ภาวะไร้กรดเกลือ (Achlorhydria)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ภาวะไร้กรดเกลือ(Achlorhydria) คือ โรค/ภาวะที่กระเพาะอาหารไม่สามารถสร้างกรด/กรดเกลือ(Hydrochloric acid ย่อว่า HCl)ได้ จึงส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆที่เกี่ยวกับการย่อยอาหาร ที่ส่งผลต่อเนื่องถึงความผิดปกติในการดูดซึมอาหาร วิตามิน เกลือแร่/ แร่ธาตุต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการทางกระเพาะอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ร่วมกับอาการจากภาวะขาดสารอาหารต่างๆที่ต้องใช้กรดเกลือช่วยในการดูดซึม เช่น โปรตีน, แคลเซียม, ธาตุเหล็ก, วิตามินซี, วิตามินบี12

ภาวะไร้กรดเกลือ พบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยมาก พบทั่วโลก โอกาสเกิดในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน มักพบในผู้ใหญ่โดยเฉพาะเมื่อสูงอายุ มีรายงานในประเทศเดนมาร์ก พบภาวะนี้ได้ประมาณ 18%ในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

กรดเกลือ หรือกรดกระเพาะอาหาร(Gastric acid หรือ Stomach acid) เป็นกรดที่สร้างจากเซลล์กระเพาะอาหารที่เรียกว่า Parietal cell หรือ Oxyntic cell ) ซึ่งจะทำให้กระเพาะอาหารมีความเป็นกรด หรือ ค่า พีเอช (pH) อยู่ในช่วง 1.5-3.5 ซึ่งกรดในกระเพาะอาหารมีหน้าที่ ดังนี้

  • ช่วยการย่อยสลายโปรตีนในกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยให้ดูดซึมได้ดีในลำไส้เล็ก โดยการเปลี่ยนเอนไซม์ตั้งต้น Pepsinogen ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน(Proenzyme) ไปเป็นเอนไซม์ Pepsin ที่มีประสิทธิภาพได้ดีในการย่อยโปรตีน
  • ช่วยการดูดซึม วิตามิน เกลือแร่ หลายชนิดในลำไส้เล็ก ที่สำคัญ คือ แคลเซียม, ธาตเหล็ก, วิตามินบี12, วิตามินซี
  • ช่วยฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม ทั้ง แบคทีเรีย เชื้อไวรัส (บทความโรคติดเชื้อไวรัส ในเว็บ haamor.com) และ สัตว์เซลล์เดียว (บทความโรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวจาก haamor.com) จึงลดโอกาสเกิดโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร

*อนึ่ง ภาวะที่กระเพาะอาหารยังพอสร้างกรดเกลือได้ แต่สร้างได้น้อยกว่าปกติ เรียกว่า ‘ภาวะพร่องกรดเกลือ’ หรือ ‘ภาวะมีกรดเกลือน้อย’ หรือ ‘ภาวะขาดกรดเกลือ’ (Hypochlordria หรือ Stomach acid deficiency) ซึ่งจะมีธรรมชาติของโรค ที่รวมถึง สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย การรักษา เช่นเดียวกับ ภาวะไร้กรดเกลือ เพียงแต่อาการจะรุนแรงน้อยกว่า เพราะกระเพาะอาหารยังพอสร้างกรดเกลือได้บ้างแต่ในปริมาณที่ต่ำกว่าปกติ

ภาวะไร้กรดเกลือมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ภาวะไร้กรดเกลือ

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิด ภาวะไร้กรดเกลือ หรือ ภาวะที่ทำให้เซลล์กระเพาะอาหารสร้างกรดเกลือลดลง หรือ สร้างกรดเกลือได้ในปริมาณต่ำกว่าปกติ มีหลากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย คือ

