มะเร็งทวารหนัก (Anal cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคมะเร็งทวารหนัก (Anal cancer)คือโรคที่เซลล์ของเนื้อเยื่อทวารหนักเกิดกลายพันธ์ มีการเจริญแบ่งตัวอย่างรวดเร็วเกินปกติมาก ซึ่งร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ จนในที่สุดเกิดเป็นแผล/ก้อนมะเร็งรุกราน/ลุกลามทำลายทวารหนักเอง เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ติดกับทวารหนัก, ต่อมน้ำเหลืองใกล้ทวารหนัก (เช่น ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ) และเมื่อลุกลามมากขึ้น เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลือง แพร่กระจายเข้าทำลายต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน, ในช่องท้อง, และทั่วร่างกาย, และแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายเช่นกันที่พบบ่อย คือ ปอด ทั้งนี้การกลายพันธุจะเกิดที่จุดใดของทวารหนักก็ได้ โดยอาการสำคัญของมะเร็งทวารหนัก คือ อุจจาระเป็นเลือด ร่วมกับมีก้อนเนื้อในทวารหนัก

มะเร็งทวารหนัก เป็นมะเร็งพบไม่บ่อย แต่ปัจจุบันกำลังพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันพบประมาณ 1-2%ของโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารทั้งหมด โดยทั่วโลกในปี 2002 พบผู้ป่วยใหม่ที่เกิดโรคนี้ ประมาณ 30,400 คน ซึ่งประมาณ 90% มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี(HPV, Human papillomavirus, ไวรัสในกลุ่มเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก)จากเพศสัมพันธ์

มะเร็งทวารหนัก เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ อายุที่พบได้สูงอยู่ในช่วง 60-65 ปี ในสหรัฐอเมริกาช่วง ค.ศ. 2011-2015 พบอัตราเกิดโรคเท่ากันทั้งในผู้หญิงและผู้ชายคือ 1.8 รายต่อประชากรชาย,และหญิง 1 แสนคน

ประเทศไทย ช่วงค.ศ 2010-2012 พบมะเร็งทวารหนักในผู้หญิง 0.2 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน และในผู้ชาย 0.3 รายต่อประชากรชาย 100,000 คน

โรคมะเร็งทวารหนักมีกี่ชนิด?

มะเร็งทวารหนัก

มะเร็งทวารหนักมีหลากหลายชนิด ทั้งในกลุ่ม มะเร็งคาร์ซิโนมา(Carcinoma) และมะเร็งซาร์โคมา(Sarcoma) แต่ที่พบบ่อยเป็นประมาณ 90-95% คือ มะเร็ง คาร์ซิโนมา ชนิด สะความัส (Squamous cell carcinoma) และ ชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) ดังนั้น โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง มะเร็งทวารหนัก จะหมายถึงโรคมะเร็งทั้งสองชนิดนี้ ซึ่งรวมทั้งในบทความนี้ด้วย

โรคมะเร็งทวารหนักเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งทวารหนัก แต่พบปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • มีประวัติการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหูด โรคเริม โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีดังกล่าวแล้วในตอนต้น และโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
  • มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • มีคู่นอนหลายคน โดยเฉพาะตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่เคยเจ็บป่วยด้วย โรคมะเร็งปากมดลูก, โรคมะเร็งช่องคลอด, หรือโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง ด้วยมะเร็งต่างๆดังกล่าวมีปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชพีวี
  • การใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
  • การสูบบุหรี่
  • อาจจากมีการอักเสบเรื้อรังของทวารหนัก เช่น โรคฝีคัณฑสูตร (แผลอักเสบติดเชื้อเรื้อรังระหว่างทวารหนักและผิวหนังรอบๆปากทวารหนัก)

โรคมะเร็งทวารหนักมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้บ่อยของมะเร็งทวารหนัก คือ

  • มีก้อนเนื้อผิดปกติในทวารหนัก
  • มีแผลเรื้อรังบริเวณทวารหนัก
  • มีสารคัดหลั่งเรื้อรังจากปากทวารหนัก และ/หรือ คันทวารหนักเรื้อรัง
  • ปวด/เจ็บรอบทวารหนัก หรือในทวารหนัก หรือเมื่อถ่ายอุจจาระ
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • อาจท้องผูก หรือท้องผูกสลับท้องเสียผิดปกติ
  • เมื่อโรคลุกลามมาก อาจ
    • คลำได้ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโต อาจเจ็บ หรือไม่เจ็บก็ได้ อาจโตเพียงข้างเดียว หรือทั้งซ้ายและขวา

