ภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะองคชาตแข็งค้าง หรือภาวะอวัยวะเพศชายแข็งค้าง(Priapism)คือภาวะผิดปกติที่เกิดกับองคชาต โดยองคชาตจะมีลักษณะแข็ง เกร็ง ค้าง ขึ้นมาเองโดยไม่ได้มีการกระตุ้นทางเพศ เกิดขึ้นนอกเหนือการควบคุมของร่างกาย เกิดโดยไม่ได้ตั้งใจให้เกิด และจะแข็งค้างอยู่ได้นานตั้งแต่ 4 ชั่วโมงขึ้นไป(บางท่านเป็นส่วนน้อย นิยามว่า เกิดนานตั้งแต่ 6ชั่วโมงขึ้นไป) และผู้ป่วยมักไม่สามารถแก้ไขภาวะนี้ให้กลับปกติได้ด้วยตนเอง

องคชาติแข็งค้างพบได้ทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้บ่อยกว่าใน2ช่วงอายุคือ ในเด็กมักพบในช่วงอายุ 5-10ปี ในผู้ใหญ่มักพบในช่วงอายุ 20-50ปี ทั้งนี้ทั่วโลกในแต่ละปี พบภาวะนี้ในชายเฉลี่ยทุกอายุได้ 1.5รายต่อประชากรชาย1แสนคน แต่พบได้สูงขึ้นในชายอายุมากกว่า40ปีขึ้นไป คือ 2.9รายต่อประชากรชาย1แสนคน ทั้งนี้ไม่พบชัดเจนว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติ แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญปัจจัยหนึ่งของโรคนี้คือ ผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบมากในคนอเมริกันผิวดำ

อนึ่ง:

  • ในชายวัยเจริญพันธ์ทั่วไป การแข็งตัวขององคชาต เกิดจากการกระตุ้นทางเพศที่ส่งผลให้หลอดเลือดดำในเนื้อเยื่อส่วนด้านบนขององคชาตขยายตัว ส่งผลต่อเนื่องให้มีปริมาณเลือดจำนวนมากหลั่งเข้าสู่หลอดเลือดฯเหล่านี้ ส่งผลต่อเนื่องให้องคชาตแข็งตัว และเมื่อตัวกระตุ้นหมดไป หลอดเลือดฯดังกล่าวจะหดตัวกลับเป็นปกติ ส่งผลให้เกิดการบีบตัวไล่เลือดดำที่ค้างอยู่ในองคชาตให้ไหลเข้าสู่หลอดเลือดดำที่ผิวรอบนอกขององคชาต ไหลกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่ขององคชาต เข้าสู่หลอดเลือดดำในอุ้งเชิงกราน ในช่องท้อง และจะเข้าสู่หัวใจในที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้องคชาตหดยุบตัวลงเป็นปกติ ซึ่งการไหลเวียนเลือดในลักษณะนี้ เป็นวงจรการไหลเวียนปกติของเลือดขององคชาต
  • Priapism มาจากชื่อของเทพเจ้ากรีก Priapus ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการเจริญพันธ์
  • ในผู้หญิง สามารถพบปุ่มกระสัน(Clitoris, องคชาตในเพศหญิง, อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อวัยวะเพศภายนอกสตรี)แข็งค้าง ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยมากๆ มักเป็นการรายงานผู้ป่วยเป็นครั้งคราว ซึ่งแพทย์เชื่อว่ามีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกับภาวะองคชาตแข็งค้างในเพศชาย โดยสาเหตุที่พบบ่อยคือผลข้างเคียงจากยาในกลุ่มยาต้านเศร้า และการรักษาจะมีวิธีการเช่นเดียวกับในภาวะองคชาตแข็งค้างในเพศชาย ซึ่งแพทย์มักเลือกใช้การรักษาทางยาเป็นลำดับแรก

องคชาตแข็งค้างมีกี่ชนิดและเกิดได้อย่างไร?

ภาวะองคชาตแข็งค้าง

ภาวะองคชาติแข็งค้างแบ่งได้เป็น3ชนิด/กลุ่ม/แบบ ตามลักษณะการเกิด คือ ชนิดขาดเลือด(Ischemic priapism หรือ Low flow priapism หรือ Veno-occlusive priapism), ชนิดไม่ขาดเลือด(Nonischemic priapism หรือ High flow priapism หรือ Aterial priapism), และชนิดขาดเลือดย้อนกลับเป็นซ้ำ(Recurrent ischemic priapism ย่อว่า RIP หรือ Recurrent priapism หรือ Stuttering priapism)

ก. ชนิดขาดเลือด: เป็นชนิดพบบ่อยที่สุด ประมาณ95%ของผู้ป่วยองคชาตแข็งค้างทั้งหมด เกิดจากหลอดเลือดดำในเนื่อเยื่อส่วนด้านบนขององคชาติเกิดการคลายตัวต่อเนื่องและไม่สามารถหดตัวกลับเป็นปกติได้ ส่งผลให้เกิดเลือดขังค้างอยู่ในหลอดเลือดฯองคชาตต่อเนื่อง ไม่สามารถไหลเวียนกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ จึงก่อให้เกิดเป็นภาวะองคชาตแข็งค้าง/แข็งเกร็งขึ้น

เนื่องจาก เลือดที่ค้างอยู่นี้เป็นเลือดดำ และไม่มีการไหลเวียนเลือดได้ตามปกติ เลือดจึงขาดออกซิเจน ส่งผลให้เนื้อเยื่อองคชาตขาดเลือด ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการเจ็บ/ปวดองคชาตอย่างมาก และถ้าการแข็งค้างนานตั้งแต่4ชั่วโมงขึ้นไป เนื่อเยื่อองคชาตจะเริ่มตาย ส่งผลให้ร่างกายตอบสนองโดยเกิดเป็นพังผืด ยิ่งแข็งค้างนานเกิน24ชั่วโมง โอกาสเกิดเซลล์เนื้อเยื่อตายและองคชาตกลายเป็นพังผืดถาวรจะยิ่งสูงขึ้น ที่จะนำไปสู่ภาวะนกเขาไม่ขันและการหย่อนสมัครภาพทางเพศได้สูงถึง90% ซึ่งองคชาตแข็งค้างชนิดนี้ ผู้ป่วยจะเจ็บ/ปวดองคชาตมาก และถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบด่วนมาโรงพยาบาล

ข. ชนิดไม่ขาดเลือด: เป็นชนิดพบได้น้อย พบได้ประมาณ5% โดยเกิดจากมีการ ฉีกขาดของหลอดเลือดแดงในเนื้อเยื่อองคชาต เช่น มีหลอดเลือดแดงในองคชาตโป่งพองแล้วเกิดแตก/รั่ว มีการบาดเจ็บขององคชาติหรือที่ฝีเย็บ เช่น การขี่จักรยาน การถูกกระแทก หรือการถูกเข็มเจาะหรือการผ่าตัดต่างๆที่องคชาต องคชาตแข็งค้างชนิดนี้ เป็นการคั่งของเลือดแดงที่ไหลออกจากหลอดเลือดแดง ไม่ได้เกิดจากการไหลเวียนของระบบเลือดขององคชาต จึงไม่ส่งผลให้เนื้อเยื่อองคชาตขาดเลือด ไม่ก่อให้เกิดพังผืด เป็นชนิดไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน ลักษณะองคชาตแข็งค้างชนิดนี้ องคชาตจะตั้งชู แต่จะไม่แข็งทื่อ/ไม่แข็งเกร็ง จึงมักไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดองคชาติ

ค. ชนิดขาดเลือดย้อนกลับเป็นซ้ำ/ย้อนกลับมีอาการโรคซ้ำ: เป็นชนิดพบได้น้อย มักพบในผู้มีประวัติพันธุกรรมเป็นโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว โดยเกิดจากตะกอนของเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกตินี้ปิดกั้นหลอดเลือดดำในเนื้อเยื่อองคชาต ส่งผลให้เกิดเลือดดำคั่งในองคชาติจนก่อให้เกิดอาการ’องคชาตแข็งค้างชนิดขาดเลือด’แต่เป็นอาการที่รุนแรงน้อยกว่า คือ เจ็บ/ปวดน้อยกว่า และระยะเวลาแข็งค้างสั้นกว่า มักนานไม่เกิน3 ชั่วโมง มักเกิดในช่วงนอนหลับกลางคืน และมักเกิดนำก่อนเกิดอาการชนิดขาดเลือดที่รุนแรง ซึ่งประมาณ 30%ของผู้ป่วยอาการนี้ อาการจะเดินหน้าต่อไป(Progression)เป็น’องคชาตแข็งค้างชนิดขาดเลือดที่แท้จริง/ชนิดรุนแรง’ และยังพบว่า70%ของผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวที่เกิดองคชาตแข็งค้างชนิดขาดเลือดแท้จริง จะเคยมีอาการชนิดเกิดเป็นซ้ำๆนี้นำมาก่อน อาจนำมาก่อนได้หลายครั้ง และถึงแม้ชนิดกลับเป็นซ้ำนี้จะมีอาการอยู่นานน้อยกว่า 3ชั่วโมง แต่ก็ส่งผลให้เกิดพังผืดในเนื้อเยื่อองคชาตได้ อันนำไปสู่ภาวะนกเขาไม่ขัน/หย่อนสมัครถภาพทางเพศได้ 29%-48%

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดองคชาตแข็งค้าง?

ทั่วไปสาเหตุเกิดภาวะองคชาตแข็งค้างชนิดไม่ขาดเลือด คือ การบาดเจ็บขององคชาติดังกล่าวในหัวข้อ”ชนิดขององคชาตแข็งค้างฯ”

แต่สาเหตุของการเกิดองคชาตแข็งค้างชนิดขาดเลือดและชนิดเกิดเป็นซ้ำ แพทย์ยังไม่ทราบชัดเจน แต่ทราบปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดองคชาตแข็งค้างชนิดขาดเลือดและชนิดเกิดเป็นซ้ำ ได้แก่

  • โรคเลือดและมะเร็งโรคเลือด/มะเร็งระบบโลหิตวิทยา: เพราะจะส่งผลให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้สูง ที่จะก่อให้เกิดตะกอนของเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำของเนื้อเยื่อองคชาติ ที่พบได้บ่อย คือ โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว ส่วนโรคที่พบได้ประปราย เช่น โรคธาลัสซีเมีย ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: โดยเป็นยาที่ส่งผลถึงการหดและขยายตัวของหลอดเลือดในเนื้อเยื่อองคชาติ เช่น ยาที่มีผลต่อสารสื่อประสาทต่างๆ เช่น ยาต้านเศร้า, ยาลดความดันโลหิต, ยาเพิ่มความดันโลหิต, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ยาฮอร์โมน(เช่น Testosterone, Gonadotropin-releasing hormone), ยาระงับความรู้สึก(Anesthesias หรือ Anesthetic drug) ทั้งยาชาเฉพาะที่ เช่น การให้ยาทางน้ำไขสันหลัง หรือ ยาสลบ
  • ยาเสพติดต่างๆ: เช่น ยากระตุ้นความบันเทิง ทั้งนี้ที่รวมถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ /สุรา และโคเคน
  • พิษจากสัตว์กัด ต่อย: เช่น พิษแมงป่อง พิษแมงมุม
  • โรคบางชนิด: เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้จับสั่น โรคเกาต์ โรคซิฟิลิส
  • โรคระบบประสาท: เช่น อุบัติเหตุต่อไขสันหลัง โรคปวดหลังจากหมอนรองกระดูกสันหลัง โรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคทางจิตเวช: เช่น โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ ความเครียด โรคแพนิค
  • โรคมะเร็ง: เช่น โรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยา มะเร็งระบบอวัยวะเพศชาย(เช่น มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งต่อมลูกหมาก) มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ(เช่น มะเร็งไต มะเร็งท่อปัสสาวะ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ) เนื้องอก/มะเร็งสมอง
  • ส่วนน้อยที่แพทย์หาสาเหตุไม่พบ

องคชาตแข็งค้างมีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะองคชาตแข็งค้างได้แก่

ก. ชนิดขาดเลือด: อาการพบบ่อย ได้แก่

  • องคชาตแข็งค้าง แข็งเกร็ง โดยไม่ได้มีตัวกระตุ้น/ไม่ตั้งใจ และแข็งค้างนานตั้งแต่ 4ชั่วโมงขึ้นไป
  • อาการแข็งค้างเกิดพร้อมกับอาการเจ็บปวดองคชาตมาก
  • องคชาตแข็งค้างตลอดทั้งความยาวขององคชาตยกเว้นส่วนหัวขององคชาต(Glans penis)
  • อาจมีอาการองคชาตแข็งค้างแบบเกิดซ้ำๆนำมาก่อน

ข. ชนิดไม่ขาดเลือด:

  • มีองคชาตแข็งค้างนานตั้งแต่4ชั่วโมงขึ้นไป แต่องคชาติจะไม่แข็งเกร็ง ไม่เจ็บปวด

ค. ชนิดกลับเป็นซ้ำ:

  • องคชาตแข็งค้างโดยไม่ได้มีตัวกระตุ้น/ไม่ตั้งใจ ร่วมกับมีอาการเจ็บ/ปวดองคชาติ แต่การแข็งค้างมักไม่นานถึง 4 ชั่วโมง และมักมีอาการเกิดเป็นซ้ำ

อนึ่ง อ่านเรื่อง ‘อาการ’ ขององคชาตแข็งค้างเพิ่มเติมในหัวข้อ “ชนิดขององคชาตแข็งค้างฯ”

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้ออาการ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอโดยเฉพาะถ้ามีอาการปวด/เจ็บองคชาตร่วมด้วย ที่ต้องรีบมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันทีเพราะผลการรักษาจะขึ้นกับระยะเวลาที่มาพบแพทย์ หากมาล่าช้า อาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิดภาวะนกเขาไม่ขัน/หมดสมรรถภาพทางเพศถาวร

แพทย์วินิจฉัยองคชาตแข็งค้างได้อย่างไร?

ทั่วไปแพทย์วินิจฉัยภาวะองคชาตแข็งค้างได้จากลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วย ได้แก่ ประวัติอาการ ประวัติการใช้ยาต่างๆ ประวัติโรคประจำตัว การตรวจสัญญาณชีพ การตรวจร่างกาย และกายตรวจอวัยวะเพศผู้ป่วย และมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ เช่น การตรวจเลือดCBC การตรวจปัสสาวะหาสารพิษ/ปริมาณยาต่างๆที่แพทย์สงสัยเป็นสาเหตุ การดูดเลือดจากองคชาตส่วนที่แข็งตัวเพื่อหาปริมาณออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่เรียกว่า การตรวจBlood gas ร่วมกับหาค่าความเป็นกรด-ด่าง(pH)ที่ องคชาตชนิดขาดเลือดจะมีค่าคาร์บอนไดออกไซด์สูง ค่าออกซิเจนต่ำ และมีภาวะเลือดเป็นกรด การตรวจภาพอวัยวะเพศฯด้วยอัลตาซาวด์ เทคนิคเฉพาะ เพื่อดูการไหลเวียนของเลือดในองคชาต การตรวจเลือดเพื่อการวินิจฉัยโรคต่างๆที่แพทย์สงสัยเป็นสาเหตุ เช่น ตรวจหาระดับชนิดของฮีโมโกลบินเพื่อวินิจฉัยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว หาระดับน้ำตาลในเลือด หาสารพิษต่างๆ ตรวจไขกระดูกกรณีสงสัยสาเหตุจากโรคเลือด รวมถึงตรวจหาระดับยาต่างๆที่ผู้ป่วยบริโภค เป็นต้น

รักษาองคชาตแข็งค้างอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะองคชาตแข็งค้าง ได้แก่

ก. ชนิดขาดเลือด:

  • การประคบเย็นที่องคชาต
  • การดูดเลือดที่คั่งออกจากเนื้อเยื่อองคชาต
  • การใช้ยาบางชนิดฉีดเข้าในเนื้อเยื่อองคชาตส่วนที่แข็งตัวเพื่อให้เกิดการไหลเวียนเลือด เช่นยา Phenylephrine, Ephedrine, Epinephrine, Norepinephrine, Methylene blue โดยการเลือกใช้ยาตัวใดจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
  • การผ่าตัดทางศัยกรรม ซึ่งจะใช้ในกรณีที่การรักษาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล เช่น การทำทางระบายเลือดออกจากองคชาต(Cavernoglanular shunt) เป็นต้น และถ้าการผ่าตัดวิธีนี้ไม่ได้ผล แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการทำการผ่าตัดใส่แกนองคชาต เทียม(Penile Prosthesis)
  • การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • นอกจากนี้มีรายงานประปราย ในการฉายรังสีรักษาปริมาณต่ำที่องคชาตกรณีการรักษาต่างๆดังกล่าวข้างต้นล้มเหลว หรือผู้ป่วยผ่าตัดไม่ได้ หรือปฏิเสธผ่าตัด

ข. ชนิดไม่ขาดเลือด: การรักษาคือ การประคบเย็น และร่วมกับการรักษาสาเหตุ เช่น กรณีเกิดจากการบาดเจ็บโดยการถูกกระแทกที่องคชาต การรักษาจะเป็นการเฝ้าสังเกตอาการ เพราะทั่วไปประมาณ2/3ของผู้ป่วยภาวะนี้อาการมักดีขึ้นเอง หรือ การรักษาด้วยเทคนิครังสีร่วมรักษาเพื่อการใส่สารอุดตันเข้าหลอดเลือดกรณีสาเหตุมาจากมีรอยรั่วที่หลอดเลือดขององคชาต เป็นต้น

ค. ชนิดกลับเป็นซ้ำ: การรักษาจะเช่นเดียวกับในการรักษาชนิดขาดเลือด ร่วมกับการรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น การรักษาโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อมีภาวะองคชาตแข็งค้างและได้รับการรักษาแล้ว การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ อย่างเคร่งครัด
  • ป้องกัน ควบคุม รักษา โรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ดังได้กล่าวในหัวข้อ”สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ” ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • ใช้ยาต่างๆตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อมีภาวะองคชาตแข็งค้างและได้พบแพทย์แล้ว ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ

  • กลับมามีอาการซ้ำอีก
  • มีอาการผิดปกติต่างๆจากโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ซีด
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับ ง่วงซึมมาก ท้องผูกหรือท้องเสียมาก วิงเวียนศีรษะมาก
  • กังวลในอาการ

ผลข้างเคียงจากองคชาตแข็งค้างเป็นอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากภาวะองคชาตแข็งค้าง คือ ภาวะนกเขาไม่ขันที่มักเกิดกรณีมาพบแพทย์ล่าช้ากว่า 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ

องคชาตแข็งค้างมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ทั่วไป การพยากรณ์โรคของภาวะองคชาตแข็งค้าง ที่สำคัญที่สุดจะขึ้นกับ ระยะเวลามาพบแพทย์ ถ้าพบแพทย์ได้เร็ว ก่อน24ชั่วโมงหลังเกิดอาการ แพทย์มักรักษาควบคุมโรคได้ และโอกาสเกิดภาวะนกเขาไม่ขันจะน้อย แต่ถ้ามาพบแพทย์ล่าช้าคือ ตั้งแต่24ชั่วโมงหลังมีอาการ โอกาสที่เนื้อเยื่อองคชาตจะเกิดพังผืดถาวรจะสูงขึ้นเป็นลำดับ จนอาจเกิดภาวะนกเขาไม่ขันถาวร

นอกจากนั้น การพยากรณ์โรคที่สำคัญ และช่วยป้องกันไม่ให้โรค/ภาวะนี้กลับเป็นซ้ำ คือ การป้องกันดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง(ดังกล่าวในหัวข้อ”สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ”)ให้ได้ดี

ป้องกันเกิดองคชาตแข็งค้างได้อย่างไร?

การป้องกันภาวะองคชาตแข็งค้างให้เต็มร้อยยังเป็นไปไม่ได้ แต่การดูแล ป้องกัน รักษาควบคุมโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง(ดังกล่าวในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ)ให้ได้ดี จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะนี้ลงไปได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องวิธีดูแลตนเอง/ป้องกันเมื่อเป็นโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะนี้ได้จากบทความเรื่องโรคเหล่านี้ในเว็บ haarmor.com เช่น โรคความดันโลหิตสูง รู้ทันเบาหวาน ความเครียด โรควิตกกังวล

บรรณานุกรม

  1. Muneer,A. et al. Trend in Urology. 2016; May/June:19-22
  2. Song,P H. and Moon K.H. Korean Journal of Urology. 2013;54: 816-823
  3. Uzoma,A. et al. Blood;125:3551-3558
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Priapism[2018,Nov17]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/437237-overview#showall[2018,Nov17]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2672283/ [2018,Nov17]
  7. https://www.uptodate.com/contents/priapism [2018,Nov17]