โรคตาวาว (Leukocoria) มะเร็งตาในเด็ก (Retinoblastoma)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 12 มกราคม 2563
- Tweet
- นิยาม
- โรคตาวาวมีสาเหตุจากอะไร?
- พบโรคมะเร็งจอตาบ่อยไหม? และมีลักษณะโรคเป็นอย่างไร?
- โรคมะเร็งจอตามีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งจอตาได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งจอตามีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งจอตารักษาอย่างไร?
- โรคมะเร็งจอตารักษาหายไหม? รุนแรงไหม?
- พ่อแม่ควรทำอย่างไรเมื่อมีลูกเป็นมะเร็งจอตา?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- บรรณานุกรม
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การเจาะน้ำไขสันหลัง การเจาะหลัง (Lumbar puncture)
- มะเร็งในเด็ก (Pediatric cancer)
- การตรวจตา การตรวจสุขภาพตา (Eye examination)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
นิยาม
โรค/ภาวะ ตาวาว หรือ ลิวโคโคเรีย (Leukocoria) ได้แก่ โรคที่ทำให้การสะท้อนแสงภายในลูกตาผิดปกติ จึงเห็นเป็นตาวาวขึ้นโดยเฉพาะในที่มืด โดยชื่อโรคมาจากคำว่า Leuko แปลว่า สีขาว Coria แปลว่า รูม่านตา เมื่อสองคำรวมกันจึงหมายความว่า ภาวะเป็นสีขาวบริเวณรูม่านตา ซึ่งลักษณะที่เห็นจะเหมือนดวงตาของแมวเวลาค่ำคืน ที่ฝรั่งเรียกว่า Amaurotic cat eye ( อะเมาโรติก แคท อาย หรือ ตาแมวตอนกลางคืน) เห็นเงาสะท้อนดูเป็นแสงแวววาวออกจากรูม่านตาบริเวณกลางตาดำ อาจจะมองเห็นเพียงจากด้านใดด้านหนึ่งหรือทุกทิศทาง อาจเป็นตลอดเวลาหรือเห็นเป็นบางครั้งก็ได้
โรคตาวาวเป็นโรคมักเกิดในเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 6 ปี) หากพบในเด็กคนใดต้องรีบพบจักษุแพทย์ (หมอตา) เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุของตาวาวนี้ทันที
โรคตาวาวมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของภาวะตาวาวนี้ อาจเกิดจากมีโรคภายในดวงตาเด็กได้หลายโรค อาทิเช่น
- ต้อกระจกแต่กำเนิด
- มีโรคในน้ำวุ้นตา เช่น จากการอักเสบ
- ภาวะจอตาเสื่อมจากได้รับออกซิเจนแรกเกิดในเด็กคลอดก่อนกำหนด
- มีการอักเสบรุนแรงภายในดวงตาจนเกิดหนอง
- แต่โรคที่สำคัญที่สุดและร้ายแรงที่สุดได้แก่ มะเร็งจอตา (Retinoblastoma/เรติโนบลาสโตมา) ซึ่งจะได้พูดถึงเฉพาะโรคนี้ในบทความนี้ต่อไป
พบโรคมะเร็งจอตาบ่อยไหม? และมีลักษณะโรคเป็นอย่างไร?
