มะเร็งกระดูก (Bone cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

มะเร็งกระดูก(Bone cancer หรือ Malignant bone tumor)คือ โรคที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อกระดูกเกิดการเจริญเติบโตและมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วโดยร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งรุกราน/ลุกลามในเนื้อเยื่อกระดูกจนเนื้อเยื่อกระดูกทำงานไม่ได้ อาการที่พบบ่อยคือ มีก้อนที่กระดูก ปวด และกระดูกหัก

มะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อกระดูก เรียกว่า ‘มะเร็งกระดูกปฐมภูมิ(Primary bone cancer)’ แต่หากเป็นเซลล์มะเร็งของอวัยวะอื่นๆ(ที่ไม่ใช่กระดูก)แพร่กระจายทางกระแสโลหิต/ทางกระแสเลือดเข้าสู่กระดูก คือมะเร็งระยะที่4ของอวัยวะนั้นๆ จะเรียกว่า ‘มะเร็งแพร่กระจายมากระดูก หรือ มะเร็งกระดูกทุติยภูมิ(Secondary bone cancer)’ เช่น แพร่กระจายจาก มะเร็งเต้านมสู่กระดูก เป็นต้น

ทั้งนี้ บทความนี้จะกล่าวถึง ‘มะเร็งเนื้อเยื่อกระดูก/มะเร็งกระดูกปฐมภูมิ เท่านั้น และขอเรียกว่า ‘มะเร็งกระดูก’) ส่วนมะเร็งกระดูกทุติยภูมิจะมีธรรมชาติของโรครวมถึงวิธีรักษาเช่นเดียวกับแต่ละมะเร็งที่เป็นต้นกำเนิดจึงแตกต่างกันในมะเร็งแต่ละชนิดตามอวัยวะต้นกำเนิด เช่น มะเร็งปอด หรือมะเร็งเต้านม ที่ในระยะที่4จะมีโรคแพร่กระจายเข้ากระดูก แนะนำอ่านเพิ่มเติมแต่ละโรคมะเร็งต้นกำเนิดได้จากเว็บ haamor.com

โรคมะเร็งกระดูก/มะเร็งกระดูกปฐมภูมิ เป็นโรคพบน้อยประมาณ 0.2-1%ของมะเร็งทั้งหมด พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย พบทุกอายุ มักเป็นโรคของเด็กโต วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว ช่วงอายุประมาณ 10-20 ปี แต่อาจพบในช่วงอายุอื่นๆได้บ้างทั้งในเด็กเล็กจนถึงในผู้สูงอายุซึ่งจะกลับมาพบโรคได้สูงขึ้น

ทั่วไป มะเร็งกระดูกในเด็กพบได้เพียงประมาณ 3-5% ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด ทั้งนี้พบในเด็กชายบ่อยกว่าเด็กหญิงประมาณ 2-3 เท่า

ส่วนในประเทศไทยรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อ พ.ศ. 2561 (ผู้ป่วยช่วงพ.ศ. 2556-2558)พบมะเร็งกระดูก(รวมทุกอายุ)ในเพศหญิง1.3รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนต่อปี และพบในเพศชาย 1.4 รายต่อประชากรชาย 100,000 คน

โรคมะเร็งกระดูกมีกี่ชนิด?

มะเร็งกระดูก

โรคมะเร็งกระดูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โรคมะเร็งกระดูกปฐมภูมิ (Primary bone cancer หรือ Primary bone tumor)ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้, และโรคมะเร็งกระดูกทุติยภูมิ (Secondary bone cancer หรือ Secondary bone tumor)ที่จะไม่กล่าวถึงในบทความนี้

ก. โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ/มะเร็งกระดูก (Primary bone cancer หรือ Primary bone tumor) คือ โรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อกระดูกเอง ซึ่งเมื่อกล่าวถึง โรคมะเร็งกระดูก จะหมายถึง ‘โรคมะเร็งปฐมภูมิ’เสมอ