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งทวารหนักได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งทวารหนักได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ การสูบบุหรี่ ประวัติเพศสัมพันธ์ ประวัติโรคประจำตัว หรือการเป็นโรคมะเร็งต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึง การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งต่างๆ เช่น ขาหนีบ
  • การตรวจทางทวารหนัก
  • อาจมีการส่องกล้องตรวจทวารหนัก และ/หรือลำไส้ใหญ่ แต่ที่ให้ผลแน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ/แผลที่ทวารหนักเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • ซึ่งเมื่อทราบผลตรวจแน่นอนแล้ว จะมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อประเมินระยะของโรค เช่น
    • ตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ดูโรคมะเร็งกระจายสู่ปอด
    • ตรวจภาพช่องท้องด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน หรืออัลตราซาวด์ ดูการลุกลามแพร่กระจายของโรคไปที่ ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน ช่องท้อง ตับ และอวัยวะอื่นๆในช่องท้อง
    • ตรวจเลือดต่างๆ เช่น ซีบีซี/CBC และ ตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินสุขภาพผู้ป่วย

โรคมะเร็งทวารหนักมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งทวารหนักทั่วโลกรวมถึงในบ้านเรา นิยมแบ่งระยะโรคตามองค์กรแพทย์ด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา(American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC) 8th Ed. โดยแบ่งโรคฯเป็น 4 ระยะ และบางระยะอาจแบ่งเป็นระยะย่อยได้อีก ทั้งนี้เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยในการให้การรักษา การพยากรณ์โรค และใช้ในการศึกษา ซึ่งทั้ง 4 ระยะหลัก ได้แก่

  • ระยะที่ 1: ก้อน/แผลมะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะทวารหนัก และโตไม่เกิน 2 เซนติเมตร (ซม.)
  • ระยะที่ 2: แบ่งเป็น 2ระยะย่อย คือ
    • ระยะ2A: ก้อน/แผลมะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะทวารหนัก และโตมากกว่า 2 ซม.แต่ไม่เกิน 5 ซม.
    • ระยะ2B: ก้อน/แผลมะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะทวารหนัก และโตมากกว่า 5 ซม.
  • ระยะที่ 3: โรคมะเร็งลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงทวารหนัก โดยแบ่งเป็น 3 ระยะย่อย ได้แก่
    • ระยะ3A: ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน5ซม. และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงทวารหนัก
    • ระยะ3B: มะเร็งลุกลามออกนอกทวารหนักเข้าอวัยวะข้างเคียง เช่น ช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ แต่ยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
    • ระยะ3C: ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 5ซม. ร่วมกับลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงทวารหนัก
  • ระยะที่ 4:
    • โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลทวารหนัก เช่น ในอุ้งเชิงกราน, ในช่องท้อง, และ/หรือเหนือกระดูกไหปลาร้า
    • และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิต (เลือด) ไปยังอวัยวะต่างๆ ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักเข้าสู่ ปอด และตับ

อนึ่ง ถ้าเซลล์มะเร็งรุกราน/ลุกลามอยู่เฉพาะในผนังทวารหนักชั้นเยื่อเมือก/เยื่อบุผิว เรียกว่า เป็นมะเร็งระยะยังไม่มีการรุกราน(Pre invasive cancer) จัดเป็น ‘มะเร็งระยะศูนย์ (Stage0)’ ดังนั้นแพทย์โรคมะเร็งหลายท่านจึงยังไม่จัดโรคระยะ0 นี้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive) ซึ่งมะเร็งระยะศูนย์นี้ พบน้อยมาก การรักษาเป็นการผ่าตัดวิธีเดียวและมีอัตราอยู่รอดที่ห้าปีสูงมากมัก90%ขึ้นไป

โรคมะเร็งทวารหนักรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งทวารหนัก มักเป็นการรักษาร่วมกันทั้ง 3 วิธีหลัก คือ การผ่าตัด, รังสีรักษา, และยาเคมีบำบัด, ส่วนยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบเฉพาะต่อเซลล์มะเร็งยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและยายังมีราคาแพงมากเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทวารหนักอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทวารหนัก ขึ้นกับวิธีรักษา ดังนี้

