มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งตับอ่อน/โรคมะเร็งตับอ่อน(Pancreatic cancer) คือโรคที่เกิดจากเซลล์ ตับอ่อนเจริญแบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติตลอดเวลาโดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวนี้ได้ จึงส่งผลใหกิดเป็นก้อนเนื้อผิดปกติในตับอ่อน ที่รุกรานทำลายเซลล์ข้างเคียง เซลล์ต่างๆภายในตับอ่อน ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และในที่สุดแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย จนส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น อาการที่พบบ่อยคือ ปวดท้องร้าวไปด้านหลัง หรือ ปวดหลังเรื้อรัง ตัวเหลืองตาเหลือง เบื่ออาหาร ผอมลงอย่างน้อย10%ของน้ำหนักตัวเดิมในระยะเวลา6เดือน

มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer) เป็นมะเร็งพบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อย ในประเทศไทยโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติเมื่อพ.ศ. 2558 โรคมะเร็งตับอ่อนไม่จัดอยู่ใน 10 ลำดับโรคมะเร็งที่พบบ่อยของทั้งผู้หญิงและผู้ชายไทย โดยรวบรวมผู้ป่วยช่วงปี พศ. 2553-2555 พบมะเร็งตับอ่อนในผู้ชายคิดเป็น 1.8 คนต่อประชากรชาย 100,000 คน ส่วนในผู้หญิง พบได้ 1.4 คน ต่อประชากรหญิง 100,000 คน ในสหรัฐอเมริกา ปี พศ. 2557 พบผู้ป่วยใหม่ที่เกิดจากโรคนี้ 46,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิต 40,000 ราย โรคมะเร็งตับอ่อนจึงจัดเป็นโรคมะเร็งที่รุนแรง

ตับอ่อน (Pancreas) เป็นอวัยวะในช่องท้อง อยู่ใต้ต่อกระเพาะอาหาร จัดเป็นอวัยวะในระบบทางเดินอาหารเช่นเดียวกับตับ (Liver แปลว่า ก้อนเนื้อขนาดใหญ่ในช่องท้องที่มีสีแดงคล้ำ) แต่ตับอ่อนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตับ เป็นคนละอวัยวะกัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เพียงแต่มีชื่อภาษาไทยที่พ้องกัน ซึ่งผู้เขียนไม่ทราบที่มา แต่เข้าใจเอาเองว่า อาจเป็นเพราะ เป็นอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร และมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อเหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดเล็ก และเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มกว่าตับ จึงได้ชื่อว่า ตับอ่อน (ในภาษาไทย) ส่วนคำว่า Pancreas มาจากภาษากรีก แปล ว่า เนื้อ (Flesh)

บางท่านเปรียบเทียบว่า ตับอ่อนมีลักษณะ และขนาดเหมือนกล้วยหอม ประกอบด้วยเซลล์หลัก 2 ชนิด คือ เซลล์จากต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland) และเซลล์จากต่อมมีท่อ หรือ ต่อมขับออก (Exocrine gland) โดยต่อมไร้ท่อ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิด ที่เรารู้จักกันดี คือ ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของน้ำตาลในเลือด ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวาน ส่วนต่อมมีท่อ มีหน้าที่สร้างน้ำย่อยอาหาร ซึ่งช่วยย่อยอาหารในลำไส้เล็ก

มะเร็งตับอ่อน เป็นโรคของผู้ใหญ่ มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป พบสูงขึ้นตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ชายพบได้บ่อยกว่าผู้หญิง ประมาณ 1.5 เท่า

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งตับอ่อน?

