มะเร็งถุงน้ำดี (Gallbladder Cancer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 22 ธันวาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- โรคมะเร็งถุงน้ำดีมีกี่ชนิด?
- โรคมะเร็งถุงน้ำดีเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งถุงน้ำดีมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งถุงน้ำดีได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งถุงน้ำดีมีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งถุงน้ำดีรักษาอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งถุงน้ำดีอย่างไร?
- โรคมะเร็งถุงน้ำดีรุนแรงไหม?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งถุงน้ำดีไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคมะเร็งถุงน้ำดีอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็ง?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)
- กายวิภาคตับและระบบทางเดินน้ำดี (Hepatobiliary system)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
บทนำ
มะเร็งถุงน้ำดี(Gallbladder cancer หรือ Gallbladder carcinoma คือโรคที่เซลล์ผนังถุงน้ำดีที่จุดใดก็ได้ เกิดกลายพันธ์ เจริญแบ่งตัวรวดเร็ว ต่อเนื่อง ผิดปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเหล่านี้ได้ จึงส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อร้าย/ก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งเกิดที่ผนังถุงน้ำดี รุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อถุงน้ำดีจนไม่สามารถใช้งานได้ ลุกลาม/ทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ติดกับถุงน้ำดี ต่อมน้ำเหลืองต่างๆรอบๆท่อน้ำดีที่อยู่นอกตับ ต่อมเหลืองรอบท่อเลือดแดงในช่องท้อง และแพร่กระจายเข้าทางกระแสโลหิตไปทำลายอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย ที่พบบ่อย คือ ตับ และปอด
โรคมะเร็งถุงน้ำดี เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ เป็นโรคพบได้ไม่บ่อยนัก ในสหรัฐอเมริกา ในปี คศ. 2008 (พ.ศ. 2551) พบผู้ป่วยใหม่จากโรคนี้ ในผู้หญิง5,020 ราย และในผู้ชาย 4,500 ราย
โรคมะเร็งถุงน้ำดีพบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชายประมาณ 1.5-2 เท่า มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (แต่พบในอายุน้อยกว่านี้ได้บ้าง) อายุช่วงที่พบโรคได้สูง คือ 60-66 ปี
ทั่วโลกพบโรคมะเร็งถุงน้ำดีรวมทั้ง 2 เพศ ได้ประมาณ 3-8.8 รายต่อประชากร 100,000 คน ทั้งนี้ ขึ้นกับเชื้อชาติ โดยพบได้สูงสุดในผู้หญิงอินเดีย ส่วนในประเทศไทย ช่วงปีพ.ศ. 2553-2555 พบโรคนี้ในผู้หญิง1.0ต่อประชากรหญิง 1 แสนคน และในผู้ชาย 0.8ต่อประชากรชาย 1 แสนคน
โรคมะเร็งถุงน้ำดีมีกี่ชนิด?
โรคมะเร็งถุงน้ำดีมีหลากหลายชนิดเซลล์มะเร็ง แต่มากกว่า 90% เป็นมะเร็งของเยื่อเมือกบุภายในถุงน้ำดี ชนิดที่เรียกว่า อะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma ซึ่งแบ่งเป็นขนิดย่อยได้อีก เรียกว่า Papillary adenocarcinoma) ดังนั้น โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งถุงน้ำดี รวมทั้งในบทความนี้ จะหมายถึง “โรคมะเร็งถุงน้ำดี ชนิด อะดีโนคาร์ซิโนมา” (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา)
ทั้งนี้ มะเร็งถุงน้ำดีชนิดอื่นๆที่พบได้น้อยมาก เช่น Adenosquamous carcinoma , Squamous cell carcinoma , Small cell carcinoma , และ มะเร็งซาร์โคมา
โรคมะเร็งถุงน้ำดีเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคมะเร็งถุงน้ำดี แต่พบมีปัจจัยเสี่ยงดังนี้ คือ
- ผู้หญิงสูงอายุ
- เชื้อชาติ พบได้สูงในประเทศแถบอเมริกากลาง อินเดีย ญี่ปุ่น แต่พบได้น้อยในคนอังกฤษ และในประเทศแถบสแกนดิเนียเวีย (Scandinavia)
- เป็นโรคถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง
- เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี
- พันธุกรรม พบโรคนี้มีความสัมพันธ์กับบางโรคทางพันธุกรรมได้ แต่พบจากสาเหตุนี้ได้น้อยมากๆ
โรคมะเร็งถุงน้ำดีมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคมะเร็งถุงน้ำดี คล้ายคลึงกับอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือโรคถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ
- อาจไม่มีอาการ แต่เป็นการตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภาพตับเพื่อวินิจฉัยโรคต่างๆของตับ หรือในการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ตับ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- อาจมีคลื่นไส้ อาเจียนบางครั้ง
- อาจมีไข้ เมื่อมีการอักสบติดเชื้อของถุงน้ำดีร่วมด้วย
- เบื่ออาหาร ผอมลง โดยหาสาเหตุไม่ได้
- อาจเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา (ตำแหน่งของถุงน้ำดี)
- อาจมี ตัว ตา เหลือง (โรคดีซ่าน) เมื่อโรคลุกลามจนอุดกั้นทางเดินของน้ำดี
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งถุงน้ำดีได้อย่างไร?
โรคมะเร็งถุงน้ำดี เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก เพราะอาการต่างๆมักไม่ชัดเจน ไม่มีก้อนเนื้อที่คลำพบได้จากการตรวจร่างกาย แต่บางครั้งอาจคลำพบถุงน้ำดีโตได้ บ่อยครั้งจึงมักวินิจฉัยได้หลังจากผ่าตัดถุงน้ำดีแล้ว
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งถุงน้ำดี ได้จาก
- ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ประวัติอาการ
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจภาพถุงน้ำดีด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
นอกจากนั้น ในส่วนการตรวจเพื่อประเมินระยะโรค คือ
- การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ธรรมดา เพื่อดูโรคแพร่กระจายสู่ปอด
- การตรวจภาพช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูการลุกลามแพร่กระจายของโรคเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อ/ อวัยวะข้างเคียง โดยเฉพาะตับ
- นอกจากนั้น คือการตรวจต่างๆเพื่อประเมินสุขภาพผู้ป่วย เช่น
- การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC)
- การตรวจเลือดดูการทำงานของตับและของไต
- การตรวจปัสสาวะ
- บางครั้งอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การส่องกล้องตรวจทางเดินน้ำดี เป็นต้น
โรคมะเร็งถุงน้ำดีมีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งถุงน้ำดีแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และบางระยะยังแบ่งย่อยได้อีก เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยประเมินวิธีรักษา การพยากรณ์โรค และเพื่อการศึกษา ซึ่งทั้ง 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่1: ก้อน/แผลมะเร็งรุกราน/ลุกลาม อยู่เฉพาะผนังถุงน้ำดีในชั้นตื้นๆ
- ระยะที่2: ก้อน/แผลมะเร็งกินลึกถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มถุงน้ำดีและออกนอกถุงน้ำดี แต่ไม่มาก ซึ่งแบ่งย่อยเป็น
- ระยะ2A: โรคกินลึกได้ถึงชั้นเยื่อบุช่องท้องที่ติดกับถุงน้ำดี
- ระยะ2B: โรคกินลึกได้ถึงชั้นเยื่อบุภายนอกตับส่วนติดกับถุงน้ำดี
- ระยะที่3: ก้อน/แผลมะเร็งลุกลามมากกว่าระยะ2 ซึ่งแบ่งย่อยเป็น
- ระยะ3A: โรคลุกลามเข้าในตัวเนื้อตับโดยตรง หรือเข้าอวัยวะที่อื่นที่ติดกับถุงน้ำดี เช่น ท่อน้ำดี กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และตับอ่อน แต่ลุกลามเพียงอวัยวะเดียว
- ระยะ3B: โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ถุงน้ำดี แต่ไม่เกิน 3ต่อม
- ระยะที่4: แบ่งเป็น2ระยะย่อย คือ
- ระยะ4A: โรคลุกลามเข้าอวัยวะที่ติดกับถุงน้ำดีตั้งแต่2อวัยวะขึ้นไป และ/หรือ ลุกลามเข้าหลอดเลือดสำคัญของตับ
- ระยะ4B: โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเกินกว่า 3ต่อม และ/หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นทางกระแสโลหิต พบบ่อยที่ ปอด ตับ และ/หรือลุกลามเข้าทั่วเยื่อบุช่องท้องทั่วไป
อนึ่ง โรคระยะศูนย์(Stage0) คือ โรคที่เซลล์มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่อชั้นเยื่อบุผิวของผนังถุงน้ำดี ยังไม่รุกราน(Invasive) เรียกได้อีกชื่อว่า ‘ระยะ Non invasive’ หรือ ‘Carcinoma in situ(ย่อว่า CIS)’ ซึ่งโรคระยะนี้แพทย์โรคมะเร็งหลายท่าน ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริงเพราะถือว่าโรคยังไม่มีการรุกราน เป็นระยะที่มีการพยากรณ์โรคดี รักษาด้วยการผ่าตัดเพียงวิธีการเดียวก็มีอัตรารอดที่ห้าปีสูงประมาณ 90% แต่อย่างไรก็ตาม เป็นระยะโรคที่พบได้น้อยมากๆ
โรคมะเร็งถุงน้ำดีรักษาอย่างไร?
