ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด (Vascular dementia)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 8 เมษายน 2557
- Tweet
- บทนำ
- ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดคืออะไร?
- ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดเกิดจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด?
- ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดมีอาการอย่างไร?
- เมื่อใดควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดอย่างไร?
- รักษาภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดอย่างไร?
- ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดมีอะไรบ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- ป้องกันภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดอย่างไร?
- อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm)
- สมองเสื่อม (Dementia)
- โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
บทนำ
ภาวะสมองเสื่อม เป็นภาวะผิดปกติทางสมองอย่างหนึ่ง ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากเกิดการเสื่อมของเซลล์สมอง (Neurodegenerative) ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าภาวะสมองเสื่อมก็คือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) แต่จริงๆแล้ว ภาวะสมองเสื่อมมีหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยใกล้เคียงกับโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ก็คือ “ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด (Vascular dementia)” ภาวะนี้คืออะไร ใครมีโอกาสเกิดได้บ่อย มีอาการแตก ต่างกับโรคอัลไซเมอร์อย่างไร รักษาหายหรือไม่ ต้องติดตามบทความนี้ครับ เพื่อที่ท่านและคนที่เรารักจะได้ห่างไกลจากภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด
ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดคืออะไร?
ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด คือภาวะสมองเสื่อมซึ่งมีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก) โดยเฉพาะที่เกิดในตำแหน่งของสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยว ข้องกับ ความจำ พฤติกรรม การเรียนรู้ และการตัดสินใจ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้น โดยอาจพบเฉพาะภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดอย่างเดียว หรือพบร่วมกับโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ก็ได้
ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดเกิดจากอะไร?
ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดนี้ เกิดจากสมองส่วนต่างๆ (ที่เกี่ยวข้องกับวงจรความจำ พฤติกรรม การเรียนรู้ การตัดสินใจ) เกิดการขาดเลือด เนื่องจากผู้ป่วยมีปัญหาของหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ที่รวมถึงหลอดเลือดแดงของสมองด้วย ทำให้หลอดเลือดสมองตีบง่ายขึ้น, หรือมีปัญหาการเต้นของหัวใจผิดปกติ ส่งผลให้ปริมาณการไหลเวียนของเลือดลดลง สมองจึงขาดเลือด นอกจากนี้อาจเกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือดและขนาดหลอดเลือดจากภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้
ด้วยกลไกทั้งหมดข้างต้น จะส่งผลให้สมองเกิดการขาดเลือดขึ้นเป็นจุดๆ ซึ่งเมื่อเกิดในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับวงจรความจำ ก็จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดขึ้นใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด?
ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด ได้แก่
- ผู้ที่มีโรคหัวใจ
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคอ้วน
- ไม่ออกกำลังกาย
- ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- มีประวัติโรคอัมพาตในครอบครัว
ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดมีอาการอย่างไร?
ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดมีอาการผิดปกติ ทั้งแบบค่อยๆเป็น หรือแบบเฉียบ พลันก็ได้ โดยอาการที่พบได้มีดังนี้
- ความจำลดลง โดยเฉพาะความจำในเรื่องที่เกิดใหม่ๆ แต่ความจำเรื่องราวในอดีตยังจำได้
- พฤติกรรมเปลี่ยนไป เนื่องจากจำไม่ได้ว่าพูดหรือทำอะไรไปแล้ว
- ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
- หงุดหงิดง่าย เนื่องจากจำไม่ได้ ทำกิจกรรมต่างๆได้ไม่เหมือนเดิม
- ใช้คำพูดผิดไป พูดลำบาก คิดคำพูดลำบาก
- นอนผิดเวลา กลางคืนไม่นอน นอนกลางวัน
- สับสน
- ประสาทหลอนทั้งภาพหลอนและ/หรือหูแว่ว
- สมาธิไม่ดี
- อาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว
เมื่อใดควรพบแพทย์?
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยสมองเสื่อมจะไม่ทราบว่าตนเองผิดปกติ แต่ญาติที่อยู่ด้วยจะสังเกตพบว่าผู้ป่วยผิดปกติ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยหรือญาติสังเกตพบว่า ผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น ก็ควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
แพทย์วินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดได้จาก ประวัติอาการความผิดปกติที่ได้กล่าวข้างต้นในหัวข้ออาการ ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประ สาท และการตรวจสืบค้นด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอภาพสมอง
นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสืบค้นเพื่อหาโรคร่วมอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ และภาวะขาดสารอาหารและ/หรือวิตามินเกลือแร่
รักษาภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดอย่างไร?
การรักษาภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด ประกอบด้วย 1. การใช้ยา และ 2. การไม่ใช้ยา
- การใช้ยา ได้แก่
- ใช้ยารักษาโรคหลอดเลือดสมอง
- ยารักษาโรคร่วมหรือโรคประจำตัวของผู้ป่วย
- ยาเพิ่มความจำ ที่ทำให้มีการเพิ่มสารสื่อประสาท ชนิดอะซิติลโคลีน (Acetylcholine) ในสมอง เป็นยากลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์
- ยาควบคุมอารมณ์ พฤติกรรม การนอน
- การไม่ใช้ยา โดยการแนะนำการปฏิบัติตน จากแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด ได้แก่
- การฝึกสมอง เพิ่มสมรรถภาพสมอง
- การปรับพฤติกรรม
- การจัดกิจกรรมประจำวันที่เหมาะสม
- การสร้างความเข้าใจของญาติและผู้เกี่ยวข้อง และดูแลผู้ป่วย
ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค/ผลการรักษาของภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด ขึ้นกับหลายปัจ จัย ที่สำคัญคือ ความรุนแรงของอาการ เช่น ในพฤติกรรมการพูด การเข้าใจ การสื่อสาร อาการทางระบบประสาท (เช่น การมีแขนขาอ่อนแรง) ซึ่งถ้ารุนแรง การควบคุมทั้งจากการใช้ยา และจากกายภาพบำบัดก็จะยุ่งยาก ได้ผลช้า ได้ผลไม่ดี
นอกจากนั้น ยังขึ้นกับตำแหน่งสมองและขนาดของเนื้อสมองที่เกิดการขาดเลือด ถ้าการขาดเลือดเกิดในตำแหน่งควบคุมความจำโดยตรง และ/หรือรอยโรคมีขนาดใหญ่ การพยากรณ์โรคก็ไม่ดี ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลไม่ดีต่อการรักษา ยังขึ้นกับอายุ (ยิ่งสูงอายุ ผลการรักษายิ่งไม่ดี), การมีโรคประจำตัว/โรคร่วมต่างๆอื่นๆ (ผลการรักษาไม่ดี โดยเฉพาะถ้ายิ่งควบคุมโรคร่วมนั้นๆไม่ได้)
ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดมีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะสับสน, การเป็นโรคหลอดเลือดสมองเกิดซ้ำ, การติดเชื้อจากการสำลักอาหาร, การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, แผลกดทับ, ภาวะซึมเศร้า, และ/หรือ ผลแทรกซ้อนของยาที่ใช้รักษา โดยเฉพาะยาที่ใช้ควบคุมความผิดปกติทางพฤติกรรม (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ขึ้นผื่น)
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลที่บ้านประกอบ 2 ส่วน คือ ผู้ป่วยดูแลตนเอง และญาติดูแลผู้ป่วย
- ในด้านผู้ป่วย ผู้ป่วยควรปรับตัวยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น และให้ความร่วมมือในการรักษา กับแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด รวมถึงครอบครัวและผู้ดูแล
- ในด้านญาติ ญาติและครอบครัวเอง ก็ต้องปรับตัวยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย (เป็นปัญหาระยะยาว อาจตลอดชีวิตผู้ป่วย) และต้องพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเหมาะสม และให้ความร่วมมือกับแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดเช่นกัน
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ผู้ป่วยควรพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีปัญหาแทรกซ้อน เช่น มีไข้ สับสนมากขึ้น ไม่ยอมนอน และ/หรือเมื่ออาการต่างๆเลวลง และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดอย่างไร?
ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือดนี้ ถึงแม้จะพบบ่อยในผู้สูงอายุ แต่ก็โชคดีที่สามารถป้องกันได้ โดย
- ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง (ดังที่กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง
- การทานยาตามแพทย์แนะนำ เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเมื่อมีข้อบ่งชี้ กรณีเป็น เบาหวาน, หัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ยาแอสไพริน
- การออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพสม่ำเสมอ ทุกวัน
- การควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน หรือ น้ำหนักตัวเกิน
- ไม่สูบบุหรี่
- การฝึกสมอง ตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดแนะนำ เป็นประจำและต่อเนื่อง และ
- การสังเกตตนเองและคนใกล้ชิดว่า เริ่มมีอาการดังกล่าวในหัวข้ออาการหรือไม่ และรีบพบแพทย์ตั้งแต่แรก ก็ช่วยป้องกันหรือช่วยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ก็ทำให้เราห่าง ไกลจากโรคนี้ได้