ภาวะระบายลมหายใจเกิน (Hyperventilation)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาวะระบายลมหายใจเกิน

ภาวะระบายลมหายใจเกิน หรือ ภาวะหายใจเร็วกว่าปกติ (Hyperventilation หรือ Overbreathing) หรือบางคนเรียกว่า ภาวะ/การหายใจเร็ว/หายใจเร็ว/หายใจเกิน คือ ภาวะ/อาการที่เราหายใจเร็วและหายใจลึกกว่าปกติ ทั้งนี้อัตาการหายใจปกติคือ 12-18 ครั้งต่อนาที ซึ่งการหายใจเร็วนั้นบางคนจะรู้สึกคล้ายกับการหายใจไม่ออก/หายใจขัด/หายใจลำบาก

การหายใจเร็ว/หายใจเกิน จะส่งผลให้ปอด/ร่างกายขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากปอดมากเกินปกติ ส่งผลให้คาร์บอนด์ออกไซด์ในเลือดต่ำตามไปด้วย ซึ่งภาวะมีคาร์บอนด์ออกไซด์ในเลือด/ในร่างกายต่ำจะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง(เลือดเป็นด่างสาเหตุจากการหายใจ/Respiratory alkalosis)ที่ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆตามมา

สาเหตุ: สาเหตุของหายใจเร็วแบ่งเป็น 2 กลุ่มสาเหตุ ได้แก่ จากปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ และสาเหตุจากโรคต่างๆ

ก. สาเหตุจากอารมณ์ จิตใจ(Emotional causes) ที่พบบ่อย ได้แก่ วิตกกังวลจัด เครียดจัด เรียกร้องความสนใจ ตกใจกลัวมาก(Panic)

ข. จากโรคต่างๆ(Medical causes) ที่พบบ่อย เช่น

  • เสียเลือดมาก เช่น จากอุบัติเหตุรุนแรง
  • หัวใจวาย
  • ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ
  • ปอดอักเสบ/ปอดบวม
  • โรคหืด
  • โรคปอดอุดกั้นเรื่อรัง
  • ภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน
  • โรคจากขึ้นที่สูง
  • อาการปวดรุนแรง
  • การตั้งครรภ์(จากขนาดครรภ์ดันกะบังลมจนกดการหายใจ ซึ่งจะส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์หายใจแรงและเร็วขึ้น) และ
  • อาการไม่พึงประสงค์จากยา

อาการ: อาการที่เหมือนกันในผู้ป่วยทุกรายคือ หายใจเร็วและหายใจลึกเหมือนหายใจลำบาก

นอกจากนั้น จะมีอาการที่แตกต่างกันตามสาเหตุดังกล่าวในตอนต้น (อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของแต่โรคได้ในเว็บ haamor.com เช่น โรคหืด ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด)

อย่างไรก็ตาม อาการอื่นๆที่คล้ายกันในผู้ป่วยเกือบทุกราย แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ หรือต้องมีเหมือนๆกัน เช่น

  • ปวดศีรษะ รวมถึงอาจปวดศีรษะไมเกรน
  • เหงื่อออกมาก
  • เรอและ/หรือสะอึกต่อเนื่อง
  • กล้ามเนื้อกระตุกเกร็งโดยเฉพาะของนิ้วมือ และอาจมีอาการชักได้ โดยเกิดจากภาวะเลือดเป็นด่างที่จะส่งผลให้มีแคลเซี่ยมในเลือดต่ำที่ส่งผลต่อเนื่องต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและของระบบประสาท ส่งผลต่อเนื่องให้กล้ามเนื้อกระตุกเกร็ง และ/หรือเกิดอาการชักได้
  • มองเห็นภาพผิดปกติ(เช่น ตาพร่า)
  • สับสน ความจำเลอะเลือน
  • อาจมีอาการเป็นลม

การวินิจฉัย: แพทย์วินิจฉัยภาวะนี้และหาสาเหตุได้จาก ประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น โรคประจำตัว การใช้ยา อาชีพ การงาน การเรียน การตรวจร่างกาย การตรวจสัญญาณชีพ การตรวจเลือดดูระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ เอกซเรย์ภาพปอด การตรวจคลื่นไฟ้หัวใจ และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การเพาะเชื้อจากเลือดกรณีสงสัยสาเหตุจากภาวะพิษเหตุติดเชื้อ โรคจากขึ้นที่สูง เป็นต้น

การรักษา: แนวทางการรักษา คือ การรักษาสาเหตุ(อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดแต่ละโรคได้ในเว็บ haamor.com เช่น ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ เป็นต้น) และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การสูดดมออกซิเจน เป็นต้น

การพยากรณ์โรค: จะขึ้นกับแต่ละสาเหตุ(อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของแต่ละโรคได้ในเว็บ haamor.com เช่น ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ โรคหืด สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด เป็นต้น)

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Hyperventilation [2018,May12]
  2. https://medlineplus.gov/ency/article/003071.html [2018,May12]