มะเร็งตับอ่อน

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคมะเร็งตับอ่อน แต่พบปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • อายุ: ดังกล่าวแล้วว่า เป็นโรคของผู้ใหญ่ โดยทั่วไป มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป
  • เชื้อชาติ: พบโรคได้สูงในคนอเมริกันผิวดำ เมื่อเปรียบเทียบกับคนผิวขาว และพบในคนเอเซียน้อยกว่าในคนผิวขาว
  • พันธุกรรมชนิดพบได้น้อยมากที่ส่งผลให้มีเนื้องอก และ/หรือมะเร็งได้หลายชนิดเกิด ขึ้นพร้อมๆกัน เช่น Multiple endocrine neoplasia 1 ย่อว่า MEN1 ที่เกิดเนื้องอกได้พร้อมกันใน ตับอ่อน(มักพบเกิดกับเซลล์ตับอ่อนชนิดเซลล์ต่อมไร้ท่อ) ต่อมใต้สมอง(เนื้องอกต่มใต้สมอง) และในต่อมพาราไทรอยด์ ทั้งนี้กลุ่มโรคที่สาเหตุจากพันธุกรรมพบเป็นประมาณ 5-10%ของมะเร็งตับอ่อนทั้งหมด
  • โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
  • โรคเบาหวาน
  • การสูบบุหรี่
  • ดื่มสุราปริมาณสูง โดยเฉพาะการดื่มต่อเนื่อง
  • โรคอ้วน โดยเฉพาะดัชนีมวลกายมากกว่า 35
  • อาหาร: ซึ่งข้อมูลยังไม่แน่ชัด โดยพบว่าปัจจัยเสี่ยงอาจจากกินอาหารในบางกลุ่มต่อเนื่องมากเกินไป เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป เนื้อแดง เนื้อที่ปรุงด้วยการปิ้งย่าง หรือทอดน้ำมันจนสุกมากเกินไป

โรคมะเร็งตับอ่อนมีกี่ชนิด?

โรคมะเร็งตับอ่อนมีหลากหลายชนิดทั้งในกลุ่มคาร์ซิโนมา หรือซาร์โคมา แต่ที่พบบ่อยที่สุด ประมาณ 90-95% คือ มะเร็งชนิดคาร์ซิโนมาที่ชนิดย่อยที่พบบ่อยเกือบทั้งหมดของมะเร็งตับอ่อน คือชนิด ‘อะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma)’ ซึ่งเกิดจากเซลล์ต่อมมีท่อ ดังนั้น โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึง ‘โรคมะเร็งตับอ่อน จึงหมายถึงโรค และ/หรือมะเร็งชนิดนี้ คือ Adenocarcinoma เรียกอีกชื่อคือ Pancreatic adenocarcinoma)

ส่วนที่ Steve Jobs อดีตซีอีโอของบริษัทแอปเปิล ป่วยนั้น เป็นชนิดที่พบได้น้อยมากๆ เรียกว่า ชนิด นิวโรเอ็นโดคราย หรือ ไอส์เลตเซลล์ (Pancreatic neuroendocrine tumor หรือ Pancreatic islet cell tumor/carcinoma) ซึ่งเกิดจากเซลล์ของต่อมไร้ท่อ โดยสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ยังไม่มีใครทราบ ส่วน อาการ การแพร่กระจาย และความรุนแรงของโรค เช่นเดียวกับมะเร็งตับอ่อนชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา มะเร็งชนิดไอส์เลตเองก็มีได้หลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดอาจสร้างฮอร์โมนได้หลายชนิดตามชนิดของเซลล์มะเร็งนั้นๆ ดังนั้นผู้ป่วย จึงอาจมีอาการจากฮอร์โมนชนิดนั้นๆสูงผิดปกติร่วมด้วยได้ เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น ซึ่งวิธีรักษามะเร็งตับอ่อนชนิดเอ็นโดครายนี้ คือ การผ่าตัด เพราะเป็น และ/หรือมะเร็งชนิดเซลล์ตอบสนองไม่ดีต่อยาเคมีบำบัดที่มีในปัจจุบัน รวมทั้งต่อ รังสีรักษาด้วย ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีต่างๆนอกเหนือจากการผ่าตัด ซึ่งรวมถึงการปลูกถ่ายตับกรณีมีโรคแพร่กระจายสู่ตับ จึงอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาทั้งสิ้น