มะเร็งจอตาเป็นมะเร็งในลูกตาที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก เป็นหนึ่งในห้าอันดับแรกของมะเร็งในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี เป็นอันดับ 3 รองลงมาจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว และเนื้องอกในสมอง พบได้ทุกประเทศทั่วโลก โดยพบโรคได้ 1 ต่อ 15,000 - 30,000 ของเด็กคลอดมีชีวิต ซึ่งเชื่อกันว่าโรคนี้อาจเกิดได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะตรวจพบตั้งแต่แรกเกิดหรืออายุเพียง 1 เดือนก็มี คงจะเป็นมะเร็งชนิดเดียวที่เกิดตั้งแต่ในท้อง
โรคอาจจะเป็นกับตาข้างเดียวหรือพร้อมกัน 2 ตา โดยที่ไม่ใช่จากการกระจายจากตาข้างหนึ่งไปอีกข้าง หรือบางคนอาจเป็นพร้อมกัน 3 ตา โดยอาจพบที่ต่อมไพเนียล (Pineal gland)ในสมองร่วมด้วย (ต่อมไพเนียลเป็นต่อมอยู่ภายในใจกลางสมอง ถือเป็นตาที่ 3 ของคนเรา)
โรคมะเร็งจอตาเป็นมะเร็งที่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นกรรมพันธุ์ สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้แบบปมเด่น (Dominant) จึงสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้ถึงกึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่จะตรวจพบได้ในอายุ 1 เดือนถึง 6 ปี อายุมากกว่านี้พบได้น้อยมาก ถ้าเป็น 2 ตามักจะตรวจพบในอายุที่น้อยกว่าเป็นตาเดียว โดยมีการตรวจพบความผิดปกติในโครโมโซม (สารพันธุกรรม)อย่างชัดเจน
โรคมะเร็งจอตามีอาการอย่างไร?
อาการมะเร็งจอตาที่พบบ่อยคือ
- มีสีขาววาวจากกลางตาดำ
- ตาเข โดยก้อนมะเร็งอยู่ที่จอตาบริเวณตรงกลาง ทำให้เด็กตามัวลงอย่างมาก ตาข้างนั้นไม่ใช้งานจึงเขออก (ตาเข สาเหตุจากมะเร็งพบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ตาเขไม่ได้เกิดจากมะเร็ง เกิดโดยยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน)
- เด็กมีดวงตาเลื่อนลอย คล้ายจะมองไม่เห็น
- มีการอักเสบของเบ้าตา ทำให้ตาโปนแดง
- เป็นต้อหินจากเซลล์มะเร็งอุดตันทางเดินน้ำในลูกตา
- มีเลือดออกภายในช่องหน้ากระจกตาโดยไม่รู้สาเหตุ
- ตาเจ็บ ตาแดง เป็นๆหายๆ มักพบในเด็กที่มะเร็งลามไปมากแล้ว
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งจอตาได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งจอตาได้ด้วยการตรวจดูจอตาอย่างละเอียดโดยขยายรูม่านตา ด้วยยาหยอดตาที่เป็นยาขยายรูม่านตา แต่หากเด็กไม่ให้ความร่วมมือที่ดี อาจต้องให้ยานอนหลับโดยการกินหรือฉีด หรือบางรายต้องดมยาสลบให้หลับ
มะเร็งนี้ จะมีลักษณะคล้ายเปลวมันหมู อาจพบก้อนเดียวหรือหลายก้อน ลักษณะของก้อนเนื้อมักแตกต่างชัดเจนไม่เหมือนโรคอื่นๆโดยทั่วไป แพทย์มักแนะนำให้ทำการเอกซเรย์ดวงตาดูว่าเนื้อร้ายกระจายไปสู่เบ้าตาหรือบริเวณใกล้เคียงหรือไม่และอย่างไร และเจาะหลังเพื่อนำน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังตรวจดูการแพร่กระจายของโรคเข้าสู่สมอง เพื่อวางแผนในการรักษาต่อไป
โรคมะเร็งจอตามักตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา (การตรวจทางพยาธิวิทยา) หรือเจาะ /ดูดเซลล์ตรวจทางเซลล์วิทยา (การตรวจทางเซลล์วิทยา) ไม่ได้ เพราะก้อนเนื้ออยู่ลึกในลูกตา ต้องผ่าตัดรักษาก่อนจึงจะตรวจชิ้นเนื้อ และ/หรือตรวจเซลล์จากชิ้นเนื้อจากผ่าตัดได้
โรคมะเร็งจอตามีกี่ระยะ?
