ภาวะน้ำเป็นพิษ (Water intoxication)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 26 กรกฎาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ภาวะน้ำเป็นพิษมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- ภาวะน้ำเป็นพิษมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยภาวะน้ำเป็นพิษอย่างไร?
- รักษาภาวะน้ำเป็นพิษอย่างไร?
- ภาวะน้ำเป็นพิษก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ภาวะน้ำเป็นพิษมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันภาวะน้ำเป็นพิษได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคไต (Kidney disease)
- โรคตับ (Liver disease)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- ตับวาย ตับล้มเหลว (Liver failure)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
บทนำ
ภาวะน้ำเป็นพิษ(Water intoxication) คือภาวะที่ร่างกายสะสมน้ำไว้มากเกินไป จนส่งผลให้มีโซเดียมในเลือดต่ำ ทั่วไปมักเป็นภาวะที่ก่ออาการผิดปกติเฉียบพลัน โดยอาจจากการดื่มน้ำ/บริโภคน้ำมากเกินไป หรือจากการที่ร่างกายสะสมน้ำมากขึ้นๆและ/หรือไม่สามารถกำจัดน้ำออกจากร่างกายได้ในอัตราปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการ เหนื่อย ปวดศีรษะ ทรงตัวไม่ได้/เซ สับสน อาจคลื่นไส้ อาเจียน และถ้าอาการรุนแรงจะ ชัก โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด
ภาวะน้ำเป็นพิษ เป็นภาวะพบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ แต่ไม่มีรายงานสถิติเกิดที่แน่ชัดเพราะมักแยกรายงานตามแต่ละสาเหตุซึ่งมีได้หลากหลายสาเหตุ เป็นภาวะพบใน ทุกวัยแต่พบสูงขึ้นในผู้สุงอายุจากการมีโรคประจำตัวหลายโรคที่ทำให้ขีดความสามารถในการกำจัดน้ำของร่างกายลดลง เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ และพบในผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายเล็กน้อย
อนึ่ง ชื่ออื่นของน้ำเป็นพิษ คือ Water poisoning หรือ Water toxemia หรือ Hyperhydration หรือ Overhydration หรือ Dilutional hyponatremia
ภาวะน้ำเป็นพิษมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
ภาวะน้ำเป็นพิษมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ จากบริโภคน้ำสูงเกินความต้องการของร่างกาย และ/หรือ จากร่างกายมีการสะสมน้ำ และ/หรือกำจัดน้ำออกจากร่างกายทางไต/ทางปัสสาวะได้น้อยกว่าปกติ
ก. สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ร่างกายได้รับน้ำสูงเกินความต้องการ: ที่พบบ่อย ได้แก่
- เด็กอ่อน โดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 9เดือน เพราะร่างกายเด็กอ่อนมีน้ำเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงอยู่แล้ว คือประมาณ 75% จึงเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำเป็นพิษจาก เด็กบริโภคน้ำมากเกินไป รวมทั้งร่างกายเด็กยังเก็บสะสมโซเดียมได้น้อยจึงเสี่ยงที่จะมีโซเดียมในเลือดต่ำได้ง่าย
- นักกีฬาประเภทที่ออกแรง/ใช้กำลังมาก: เช่น วิ่งมาราธอน ไตรกีฬา แข่งจักรยาน แข่งเรือพาย นักกีฬากลุ่มนี้จะกระหายน้ำมาก เพราะร่างกายจะเสียน้ำทางเหงื่อมาก จึงมักมีการดื่มน้ำระหว่างการแข่งขันสูงเกินปกติ
- การเสียเหงื่อมากสาเหตุที่ไม่ใช่จากีฬา: เช่น คนทำงานประเภทใช้แรงมาก ออกแดดจัด หรือการบริโภคยาบางประเภท(เช่น ยากลุ่ม MDMA) ซึ่งการเสียเหงื่อมากจะเสียโซเดียมทางเหงื่อมากขึ้น รวมถึงกระหายน้ำมาก จึงดื่นน้ำเพิ่มมากขึ้น
- ผู้ป่วยทางจิตเวช: ผู้ป่วยทางจิตเวชหลายกลุ่ม จะมีพฤติกรรมที่ดื่มน้ำมากตลอดเวลาทั้งจำนวนและปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละครั้ง จนส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ
- ผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่กินอาหารทางปากไม่ได้/ได้น้อย: ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับอาหารและน้ำดื่มจากท่อให้อาหาร และ/หรือร่วมกับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำได้ง่าย เพราะอาหารประเภทดังกล่าวจะมีโซเดียมต่ำกว่าอาหารปกติทั่วไป