มะเร็งกระดูกปฐมภูมิ/ มะเร็งกระดูก มีหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นมะเร็งกลุ่มมะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma) นอกจากนี้ ในเด็กและในผู้ใหญ่ยังพบต่างชนิดกัน

  • มะเร็งกระดูกในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): พบได้น้อยเช่นกัน เป็นประมาณ 5%ของมะเร็งทั้งหมดในเด็กและวัยรุ่น(มะเร็งในเด็ก) โดยชนิดพบบ่อยคือ ออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) พบได้ประมาณ 2-3%ของมะเร็งเด็ก/วัยรุ่นทั้งหมด(ประมาณ 60%ของมะเร็งกระดูกในเด็ก/วัยรุ่น) และชนิด อีวิง บางคนเรียกว่า ยูวิง (Ewing’s sarcoma)ที่พบได้ประมาณ 1-2%ของมะเร็งเด็ก/วัยรุ่น(ประมาณ 35%ของมะเร็งกระดูกในเด็ก/วัยรุ่น) พบในเด็กชายบ่อยกว่าเด็กหญิง
  • ส่วนในผู้ใหญ่ ชนิดพบบ่อย ได้แก่ชนิด มะเร็งกระดูกอ่อน (คอนโดรซาร์โคมา: Chondrosarcoma) ทั่วโลกพบได้ประมาณ 1 รายต่อประชากร1ล้านคน ผู้หญิงและผู้ชายพบใกล้เคียงกัน โดยพบเป็นประมาณ 40-50%ของมะเร็งกระดูกผู้ใหญ่ ส่วนออสตีโอซาร์โคมาพบประมาณ 20-30%, อีวิงพบประมาณ 5-10%, ของมะเร็งกระดูกในผู้ใหญ่

ข. โรคมะเร็งกระดูกทุติยภูมิ (Secondary bone cancer หรือ Secondary bone tumor) คือ โรคจากเซลล์มะเร็งชนิดอื่นๆแล้วแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก ที่พบได้บ่อย คือ แพร่กระจายมาจาก โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ ซึ่งโรคมะเร็งในกลุ่มนี้จะไม่เรียกว่า โรคมะเร็งกระดูก แต่เรียกว่า ‘โรคมะเร็งแพร่กระจายมากระดูก’ หรือ’แพร่กระจายเข้าสู่กระดูก’ ดังนั้นบทความนี้จึง ไม่กล่าวถึงโรคมะเร็งในกลุ่มแพร่กระจายนี้

โรคมะเร็งกระดูกเกิดกับกระดูกส่วนไหนบ้าง?

มะเร็งกระดูกเกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นในร่างกาย มักเกิดกับกระดูกเพียงชิ้นเดียว แต่สามารถแพร่กระจายทางกระแสโลหิต(เลือด) สู่กระดูกชิ้นอื่นๆได้ในลักษณะเดียวกับโรคมะเร็งจากอวัยวะอื่นๆ ทั้งนี้โอกาสเกิดในด้านซ้าย และด้านขวาใกล้เคียงกัน

ก.โรคมะเร็งออสตีโอซาร์โคมา: มักเกิดกับกระดูกขาและแขน โดยเฉพาะบริเวณใกล้ๆกับข้อกระดูก โดยพบเกิดกับ

  • กระดูกต้นขาประมาณ 50%
  • กระดูกขา (ส่วนล่าง) ประมาณ 30%
  • กระดูกต้นแขนประมาณ 10%
  • กระดูกลำตัว (สะโพก หรือกระดูกซี่โครง) ประมาณ 5%
  • กระดูกใบหน้าและกะโหลกประมาณ 3%
  • กระดูกอื่นๆที่เหลือประมาณ 2%

ข. โรคมะเร็งอีวิง: พบเกิดกับกระดูกขา และแขนได้สูงกว่ากระดูกชิ้นอื่นๆเช่นเดียวกับโรคมะเร็งออสติโอซาร์โคมา แต่มักเกิดตรงกลางของท่อนกระดูก นอกจากนั้น พบเกิดกับกระดูกของลำตัวได้สูง ทั้งนี้พบเกิดกับ

