ภาวะชักต่อเนื่อง (Status epilepticus)

สารบัญ

บทนำ

อาการชักเมื่อเกิดขึ้นต่อหน้าใคร ผู้ที่เห็นเหตุการณ์มักตกใจ ไม่รู้ว่าจะให้การช่วยเหลืออย่างไร แต่เพียงระยะเวลาสั้นๆ 1-2 นาที อาการชักก็หยุดเองในผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีเพียงบาง ส่วนเท่านั้นที่มีอาการชักอย่างต่อเนื่องเกิน 5 นาที ซึ่งเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสมอง และอาจก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้ การชักนานกว่า 5 นาที เรียกกว่า “ภาวะชักต่อเนื่อง (Status epilepticus)” เราจะมีวิธีช่วยเหลือ หรือป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้อย่างไร อ่านได้จากบทความนี้ครับ

ภาวะชักต่อเนื่องคืออะไร?

ภาวะชักต่อเนื่อง

ภาวะชักต่อเนื่อง คือ การชักแต่ละครั้งที่นานมากกว่า 5 นาที (การชักทั่วไปมักประมาณ 1-2 นาที) หรือ การชักตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป โดยแต่ละครั้งไม่นานมากกว่า 5 นาที แต่ระหว่างที่หยุดชักแต่ละครั้ง ผู้ป่วยมีระดับสติ หรือระดับการรู้สึกตัว ที่ไม่ปกติ

ภาวะชักต่อเนื่องเป็นโรคลมชัก ประเภทหนึ่ง ที่มีอันตรายและมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง แตกต่างกับโรคลมชักทั่วไป ที่มีการชักแต่ละครั้งนานเพียง 1-2 นาทีแล้วกลับมามีสติปกติดัง เดิม และมีการเสียชีวิตเหตุจากการชักน้อยมาก

ภาวะชักต่อเนื่อง เป็นภาวะที่พบไม่บ่อย ในแต่ละปีของไทย มีผู้ป่วยประมาณ 2,000 ราย เป็นภาวะพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน

ภาวะชักต่อเนื่องเกิดได้อย่างไร?

ภาวะชักต่อเนื่อง เกิดขึ้นเนื่องจากขาดความสมดุลระหว่างสารเคมีในสมอง ที่มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ชักหรือหยุดชัก กับสารเคมีที่กระตุ้นให้มีการชัก จึงทำให้มีการชักอย่างต่อเนื่อง

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะชักต่อเนื่อง?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะชักต่อเนื่อง ได้แก่

  • การขาดยากันชักอย่างกะทันหัน ในผู้ป่วยโรคลมชัก
  • ภาวะติดเชื้อในสมอง (ภาวะสมองอักเสบติดเชื้อ)
  • ภาวะสมองขาดออกซิเจน หรือพร่องออกซิเจน ที่รุนแรง
  • ภาวะอุบัติเหตุรุนแรงต่อศีรษะ
  • ภาวะดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด พิษสุราเรื้อรัง และ/หรือ การหยุดดื่มแอลกอฮอล์/สุราทันที (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง แอลกอฮอล์และระบบประสาท)
  • ภาวะตับวาย
  • ภาวะไตวาย
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • มีรอยโรคในสมอง
  • เป็นผู้ป่วยทางจิตเวช

ภาวะชักต่อเนื่องมีรูปแบบอาการชักเป็นแบบใดบ้าง?

ภาวะชักต่อเนื่องมี 3 รูปแบบการชัก ได้แก่

  • ภาวะชักเกร็งกระตุกทั้งตัว หมดสติ ซึ่งเป็นชนิดที่รุนแรงและอันตรายที่สุด คือ มีโอ กาสเสียชีวิตจากการชักได้สูง
  • ภาวะชักเกร็งกระตุกบางส่วนของร่างกาย โดยรู้สึกตัวปกติ
  • ภาวะชักแบบพฤติกรรมผิดปกติ ระดับการรู้สึกตัวไม่ปกติ แต่ไม่หมดสติ

อนึ่ง การเกิดภาวะชักต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าผู้ป่วยโรคลมชัก เคยมีประสบการณ์ว่า ก่อนที่จะชักมีอาการเตือน ก็จะสามารถให้การดูแลตน เองเบื้องต้นได้ เช่น การรีบนอนลง โดยอยู่ให้ห่างจากที่ที่จะก่อให้เกิดอันตรายขณะชักได้ หรือรีบบอกผู้ที่อยู่ใกล้เคียงให้การช่วยเหลือ เป็นต้น

อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการชักรุนแรงขึ้น?

ปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญที่ทำให้เกิดการชักต่อเนื่อง และ/หรือ ทำให้มีอาการชักต่อเนื่องรุนแรง คือ

  • การขาดยากันชักกะทันหัน
  • การเจ็บป่วยไม่สบายรุนแรง
  • มีภาวะติดเชื้อ

เมื่อเกิดภาวะชักต่อเนื่องควรทำอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ถ้าเกิดภาวะชักแบบต่อเนื่อง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น กับผู้ป่วย เช่น อุบัติเหตุจากการชัก หมดสติ แล้วล้มลงกระแทกกับสิ่งของต่างๆ ดังนั้น จึงควรค่อยๆประคองให้ผู้ป่วยนอนราบลง มีหมอนหนุนศีรษะ และเลื่อนสิ่งต่างๆออกให้พ้นตัวผู้ป่วย ปลดเข็มขัด หรือเสื้อผ้าที่รัดตึง เพื่อเพิ่มการหายใจ และป้องกันการสำลักน้ำลาย และ/หรืออา หาร

ระหว่างนั้น ให้คนช่วยรีบแจ้งรถพยาบาล รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด (รถพยาบาลฉุกเฉิน สายด่วน เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย บริการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เสียค่าใช้จ่าย คือ เบอร์ 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข)

แต่ถ้าผู้ดูแลเคยมีประสบการณ์ในการให้ยาหยุดชักที่ฉีด/สวนเข้าทางรูทวารได้ ก็สามารถให้ยาได้เลย จะทำให้หยุดชักได้เร็วและปลอดภัย

อนึ่ง เมื่อเกิดการชักนานกว่า 5 นาที หรือมากกว่า ทุกครั้งที่ชักและไม่รู้ตัว/ไม่ได้สติ ควรรีบพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

เมื่อพบคนชักควรทำอย่างไร?

กรณีทั่วไป ถ้าพบคนชัก การช่วยที่ถูกต้องคือ การป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากอุบัติ เหตุหรือการล้มลง และการสำลักอาหาร ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ควรทำอย่างไรเมื่อชัก ไม่ต้องกดปั้มหน้าอก หรือนำนิ้วมือ หรือของแข็ง เช่น ช้อน งัดปากผู้ที่ชัก เพราะจะเกิดอันตรายจากฟันหักหลุดเข้าหลอดลมผู้ป่วย หรือ ผู้ป่วยกัดนิ้วมือเราได้

ถ้าหยุดชักเร็ว ผู้ป่วยรู้ตัวดี และเคยชักเป็นประจำ ก็อาจไม่ต้องไปโรงพยาบาลได้ ยกเว้นจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น หรือมีการชักมากกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง หรือไม่คืนสติดี หรือไม่เคยชักมาก่อน หรือผู้ป่วยประสงค์จะไปโรงพยาบาล ก็ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยภาวะชักต่อเนื่องอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะชักต่อเนื่องได้จาก ประวัติการชัก ระยะเวลาที่ชักนาน และการไม่ฟื้นคืนสติ

ส่วนการหาสาเหตุ ก็เช่นเดียวกันคือ จากประวัติการรักษา/การเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน การใช้ยาทั้งในอดีตและในปัจจุบัน การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายทางระบบประ สาท และการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ขึ้นกับสิ่งที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ ของไต การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมองเพื่อดูว่ามีรอยโรคในสมองหรือไม่ เป็นต้น

ภาวะชักต่อเนื่องรักษาอย่างไร?

