนแล้ว
- ผู้ป่วยไม่สามารถติดตามผลการรักษาแบบการทำลายเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกในระยะยาวได้
- ผู้ป่วยมีพยาธิสภาพอย่างอื่นทางนรีเวชที่จะต้องทำการผ่าตัดด้วย เช่น เนื้องอก มดลูก (ไมโอมา)
3. หากผู้ป่วยไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นได้ จะพิจารณาทำการรักษาโดยรังสีรักษาด้วยการใส่แร่
ข. ระยะที่ 1 การรักษาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. การผ่าตัด ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น
- การผ่าตัดมดลูก โดยอาจผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ 2 ข้างด้วย
- การผ่าตัดมดลูกแบบถอนราก ร่วมกับตัดต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน หากผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาจากการผ่าตัดทั้ง 2 แบบพบว่า เนื้อเยื่อมะเร็ง มีความรุนแรงสูง ส่งผลมีโอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรคสูง ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษาต่อ เนื่องด้วยการให้รังสีรักษาเพิ่มเติม
2. การรักษาด้วยการให้รังสีรักษา ซึ่งอาจต้องทั้งฉายรังสีร่วมกับการใส่แร่ หรืออาจจะใส่แร่เพียงอย่างเดียว ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยในแต่ละราย
3. การรักษาด้วยการให้รังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
ค. ระยะที่ 2 การรักษาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. การผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากร่วมกับตัดต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน หากผลชิ้นเนื้อ (การตรวจทางพยาธิวิทยา)ออกมาพบว่ามีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำของโรคสูง ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษาด้วยการให้รังสีรักษาเพิ่มเติม
2. การรักษาด้วยการให้รังสีรักษา ซึ่งจะต้องให้ทั้งฉายรังสีร่วมกับการใส่แร่
3. การรักษาด้วยการให้รังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
ง. ระยะที่ 3 คือ การรักษาด้วยการให้รังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด แต่ถ้าหากผู้ ป่วยไม่สามารถให้เคมีบำบัดได้ อาจให้การรักษาด้วยรังสีรักษาเพียงอย่างเดียว ซึ่งการให้รังสีรักษานั้นจะต้องให้ทั้งฉายรังสี ร่วมกับการใส่แร่
จ. ระยะที่ 4 การรักษาแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. การรักษาด้วยการให้รังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะต้องให้ทั้งฉายรังสี ร่วมกับการใส่แร่ มักให้การรักษาในผู้ป่วยที่มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะข้าง เคียง คือ กระเพาะปัสสาวะ หรือ ลำไส้ใหญ่ และผู้ป่วยต้องมีสภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเท่านั้น
2. การรักษาด้วยการให้รังสีรักษา เพื่อลดอาการที่เกิดจากมะเร็งและเพื่อเพิ่มคุณ ภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดเรื้อรัง มีอาการปวดตามอวัยวะต่างๆจากโรคมะเร็งลุกลาม แพร่กระจาย
3. การรักษาด้วยการให้เคมีบำบัดเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น เหนื่อยหอบจากโรคแพร่กระจายสู่ปอด
4. การรักษาประคับประคองตามอาการ ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถให้การด้วยวิธีทางรักษามะเร็ง(ผ่าตัด รังสีรักษา ยาเคมีบำบัด)ได้ เช่น การผ่าตัดเล็กที่ไตเพื่อใส่ท่อปัสสาวะกรณีท่อไตอุดตันจากมะเร็งลุกลาม
อนึ่ง การรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง เริ่มมีการนำมาใช้ทางคลินิกบ้างแล้วในโรคระยะลุกลามรุนแรง แต่ยังไม่เป็นการรักษามาตรฐาน เพราะยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาทางการแพทย์
การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?
ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งปากมดลูกในแต่ละวิธีนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธีที่ผู้ ป่วยได้รับการรักษา และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วมกัน
ก. ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ได้แก่ อาการปวด การมีเลือดออก การติดเชื้อ การบาดเจ็บจากการผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง หากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเอามดลูกออกจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมีบุตรได้อีก และหากผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยก็จะมีภาวะหมดประจำเดือนและมีอาการของวัยทอง/วัยหมดประจำเดือนได้
ข. ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการให้รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนังในบริเวณที่ฉายรังสีรักษา (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน
ค. ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง มือเท้าชา ภาวะซีด เม็ดเลือดขาวต่ำทำให้ติดเชื้อได้ง่าย (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง) ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีเลือดออกได้ง่าย การทำงานของไตลดลง ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัด อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย
โรคมะเร็งปากมดลูกรักษาหายไหม?
มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมีความรุนแรงปานกลาง ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ได้ผลการรักษา(อัตรารอดที่ห้าปี)ดังต่อไปนี้ คือ
- ระยะที่ 0 รักษาได้ผลดี อัตรารอดฯประมาณ 90-95%
- ระยะที่ 1 มีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 80-90%
- ระยะที่ 2 มีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 60-70%
- ระยะที่ 3 มีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 40-50%
- ระยะที่ 4 มีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 0-20%
ดังนั้นการตรวจคัดกรองเพื่อหามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญมาก เพื่อผลการรักษาที่ดี
มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ไหม?
การป้องกันมะเร็งปากมดลูก แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. การป้องกันปฐมภูมิ: คือ การป้องกันโดยการหลีกเลี่ยง การลด หรือขจัด สาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยง เช่น
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย
- ให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งเชื้อ เอชพีวี และเชื้อ เอชไอวี
- คุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัยชาย หรือ ถุงยางอนามัยหญิง
- หลีกเลี่ยงการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอชพีวี และเอชไอวี
- เลิกสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก) ซึ่งป้องกันโรคได้ประมาณ 70% และต้องมีข้อปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนฯให้ได้ผล
2.การป้องกันทุติยภูมิ: คือ การค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกโดยยังไม่มีอาการ หรือ การตรวจคัดกรอง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความเรื่อง วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่)
3. การป้องกันตติยภูมิ: คือ การรักษาโรคมะเร็ง เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ซึ่งก็คือ เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็ง มีชีวิตยาวนาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ผลการรักษา ขึ้นกับระยะโรค อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ที่รวมมะเร็งปากมดลูก จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น เลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้อาเจียนทุกครั้งที่กิน/ดื่ม ท้องเสียหรือท้องผูกมาก
- มีไข้ โดยเฉพาะเกิดร่วมกับท้องเสีย
- กังวลในอาการ
นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในอีก2บทความในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด