มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s Lymphoma, NHL )

สารบัญ

บทนำ

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ( Lymphoma) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับระบบน้ำเหลืองในร่างกาย ได้ แก่ ต่อมน้ำเหลือง ม้าม และต่อมทอนซิล หรือเกิดกับอวัยวะที่ไม่อยู่ในระบบน้ำเหลือง เช่น ไขกระดูก ตับ และระบบประสาท ซึ่งโรคแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin’s lymphoma) และ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s lymphoma)

ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮอดจ์กิน ที่เรียกในภาษาแพทย์ว่า Non-Hodgkin’s Lymphoma ชื่อย่อของโรค คือ โรคเอ็นเอชแอล (NHL) และเมื่อพูดสั้นๆว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น ก็มักจะเข้าใจกันทางการแพทย์ว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮอดจ์กินนี่เอง ซึ่งในบทนี้ ขอเรียกชื่อโรคนี้ว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอล

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลคืออะไร ?

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอล เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่มีต้นกำเนิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่าลิมฟ์โฟไซท์ (Lymphocyte) ที่อยู่ในระบบน้ำเหลืองของร่างกายดังกล่าวแล้ว ไม่ใช่เม็ดเลือดขาวจากไขกระดูก (ซึ่งเมื่อเป็นมะเร็งจะเป็น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว) และในระยะรุนแรง โรคจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆของร่างกายได้เช่นเดียวกับ โรคมะเร็งชนิดอื่นๆ

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลมักพบในใคร ?

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลเป็นโรคมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยมักพบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก พบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 60-70 ปี และ ผู้ชายพบได้บ่อยกว่าผู้หญิง

อะไรเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอล ?

ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถบอกสาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้อย่างชัดเจน แต่พบปัจ จัยเสี่ยงที่มีความความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอล หลายปัจจัย ได้แก่

  • อายุ พบว่าอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลนั้นจะเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
  • เพศ พบว่าเพศชาย เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอล มากกว่าเพศหญิง
  • การติดเชื้อ พบการติดเชื้อโรคบางชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำ เหลืองเอ็นเอชแอล เช่น
    • การติดเชื้อ HIV (Human Immunodeficiency Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ (AIDs)
    • การติดเชื้อ EBV (Ebstein-Barr virus) การอักเสบจากเชื้อไวรัสตัวนี้ มีความ สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลโดยเฉพาะชนิด “Burkitt lymphoma”
    • การติดเชื้อแบคทีเรีย H.pylori (Helicobacter pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำ เหลืองเอ็นเอชแอลของกระเพาะอาหาร
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานร่างกายบกพร่อง เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอล เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้มากขึ้น โดยมีความสัมพันธ์ทั้งในผู้ป่วยที่เป็นโรคภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่องแต่กำเนิด และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโรคต่างๆจนทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานบก พร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง เช่น โรคเอสแอลอี/SLE/โรคพุ่มพวง) ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไขกระดูกและได้รับยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  • รังสี พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin's disease) ที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด มีโอกาสเกิดเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลได้อีกโรค ประมาณ 4-5% ภายในเวลา 10 ปีหลังการรักษา
  • สารเคมี พบว่า การสัมผัสสารเคมีในกลุ่มของยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืช รวมถึงผู้ ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆที่เคยได้รับยาเคมีบำบัด มีโอกาสจะเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลได้

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลมีอาการอย่างไรบ้าง ?

อาการเริ่มต้นที่พบได้บ่อยของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอล ได้แก่

  • อาการทั่วๆไปที่พบได้บ่อย คือ
    • มีไข้
    • มีเหงื่อออกมากจนชุ่มตัวตอนกลางคืน
    • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
    • อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อาการที่เกิดจากมีเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลไปสะสมในบริเวณต่างๆ
    • พบต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ ในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่คอ รักแร้ หรือ ขาหนีบ โดยต่อมน้ำเหลืองที่คลำพบนั้นมักจะไม่เจ็บ ซึ่งต่างจากการติดเชื้อที่มักมีอาการเจ็บที่ต่อมน้ำเหลืองนั้นๆร่วมด้วย
    • อาจพบต่อมทอนซิลโตมากขึ้น ข้างเดียว หรือ ทั้งสองข้างเมื่อเกิดโรคที่ต่อมทอนซิล
    • ไอเรื้อรัง หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอก หากมีต่อมน้ำเหลืองโตในบริเวณช่องอก
    • ปวดศีรษะรุนแรง หากมีโรคเกิดในสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง
    • แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย คลำได้ก้อนในช่องท้อง หากมีโรคภายในช่องท้อง
    • บวมตามอวัยวะต่างๆ หรือมีอาการชาที่แขนหรือขา หากต่อมน้ำเหลืองมีขนาดใหญ่และกดเบียดหลอดเลือด หรือ เส้นประสาท หรือ ไขสันหลัง
    • ในผู้ป่วยบางราย อาจพบมีอาการปวดต่อมน้ำเหลืองที่โต ภายหลัง ดื่มแอลกอ ฮอล์

อนึ่ง อาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอล ของโพรงจมูก และ/หรือ ไซนัส นั้นมีอาการคล้ายๆกับอาการจากการติดเชื้อ หรือ จากโรคภูมิแพ้ ดังนั้นจึงมีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องตั้งแต่แรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วอาการต่างๆของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้นและไม่สามารถอธิบายจากสาเหตุอื่นๆได้ ก็อาจต้องทำการตรวจวินิจฉัยโดยการตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อในโพรงจมูก หรือ ในไซนัสเพื่อ การตรวจทางพยาธิวิทยา

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลได้อย่างไร ?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลได้จาก

  • อาการของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจคลำต่อมน้ำ เหลืองในบริเวณต่างๆของร่างกาย เพื่อประเมินขนาดและลักษณะของต่อมน้ำเหลือง
  • การตรวจชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลือง (การตรวจทางพยาธิวิทยา) เพื่อยืนยันว่าเป็นมะ เร็งต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ และเป็นชนิดใด เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนั้นยังเพื่อใช้ในการพยากรณ์ความรุนแรงโรคได้อีกด้วย

    อนึ่ง มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลนั้น ยังสามารถแบ่งออกได้อีกมากกว่า 30 ชนิด โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 ชนิด คือ ชนิด T-cell (ที-เซลล์) และชนิด B cell (บี-เซลล์) ซึ่งจะแยกออกจากกันด้วยลักษณะต่างๆที่พบจากตรวจชิ้นเนื้อ และตรวจโดยวิธีเฉพาะต่างๆทางพยาธิวิทยา (การตรวจทางพยาธิวิทยา)

  • การตรวจเลือดซีบีซี(CBC) เพื่อดูเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดก่อนทำการรักษา
  • การตรวจไขกระดูก พบว่าประมาณ 20% ของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอล มีโรคแพร่กระจายเข้าสู่ไขกระดูกแล้วตั้งแต่การวินิจฉัยครั้งแรก
  • การตรวจเลือดอื่นๆทางห้องปฏิบัติการ
    • เพื่อดูการทำงานของไต
    • เพื่อดูการทำงานของตับ และระดับสารมะเร็ง ของโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยา เช่น แอลดีเอช(LDH)
    • เพื่อดูระดับกรดยูริค (Uric acid) อาจมีระดับกรดยูริคสูงขึ้นได้มาก ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของไตได้
    • เพื่อดูระดับเกลือแร่ อาจมีระดับเกลือแร่ต่างๆผิดปกติ เช่น แคลเซียม และโป แตสเซียม จนก่อให้เกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่ได้
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องอกและปอด
  • อาจตรวจอัลตร้าซาวน์ช่องท้อง เพื่อดูความผิดปกติในบริเวณช่องท้อง
  • อาจตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อดูพยาธิสภาพของโรคในบริเวณต่างๆ เช่น ทรวงอก และช่องท้อง
  • อาจตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เช่น เพทสแกน (PET scan) เพื่อตรวจหามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ และ/หรือเพื่อใช้ในการตรวจติดตามผลการ รักษา
  • อาจเจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อตรวจเพิ่มเติม ในผู้ป่วยที่สงสัยการแพร่กระจายของเซลล์ มะเร็งเข้าสู่สมอง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลมีกี่ระยะ ?

การแบ่งระยะโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลนั้น จะประเมินจากจำนวนของกลุ่มต่อมน้ำเหลือง ตำแหน่งที่เป็นโรค และการกระจายไปอวัยวะอื่นๆ ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 มีโรคเกิดกับต่อมน้ำเหลืองเพียงกลุ่มเดียว ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ที่ลำคอด้านขวาที่เดียว เป็นต้น
  • ระยะที่ 2 มีต่อมน้ำเหลือง 2 กลุ่ม หรือมากกว่า แต่ต้องเป็นในกลุ่มต่อมน้ำเหลืองที่อยู่เหนือหรือใต้กระบังลมเหมือนกัน เช่น ที่ลำคอและรักแร้ ซึ่งอยู่เหนือต่อกระบังลม
  • ระยะที่ 3 มีต่อมน้ำเหลือง 2 กลุ่ม หรือมากกว่า ทั้งที่อยู่เหนือและอยู่ใต้กระบังลม เช่นที่ลำคอ และที่ขาหนีบ
  • ระยะที่ 4 โรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ไขกระดูก ตับ ปอด กระดูก และสมอง

นอกจากนั้นยังแบ่งออกเป็นชนิด เอ (A) และชนิด บี (B) โดยชนิด บี นั้นผู้ป่วยจะมีอา การไข้สูง น้ำหนักลด และเหงื่ออกชุ่มตัวตอนกลางคืนร่วมด้วย แต่ในชนิด เอ จะไม่พบอาการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยในการพยากรณ์ความรุนแรงโรคด้วย โดยชนิด บี จะรุนแรงกว่าชนิด เอ

รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลอย่างไร ?

มีปัจจัยหลายอย่างที่จะเป็นตัวกำหนดวิธีรักษาของแพทย์ คือ ชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค ปัจจัยจากผู้ป่วยเอง เช่น อายุ ความสมบูรณ์แข็งแรงและโรคประจำตัวผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งวิธีรักษา สามารถแบ่งเป็น 7 วิธีดังนี้

  • การเฝ้าติดตามอาการ มักจะเลือกใช้ในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอล บางชนิดมีการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า เช่น ชนิด บีเซลล์ที่ เจริญเติบโตมาจากม้าม โดยแพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการเป็นระยะๆ
  • เคมีบำบัด แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหลายๆชนิดร่วมกัน ซึ่งมีทั้งเป็นยากินและยาฉีด โดยให้ทุก 3-4 สัปดาห์ต่อครั้ง เป็นเวลา 6-8 ครั้ง ซึ่งการเลือกใช้ยานั้น ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค รวมไปถึงระยะของโรค ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำ เหลืองเอ็นเอชแอลส่วนใหญ่ มักตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้ค่อนข้างดี
  • รังสีรักษา โดยเป็นการฉายรังสี มักใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระยะต้นๆ เช่น ระ ยะที่ 1 หรือ 2 หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือใช้สำหรับรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่ เช่น บริเวณสมอง ทั้งนี้ ปริมาณรังสีที่ใช้รักษา ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรค รวมไปถึงระยะของโรค
  • การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นการให้ยาที่มีความจำเพาะต่อเซลล์ต่อมน้ำเหลืองชนิด บีเซลล์ โดยรักษาร่วมกับ ยาเคมีบำบัด หรือบางครั้งอาจให้ร่วม กับสารกัมมันตภาพรังสีในผู้ป่วยบางราย แต่ข้อจำกัดอยู่ที่ราคายายังแพงมหาศาลเกินว่าผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงยาได้
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก มักใช้ในกรณี ผู้ป่วยมีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำหลังรักษาจนหายดีแล้ว หรือเมื่อโรคดื้อต่อยาเคมีบำบัด โดยให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงมากเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเหล่านี้ ซึ่งปริมาณยาขนาดสูงมากนี้จะทำลายไขกระดูกด้วย ดังนั้น หลังให้ยาเคมีบำบัด จึงต้องตามด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก โดยใช้ไขกระดูกของผู้ป่วยเองซึ่งแพทย์ดูดเก็บไว้จากเลือดและ/หรือจากไขกระดูกผู้ป่วยก่อนการให้ยาเคมีบำ บัด ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงพอที่จะรับการรักษาได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาวิธีนี้ ยังมีราคาสูงมหาศาลเช่นกัน
  • การใช้สารภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (แอนติบอดี/ Antibody) ร่วมกับการใช้สารกัมมันต ภาพรังสี (Radioimmunotherapy) เป็นการรักษาที่ใช้แอนติบอดี้ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง เพื่อให้สารนี้ไปจับที่เซลล์มะเร็งและใช้รังสีที่ได้จากสารกัมมันตภาพรังสีเป็นตัวทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง ส่วนใหญ่การรักษาวิธีนี้ มักเลือก ใช้ในกรณีรักษาด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้ผลแล้ว อย่างไรก็ตาม ราคายายังแพงมหาศาลเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงยาได้
  • การให้ยาในกลุ่ม Interferon (IFN) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดเดียวกับที่มีอยู่ในเลือดเรา มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคประเภทไวรัส และดูแลระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายให้เป็นปกติ ซึ่งยานี้ อาจสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ในผู้ป่วยบางราย แต่ยังมีการวิจัยศึกษาไม่มากนัก ดังนั้น วิธีนี้ยังต้องรอการพัฒนาต่อไป เพื่อให้ได้ผลรักษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลมีผลข้างเคียงอย่างไร ?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากการรักษาในแต่ละวิธีนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธีรักษา ซึ่งผลข้างเคียง อาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วมกัน

  • ผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง ไขกระดูกทำงานต่ำลง ทำให้มีภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำและมีเม็ดเลือดขาวต่ำ(ภา วะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)
  • ผลข้างเคียงจากรังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีเฉพาะที่ในบริเวณต่างๆที่ผู้ป่วยได้รับรังสี (การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณสมอง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ หรือ ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน)
  • ผลข้างเคียงจากยารักษาตรงเป้า เช่น มีผื่นขึ้นทั่วตัว ปวดศีรษะ ปวดตามตัว คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ต่ำๆ นอนหลับยาก
  • ผลข้างเคียงจากยาแอนติบอดีร่วมกับสารกัมมันตภาพรังสี คือ การกดการทำงานของไขกระดูก ทำให้มีภาวะซีด เกล็ดเลือดต่ำ และมีเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)
  • ผลข้างเคียงจากปลูกถ่ายไขกระดูก คือ มีเม็ดเลือดขาวต่ำมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา) และมีเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีโอกาสเลือดออกผิดปกติได้ง่าย

อนึ่ง อาจพบผลข้างเคียงในระยะยาว (ระยะเวลาหลังครบการรักษาแล้วอย่างน้อยตั้ง แต่ 6 เดือนขึ้นไปจนตลอดชีวิตผู้ป่วย)ได้ด้วย แต่โดยทั่วไปโอกาสเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้พบได้น้อย ประมาณ 5-15% เช่น

  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดบางชนิด อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่นตามมาได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งผิวหนัง
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดบางชนิด อาจส่งผลต่อการทำงานของปอดในระยะยาวได้จากการเกิดพังผืดของปอด
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีบริเวณลำคอ หรือทรวงอก มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง หรือ อาจเกิดมะเร็งเต้านมได้
  • ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีบริเวณสมอง หรือได้รับยาเคมีบำบัดเข้าทางไขสันหลัง อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตและสติปัญญาได้

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลเป็นโรครุนแรงไหม ?

โดยทั่วไป ในภาพรวม การรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำ เหลืองเอ็นเอชแอลให้หายได้ประมาณ 40-60% โดยปัจจัยที่มีผลต่อการรักษา นอกจากชนิดของเซลล์มะเร็งแล้ว ปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อการรักษา หรือ ความรุนแรงของโรค ได้แก่

  • อายุ พบว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 60 ปี มีผลการรักษาดีกว่าผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปี เพราะผู้ป่วยมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและสามารถทนต่อการรักษาได้ดีกว่า
  • การแพร่กระจายของโรคออกนอกต่อมน้ำเหลือง เช่น กระจายไปที่ไขกระดูก และ/หรือ ระบบประสาท มีโอกาสรักษาได้หายลดลง
  • ระยะของโรค คือ ระยะที่ 1 และ 2 มีอัตรารอดที่ 5 ปี (ประมาณ60-80%) สูงกว่าระยะที่ 3 (ประมาณ 40-70%) และ ระยะที่ 4 (ประมาณ 0-50% ขึ้นกับแพร่กระจายไปยังอวัยวะใด ซึ่งเมื่อแพร่กระจายเข้าสมองความรุนแรงโรคสูงสุด)

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลไหม ? ควรพบแพทย์เมื่อไร ?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรอง (การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง) ให้พบมะเร็งต่อมน้ำ เหลืองทุกชนิด รวมทั้งชนิด เอ็นเอชแอล ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าว จึงควรรีบพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอลได้อย่างไร ?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอล แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การติดเชื้อโรคต่างๆ โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) และหลีกเลี่ยงการสัมผัส/การใช้ สารเคมีในกลุ่มของยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืช

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง อ่านเพิ่มเติมใน การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง

updated 2013, May 22