  • กระดูกลำตัวได้ประมาณ 45%
  • กระดูกต้นขาและกระดูกขา ประมาณ 30%
  • กระดูกต้นแขน และกระดูกแขนประมาณ 15%
  • กระดูกใบหน้าและกะโหลกประมาณ 3%
  • กระดูกอื่นๆที่เหลือประมาณ 5-10%

ค. มะเร็งกระดูกอ่อน(คอนโดรซาร์โคมา) มักพบเกิดกับกระดูกช่วงลำตัว เช่น กระดูกปีกสะโพก กะโหลกศีรษะ พบน้อยที่จะเกิดกับกระดูกแขน ขา

โรคมะเร็งกระดูกเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคมะเร็งกระดูกที่ชัดเจน แต่พบมีปัจจัยเสี่ยง คือ

  • พันธุกรรม: เพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในผู้มีพันธุกรรมผิดปกติบางชนิด
  • เชื้อชาติ: เพราะพบโรคได้สูงในคนผิวขาวและผิวดำเป็นประมาณ 2 เท่าของคนเอเชีย
  • อาจจากการที่กระดูกเคยได้รับรังสีบางชนิดในปริมาณสูงในวัยเด็ก เช่น จากการฉายรังสีรักษารักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ
  • เคยเป็นโรคมะเร็งบางชนิดมาก่อน เช่น มะเร็งจอตาในเด็ก ซึ่งเด็กที่เป็นโรคมะเร็งจอตานี้มีโอกาสเกิดมะเร็งกระดูกชนิดออสติโอซาร์โคมาได้สูงกว่าคนทั่วไป

โรคมะเร็งกระดูกมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญของโรคมะเร็งกระดูก คือ

  • ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็น
  • เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น จึงอาจคลำได้ก้อนเนื้อตรงกระดูกส่วนที่เกิดโรค หรือในบริเวณนั้นบวม อาจปวดเจ็บ และเป็นสาเหตุให้กระดูกหักได้ (กระดูกหัก เป็นผลสืบเนื่องจากโรค ไม่ใช่สาเหตุ แต่คนทั่วไปมักเชื่อว่า กระดูกหักเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งกระดูก)
  • ถ้าโรคเกิดใกล้บริเวณข้อ จะส่งผลให้เกิดการติดขัดของการใช้ข้อ หรือข้อยึดติด
  • เมื่อโรคลุกลาม อาจส่งผลให้ก้อนเนื้อแตกเป็นแผลเลือดออกเรื้อรัง หรือโรคแพร่กระจายเข้าไขกระดูก ก่อให้เกิด โรคซีด และอ่อนเพลีย บางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ
  • เมื่อโรคลุกลาม อีกอาการที่อาจตรวจพบ คือ คลำพบต่อมน้ำเหลืองตามข้อพับที่ใกล้กับกระดูกที่เกิดโรค โต/บวม คลำได้ ไม่เจ็บ เช่น ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโต เมื่อโรคเกิดกับกระดูกต้นขา เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูกได้จาก

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจดูและคลำกระดูกส่วนเกิดโรค
  • ตรวจภาพกระดูกด้วย เอกซเรย์ธรรมดา และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในกระดูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

นอกจากนั้น คือการตรวจเพื่อจัดระยะโรคมะเร็งและเพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วย เช่น

  • ตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) ดูการทำงานของไขกระดูก
  • การตรวจปัสสาวะดูการทำงานของไต
  • ตรวจเลือดดูการทำงานของตับและไต
  • ตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ เพื่อดู โรคปอด โรคหัวใจ และโรคมะเร็งแพร่กระจายสู่ปอด
  • อาจมีการตรวจไขกระดูก ตรวจภาพตับ และการสะแกนภาพกระดูกทั้งตัว (สะแกน กระดูก) เพื่อหาการแพร่กระจายของโรคเข้าสู่อวัยวะต่างๆเหล่านั้น ทั้งนี้ขึ้น กับ ระยะโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง และดุลพินิจของแพทย์

โรคมะเร็งกระดูกมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งกระดูกแบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และบางระยะยังแบ่งย่อยได้อีกเพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยในการรักษาและในการศึกษา แต่ที่แตกต่างจากโรคมะเร็งชนิดอื่น คือ ระยะโรคยังขึ้นกับตำแหน่งของกระดูกที่เกิดโรค, การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง(Grade ย่อว่า G โดยแบ่งเป็น G1-3 ซึ่งเซลล์มะเร็งแบ่งตัวต่ำ=G1, และเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง=G2,G3) ซึ่งทั้ง 4 ระยะของโรค นิยมแบ่งตามองค์กรด้านโรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา(American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC, ปัจจุบัน 8th ed) ซึ่งแบ่งระยะโรคมะเร็งตามตำแหน่งกระดูก เป็น3 กลุ่ม ได้แก่

  • มะเร็งกระดูกที่เกิดกับกระดูกที่ แขน ขา ลำตัว ศีรษะ และใบหน้า
  • มะเร็งกระดูกที่เกิดกับกระดูกสันหลัง
  • มะเร็งกระดูกที่เกิดกับกระดูกเชิงกราน

ก: ระยะโรคของมะเร็งกระดูกที่เกิดที่กระดูก ขา แขน ลำตัว กะโหลก และใบหน้า:

  • ระยะ1: มะเร็งรุกราน/ลุกลามเฉพาะที่กระดูก และเซลล์มะเร็งเป็นชนิด G1 แบ่งเป็นระยะย่อย คือ
    • ระยะ1a: ก้อนมะเร็งขนาดโตไม่เกิน 8 ซม.
    • ระยะ1b: ก้อนมะเร็งขนาดโตมากกว่า 8 ซม.ขึ้นไป หรือ มีหลายก้อนมะเร็งในกระดูกชิ้นเดียวกัน
  • ระยะ2: แบ่งเป็น 2 ระยะย่อย คือ
    • ระยะ2a: คือ ก้อนมะเร็งขนาดโตไม่เกิน8ซม.และเซลล์แบ่งตัวสูงระดับ G2, G3(G3,G4)
    • ระยะ2b: ก้อนมะเร็งขนาดโตมากกว่า8ซม. และเซลล์แบ่งตัวสูงระดับ G2,G3 (G3,G4)
  • ระยะ3: มีก้อนมะเร็งหลายก้อนในกระดูกชิ้นเดียวกัน และเซลล์แบ่งตัวสูงระดับ G2,G3(G3,G4)
  • ระยะ4: เป็นระยะรุนแรงมาก เป็นระยะรักษาหายยาก การพยากรณ์โรคแย่ที่สุด แบ่งย่อย เป็น
    • ระยะ4a: มีโรคแพร่กระจาย เฉพาะปอด
    • ระยะ4b: มีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆนอกเหนือจากปอด(เช่น ตับ กระดูกชิ้นอื่นๆ) ที่รวมถึงต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลจากกระดูกที่เกิดมะเร็งฯ เช่น เป็นมะเร็งฯกระดูกขาและโรคแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้าหรือในช่องอก เป็นต้น

ข. ระยะโรคของมะเร็งกระดูกที่เกิดที่กระดูกสันหลัง: ปัจจุบันใช้จัดระยะโรคแบบ ทีเอ็นเอ็ม(TNM staging) ได้แก่

  • T(Tumor ย่อว่าT): แบ่งย่อยเป็น T1-4
    • T1=โรคจำกัดที่กระดูกสันหลังเพียง1-2ข้อต่อเนื่องกัน
    • T2=โรคจำกัดที่กระดูกสันหลัง3ข้อต่อเนื่องกัน
    • T3=โรคจำกัดที่กระดูกสันหลังมากกว่า3ข้อต่อเนื่องกัน หรือ กระดูกสันหลังมากกว่า 1ข้อที่ไม่ต่อเนื่องกัน
    • T4=โรคลุกลามเข้าไขสันหลัง และ/หรือหลอดเลือดขนาดใหญ่
  • N(Node ย่อว่าN): โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง แบ่งย่อยเป็น N0-1
    • N0=โรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง
    • N1=โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง
  • M(Distant metastasis ย่อว่า M): โรคแพร่กระจายทางกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย(มักแพร่กระจายไปปอด) และ/หรือระบบน้ำเหลือง แบ่งย่อยเป็นM0-1
    • M0= ยังไม่มีการแพร่กระจายฯ
    • M1=โรคแพร่กระจายฯแล้ว

ค. ระยะโรคของมะเร็งกระดูกที่โรคเกิดที่กระดูกเชิงกราน : ปัจจุบันใช้การจัดระยะโรคแบบทีเอ็นเอ็ม(TNM staging) ได้แก่

  • T(Tumor ย่อว่าT): แบ่งย่อยเป็น T1-4
    • T1=โรคจำกัดในกระดูกเชิงกรานเพียงส่วนเดียว แบ่งย่อยเป็น
      • T1a=ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 8 ซม.
      • T1b=ก้อนมะเร็งโตเกิน8ซม.
    • T2=โรคจำกัดในกระดูกเชิงกรานเพียงส่วนเดียวแต่ลุกลามออกนอกกระดูก หรือ โรคลุกลาม2ส่วนของกระดูกเชิงกรานแต่ยังไม่ลุกลามออกนอกกระดูก แบ่งเป็น 2 ระยะย่อยคือ
      • T2a=ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 8 ซม.
      • T2b=ก้อนมะเร็งโตเกิน8ซม.
    • T3=โรคลุกลามเข้ากระดูกเชิงกราน2ส่วนและลุกลามออกนอกกระดูก แบ่งเป็น 2 ระยะย่อย คือ
      • T3a=ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 8 ซม.
      • T3b=ก้อนมะเร็งโตเกิน8ซม.
    • T4=โรคลุกลามเข้ากระดูกเชิงกราน3ส่วน หรือลุกลามเข้าข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระดูกใต้กระเบนเหน็บ แบ่งเป็น 2ระยะย่อย คือ
      • T4a=โรคลุกลามเข้าข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระดูกใต้กระเบนเหน็บ
      • T4b=โรคลุกลามเข้าหลอดเลือดใหญ่ในท้องน้อย
  • N(Node ย่อว่าN): โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง แบ่งย่อยเป็น N0-1
    • N0=โรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง
    • N1=โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง
  • M(Distant metastasis ย่อว่า M): โรคแพร่กระจายทางกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย(มักแพร่กระจายไปปอด) และ/หรือระบบน้ำเหลือง แบ่งย่อยเป็นM0-1
    • M0= ยังไม่มีการแพร่กระจายฯ
    • M1=โรคแพร่กระจายฯแล้ว

โรคมะเร็งกระดูกรักษาอย่างไร?

การรักษาหลักของโรคมะเร็งกระดูก คือ

  • การผ่าตัดและยาเคมีบำบัด
  • ส่วนรังสีรักษา(รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่)จะใช้เฉพาะในผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้ หรือเมื่อมีโรคแพร่กระจายแล้ว
  • การใช้ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งกระดูกอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งกระดูก ขึ้นกับวิธีรักษา ซึ่งผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้วิธีรักษาหลายวิธีร่วมกัน
  • เป็นผู้ป่วย เด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ผู้สูงอายุ
  • สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
  • มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคที่ก่อการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง /โรคออโตอิมูน

ส่วนในด้านผลข้างเคียงจากวิธีรักษา ได้แก่

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา (รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่): เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา/ การดูแลผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) และการเพิ่มโอกาสทำให้กระดูกในส่วนที่ได้รับรังสีหักง่าย
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น คลื่นไส้-อาเจียน ผมร่วง ซีด ภาวะเลือดออกง่ายจากมีเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด-รังสีรักษา:การดูแลตนเอง)
  • ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาด แผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

โรคมะเร็งกระดูกรุนแรงไหม?