การรักษาภาวะชักต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ

  • ต้องรีบหยุดชักให้เร็วที่สุดด้วยยากันชัก เพราะการชักนานก็ยิ่งส่งผลต่อสมองมากขึ้นจากภาวะสมองขาดออกซิเจน
  • ต้องรีบแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่น การรักษาภาวะตับวาย เมื่อสาเหคุเกิดจากตับวาย
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ออกซิเจน เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาทางการหายใจ หรือ การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาด้านการบริโภคทางปาก เป็นต้น

อนึ่ง ในระยะแรกของการรักษาผู้ป่วย เป็นการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจะใช้เวลารักษานานหรือไม่ ขึ้นกับผลการรักษา โดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่โรคไม่รุนแรง และไม่มีภาวะแทรก ซ้อน จะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 10-14 วัน

ผลข้างเคียงจากภาวะชักต่อเนื่องมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะชักต่อเนื่อง คือ ถ้าชักอยู่นาน ไม่สามารถควบคุมการชักได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิต แต่ถ้าไม่เสียชีวิต ก็อาจเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน (อ่านเพิ่มเติมบทความเรื่อง ภาวะสมองขาดออกซิเจนได้ในเว็บ haamor.com) ที่อาจส่งผลต่อสติปัญญา และอาจเกิดอาการอัมพาตได้

ภาวะชักต่อเนื่องมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคหรือผลการรักษาภาวะชักต่อเนื่อง ในภาพรวมของประเทศไทย เสียชี วิตประมาณ 13 คนในผู้ป่วยที่มีอาการนี้ 100 คน โดยปัจจัยที่จะทำให้การรักษาได้ผลหรือไม่ คือ ความรวดเร็วในการรักษาให้หยุดชัก ถ้าสามารถหยุดได้ใน 1 ชั่วโมง ก็แทบไม่มีการเสียชีวิตเลย แต่ถ้านานหลายชั่วโมงก็ยังควบคุมการชักไม่ได้ มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะเสียชีวิต

นอกจากนั้น ปัจจัยอื่นๆ คือ โรคประจำตัวของผู้ป่วย (ถ้ามีโรคประจำตัว การพยากรณ์โรค /ผลการรักษาก็ไม่ดี) และสาเหตุ เช่น ถ้าสาเหตุเกิดจากการหยุดยากันชัก ผลการรักษาจะดี แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากสมองอักเสบ ผลการรักษาจะไม่ดี เป็นต้น

ดูแลผู้ป่วยที่บ้านอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลผู้ป่วยภาวะชักต่อเนื่องที่บ้าน เป็นการดูแลที่ต้องต่อเนื่องระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะผู้ป่วยต้องทานยากันชักต่อเนื่องระยะยาว อย่างน้อย 3-5 ปี ความสม่ำเสมอในการทานยาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

นอกจากนั้นคือ ต้องมาพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ

แต่ถ้าผู้ป่วยมีความพิการเกิดขึ้น ก็ต้องดูแลแบบผู้ป่วยภาวะสมองขาดออกซิเจน หรือผู้ ป่วยโรคอัมพาต ที่สำคัญ เช่น การเตรียมบ้าน เตรียมห้องผู้ป่วย เครื่องให้ออกซิเจน/วิธีให้ออก ซิเจน เครื่องดูดเสมหะ/วิธีดูดเสมหะ การพลิกตัวป้องกันแผลกดทับ การทำกายภาพบำบัดป้อง กันข้อติด ต้องมีผู้ดูแลที่พร้อมทั้งเวลา และมีความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ทั้งนี้อ่านบทความเพิ่มเติมทั้ง 2 เรื่อง คือ เรื่องสมองขาดออกซิเจน และ เรื่อง โรคอัมพาต ได้ในเว็บ haamor.com

ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการชักบ่อยขึ้น มีอุบัติเหตุจากการชัก แพ้ยากันชัก หรือมีความผิด ปกติอื่นๆที่เป็นขึ้นมาใหม่ ผู้ป่วยควรต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ

ป้องกันภาวะชักต่อเนื่องอย่างไร?

การป้องกันภาวะชักต่อเนื่อง คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง (ที่หลีกเลี่ยงได้) ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก (สาเหตุพบบ่อยของภาวะชักต่อเนื่อง) การป้องกันภาวะชักต่อเนื่อง คือ การทานยากันชักสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยากันชักทันที นอกจากนั้น คือ

  • ไม่ควรให้เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น เมาไม่ขับ
  • ดูแลตนเองให้มีสุขภาพที่ดี เพื่อป้องกัน/ลดโอกาสสมองติดเชื้อ/สมองอักเสบด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ลดปัจจัยเสี่ยงการเกิด โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะตับวาย ภาวะไตวาย (อ่านเพิ่มเติม บทความเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องได้จากเว็บ haamor.com)
  • ไม่ดื่ม/เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา