ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ฟลูโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ฟลูโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟลูโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟลูโคนาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟลูโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟลูโคนาโซลอย่างไร?
- ฟลูโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟลูโคนาโซลอย่างไร?
- ฟลูโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis)
- ตกขาว (Leucorrhea)
- โรคเอดส์ (AIDS)
- เชื้อราช่องปาก (Oral thrush หรือ Oropharyngeal candidiasis)
- โรคติดเชื้อ (Infectious disease)
- แคนดิไดอะซิส (Candidiasis)
บทนำ
ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เป็นยาต้านเชื้อราที่วงการแพทย์นำมาใช้ทั้งในวัตถุประสงค์เชิงป้องกันและรักษา โดยครอบคลุมการติดเชื้อราจากเชื้อรา Candida เกลื้อน การติดเชื้อราในสมอง รวมไปจนถึงกลุ่มเชื้อราที่มักเกิดกับผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์ (AIDS)
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic: กระบวนการเปลี่ยนแปลงของยา เมื่อเข้าสู่ร่างกาย) ของยาฟลูโคนาโซลพบว่า ยานี้สามารถดูดซึมจากทางเดินอาหารได้มากกว่า 90 % และเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะจับตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 11 - 12% จากนั้นตับจะเปลี่ยนโครงสร้างของยาได้เพียง 11% โดยประมาณ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลา 20 - 50 ชั่วโมงในการกำ จัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่
ยาฟลูโคนาโซลถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยโดยการรับรองของคณะกรรม การอาหารและยาว่า สมควรมีใช้ในโรงพยาบาลของรัฐ อย่างไรก็ตามยานี้จัดอยู่ในหมวดยาอัน ตราย มีคำเตือนและข้อควรระวังหลายประการ การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์อย่างเคร่ง ครัด
ฟลูโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาฟลูโคนาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง การติดเชื้อแคนดิดา (Candida) ที่ช่องคลอด (อ่านเพิ่มเติมได้ใน haamor.com บทความเรื่อง เชื้อราในช่องคลอด)
- รักษาการติดเชื้อราของเยื่อหุ้มสมองแบบเฉียบพลัน (Acute Cryptococcal meningitis) ในผู้ป่วยโรคเอดส์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่องระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวี)
- ใช้ป้องกันการติดเชื้อราในผู้ป่วยด้วยภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น โรคเอดส์
ฟลูโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟลูโคนาโซลคือ ตัวยาจะลดการสังเคราะห์สาร Ergosterol (สาร สำคัญที่ใช้สร้างเซลล์ของเชื้อรา) ในเชื้อรา ส่งผลยับยั้งการสร้างเซลล์เมมเบรน/เยื่อหุ้มเซลล์ (Cell membrane) จึงทำให้เชื้อราตายลงในที่สุด
ฟลูโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ฟลูโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- รูปแบบยาแคปซูลขนาด 50, 100, 150, และ 200 มิลลิกรัม/แคปซูล
- รูปแบบยาฉีด ขนาดความแรง 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร, 100 มิลลิกรัม/50 มิลลิลิตร, 200 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร, และ 400 มิลลิกรัม/200 มิลลิลิตร
ฟลูโคนาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ฟลูโคนาโซลมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับติดเชื้อแคนดิดาที่ช่องคลอด (Vaginal candidiasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 150 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
ข. สำหรับการติดเชื้อราช่องปาก: เช่น
- ผู้ใหญ่: วันแรกรับประทาน 200 มิลลิกรัม ครั้งเดียว จากนั้นลดขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัม วันละครั้ง เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ
ค. สำหรับการติดเชื้อแคดิดาในกระแสโลหิตหรือตามอวัยวะในร่างกาย: เช่น
- ผู้ใหญ่: วันแรกรับประทาน 400 มิลลิกรัม จากนั้นลดเป็น 200 - 400 มิลลิกรัม วันละครั้ง ในกรณีที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 800 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลาของการรักษาขึ้นอยู่กับการตอบสนองของโรค โดยเฉลี่ยต้องรักษาต่อเนื่อง 6 - 8 สัปดาห์ เช่น การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง (Cryptococcal meningitis) และสามารถให้เป็นยาชนิดฉีดโดยหยดผ่านหลอดเลือดดำ