โรคมะเร็งกระดูกจัดเป็นโรคมีความรุนแรง/มีการพยากรณ์โรครุนแรง/ไม่ดี โอกาสรักษาได้หายนอกจากขึ้นกับระยะโรคแล้ว ยังขึ้นกับ

  • การผ่าตัด: ถ้าผ่าตัดไม่ได้ เช่น จากสุขภาพ หรือจากตำแหน่งของโรค ความรุนแรงโรคจะสูงขึ้น
  • ตำแหน่งเกิดโรค: เกิดโรคที่ แขน ขาการพยากรณ์โรคดีกว่าเกิดโรคที่กระดูกลำตัว เช่น กระดูกเชิงกราน
  • การตอบสนองของโรคต่อยาเคมีบำบัด
  • การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง: ยิ่งแบ่งตัวสูง ความรุนแรงโรคสูง
  • ขนาดของก้อนเนื้อ: ยิ่งก้อนโต ความรุนแรงโรคยิ่งสูง
  • อายุ และสุข ภาพของผู้ป่วย

ทั้งนี้ ทั่วไป อัตรารอดที่ห้าปี:

ก. โรคมะเร็งชนิดออสตีโอซาร์โคมา:

  • ระยะที่ 1: ประมาณ 75-80%
  • ระยะที่ 2: ประมาณ 60-75%
  • ระยะที่ 3: ประมาณ 30-50%
  • ระยะที่ 4: ประมาณ 0- 25%

ข. โรคมะเร็งอีวิง:

  • ระยะที่ 1: ประมาณ 70%
  • ระยะที่ 2: ประมาณ 60-70%
  • ระยะที่ 3: ประมาณ 20-40 %
  • ระยะที่ 4: ประมาณ 0-30%

ค. โรคมะเร็งกระดูกอ่อน (คอนโดรซาร์โคมา)

  • ระยะที่1-2 ถ้าผ่าตัดได้หมดและเซลล์มะเร็งเป็นชนิดไม่รุนแรงรวมถึงเซลล์มะเร็งแบ่งตัวต่ำ อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 80-90%
  • โรคระยะ3-4 หรือผ่าตัดไม่ได้หมด หรือเซลล์เป็นชนิดรุนแรง และ/หรือเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง อัตรารอดทีห้าปี 0-10%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระดูกไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระดูกตั้งแต่ยังไม่มีอาการ และปัจจัยเสี่ยงต่อการการเกิดโรคมักเป็นปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นที่ดีที่สุด คือ การเอาใจใส่ของผู้ปกครองและในผู้ใหญ่ คือ การสังเกตตนเอง เมื่อพบมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคแต่เนิ่นๆ

ป้องกันโรคมะเร็งกระดูกอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งกระดูก ดังนั้นจึงเช่นเดียวกับใน หัวข้อการตรวจคัดกรองฯ คือ การรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวแล้ว เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาโรคแต่เนิ่นๆ

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระดูกเช่นเดียวกับการดูแลตนเองและการดูแลผู้ ป่วยมะเร็งทุกชนิด อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
  • มะเร็งในเด็ก กรณีเป็นผู้ป่วยเด็ก

บรรณานุกรม

  1. AJCC staging manual, 8th ed.
  2. Halperin, E., Perez, C., and Brady, L. (2008). Perez and Brady: Principles and practice of Radiation Oncology (5th edition). Philadelphia: Wolters Kluwer/ Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Halperin, E., Constine, L., Tarbell, N, and Kun, L. (2005). Pediatric radiation oncology. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins.
  4. Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand Vol ix, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  5. https://www.cancer.gov/types/bone/bone-fact-sheet [2020,July4]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3476517/ [2020,July4]
  7. https://www.cancer.org/cancer/osteosarcoma/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2020,July4]
  8. https://www.cancer.org/cancer/ewing-tumor/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2020,July4]
  9. https://emedicine.medscape.com/article/1258236-overview#showall [2020,July4]
  10. https://www.cancer.net/cancer-types/bone-cancer/statistics [2020,July4]