มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ (Leiomyosarcoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ (Leiomyosarcoma ย่อว่า แอลเอมเอส/LMS) เป็นมะเร็งของกล้ามเนื้อชนิดที่เรียกว่า กล้ามเนื้อเรียบ โดยเกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อเรียบส่วนใดในร่างกายก็ได้ มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติ โดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวเหล่านี้ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็ง รุกราน/ลุกลามทำลายกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะนั้นๆจนไม่สามารถทำงานได้ แล้วลุกลามทะลุ ทำลายอวัยวะที่เกิดโรคเข้าไปเจริญเติบโตทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ส่งผลให้อวัยวะที่เกิดมะเร็งมีขนาดโตขึ้น และไม่สามารถทำงานตามปกติได้ รวมถึงเมื่อโรคลุกลามมากขึ้น จะแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยที่สุด คือที่ปอด แต่มะเร็งชนิดนี้ไม่ค่อยลุกลามแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองทั้งต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใก้ลหรืออยู่ไกลอวัยวะที่เกิดโรค กล่าวคือไม่ค่อยมีการลุกลามแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลือง ยกเว้นในระยะท้ายๆของโรค

กล้ามเนื้อเรียบ เป็นเนื้อเยื่อในกลุ่มเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ส่วนใหญ่ เป็นกล้ามเนื้อผนังอวัยวะภายในทุกอวัยวะที่รวมผนังหลอดเลือดด้วย นอกจากนั้นยังรวมถึง เซลล์เนื้อเยื่อบางส่วนของกระดูก และของโพรง/ช่องหลังเยื่อบุช่องท้อง (Retroperitoneum)

มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ จัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มมะเร็งชนิดซาร์โคมา(Sarcoma)

มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ เป็นมะเร็งพบน้อย ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ ทั่วไปพบในผู้ใหญ่ มักพบในอายุ ตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่พบได้ทุกอายุ พบน้อยในเด็ก พบในหญิงสูงกว่าในชายประมาณ 1-2 เท่า และเนื่องจากพบได้น้อย จึงไม่มีรายงานสถิติการเกิดโรคแยกต่างหาก แต่จะรายงานรวมอยู่ในสถิติของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งพบมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนได้ประมาณ 1%ของมะเร็งทั้งหมด และมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบพบเป็นประมาณ 5-10% ของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

การศึกษาทะเบียนมะเร็งในประเทศไทยโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ผู้ป่วยช่วงปี พ.ศ. 2553-2555(รายงานในปี พ.ศ.2558) ไม่มีรายงานแยกเฉพาะมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบเช่นกัน แต่รายงานรวมอยู่ในมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน โดยไม่ติดใน10ลำดับแรกของมะเร็งพบบ่อย พบในชาย 1.2 รายต่อประชากร ชาย 1แสนคน และในหญิง1.0รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบมีกี่ชนิด?

มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ

มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ เป็นมะเร็งกลุ่ม ซาร์โคมา มีหลายชนิดย่อย หรือหลายกลุ่มย่อย โดยอาจแบ่งชนิดตามลักษณะทางพยาธิวิทยา(การตรวจทางพยาธิวิทยา), หรือตามการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง, หรือตามตำแหน่งที่เกิดโรค

ก. การแบ่งชนิดมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบตามลักษณะทางพยาธิวิทยา แบ่งได้เป็นหลายชนิดย่อย แต่ทั้งนี้ แต่ละชนิดของเซลล์มะเร็ง มีธรรมชาติของโรคไม่ค่อยแตกต่างกัน ชนิดต่างๆเหล่านั้น เช่น Epithelioid leiomyosarcoma, Myxoid leiomyosarcoma, Inflammatory leiomyosarcoma, Granular cell leiomyosarcoma , และ Dedifferentiated leiomyosarcoma

ข. การแบ่งชนิดมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบตามอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง(Cell grading ย่อว่า G) แบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ Grade1(G1), Grade2(G2), Grade3(G3), และUndifferentiated(บางท่านเรียกว่า G4)

  • G1 คือ เซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวน้อย
  • G2 คือ เซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง
  • G3 คือ เซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวสูงมาก และ
  • Undifferentiated คือ เซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูงมาก และมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจากเซลล์ปกติอย่างมากร่วมด้วย (หลายองค์กรด้านโรคมะเร็งรวม Undifferentiated อยู่ในG3ด้วย)

ซึ่งลักษณะการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบนี้ เป็นปัจจัยหนึ่งของการพยากรณ์โรค โดยการพยากรณ์จะเริ่มจาก ดี ปานกลาง เลว ไปจนถึงเลวที่สุดเรียงตามลำดับดังนี้ G1, G2, G3, และ Undifferentiated

ค. การแบ่งชนิดมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบตามตำแหน่งที่เกิด เช่น มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดในช่องท้อง/ในโพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง (Retroperitoneal somatic soft tissue), มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดที่ผิวหนัง(Leiomyosarcoma of cutaneous origin), มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดที่ผนังหลอดเลือด (Leiomyosarcoma of vascular origin) , มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดในผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง(Leiomyosarcoma in the immunocompromised host), และ มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดในกระดูก(Leiomyosarcoma of bone)

นอกจากนั้น ยังพบมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบของมดลูก เรียกว่า มะเร็งซาร์โคมามดลูก(Uterine sarcoma) และ ของผนังลำไส้เรียกว่า เนื้องอกจีสต์ (Gist tumor) ซึ่งทั้ง2ชนิดนี้ ได้เขียนบทความแยกต่างหากในเว็บ haamor.com คือ เรื่อง มะเร็งซาร์โคมามดลูก และเรื่อง เนื้องอกจีสต์ และทั้ง2โรคจะไม่รวมอยู่ในบทความนี้

  • มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดในช่องท้อง/ในโพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง เป็นตำแหน่งพบเกิดได้บ่อยที่สุด คิดเป็นประมาณ 50-60%ของมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบทั้งหมด เมื่อพบโรค โรคมักลุกลามจนไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือผ่าตัดได้ก็ผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้ไม่หมด จึงมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี
  • มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดที่ผิวหนัง พบเกิดในผิวหนังชั้นใน(Dermis) เป็นชนิดที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี เพราะคลำพบได้ง่าย ผู้ป่วยจึงมาพบแพทย์ได้เร็ว และมักผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้ทั้งหมด
  • มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดที่ผนังหลอดเลือด เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก มักเกิดที่หลอดเลือดขนาดใหญ่ ที่พบได้บ่อย คือ มี่ผนังหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องอก หรือในช่องท้อง เป็นชนิดที่การพยากรณ์โรคไม่ดี
  • มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดในผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เป็นชนิดที่พบได้น้อย มักพบในผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะและใช้ยากดภูมิคุ้มกัน มีรายงานพบในผู้ป่วยเอชไอวีได้ประปราย เป็นกลุ่มโรคที่การพยากรณ์โรคไม่ดีเช่นกัน
  • มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดในกระดูก เป็นชนิดที่พบได้น้อยมาก และการพยากรณ์โรคไม่ดี

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

เนื่องจากเป็นมะเร็งที่พบได้น้อย การศึกษาในเรื่องของมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ จึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นปัจจุบัน จึงยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ แต่เป็นอาการเหมือนกับอาการของมะเร็งทุกชนิด ซึ่งที่สำคัญที่สุด คือ การมีก้อนเนื้อที่โตเร็วผิดปกติ

นอกจากนั้น คือ อาการอื่นๆที่จะแตกต่างกันไป ขึ้นกับว่า ก้อนเนื้อเกิดกับอวัยวะอะไร เพราะเป็นอาการที่เกิดจากการรุกราน/ลุกลามของก้อนเนื้อต่อเซลล์ปกติ จึงส่งผลให้อวัยวะนั้นๆทำงานไม่ได้ จึงเกิดเป็นอาการผิดปกติต่างๆขึ้น เช่น

  • มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดในช่องท้อง/ในโพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง อาการที่พบได้ คือ ท้องอืด แน่นท้อง เรื้อรัง กินอาหารได้น้อย อาจมีลำไส้อุดตันจากก้อนเนื้อกดทับลำไส้เมื่อก้อนเนื้อโตมากขึ้น และอาจคลำพบมีก้อนเนื้อในช่องท้อง
  • มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดที่ผิวหนัง อาการที่พบได้คือ มีก้อนแข็งคลำพบในผิวหนังตำแหน่งใดของร่างกายก็ได้ ก้อนมักโตเร็ว เคลื่อนที่ไม่ได้เมื่อจับโยก และไม่เจ็บ
  • มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดที่ผนังหลอดเลือด อาการจะเกิดจากหลอดเลือดอุดตัน ดังนั้น อาการที่พบบ่อย คืออาการบวมในตำแหน่งที่เกิดโรค เพราะจะเกิดภาวะเลือด/ของเหลวคั่งในหลอดเลือด เลือดไม่สามารถไหลกลับเข้าหัวใจได้
  • มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดในผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง คือ การคลำพบก้อนเนื้อมักร่วมกับอาการผิดปกติที่เกิดจากอวัยวะที่เกิดโรค เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือดร่วมกับมีก้อนเนื้อในปอดเมื่อเกิดโรคในปอด เป็นต้น
  • มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบที่เกิดจากเซลล์บางชนิดของกระดูก อาการที่พบได้ คือ มีก้อนในกระดูกที่คลำได้ชัดเจน ก้อนเนื้อมักโตเร็ว และเมื่อก้อนขนาดใหญ่ มักเกิดกระดูกหักในตำแหน่งเกิดโรคร่วมด้วย

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เมื่อคลำพบก้อนเนื้อผิดปกติโดยเฉพาะเมื่อเป็นก้อนเนื้อโตขึ้นตลอดเวลา หรือมีต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งใกล้ก้อนเนื้อโตเกิน 1 เซนติเมตรที่มีลักษณะเนื้อค่อนข้างแข็ง หรือมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ‘อาการฯ’

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจคลำก้อนเนื้อ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไออวัยวะที่เกิดโรค แต่การวินิจฉัยที่แน่นอน คือการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

และเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ แพทย์จะตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาระยะโรคและประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น การตรวจเลือดดู การทำงานของ ตับ ไต การตรวจปัสสาวะดูโรคของระบบทางเดินปัสสาวะ การเอกซเรย์ปอดดูโรคแพร่กระจายมาปอดและดูโรคหัวใจ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไออวัยวะที่เกิดโรคถ้ายังไม่ได้ตรวจช่วงวินิจฉัยโรค การตรวจอัลตราซาวด์ตับเพื่อดูโรคแพร่กระจายสู่ตับ และ/หรือการตรวจสะแกน กระดูกดูโรคแพร่กระจายเข้ากระดูก

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบมีกี่ระยะ?

ดังได้กล่าวแล้วในบทนำว่า มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ เป็นมะเร็งที่พบน้อย และพบได้ในเนื้อเยื่อของหลากหลายอวัยวะในตำแหน่งต่างๆของร่างกาย การศึกษาเรื่องต่างๆของโรคจึงเป็นไปได้ยาก จึงยังไม่มีการจัดระยะโรคในโรคนี้ที่แน่นอน

ในบทความนี้ขอจัดระยะโรคตาม National Leiomyosarcom Foundation ของสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2018 ซึ่งอิงการจัดระยะโรค/มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนจาก หน่วยงานด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา (American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC) โดยแบ่งเป็น4 ระยะหลักรวมถึงระยะย่อย ดังนี้

  • ระยะที 1: ก้อน/แผลมะเร็ง เป็นเซลล์ชนิดแบ่งตัวต่ำ(G1) และยังไม่มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ระยะนี้แบ่งย่อยตามความรุนแรงโรคที่เพิ่มขึ้นเป็น
    • ระยะ1A: ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน5ซม.
    • ระยะ1B: ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 5ซม.
  • ระยะที่ 2: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใดก็ได้ แต่เซลล์มะเร็งเป็นชนิดแบ่งตัวสูงขึ้น แบ่งเป็น2ระยะย่อย คือ
    • ระยะ2A: ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน5ซม. เซลล์แบ่งตัวเป็นG2 หรือ G3
    • ระยะ2B: ก้อนเนื้อโตมากกว่า 5ซม. เซลล์แบ่งตัวเป็นG2
  • ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. และเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูงมาก(G3), และ/หรือ มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้กับก้อนมะเร็ง
  • ระยะที่ 4: โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลจากก้อนมะเร็ง เช่น ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสโลหิต (เลือด) เข้าสู่อวัยวะต่างๆที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่กระจายเข้าสู่ปอด แต่อาจพบที่ ตับ กระดูก สมอง ได้บ้าง

รักษาโรคมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบอย่างไร?

วิธีรักษาหลักของมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ คือ การผ่าตัด

  • ส่วนรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด แพทย์จะพิจารณารักษาในผู้ป่วยเป็นรายๆไป เพราะเซลล์มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบมักตอบสนองได้ไม่ดี ทั้งต่อรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด
  • ส่วน ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง มีการรักษาที่ได้ผลเฉพาะในมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ ชนิด เนื้องอกจีสต์ เท่านั้น ส่วนมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบชนิดอื่นๆ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา
  • นอกจากนั้น มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบบางชนิดมีตัวรับ(Receptor)ที่สามารถจับฮอร์โมนเพศหญิง(Hormone receptorย่อว่า HR)ได้ ซึ่งถ้าเซลล์จับฮอร์โมนฯได้เรียกว่า HR+ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีรายงานว่า สามารถใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศฯรักษาควบคุมโรคได้ในระดับหนึ่ง เช่น ยา Tamoxifen, Letrozole แต่ยากลุ่มนี้ใช้ไม่ได้ผลในผู้ป่วยที่ ไม่มีตัวรับฮอร์โมนฯ(HR-)

อนึ่ง HR ตรวจได้จากการตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็งด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งกล้ามเนื้อเรียบขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) และผลต่ออวัยวะต่างๆที่ได้รับการฉายรังสีซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่อวัยวะที่เกิดโรค แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในแต่ละโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆเหล่านั้น
  • ยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด ที่รวมถึงมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบจะสูงและรุนแรงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ มีธรรมชาติของโรคที่รุนแรง มักพบโรคในระยะลุกลามเพราะโรคในระยะแรกๆมักไม่ก่ออาการ นอกจากนั้น โรคมีการย้อนกลับเป็นซ้ำสูงหลังผ่าตัด และเซลล์มะเร็งยังตอบสนองได้ไม่ดีต่อทั้งรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด ทั้งหมดดังกล่าว จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคนี้มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี

อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์โรคของมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบยังขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ

  • ระยะโรค
  • ขนาดก้อนเนื้อ
  • การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
  • ตำแหน่งที่เกิดโรคมะเร็ง
  • การผ่าตัดก้อนเนื้อได้หมดหรือไม่ และ
  • สุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วย

เนื่องจากเป็นโรคพบได้น้อย จึงไม่สามารถศึกษาถึงอัตรารอดที่ห้าปีในแต่ระยะโรค ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆดังกล่าวตอนต้นเป็นรายๆผู้ป่วยไป

โดยในภาพรวม

  • เมื่อโรคยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ ไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่น หรือไปต่อมน้ำเหลือง ผ่าตัดออกได้หมด อัตรารอดที่5 ปีประมาณ 80%
  • เมื่อโรคลุกลามเข้าอวัยวะอื่น และ/หรือต่อมน้ำเหลือง และผ่าตัดได้หมดอัตรารอดฯประมาณ 50-55%
  • เมื่อโรคแพร่กระจายสู่อวัยวะต่างๆแล้ว ผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน – 2 ปี ขึ้นกับสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วย อัตรารอดฯประมาณ 0-10%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบก่อนที่จะมีอาการ ดังนั้น เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้ออาการฯ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

ป้องกันโรคมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ

ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึง มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
  • บรรณานุกรม

    1. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
    2. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
    3. Martin-Liberal, J. Intractable & Rare Diseases Research 2013; 2(4):127- 129
    4. https://en.wikipedia.org/wiki/Leiomyosarcoma [2018,Oct27]
    5. https://rarediseases.org/rare-diseases/leiomyosarcoma/ [2018,Oct27]
    6. http://sarcomahelp.org/leiomyosarcoma.html [2018,Oct27]
    7. https://www.cancer.org/cancer/soft-tissue-sarcoma/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Oct27]
    8. https://nlmsf.org/patient-resources/leiomyosarcoma-diagnosis/leiomyosarcoma-staging/ [2018,Oct27]