ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 3 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- ตาย: ความตาย (Death)
- เมทิลีน บลู (Methylene blue)
- ยาต้านมาลาเรีย (Antimalarial medications)
ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด(Methemoglobinemia) จัดอยู่ในกลุ่มโรคเลือด โดยเกิดจากร่างกาย/เลือดมีปริมาณฮีโมโกลบินชนิดผิดปกติที่ไม่สามารถจับออกซิเจนได้ ที่เรียกว่า “เมทฮีโมโกลบิน(Methhemoglobin)”ในปริมาณสูงเกินปกติ จนส่งผลให้เม็ดเลือดแดง(ที่อยู่ของฮีโมโกลบิน)ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ส่งผลให้เซลล์/อวัยวะทั่วร่างกายขาดออกซิเจนที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวน การใช้พลังงาน/สันดาปเพื่อการดำรงค์ชีวิตของทุกเซลล์ จนอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงเสียชีวิตได้
“เมทฮีโมโกลบิน(Methhemoglobin)” คือ ฮีโมโกลบินชนิดผิดปกติ ที่ไม่สามารถจับออกซิเจนได้ จึงส่งผลให้เม็ดเลือดแดงนั้น ไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงเพื่อการ ทำงาน/การใช้พลังงานของเซลล์/อวัยวะทุกเซลล์/อวัยวะ จึงส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจนจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ทั้งนี้ฮีโมโกลบินปกติ จะมีธาตุเหล็กชนิดจับออกซิเจน คือ Ferrous(Fe2+) แต่ถ้าเป็นเมทฮีโมโกลบินจะมีธาตุเหล็กเป็นชนิด Ferric(Fe3+)ที่ไม่จับออกซิเจน โดย คนปกติทั่วไป จะพบมีเมทฮีโมโกลบินในเลือดได้ประมาณ 1-2%ของฮีโมโกลบินทั้งหมดในร่างกาย
ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด เป็นภาวะที่พบได้น้อยมากทั่วโลก รวมถึงมีสาเหตุเกิดได้หลากหลายสาเหตุ จึงยังไม่มีสถิติการเกิดที่แน่นอนเพราะจะต่างกันในแต่ละโรงพยาบาล/แต่ละประเทศ
สาเหตุ: สาเหตุหลัก มี 2 กลุ่ม คือ
ก. สาเหตุแต่กำเนิดที่เกิดจากมีพันธุกรรมผิดปกติที่ทำให้ร่างกายสร้างเมทฮีโมลโกลบินสูงกว่าปกติ เรียกว่า “Congenital methhemoglobinemia” ที่ผู้ป่วยจะมีอาการขาดออกซิเจนตั้งแต่ในครรภ์/แรกเกิด ซึ่งพบพันธุกรรมผิดปกตินี้ได้ในบางเชื้อชาติ เช่น ชาวไซบีเรีย และ
ข. สาเหตุอีกกลุ่ม คือ จากสาเหตุอื่นๆที่ไม่ใช่พันธุกรรม แต่เกิดภายหลังจากที่ร่างกายได้รับสารเคมีบางชนิด (เช่นแก๊สพิษ สารกันบูดบางชนิด เช่น กลุ่มที่มีสาร Nitrites , Nitrates สูง), สารในพืชพิษบางชนิด (เช่น เห็ดมีพิษ รากพืชชนิดที่เป็นหัวบางชนิด), หรือจากยาบางชนิด(เช่นยา Paramycin, Benzocaine, Dapsone, ยาต้านมาลาเรียบางตัว), ที่เป็นเหตุให้ร่างกายสร้างเมทฮีโมโกลบินสูงมากขึ้นกว่าปกติ เรียกสาเหตุนี้ว่า “สาเหตุที่ได้มาในภายหลัง (Acquired methhemoglobin)” ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของ “ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด”
อาการ: ที่พบในผู้ป่วยทุกรายคือ ภาวะตัวเขียวคล้ำ และอาการอื่นๆที่เกิดร่วมกันที่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ เช่น ปวดศีรษะ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียน เหนื่อยหอบ คลื่นไส้อาเจียน สับสน ซึม ชัก เป็นลม โคม่า
การวินิจฉัย: แพทย์วินิจฉัยภาวะนี้ได้จาก อาการผู้ป่วย ประวัติการใช้ยาต่างๆ การใช้สารเคมี พืชที่รับประทาน ประวัติครอบครัว การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด CBC การตรวจเลือดดูค่าออกซิเจน(Blood gas analysis) การตรวจโครโมโซมกรณีสงสัยสาเหตุจากพันธุกรรม
การรักษา: การรักษาคือ การให้ยาที่ลดการสร้างเมทฮีโมลโกลบินทางหลอดเลือดดำ เช่นยา Methylene blue การให้เลือด และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ออกซิเจน การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
การพยากรณ์โรค: ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ สาเหตุ ความรุนแรงของอาการ และการรักษาที่ทันท่วงที ดังนั้นการพยากรณ์โรคจึงมีได้ตั้งแต่ อาการหายกลับเป็นปกติ ไปจนถึง เสียชีวิต
การป้องกัน: ถ้าเป็นสาเหตุทางพันธุกรรม ก็ป้องกันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่พันธุกรรม/สาเหตุที่ได้มาในภายหลัง การป้องกัน คือ
- ไม่ใช้ยาต่างๆพร่ำเพื่อ
- ระมัดระวังในการใช้สารเคมีต่างๆ
- ระวังอาหารที่ใส่สารกันบูด
- ไม่บริโภคพืชที่ไม่รู้จัก โดยเฉพาะพืชที่เป็นหัวจากรากพืช
บรรณานุกรม
- https://medlineplus.gov/ency/article/000562.html [2018,Jan13]
- https://emedicine.medscape.com/article/204178-overview#showall [2018,Jan13]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Methemoglobin [2018,Jan13]