วิธีรักษาหลักของโรคมะเร็งถุงน้ำดี คือ การผ่าตัดถุงน้ำดี ส่วนการรักษาต่อเนื่องด้วย รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด และ/หรือยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในการศึกษา
มะเร็งถุงน้ำดี จัดเป็นมะเร็งที่ดื้อต่อทั้ง รังสีรักษา และยาเคมีบำบัดชนิดที่มีใช้ในปัจจุบัน
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งถุงน้ำดีอย่างไร?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคมะเร็งถุงน้ำดี ขึ้นกับวิธีรักษา โดยผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ
- ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
- เมื่อมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
- ในผู้สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
- ในผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งถุงน้ำดีที่อาจพบได้ เช่น
- การผ่าตัด: ผลข้างเคียง เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ การติดเชื้อในช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ) โรคตับอ่อนอักเสบ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
- รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังส่วนที่ได้รับรังสีรักษา (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) และผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่างๆในช่องท้องส่วนที่ได้รับรังสีรักษาเช่นกัน(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน)
- ยาเคมีบำบัด: ผลข้างเคียง เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด มีเลือดออกได้ง่ายจากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
- ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้า เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยารักษาตรงเป้าบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง /ยารักษาตรงเป้า)
โรคมะเร็งถุงน้ำดีรุนแรงไหม?
โรคมะเร็งถุงน้ำดี เป็นโรคมีความรุนแรงสูง ภายหลังการผ่าตัดถุงน้ำดีออกได้หมด อัตรารอดที่ห้าปี ตามระยะของโรค ได้แก่
- โรคระยะ0(มะเร็งระยะศูนย์): ประมาณ 80-90%
- โรคระยะที่ 1: ประมาณ 50%
- โรคระยะที่ 2: ประมาณ 30%
- โรคระยะที่ 3: ประมาณ 5-10% และ
- โรคระยะที่ 4:ประมาณ 0-5%
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งถุงน้ำดีไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งถุงน้ำดี ให้พบโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการ และอาการของโรคมักไม่แน่นอน ไม่มีอาการเฉพาะ ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งถุงน้ำดีส่วนใหญ่ จึงมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามเป็นระยะที่ 3 หรือ 4 แล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ ที่เรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ และเพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ
ป้องกันโรคมะเร็งถุงน้ำดีอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งถุงน้ำดี ดังนั้นการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆของการเกิดโรคถุงน้ำดีอักเสบ และโรคนิ่วในถุงน้ำดี จึงอาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงลงได้บ้าง
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็ง?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆซึ่งรวมทั้งโรคมะเร็งถุงน้ำดี จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ ไม่หยุดการรักษาไปโดยไม่ปรึกษาแพทยก่อน
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดท้องมากขึ้น ก้อนในท้องโตขึ้น
- มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น มีไข้ อาจเป็นไข้สูง หรือไข้ต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้อาเจียนมาก วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกมาก
- เมื่อกังวลในอาการ
นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดการดูแลตนเอง/การดูแลผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และบทความเรื่อง
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
บรรณานุกรม
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- Halperin, E., Perez, C., and Brady, L. (2008). Perez and Brady: Principles and practice of Radiation Oncology (5th edition). Philadelphia: Wolters Kluwer/ Lippincott Williams & Wilkins.
- Imsamran,W . et al. (2015). Cancer in Thailand. Volume. V, 2010-2012. Thai National Cancer Institute. Ministry of Public Health
- http://emedicine.medscape.com/article/278641-overview#showall [2018,Dec1]
- https://www.cancer.org/cancer/gallbladder-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Dec1]
- https://www.cancer.org/cancer/gallbladder-cancer/detection-diagnosis-staging/staging.html [2018,Dec1]