มีการจัดระยะโรคมะเร็งจอตาหลายระบบ ทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่โรคยังลุกลามอยู่เฉพาะลูกตา, และกลุ่มโรคลุกลามออกนอกลูกตา
ก. กลุ่มที่โรคยังลุกลามอยู่เฉพาะลูกตา: มีการจัดระยะโรคหลายระบบ แต่ที่นิยมคือ การจัดระยะโรคของ The International Classification for Intraocular Retinoblastoma ซึ่งแบ่งมะเร็งจอตาเป็น 5 ระยะ/Group/กรุ๊ป คือ
- Group A: ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 3 มิลลิเมตร(มม.)และรุกราน/ลุกลามอยู่เฉพาะใน จอตา โดยต้องเกิดห่างจากตำแหน่งสำคัญของจอตา เช่น จานประสาทตา หรือ รอยบุ๋มบนจุดรับภาพชัด(Fovea)
- Group B: ก้อนมะเร็งใหญ่กว่า 3มม. หรือเกิดใกล้ตำแหน่งสำคัญของจอตา เช่น จานประสาทตา หรือ Fovea แต่โรคยังรุกรานอยู่ในจอตา
- Group C: ก้อนมะเร็งมีขอบเขตชัดเจน แต่ลุกลามลงลึกเข้าเนื้อเยื่อใต้จอตา หรือเข้าในวุ้นตา
- Group D: ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ หรือมีขอบเขตไม่ชัดเจน ร่วมกับลุกลามเข้าเนื้อเยื่อใต้จอตา และ/หรือเข้าในวุ้นตา และ/หรือโรคเป็นสาเหตุให้เกิดจอตาหลุดลอก
- Group E: ก้อนมะเร็งใหญ่มาก ลุกลามเข้าส่วนหน้าของลูกตา หรือเกิดเลือดออกในก้อน มะเร็ง และ/หรือ มีลักษณะที่การรักษาไม่สามารถเก็บลูกตาไว้ได้ ต้องผ่าลูกตาออก
ข. กลุ่มที่โรคลุกลามออกนอกลูกตา คือ โรคเป็นมาก โอกาสรักษาหายมีน้อย กลุ่มโรคระยะนี้แบ่งเป็น2กลุ่มย่อยคือ
- กลุ่มที่โรคลุกลามมาก ลุกลามออกนอกลูกตา เข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆในเบ้าตา
- กลุ่มที่โรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น แพร่กระจายเข้า สมอง น้ำไขสันหลัง และ/หรือ ไขกระดูก
โรคมะเร็งจอตารักษาอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งจอตาได้แก่ ผ่าตัดลูกตาทั้งตา เช่นเดียวกับหลักของการรักษามะเร็งทั่วๆไปที่ต้องเอาก้อนมะเร็งออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับมะเร็งจอตาเนื่องจากอยู่ภายในลูกตา ยากที่จะเข้าไปตัดเฉพาะก้อนเนื้อออก หรือแม้แต่การตัดชิ้นเนื้อมาตรวจเฉกเช่นมะเร็งบริเวณอื่นก็ทำไม่ได้ การผ่าตัดเอาตาออกจึงเป็นทั้งการวินิจฉัยโรคที่แน่นอนและรักษาไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นการยากมากที่พ่อแม่เด็กจะเข้าใจและยอมรับหรือยอมผ่าตัดลูกตาออก มักจะต้องใช้เวลาให้ญาติพาไปพบหมอตาหลายๆท่านก่อนเสมอ ต่อเมื่อเห็นว่า วิธีรักษาเหมือนๆกันจึงพอจะทำใจได้
ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคมะเร็งจอตาได้อีกหลายวิธี (นอกเหนือจากผ่าตัด) ดังจะกล่าวต่อไป ทั้งนี้เพื่อพยายามเก็บลูกตาไว้
อย่างไรก็ตาม จักษุแพทย์มักผ่าตัดลูกตาออกในกรณีพบว่าตาข้างนั้นมองไม่เห็นแล้ว หรือผ่าตัดตาข้างที่เป็นมาก (ในกรณีเป็น 2 ตา) เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง
การรักษาวิธีการอื่นเพื่อเก็บลูกตาไว้ เช่น
- จี้เย็น (Cryotherapy) โดยการใช้ความเย็นสูงมาก จี้บริเวณก้อนเนื้อเพื่อหยุดการเจริญ เติบโตของก้อนเนื้อ ใช้ในกรณีก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก
- ใช้แสงเลเซอร์หลักการเช่นเดียวกับวิธีจี้เย็น
- รังสีรักษาเฉกเช่นมะเร็งอื่นๆในร่างกาย
- เคมีบำบัด ปัจจุบันมียาในกลุ่มนี้ออกใหม่มากมาย อาจใช้ยาในกลุ่มนี้เพื่อให้ก้อนเนื้อมีขนาดเล็กลง แล้วจึงตามด้วยการรักษาวิธีที่ 1, 2 และ/หรือ 3 ต่อไป
โรคมะเร็งจอตารักษาหายไหม? รุนแรงไหม?