ก. การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ซึ่งบางครั้งอาจต้องมีการผ่าตัดทำทวารเทียม (ถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง), การเสียเลือด, แผลผ่าตัดติดเชื้อ, และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ

ข. รังสีรักษา: คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสีรักษา (แนะนำอ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และ เรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน)

ค. ยาเคมีบำบัด: คือ อาการ คลื่นไส้-อาเจียน, ผมร่วง, ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมจาก เว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด-รังสีรักษา:การดูแลตนเอง)

ง. ยารักษาตรงเป้า/ การรักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาฯบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ ลำไส้ทะลุได้

โรคมะเร็งทวารหนักรุนแรงไหม?

โรคมะเร็งทวารหนักเป็นโรคมีความรุนแรง/การพยากรณ์โรคที่รุนแรงปานกลาง ทั้งนี้อัตรารอดที่ห้าปีภายหลังการรักษา ได้แก่

  • โรคระยะที่ 1 และระยะที่2: ประมาณ 70-80%
  • โรคระยะที่ 3: ประมาณ 30-50%
  • โรคระยะที่ 4: ประมาณ 0-10%

อย่างไรก็ตาม นอกจากระยะของโรคแล้ว ความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรคยังขึ้นกับ

  • การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง: ซึ่งถ้าเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูงการพยากรณ์โรคเลว
  • การตอบสนองของโรคต่อรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัด: ถ้าการตอบสนองไม่ดี การพยากรณ์โรคเลว
  • อายุ: ยิ่งสูงอายุ การพยากรณ์โรคไม่ดี
  • และสุขภาพของผู้ป่วย: ถ้าสุขภาพพื้นฐานไม่ดี การพยากรณ์โรคไม่ดี

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งทวารหนักไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งทวารหนักให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยโรคได้แต่เนิ่นๆ

อย่างไรก็ตาม ในผู้มีปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ แพทย์อาจมีการตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้องตรวจทวารหนักเป็นระยะๆตามดุลพินิจของแพทย์ ร่วมกับการขูดเซลล์จากผนังทวารหนักเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา เพื่อดูการเริ่มกลายพันธ์ของเซลล์ เพื่อการรักษาโรคตั้งแต่เป็น มะเร็งระยะศูนย์ หรือ ระยะ1,2

ป้องกันโรคมะเร็งทวารหนักอย่างไร?

การป้องกันโรคมะเร็งทวารหนักเต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่สามารถลดโอกาสเกิดลงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น

  • การมีเพศสัมพันธ์สำส่อน
  • การสูบบุหรี่

นอกจากนั้น

  • การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก) เพื่อป้องกันโรคมะเร็งทวารหนัก(เนื่องจากสัมพันธ์กับไวรัสชนิดเดียวกับที่ก่อโรคมะเร็งปากมดลูก) ซึ่งทางสหรัฐอเมริกายอมรับว่า สามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งทวารหนักในผู้มีปัจจัยเสี่ยงได้
  • การใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ที่รวมถึงเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักและทางปาก ก็มีการศึกษาสนับสนุนว่าช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้ จึงสามารถช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งทวารหนักได้เช่นกัน

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึง มะเร็งทวารหนักจะคล้ายกัน นำมาปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ ไม่หยุดการรักษาไปเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น อุจจาระเป็นเลือดมากขึ้น ปวดอวัยวะต่างๆมากขึ้น
    • มีไข้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูก/ท้องเสียต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในการดูแลตนเอง/ดูแลผู้ป่วยฯจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง/ การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด/การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. AJCC Cancer Staging Manual, 8th Ed
  2. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
  4. Halperin, E., Perez, C., and Brady, L. (2008). Perez and Brady: Principles and practice of Radiation Oncology (5th edition). Philadelphia: Wolters Kluwer/ Lippincott Williams & Wilkins.
  5. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Anal_cancer [2019,Aug3]
  7. https://www.cancer.org/cancer/anal-cancer/about/what-is-anal-cancer.html [2019,Aug3]
  8. https://www.cancer.org/cancer/anal-cancer/detection-diagnosis-staging.html [2019,Aug3]
  9. https://www.cancer.org/cancer/anal-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019,Aug3]
  10. https://emedicine.medscape.com/article/2500052-overview#showall [2019,Aug3]