  • อายุ: เพราะเกิดจากการเสื่อมตามธรรมชาติของเซลล์ทุกชนิดของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งรวมถึงเซลล์สร้างกรดเกลือของกระเพาะอาหารด้วย
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดกรดอย่างต่อเนื่องยาวนาน เช่น ยากลุ่ม Proton pump inhibitor (ย่อว่า PPI)
  • การติดเชื้อเอชไพโลไรของกระเพาะอาหาร (โรคติดเชื้อเอสไพโลไร)
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • การผ่าตัดกระเพาะอาหารในการรักษาโรคอ้วน เพราะเป็นการลดเนื้อที่ของกระเพาะอาหาร ปริมาณเซลล์สร้างกรดเกลือจึงลดลงตามไปด้วย
  • โรคออโตอิมมูน เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี ที่ทำให้เซลล์กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง จนลดการสร้างกรดเกลือหรือไม่สามารถสร้างกรดเกลือได้ ที่เรียกว่าโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรังชนิดนี้ว่า Atrophic gastritis
  • ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษาในโรคมะเร็งของอวัยวะในช่องท้องที่ทำให้กระเพาะอาหารได้รับปริมาณรังสีร่วมไปด้วย
  • โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ที่เซลล์มะเร็งลุกลามจนทำให้เซลล์กระเพาะอาหารปกติ/เซลล์สร้างกรดเกลือลดน้อยลง (ในทางกลับกัน ภาวะไร้กรดเกลือ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ถึงแม้จะพบได้น้อยก็ตาม)

ภาวะไร้กรดเกลือมีอาการอย่างไร?

อาการของภาวะไร้กรดเกลือ จะเกิดได้จากร่างกาย/กระเพาะอาหารขาดกรดเกลือ และร่วมกับอาการจากโรค/ภาวะต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะไร้กรดเกลือ

ก. อาการที่เกิดจากกระเพาะอาหารไร้/ขาด/พร่องกรดเกลือ: เป็นอาการเรื้อรังจากกระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ไม่ดีจากขาดกรดเกลือ ร่วมกับอาการจากขาดอาหารที่รวมถึง วิตามิน และแร่ธาตุ ที่ต้องใช้กรดเกลือเป็นตัวช่วยการดูดซึม ซึ่งจะคล้ายกันในผู้ป่วยทุกราย โดยจะไม่เป็นอาการเฉพาะ แต่จะคล้ายกับอาการจากโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป ร่วมกับอาการจากภาวะขาดอาหาร/ทุพโภชนา ซึ่งที่พบบ่อย(ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) ได้แก่

  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
  • เรอบ่อย
  • รู้สึกไม่สบาย หรือ แน่น หรือ ปวดท้อง บริเวณยอดอกที่เป็นตำแหน่งของกระเพาะอาหาร
  • อิ่มอาหารเร็วกว่าปกติ
  • มีแก๊สมากในท้อง
  • ท้องเสียง่าย แต่บางคนอาจท้องผูกได้
  • คลื่นไส้ อาจมีอาเจียน
  • อาจมีอาหารที่ย่อยไม่หมดปนมาในอุจจาระมากผิดปกติ
  • อาการจากการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะ วิตามิน แร่ธาตุ ชนิดที่การดูดซึมจำเป็นต้องใช้กรดเกลือจากกระเพาะอาหารช่วย ที่พบบ่อย เช่น
    • โรคซีด จากร่างกายขาดธาตุเหล็ก/ภาวะขาดธาตุเหล็ก
    • อาการจาก ภาวะขาดวิตามินบี12
    • อาการจากภาวะขาดวิตามินซี /โรคขาดวิตามินซี /โรคลักปิดลักเปิด
    • โรคกระดูกบาง/ โรคกระดูกพรุนจากขาดแคลเซียม

ข. อาการจากโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะไร้กรดเกลือ: เป็นอาการที่จะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่ละสาเหตุ (แนะนำอ่านรายละเอียดของแต่ละโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้จาก เว็บ haamor.com) เช่น

  • โรคออโตอิมมูน
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • โรคติดเชื้อเอชไพโลไร
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดกรดต่อเนื่อง
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่ม Proton pump inhibitor ต่อเนื่อง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวใน ’หัวข้อ อาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นใน2-3สัปดาห์หลังการดูแลตนเอง หรืออาการเลวลงตลอดเวลา หรืออาการแย่ตั้งแต่แรก ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยภาวะไร้กรดเกลืออย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะไร้กรดได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ อายุ
  • การตรวจร่างกาย
  • ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • การตรวจกระเพาะอาหารด้วยเทคนิคที่ซับซ้อน เพื่อการตรวจหา ค่า pH/ค่าความเป็นกรดด่างของกระเพาะอาหาร, การตรวจหาค่าเอนไซม์ต่างๆของกระเพาะอาหาร เช่น
    • การกลืนเครื่องตรวจที่มีลักษณะเป็นแคปซูล
    • การใส่สายเครื่องมือผ่านทางปากเพื่อเก็บน้ำย่อยอาหารจากกระเพาะอาหาร

อนึ่ง ค่า pHของน้ำย่อยอาหารจากกระเพาะอาหาร

  • เมื่อค่าต่ำกว่า 3 แปลผลว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ค่า 3-5 แปลผลว่า เป็นภาวะพร่องกรดเกลือ(Hypochlohtdria)
  • ค่ามากกว่า 5 แปลผลว่า เป็นภาวะไร้กรดเกลือ(Achlorhydria)

รักษาภาวะไร้กรดเกลืออย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะไร้กรด ได้แก่

ก. การรักษาโรค/ภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยง: ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่ละสาเหตุของภาวะนี้ (แนะนำอ่านรายละเอียดของแต่ละโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้จาก เว็บ haamor.com) เช่น การรักษา

  • โรคออโตอิมมูน
  • โรคติดเชื้อเอชไพโลไร

ข. การให้ยาต่างๆเพื่อช่วยการย่อยของกระเพาะอาหาร: เช่น

  • ยาที่ช่วยเพิ่มกรดเกลือ เช่นยา Betaine hydrochloride
  • ยาที่เป็นเอนไซม์ช่วยการย่อยอาหาร(Digestive enzyme) เช่นยา Pepsin powder

ค.การให้อาหารเสริมด้วย วิตามิน เกลือแร่ ชนิดที่กรดเกลือมีส่วนช่วยในการดูดซึมจากอาหาร เช่น

  • ยากลุ่มแคลเซียม เช่นยา แคลเซียมคาร์โบเนต, แคลเซียมกลูโคเนต, แคลเซียมซิเตรท
  • ธาตุเหล็ก/ ยาบำรุงเลือด เช่นยา Ferrous sulfate, Ferro-B-Cal, Ferrous fumarate
  • วิตามินบีรวม
  • วิตามินบี12
  • วิตามินซี
  • วิตามินรวม

ง. การรักษาตามอาการ: ซึ่งขึ้นกับอาการของแต่ละผู้ป่วย เช่น

  • ยาแก้ปวดท้อง
  • ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
  • ยาแก้ท้องเสีย
  • ยาแก้ท้องผูก

ภาวะไร้กรดเกลือมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ภาวะไร้กรดเกลือ ทั่วไปเป็นโรค/ภาวะที่แพทย์รักษาควบคุมอาการโรคได้ดี แต่ทั้งนี้ยังขึ้นกับสาเหตุด้วย เช่น ถ้าสาเหตุจากอายุ ความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรคจะดีกว่ากรณีสาเหตุจากโรคออโตอิมมูน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีรายงานที่พบได้น้อยที่โรคนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิด มะเร็งกระเพาะอาหารได้

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะไร้กรด ทั่วไป เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่รวมถึง วิตามิน แร่ธาตุ ที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร หรืออย่างน้อยในทุกๆวัน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลงทั้งๆที่ดูแลตนเอง/กินยา/ใช้ยาตามแพทย์สั่งถูกต้องแล้ว
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น คลื่นไส้-อาเจียนมากต่อเนื่อง ท้องผูกหรือท้องเสียต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

ป้องกันภาวะไร้กรดเกลืออย่างไร?

การป้องกันภาวะไร้กรด เมื่อดูจากสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงแล้ว ไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อย แต่การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ก็น่าจะช่วยชะลอ/ลดโอกาสเกิดโรค/ภาวะนี้ลงได้ โดยเฉพาะ

  • การกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน และ
  • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)ซึ่งช่วยให้สุขภาพแข็งแรง และช่วยลดโอกาสเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Achlorhydria [2020,Jan25]
  2. https://emedicine.medscape.com/article/170066-overview#showall [2020,Jan25]
  3. https://www.healthline.com/health/hypochlorhydria#outlook [2020,Jan25]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK507793/ [2020,Jan25]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Gastric_acid [2020,Jan25]