ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ (Normal Pressure Hydrocephalus)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 18 มิถุนายน 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติคืออะไร?
- ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติมีกลไกการเกิดอย่างไร?
- ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติมีสาเหตุจากอะไร?
- ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติพบบ่อยไหม?ใครมีโอกาสเกิดบ้าง?
- ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติมีอาการอย่างไร?
- แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติได้อย่างไร?
- การรักษาภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติควรทำอย่างไร?
- การผ่าตัดวางสายระบาย CSF จากโพรงน้ำในสมองลงมาในช่องท้องมีอันตรายหรือไม่?
- ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติรักษาหายหรือไม่? ทำให้เกิดอัมพาตได้ไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติได้ไหม?
- สรุป
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- ผู้สูงอายุ (Older person)
- สมองเสื่อม (Dementia)
- เซ อาการเซ:ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ (Ataxia)
- การเจาะน้ำไขสันหลัง การเจาะหลัง (Lumbar puncture)
- สมองฝ่อ (Cerebral Atrophy)
บทนำ
เราคงเคยเห็นผู้สูงอายุเดินเซ ความจำไม่ดีและมีปัสสาวะราดในบางครั้ง ซึ่งเราคิดว่าลักษณะดังกล่าวคือ ผู้สูงอายุปกติ ไม่ได้เป็นโรคอะไร ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ถ้าท่านคิดแบบนี้ ท่านคิดผิดครับ และอาจจะเสียใจถ้าผู้สูงอายุคือญาติของเรา และตรวจพบภายหลังว่า เป็นภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ (Normal pressure hydrocephalus หรือ บางท่านเรียกย่อว่า ภาวะ/โรค NPH) ลองติดตามครับว่าภาวะนี้คืออะไร มีอาการอย่างไร และจะให้การรักษาอย่างไร
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติคืออะไร?
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ คือ ภาวะที่มีความผิดปกติจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือ การตรวจแม่เหล็กไฟฟ้า(เอมอาร์ไอ)สมองพบว่ามีการคั่งของน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลังและสมองร่วมกับอาการผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ สมองเสื่อม เดินเซ และปัสสาวะราด (หรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้)
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติมีกลไกการเกิดอย่างไร?
ภาวะนี้เกิดจาก การดูดซึมของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid : CSF)กลับเข้าสู่หลอดเลือดดำสมองไม่สะดวก จึงเกิดการคั่งของ CSF ในโพรงสมอง (Ventricle) ส่งผลให้โพรงสมองโตขึ้น โดยค่อยๆมีการขยายตัวโตขึ้นช้าๆ และส่งผลต่อเนื้อเยื่อสมอง จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นในบทนำ แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยถึงแม้จะมีการคั่งของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง แต่ความดันในโพรงสมองก็ยังเป็นปกติ ไม่มีการเพิ่มขึ้นของความดันแต่อย่างไร จึงเป็นที่มาของชื่อภาวะนี้ คือ “ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ”
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของภาวะนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
- กลุ่มที่หาสาเหตุไม่พบ คือ มีการดูดซึม CSF กลับเข้าหลอดเลือดดำลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- กลุ่มที่หาสาเหตุพบ เช่น
- มีภาวะเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นที่เรียกว่า อะแรชนอยด์ (Arachnoid) ที่เรียกภาวะเลือดออกนี้ว่า Subarachnoid hemorrhage
- ภาวะติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง/เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
- อุบัติเหตุต่อสมอง (Traumatic brain injury) เช่น ศีรษะถูกกระแทกอย่างแรงจากถูกรถชน หรือ ล้ม หรือ ตกจากที่สูง
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติพบบ่อยไหม?ใครมีโอกาสเกิดบ้าง?
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกตินี้ พบบ่อยในผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป พบได้ใกล้เคียงกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อย่างไรก็ตาม เป็นภาวะพบได้ไม่บ่อยนัก ประมาณ 1-5 คน ต่อประชากร 100,000 คน และพบเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมประมาณร้อยละ 9-14 (9-14%)
ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลว่า ภาวะนี้ มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกจาก อายุ และโรค ดังที่ได้กล่าวข้างต้นในหัวข้อ สาเหตุ
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกตินี้มีอาการอย่างไร?
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกตินี้พบบ่อยในผู้สูงอายุ อาการประกอบด้วย
- สมองเสื่อม ซึ่งจะมีอาการเด่นด้านการเคลื่อนไหวผิดปกติ ความสนใจและสมาธิไม่ดี สูญเสียด้านความจำระยะสั้น โดยอาการเหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี
- เดินเซ ผู้ป่วยอาจมีอาการ มึนงง/วิงเวียน เดินลำบาก/เดินขัด เริ่มต้นอาจเดินลำบากเวลาขึ้นบันได และ/หรือ เดินขึ้นลงทางลาดชัน และ/หรือ เมื่อลุกขึ้นยืนแล้วจะเดินลำบาก และต่อๆมาจึงเดินเซ เดินต้องกางขากว้างเพื่อช่วยพยุงตัว
- ปัสสาวะราด โดยเริ่มต้น จะมีอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นไม่ได้ และปัสสาวะราดในที่สุด
แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติได้อย่างไร?
แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะนี้ได้ โดยจะพิจารณาจาก
- อาการผิดปกติข้างต้นในหัวข้อ ‘อาการฯ’
- ร่วมกับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือ แม่เหล็กไฟฟ้า (เอมอาร์ไอ)สมอง ที่จะตรวจพบว่า มีการขยายตัวใหญ่ขึ้นของโพรงสมองโดยไม่พบว่ามีการเหี่ยวของสมอง (ภาวะสมองฝ่อ)
- ต่อจากนั้น แพทย์จะเจาะระบาย CSF ออกมา/การเจาะหลัง/ การเจาะน้ำไขสันหลัง จำนวนประมาณ 30 ซีซี (cc. หรือ Cubic centimeter) และประเมินอาการผู้ป่วยหลังการเจาะหลังโดยเฉพาะการเดินว่าดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งถ้าดีขึ้น ก็ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยภาวะนี้
การรักษาภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติควรทำอย่างไร?
การรักษาภาวะนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ
- การรับประทานยาลดการสร้าง CSF (เช่น ยา Carbonic anhydrase inhibitors) ซึ่งผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่รุนแรง หลังจากเจาะระบาย CSF ออกมาแล้ว อาการดีขึ้น การให้รับประทานยาลดการสร้าง CSF ก็มักมีอาการดีขึ้น
- การผ่าตัดวางสาย/ท่อระบาย CSF จากโพรงน้ำในสมองลงมาสู่ในช่องท้อง ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดวางสายระบายน้ำ คือ
- กรณีไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
- หรือต้องเจาะระบาย CSF ซ้ำบ่อยๆ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การเจาะน้ำไขสันหลัง)
- หรือกรณีผู้ป่วยมีอาการรุนแรงตั้งแต่ต้น
การผ่าตัดวางสายระบาย CSFจากโพรงน้ำในสมองลงมาในช่องท้องมีอันตรายหรือไม่?
การผ่าตัดดังกล่าว ค่อนข้างปลอดภัย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น เลือดออกในโพรงสมอง พบน้อยมาก และ/หรือการติดเชื้อในโพรงสมองก็พบน้อยมากเช่นเดียวกัน
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติรักษาหายหรือไม่? ทำให้เกิดอัมพาตได้ไหม?
การรักษาภาวะนี้ได้ผลดี/มีการพยากรณ์โรคที่ดี ร้อยละ 70-90 (70-90%) โดยเฉพาะการผ่าตัดวางสาย/ท่อระบาย CSF จากโพรงน้ำในสมองลงในช่องท้อง ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆทีค่อยๆดีขึ้นอย่างช้าๆ รวมทั้งอาการสมองเสื่อมก็จะดีขึ้นมากอย่างช้าๆเช่นกัน
แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า ก็จะส่งผลให้ภาวะนี้เป็นมากขึ้น จนผู้ป่วยเดินไม่ได้ สมองเสื่อมรุนแรง และต้องนอนติดเตียง จึงอาจเหมือนสภาพอัมพาตได้ ซึ่งภาวะสมองเสื่อมรุนแรง เดินไม่ได้ ปัสสาวะราด จะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุเสียชีวิตได้
ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ คือ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาลที่ให้การรักษา
- กินยาที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ถูกต้อง
- ระวังการล้ม และอุบัติเหตุต่างๆ
- ฝึกการปัสสาวะให้เป็นเวลา
- การฝึกสมอง(ออกกำลังสมอง) เพื่อเป็นการป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของสมอง
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดน้ำหนักตัวเกิน หรือ โรคอ้วน และปัจจุบัน ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ว่า ต้องห้ามทานอาหารชนิดใด
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น เดินเซมากขึ้น
- มีอาการผิดปกติที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปวดศีรษะเรื้องรัง
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติได้ไหม?
ภาวะนี้ ป้องกันได้โดย
- การสังเกตอาการผิดปกติในผู้สูงอายุ ถ้าพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อย ควรรีบพามาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจประเมิน เพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนเกิดภาวะสมองเสื่อมอย่างรุนแรง
- นอกจากนั้น คือ ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่ป้องกันได้ เช่น
- การสวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์
- การใช้เข็มขัดนิรภัยเมื่อใช้รถ
- การไม่ดื่มสุราเมื่อจะต้องขับรถ และการง่วงไม่ขับ เป็นต้น
สรุป
จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคสมองเสื่อม หรือ เดินเซ ควรรีบพบแพทย์เพื่อประเมินว่าเกิดจากภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ หรือไม่เพราะเป็นโรคที่รักษาได้ผลดี และมีโอกาสหายสูง จงช่วยกันสังเกต ผู้สูงอายุในบ้าน ว่า มีอาการผิดปกติหรือไม่ อย่างไร ถ้าพบหรือสงสัยอย่ารอช้า รีบพามาพบแพทย์ทันที