ง. ป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ของเยื่อหุ้มสมองอักเสบในผู้ป่วยโรคเอดส์: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัม/วัน อาจให้แบบหยดเข้าหลอดเลือดก็ได้
จ. สำหรับการติดเชื้อราในปอด: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัม ในวันแรก และลดขนาดรับประทานเป็น 200 มิลลิกรัม/วัน โดยการรับประทานหรือโดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำก็ได้
ฉ. สำหรับการติดเชื้อราทางหลอดอาหาร: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัม ในวันแรก และลดขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัม/วัน โดยการรับประทานหรือโดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำก็ได้ ขนาดยาอาจปรับได้ถึง 400 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายคนไข้
อนึ่ง:
- เด็ก: การใช้ยาฟลูโคนาโซลในเด็ก ขนาดยาจะขึ้นกับ อายุ น้ำหนักตัวของเด็ก และความรุนแรงของโรค ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็ก จึงต้องอยู่ในการดูแลรักษาจากแพทย์เท่านั้น
- เนื่องจากยานี้เป็นยาในหมวดยาอันตราย ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยา ต้องอยู่ในการดูแลรักษาจากแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อยาและ/หรือปรับขนาดการรับประทานเอง
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูโคนาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาฟลูโคนาโซล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟลูโคนาโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ฟลูโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟลูโคนาโซลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง) เช่น
- อาการคลื่นไส้- อาเจียน
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- ท้องอืด
- การทำงานของตับเพิ่มมากขึ้น
- ปวดศีรษะ / ปวดหัว
- ผื่นคัน
- ผิวหนังบวม
- และภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ฟลูโคนาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูโคนาโซล เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาฟลูโคนาโซล
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยด้วยโรคไตและโรคตับ
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูโคนาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยา ทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟลูโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟลูโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาฟลูโคนาโซล ร่วมกับ ยาวัณโรค เช่นยา Rifampicin สามารถลดระดับปริมาณยาฟลูโคนาโซลในกระแสโลหิตได้
- การใช้ยาฟลูโคนาโซล ร่วมกับ ยาขยายหลอดลม เช่นยา Theophyllin จะทำให้ร่างกายกำจัดยา Theophylline ได้น้อยลง
- การใช้ยาฟลูโคนาโซล ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด, ยาฟลูโคนาโซลสามารถลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดจนอาจก่อให้เกิดการตั้งครรภ์ได้
- การใช้ยาฟลูโคนาโซลร่วมกับยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด, ยานอนหลับ, ยาคลายกล้ามเนื้อ, เช่นยา Alprazolam, Triazolam, Midazolam, และ Diazepam ยาฟลูโคนาโซลสามารถเพิ่มระดับยาดังกล่าวในกระแสเลือดและทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงของยาดังกล่าวได้เพิ่มมากขึ้น
ควรเก็บรักษาฟลูโคนาโซลอย่างไร?
ควรเก็บยาฟลูโคนาโซลดังนี้ เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ฟลูโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟลูโคนาโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Biozole (ไบโอโซล) | Biolab |
Diflucan (ไดฟลูแคน) | Pfizer |
Fluconazole Mayne Pharma (ฟลูโคนาโซล เมียน ฟาร์มา) | Mayne Pharma |
Flucozole (ฟลูโคโซล) | Siam Bheasach |
Fludizol (ฟลูดิซอล) | M & H Manufacturing |
Flunco (ฟลันโค) | T.O. Chemicals |
Fluzoral (ฟลูโซรอล) | GPO |
Funa (ฟูนา) | L. B. S. |
Kyrin (คีริน) | Silom Medical |
Stalene (สตาเลน) | Unison |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Fluconazole [2019,Dec28]
2 http://www.drugs.com/dosage/fluconazole.html [2019,Dec28]
3 http://www.mims.com/USA/drug/info/fluconazole/ [2019,Dec28]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=Fluconazole&page=0 [2019,Dec28]