อนึ่ง มะเร็งตับอ่อนชนิดเอ็นโดคราย/ไอส์เล็ต มีรายละเอียดต่างหาก แยกเขียนในอีกบทความ แนะนำอ่านเพิ่มเติ่มในเว็บ หาหมอ.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งตับอ่อนชนิดเอ็นโดคราย หรือ มะเร็งตับอ่อนชนิดไอส์เล็ต’ ในบทความนี้ จะกล่าวถึง เฉพาะ’โรคมะเร็งตับอ่อน ชนิด อะดีโนคาร์ซิโนมา’ เท่านั้น

โรคมะเร็งตับอ่อนมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งตับอ่อน และมักไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค แต่อาการมักเกิดหลังโรคลุกลามแล้ว โดยอาการที่พบได้จะเช่นเดียวกับอาการจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • อาการ ตัวเหลืองตาเหลือง (โรคดีซ่าน) จากก้อนเนื้อมะเร็งกดเบียดทับช่องเปิดของท่อน้ำดีจากตับเข้าสู่ลำไส้เล็ก จึงเกิดการคั่งของน้ำดีในตับ ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดอาการดีซ่าน/ตัวเหลืองตาเหลืองจากสีของน้ำดีที่ท้นจากตับเข้าสู่กระแสเลือด

นอกจากนั้น อาการอื่นๆที่อาจพบได้ คือ

  • อาการปวดท้อง และ/หรือ ปวดหลังเรื้อรัง (ตับอ่อนอยู่ในช่องท้องส่วนหลัง จึงส่งผลให้เกิดอาการได้ทั้งปวดท้อง และปวดหลัง)
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผอมลง น้ำหนักตัวลด โดยไม่มีสาเหตุที่ควร มักลดลงตั้งแต่10%ขึ้นไปจากน้ำหนักตัวเดิมในช่วงระยะเวลาอย่างน้อย6เดือน

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ โดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในหัวข้อ’ปัจจัยเสี่ยงฯ’ และ/หรือเมื่อ เกิดอาการดังกล่าวซ้ำๆ ควรรีบพบแพทย์/รีบมาโรงพยาบาล

อนึ่ง ผู้มีปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรม คือ มีครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งตับอ่อน ควรพบแพทย์ตรวจสุขภาพประจำปีและแจ้งแพทย์ทุกครั้งถึงการมีครอบครัวสายตรง(พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน) โดยเฉพาะที่เป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อย ต่ำกว่า 35 ปี เป็นมะเร็งตับอ่อนเพื่อแพทย์ตรวจประเมินได้เฉพาะเจาะจงขึ้น

โรคมะเร็งตับอ่อนมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งตับอ่อน มี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆทั่วๆไป และในระยะต่างๆยังแบ่งย่อยได้อีก เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้เพื่อการศึกษา และรักษาโรค ซึ่งทั้ง 4 ระยะของโรค ได้แก่

ระยะที่ 1: ก้อนมะเร็งลุกลามจำกัดอยู่เฉพาะในตับอ่อน ก้อนเนื้อขนาดโตไม่เกิน2ซม. จัดเป็น ‘โรคระยะ1A’ แต่ถ้าก้อนมะเร็งโตมากกว่า 2ซม. ขึ้นไป จัดเป็น ‘ระยะ 1B’

ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งลุกลามออกนอกตับอ่อน แต่ยังไม่ลุกลามเข้าเส้นประสาท และ/หรือหลอดเลือดในช่องท้อง จัดเป็น ‘ระยะ2A’ และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรอบๆตับอ่อนแล้ว จัดเป็น ‘ระยะ2B’

ระยะที่ 3:โรคมะเร็งลุกลามเข้าสู่เส้นประสาท และ/หรือ หลอดเลือดในช่องท้อง

ระยะที่ 4:โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด (โลหิต) ไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อย คือ ตับ ปอด และ กระดูก

นอกจากนี้ ถ้าเซลล์มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในผนังเยื่อเมือกของตับอ่อน เรียกว่า เป็นมะเร็งระยะยังไม่มีการรุกราน(Preinvasive หรือ Preinvasive cancer) จัดเป็น ‘มะเร็งระยะศูนย์(Stage0)’ ดังนั้นหลายท่านจึงยังไม่จัดโรคระยะ0 นี้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive) ซึ่งโรคมะเร็งตับอ่อนระยะนี้ ยังพบได้น้อยมากๆ

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งตับอ่อนได้อย่างไร?

