ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic increased intracranial pressure หรือ Pseudotumor cerebri)

สารบัญ

บทนำ

อาการปวดหัวหรือปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดในอาการผิดปกติทางระบบประ สาท ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง ไม่ส่งผลทำให้พิการหรือเสียชีวิต แต่มีสาเหตุของอาการปวดศีรษะบางชนิดที่ร้ายแรง เช่น เนื้องอกสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ และ “ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic increased intracranial pressure หรือ Pseudotumor cerebri หรือ Idiopathic intracranial hypertension)” ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาการดูเหมือนไม่รุนแรง แต่ถ้ารักษาไม่ดี ท่านอาจจะตาบอดได้ อ่านภาวะผิด ปกตินี้ได้จากบทความนี้ครับ

ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุคืออะไร?

ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง

ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ คือ ภาวะที่มีความผิดปกติของความดันในกะโหลกศีรษะ/โพรงกะโหลกศีรษะ (Intracranial pressure) ที่สูงขึ้นผิดปกติ ส่ง ผลให้มีอาการของภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง เช่น ปวดศีรษะ ตามัว ทั้งนี้โดยแพทย์ยังไม่สามารถทราบกลไกที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดภาวะผิดปกตินี้

ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะพบได้ไม่บ่อย ประมาณ 1 ต่อประชากร 100,000 คน เป็นโรคพบได้ทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ (แต่พบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก) และพบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชายโดยมีรายงานสูงกว่าถึง 8 เท่า (8:1)

ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุเกิดได้อย่างไร?

กลไกการเกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาสันนิษฐานว่า เกิดจากการดูดซึมกลับของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง/ซีเอสเอฟ (Cerebrospinal fluid: CSF) ผิดปกติ ดูดซึมกลับได้ลดลง ในขณะที่การสร้าง CSF เท่าเดิม จึงส่งผลให้มี CSF มากขึ้นในกะโหลกศีรษะ จึงส่งผลให้มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง ขึ้น

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุคืออะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่พบบ่อย ได้แก่

  • คนอ้วน
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ฮอร์โมนที่ใช้กระตุ้นการเจริญเติบโต (Growth hor mone) ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะชนิด เตตราซัยคลีน (Tetracycline) ยาสเตียรอยด์ วิตา มิน-เอ
  • มี หรือมีประวัติเกิดอุบัติเหตุที่ ศีรษะ สมอง
  • โรคบางชนิด เช่น โรคไต โรคเอสแอลอี โรคของต่อมหมวกไต โรคของต่อมพาราไท รอยด์ กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ/พีซีโอเอส (Polycystic ovary syndrome: PCOS)
  • เคยมีประวัติเลือดออกในเยื่อหุ้มสมองชั้นใต้อะแรชนอยด์(Subarachnoid hemorr hage)
  • เคยมีประวัติเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุมีอาการอย่างไร?

อาการพบบ่อยของภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ ได้แก่

  • ปวดศีรษะรุนแรงปานกลางถึงมาก ปวดบริเวณกระบอกตา กลอกตาแล้วปวดมากขึ้น ปวดจนต้องตื่นนอน
  • มีเสียงดังในหัว เหมือนน้ำไหล หรือดังพร้อมกับการเต้นของหัวใจ
  • วิงเวียน อาเจียน
  • ตามัว มองไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน
  • ตาบอดชั่วคราวเป็นวินาที
  • กลอกตาไปมองด้านข้างไม่ได้ ทำให้มองเห็นภาพซ้อน
  • เหมือนมีแสงไฟเข้าตา
  • ปวด คอ ไหล่ หลังส่วนบน

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เมื่อมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ตามัวมองเห็นไม่ชัด หรือมีตาบอดชั่วคราว

แพทย์วินิจฉัยภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุได้โดย พิจารณาจากประวัติอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ร่วมกับ การตรวจร่างกาย พบการกลอกตาไปด้านข้างไม่ได้ และจอประสาทตาบวมหรือซีด และเมื่อตรวจสืบค้นเพิ่มเติมด้วย ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมองไม่พบความผิดปกติใดๆ นอกจากนั้น จะพิจารณาเจาะหลังเพื่อตรวจ CSF ซึ่งจะพบว่ามีความดันที่สูงขึ้น โดยไม่พบความผิดปกติอื่นๆในส่วนประ กอบของ CSF เช่น เซลล์ น้ำตาล โปรตีน

รักษาภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุอย่างไร?

การรักษาภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ คือ การรักษาสาเหตุ เช่น หยุดยาชนิดที่เป็นสาเหตุ และการให้ยาลดการสร้าง CSF การควบคุมและลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน) แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น การมองเห็นยังไม่ชัด และความดันในโพรงกะโหลกศีรษะยังสูง ก็อาจผ่าตัดขยายปลอกหุ้มประสาทตา เพื่อลดการกดเบียดรัดประสาทตาจากความดันฯที่สูงขึ้น

ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง ค่อนข้างดี คือ ผลการรักษาส่วนใหญ่ได้ผลดี อาการหายได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์นับจากการรักษา แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ก่อนที่ตาจะมัวไปมาก สายตา/การมองเห็นจึงจะกลับมาปกติ กล่าวคือ กรณีที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็ว อาการตามัว มักดีขึ้นหลังการรักษา แต่ถ้ามาพบแพทย์ช้า จนมีปัญหาจอประสาทตาซีดเสื่อมไปแล้ว อาการทางสายตาอาจดีขึ้นช้ามากๆ หรือไม่ดีขึ้นเลย

ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่สำคัญของภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ คือ อา การตาบอดเมื่อรักษาไม่ทัน แต่ภาวะนี้ไม่ทำให้เกิดอัมพาต

ดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองที่ดีเมื่อมีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงไม่ทราบสาเหตุ คือ

  • รักษาควบคุมสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น หลีก เลี่ยงยาที่เป็นสาเหตุ
  • ทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง
  • ควบคุมและลดน้ำหนัก และ
  • คอยสังเกตว่า มีอาการอะไรผิดปกติไปจากเดิม โดยเฉพาะการมองเห็น ซึ่งเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรืออาการเลวลง เช่น ตามัวลง มองเห็นภาพซ้อน ปวดศีรษะมากขึ้น และ/หรือมีผลแทรกซ้อนจากยาที่ใช้รักษา ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ ป้องกันได้อย่างไร?

ป้องกันภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุได้ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทีได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ที่เป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญ คือ

  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกิน
  • ไม่ทานยาที่ไม่จำเป็น ปัจจุบันที่พบบ่อย คือ การทานยาวิตามิน-เอ รักษาสิว (ซึ่งควรใช้ยานี้ ต่อเมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น)
  • ระมัดระวังอุบัติเหตุที่ศีรษะและต่อสมอง เช่น การสวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่มอเตอร์ไซด์ หรือเมื่อทำงานที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุนี้
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อที่อาจนำไปสู่โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