ข. สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ร่างกายสะสมน้ำในร่างกายและ/หรือกำจัดน้ำออกจาร่างกายได้น้อยกว่าปกติ: ที่พบบ่อย ได้แก่
- ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ซึ่งโรคต่างๆดังกล่าวเป็นโรคที่ส่งผลให้ร่างกายมีการสะสมน้ำในร่างกายมากขึ้น
- ผู้สูงอายุ: เพราะเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวต่างๆที่ส่งผลให้มีการสะสมน้ำในร่างกายสูงเกินปกติ เช่น โรคดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ”โรคประจำตัว”
ภาวะน้ำเป็นพิษมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบได้จากภาวะน้ำเป็นพิษ เช่น
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดศีรษะ
- ถ้าอาการรุนแรงขึ้น จะมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริว
- ถ้าอาการยิ่งรุนแรงขึ้นอีก จะมีอาการทางสมอง เช่น สับสน ชัก โคม่า และเสียชีวิตได้
อนึ่ง สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยภาวะน้ำเป็นพิษเสียชีวิต คือ การเกิด ภาวะสมองบวม ที่เกิดจากมีการสะสมน้ำมากในร่างกาย ส่งผลให้เกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำมากและต่ำกว่าในเซลลทั่วร่างกายโดยเฉพาะเซลล์สมอง การมีโซเดียมที่เป็นตัวอุ้มน้ำนี้ต่ำ จะส่งผลให้น้ำในเลือดที่อยู่นอกเซลล์ซึมเข้าสู่ในเซลล์ ส่งผลต่อเนื่องให้เซลล์เกิดการบวมน้ำ หรือกรณีของสมอง ก็คือ เกิดภาวะสมองบวม ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการ ปวดศีรษะรุนแรง ชัก โคม่า และอาจเสียชีวิตในที่สุดถ้าแพทย์แก้ไขภาวะสมองบวมได้ไม่ทัน
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยภาวะน้ำเป็นพิษอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะน้ำเป็นพิษได้จากการวินิจฉัยทางคลินิก ที่สำคัญ คือ ประวัติอาการ ประวัติการทำกิจกรรม การงาน/อาชีพ ก่อนเกิดอาการ การใช้ยาต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน และในอดีต โรคประจำตัว และการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจมีการตรวจเลือดดูค่าโซเดียมเพื่อยืนยันภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ การตรวจปัสสาวะดูค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ นอกจากนั้นอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เช่น การตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือดกรณีผู้ป่วยมีประวัติโรคเบาหวาน การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของไตกรณีสงสัยสาเหตุมาจากโรคไต เป็นต้น
รักษาภาวะน้ำเป็นพิษอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะน้ำเป็นพิษได้แก่
ก. การลดปริมาณน้ำในร่างกายร่วมกับการเพิ่มปริมาณโซเดียมในเลือด: ได้แก่
- การจำกัดปริมาณน้ำดื่ม/วันตามคำสั่งแพทย์
- การให้อาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารรสเค็ม
- การให้ยาขับปัสสาวะ/ยาขับน้ำ
- การให้ยาเพิ่มโซเดียม กรณีมีโซเดียมในเลือดต่ำมาก ซึ่งอาจเป็นยารับประทาน เช่น ยาเม็ดSodium chloride หรือยาให้ทางหลอดเลือดดำกรณีโซเดียมในเลือดต่ำมากๆ เช่น การให้สารละลายSodium chloride
ข. การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามสาเหตุ เช่น การรักษา/ควบคุม โรคหัวใจ หัวใจวาย โรคเบาหวาน โรคไต ไตวาย โรคตับ หรือ ตับวาย (อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของแต่ละโรคที่รวมถึง การรักษาได้จากเว็บ haamor.com) หรือการหยุดยาที่เป็นสาเหตุ กรณีสาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงของยานั้นๆ เป็นต้น
ค. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น การให้ยาแก้ปวดศีรษะกรณีปวดศีรษะรุนแรง การให้ยากันชัก/ยาควบคุมอาการชักกรณีมีอาการชัก เป็นต้น
ภาวะน้ำเป็นพิษก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่พบได้จากภาวะน้ำเป็นพิษ คือ อาการบวมน้ำที่เกิดกับอวัยวะสำคัญ ที่จะก่อให้เกิดอาการผิดปกติจากอวัยวะสำคัญนั้นๆ จนอาจเป็นอัตรายถึงเสียชีวิตได้ เช่น
- หัวใจล้มเหลว: กรณีเกิดโซเดียมในเลือดต่ำ ที่จะส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ
- สมองบวม: กรณีเกิดการบวมน้ำในเซลล์สมอง
- อื่นๆ: เช่น แน่นท้อง กินอาหารลำบาก หายใจลำบาก จากกรณีเกิดน้ำคั่งในช่องท้อง/ท้องมาน
ภาวะน้ำเป็นพิษมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ทั่วไปภาวะน้ำเป็นพิษที่เกิดจากการบริโภคน้ำมาก เป็นภาวะมักมีการพยากรณ์โรคที่ดี แพทย์มักรักษาควบคุมภาวะนี้ได้หายเสมอ
แต่ถ้าภาวะน้ำเป็นพิษเกิดจาก การมีน้ำคั่งในร่างกายผิดปกติ การพยากรณ์โรคจะขึ้นกับชนิดของโรคที่เป็นสาเหตุ รวบทั้งความรุนแรงของโรคนั้นๆ (อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุรวมถึงการพยากรณ์โรคนั้นๆได้ในเว็บ haamor.com เช่น โรคหัวใจ หัวใจวาย โรคตับ ตับวาย โรคไต ไตเรื้อรัง ไตวาย)
อนึ่งในผู้ป่วยที่อาการน้ำเป็นพิษรุนแรง คือ มีโซเดียมในเลือดต่ำมาก (ต่ำกว่า 125 mEq/L ค่าปกติคือ 135-145 mEq/L, อนึ่ง หน่วยคือ Milliequivalent/litre หรือ มิลลิอีควิวาเลน/ลิตร) และเป็นผู้ป่วยที่ดื่มสุรา อัตราเสียชีวิตมีรายงานสูงถึง 50%
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะน้ำเป็นพิษ ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง ไม่ขาดยา
- กินอาหารที่มีโซเดียมสูงขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์
- รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล
- ไม่ใช้ยาอื่นๆนอกเหนือคำสั่งแพทย์/ ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ เพื่อลด/โอกาสเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากยา
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ผู้ป่วยภาวะน้ำเป็นพิษควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น เนื้อตัว แขน ขา ช่องท้อง บวมมากขึ้น
- กลับมามีอาการต่างๆที่ดีขึ้นหลังการรักษา เช่น กลับมาบวมตามร่างกายอีก เหนื่อย หอบมากขึ้นเมื่อใช้แรง
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีไข้สูง ไอ หรือ ไอเป็นเลือด
- มีการกระหายน้ำมากผิดไปจากเดิม
- มีผลข้างเคียง (อาการไม่พึงประสงค์จากยา)จากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียหรือท้องผูกมาก คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ มาก
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันภาวะน้ำเป็นพิษได้อย่างไร?
สามารถป้องกันภาวะน้ำเป็นพิษได้โดย
- ดื่มน้ำ/วันในปริมาณที่สมดุลกับความต้องการของร่างกายและกับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ไม่ดื่มน้ำมากเกินไปที่สังเกตุได้จากสีปัสสาวะที่จางมากจนใสใกล้เคียงกับสีน้ำดื่ม
- เมื่อมีกิจกรรมที่ เสี่ยเหงื่อ เสียน้ำมาก เช่น จากกีฬาที่ต้องใช้แรงมาก ควรต้องดื่มน้ำเกลือแร่/เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา เพื่อคงสมดุลของโซเดียมในเลือดเสมอ
- เมื่อมีโรคประจำตัวที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณน้ำ/วันที่เหมาะสมกับตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นอย่างเคร่งครัด
- ป้องกัน ควบคุม ดูแลรักษา โรคประจำตัวต่างๆให้ได้ดี เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ เช่น โรคตับ โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ รวมถึงจะช่วยลดการบริโภคยาต่างๆที่ผลข้างเคียงของยานั้นๆอาจส่งผลให้มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ
- ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ เมื่อซื้อยาใช้เอง ต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ เพื่อป้องกัน/ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่างๆจากยา
บรรณานุกรม
- Braun,M M. et al. Am Fam Physician. 2015;91(5):299-307
- https://en.wikipedia.org/wiki/Water_intoxication [2018,July7]
- http://www.nutrientsreview.com/water/intoxication.html [2018,July7]
- https://emedicine.medscape.com/article/242166-overview#showall [2018,July7]
- https://medical-dictionary.thefreedictionary.com/water+intoxication [2018,July7]