โรคมะเร็งตับอ่อนเป็นโรคมะเร็งที่วินิจฉัยได้ยากมาก เพราะเป็นอวัยวะอยู่ลึก และมีอาการไม่เฉพาะเจาะจง จึงมักวินิจฉัยได้ต่อเมื่อโรคมีการลุกลามแล้ว ซึ่งแพทย์วินิจฉัยได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจภาพตับอ่อนแล้วพบมีก้อนเนื้อด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ

โดยทั่วไป แพทย์มักไม่ตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในตับอ่อนเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพราะดังกล่าวแล้วว่า ตับอ่อนอยู่ลึก การตัดชิ้นเนื้อฯ เสี่ยงต่อการทะลุเข้าลำไส้ ก่อการอักเสบรุนแรงของช่องท้อง และ/หรือทะลุเข้าหลอดเลือด ก่ออาการเลือดออกรุนแรงในช่องท้องได้ นอกจากนั้น เมื่อมีก้อนเนื้อในตับอ่อน การรักษา มักเป็นการผ่าตัดตับอ่อนเสมอ ดังนั้นเมื่อพบก้อนเนื้อในตับอ่อน การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับอ่อนจึงได้จากการผ่าตัดตับอ่อนก่อน แล้วจึงตรวจก้อนเนื้อหลังผ่าตัดที่เรียกว่าการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค

ทั้งนี้ เซลล์มะเร็งตับอ่อนบางชนิดสามารถสร้างสารมะเร็งได้ ดังนั้นเมื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาของก้อนมะเร็งพบว่าเป็นมะเร็งชนิดสร้างสารมะเร็งได้ แพทย์จะตรวจเลือดเป็นระยะๆเพื่อดูค่าสารมะเร็งนี้ เพื่อใช้ช่วยติดตามผลการรักษาและประเมินความรุนแรงของโรค ทั่วไปแพทย์จะไม่ตรวจสารนี้เพื่อการตัวคัดกรองมะเร็งตับอ่อน แต่อาจใช้ช่วยการวินิจฉัยชนิดเซลล์มะเร็งตับอ่อนกรณีตรวจพบก้อนเนื้อที่ตับอ่อน เพราะสารมะเร็งที่สร้างจากมะเร็งตับอ่อนเกิดได้จากเซลล์มะเร็งอวัยวะต่างๆหลายอวัยวะ และจากมีการอักเสบของเซลล์ต่างๆ ดังนั้นการนำมาตรวจคัดกรองโรคจะส่งผลให้ผลตรวจผิดพลาดสูงมาก ซึ่ง ค่าสารมะเร็งตับอ่อน เช่น CEA, CA19-9

รักษาโรคมะเร็งตับอ่อนอย่างไร?

การรักษาโรคมะเร็งตับอ่อนกรณีโรคยังผ่าตัดได้ ที่สำคัญที่สุด คือ การผ่าตัดที่อาจผ่าตัดออกเฉพาะก้อนเนื้อ และ/หรือผ่าตัดออกตับอ่อนทั้งหมด และ/หรือร่วมกับการตัดต่อลำไส้กรณีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ ซึ่งหลังผ่าตัดเมื่อพบมีโรคลุกลาม การรักษาต่อเนื่อง คือ ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา ส่วยยารักษาตรงเป้ายังอยู่ในการศึกษา และปัจจุบัน กำลังมีการศึกษาถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน

ส่วนการรักษาโรคในระยะแพร่กระจาย หรือ ระยะที่ 4 คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ผ่าตัดเล็ก เพื่อเปลี่ยนทางเดินน้ำดีในการรักษาโรคดีซ่าน การให้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษา เพื่อบรรเทาอาการปวด และ/หรือการรักษาประคับประคองตามอาการทางอายุรกรรมทั่วไป เช่น การให้ยาแก้ปวด การให้อาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกินได้น้อย เป็นต้น ซึ่งการรักษาโรคในระยะที่ 4 นี้ แพทย์จะเลือกวิธีใด ขึ้นกับอาการผู้ป่วย อายุ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ดุลพินิจของแพทย์ และความต้องการของผู้ป่วย และครอบครัว

ผลข้างเคียงจากการรักษาเป็นอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งตับอ่อน ขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor บทความเรื่อง เกล็ดเลือดต่ำ)
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่อเนื้อเยื่อที่ได้รับรังสีรักษา (อ่านเพิ่มเติมใน เว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และ เรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้องและ/หรืออุ้งเชิงกราน)
  • ยารักษาตรงเป้า / ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้า เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาฯบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้

*อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด รวมทั้งมะเร็งตับอ่อนจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • เมื่อผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • ในผู้สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, และ
  • ในผู้สูงอายุ

ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึง มะเร็งตับอ่อนจะคล้ายคลึงกัน แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
  • และควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ตัวเหลืองตาเหลืองมากขึ้น
    • มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น มีไข้ เกิดท้องมาน
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับทุกคืน คลื่นไส้อาเจียนมาก วิงเวียนศีรษะมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

โรคมะเร็งตับอ่อนรุนแรงไหม?

มะเร็งตับอ่อน เป็นโรคที่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี เป็นสาเหตุเสียชีวิตสูง ถึงแม้จะพบโรคเพียงประมาณ2.5%ของมะเร็งทั้งหมด แต่พบเป็นประมาณ6%ของสาเหตุเสียชีวิตที่เกิดจากโรคมะเร็งทั้งหมด

จากรายงานของสมาคมโรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา อัตราการอยู่รอดที่5ปี ได้แก่

ก. กรณีผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้:

  • อัตรารอดที่5 ปีของมะเร็งตับอ่อนชนิดคาร์ซิโนมา เป็นดังนี้ คือ
    • ระยะ1A: ประมาณ 14%
    • ระยะ1B: ประมาณ 12%
    • ระยะ2A: ประมาณ 7%
    • ระยะ2B: ประมาณ 5%
    • ระยะ3: ประมาณ 3%
    • ระยะ4: ประมาณ 0-1%
  • อัตรารอดที่ 5 ปีของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนชนิดมะเร็งตับอ่อนชนิดเอ็นโดคราย หรือมะเร็งตับอ่อนชนิดไอส์เล็ต เป็นดังนี้ คือ
    • ระยะ1: ประมาณ 60%
    • ระยะ2: ประมาณ 50%
    • ระยะ3: ประมาณ 40%
    • ระยะ4: ประมาณ ประมาณ 5-15%

ข. กรณีผ่าตัดก้อนมะเร็งออกไม่ได้ ในมะเร็งตับอ่อนทุกชนิด อัตรารอดที่5ปีรวมกันในทุกระยะโรค/ในผู้ป่วยทุกคนคือ คือ ประมาณ 15%

สรุป ในภาพรวม

  • ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนที่สามารถรักษาผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมด มีโอกาสอยู่รอดได้ถึง 3 ปี ประมาณ 30%
  • ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้ แต่โรคยังไม่แพร่กระจาย มีโอกาสอยู่รอดได้ประมาณ 1 ปี และ
  • ผู้ป่วยที่มีโรคแพร่กระจายแล้ว มักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3- 6 เดือน

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับอ่อนไหม?

ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก การศึกษาต่างๆ จึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก จึงยังไม่พบวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับอ่อนให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

ป้องกันโรคมะเร็งตับอ่อนได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งตับอ่อน ดังนั้นที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ’ปัจจัยเสี่ยงฯ’ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  2. Edge, S. et al. (2010). AJCC: Cancer staging handbook. New York: Springer.
  3. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology. Singapore: Jones and Bartlett Publishers.
  4. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Pancreatic_cancer [2018,Aug11]
  6. https://www.cancer.org/cancer/pancreatic-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Aug11]