โรคมะเร็งจอตาเป็นโรครุนแรงปานกลาง โอกาสรักษาหายขึ้นกับ ระยะโรค, ขนาด, และตำ แหน่งของก้อนเนื้อในลูกตา ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อโรคยังอยู่ในระยะที่ 1 อัตรารอดที่ห้าปี (โอกาสหาย) ประมาณ 80 - 90% และจะลดลงตามลำดับระยะโรคที่สูงขึ้น จนถึงไม่มีโอกาสรักษาได้หายในโรคที่ลุกลามออกนอกลูกตา
พ่อแม่ควรทำอย่างไรเมื่อมีลูกเป็นมะเร็งจอตา?
นอกจากการดูแลรักษาลูกที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ดังกล่าวแล้ว พ่อแม่ต้องดูแลลูกคนอื่นๆด้วย เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ พ่อแม่จึงควรทราบแนวโน้มที่จะเกิดโรคนี้ในลูกคน อื่นๆหรือแม้แต่การมีลูกของผู้ป่วยเอง (เมื่อรอดชีวิตจากโรคมะเร็งและเติบโตมีครอบครัว) ว่าลูกมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งได้มีการศึกษาสรุปโอกาสของการเกิดโรคดังนี้
1. พ่อ-แม่ ปกติ มีลูกเป็นโรคนี้ 1 คน โอกาสที่ลูกคนต่อไปจะเป็นโรค 6%
2. ถ้ามีลูกเป็นโรคนี้ 2 คน ลูกคนต่อไปมีโอกาสเป็นโรค 50%
3. ถ้ามีประวัติคนอื่นในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย ผู้ป่วยที่หายจากโรคมีโอกาสที่ลูกจะเป็นโรคนี้ถึง 50%
4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เพียงคนเดียวในครอบครัว มีโอกาสมีลูกเป็นโรคนี้ 12.5%
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ดังกล่าวแล้วว่า โรคอาจเกิดได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และเช่นเดียวกับในการดูแลดวงตาลูก คือ ควรสังเกตตาลูกตั้งแต่แรกเกิดเสมอ เมื่อพบความผิดปกติหรือสงสัยหรือกังวลใจ ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ ถ้าไม่มีจักษุแพทย์ ถามหมอเด็ก หมอที่ทำคลอดหรือหมอแผนกใดก็ได้
จากการศึกษาติดตามผู้ป่วยโรคนี้ในระยะยาว แม้รักษาลูกตาข้างที่เป็นโรคหายแล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดมะเร็งที่ตาอีกข้าง หรือที่บริเวณอื่นของร่างกายเช่น มะเร็งกระดูกได้อีกด้วย แพทย์จึงต้องมีการนัดตรวจติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ผู้ปกครองจึงควรนำเด็กพบแพทย์ตามนัดเสมอ
อนึ่ง ดังกล่าวแล้ว ควรนำลูกคนอื่นๆมาให้จักษุแพทย์ตรวจตาด้วย เพราะจากที่กล่าวแล้วว่าเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ ลูกคนอื่นๆจึงอาจเกิดโรคได้โดยยังไม่แสดงอาการ ดังนั้นการตรวจพบโรคแต่เนิ่นๆจะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น และอาจเก็บลูกตาเด็กไว้ได้ไม่ต้องผ่าตัดลูกตาออก