ผื่นแพ้แสง ผื่นแพ้แสงแดด (Photodermatitis)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 20 กันยายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ผื่นแพ้แสงเกิดได้อย่างไร?
- ผื่นแพ้แสงติดต่ออย่างไร?
- ผื่นแพ้แสงมีอาการอย่างไร ?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยผื่นแพ้แสงได้อย่างไร?
- รักษาผื่นแพ้แสงอย่างไร?
- ผื่นแพ้แสงก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ผื่นแพ้แสงมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองและป้องกันผื่นแพ้แสงอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคพุ่มพวง / โรคลูปัส (Lupus) / โรคเอสแอลอี (SLE)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- แสงแดด (Sunlight)
- ครีมกันแดด (Sunscreen)
- มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)
- ภาวะขาดวิตามิน บี-3 หรือ โรคเพลลากรา (Vitamin B 3 deficiency or Pellagra)
บทนำ
แสงแดด เป็นสิ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยในการผลิตวิตามินดี เป็นปัจจัยหลักของวงจรการสังเคราะห์จุดเริ่มต้นวงจรอาหารของมนุษย์ แต่ก็เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิดโดยเฉพาะโรคที่เกิดกับผิวหนัง เช่น มะเร็งผิวหนัง และ’โรคผื่นแพ้แสง หรือ ผื่นแพ้แสงแดด (Photodermatitis หรือ Sun poisoning หรือ Photo allergy)’
โรคผื่นแพ้แสง ในที่นี้หมายถึง กลุ่มโรคผิวหนังที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยแสง/แสงแดด ซึ่งตัวที่กระตุ้นคือ แสงยูวี (Ultraviolet light) ในแสงแดด ซึ่งโรคในกลุ่มนี้ประกอบด้วยหลายโรคและหลายสาเหตุ ตัวอย่างเช่น
- โรคผื่นแพ้แสงสาเหตุจากความผิดปกติของผิวหนังเอง: ที่ปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการเกิดชัดเจน ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เช่น โรค Polymorphous light erup tion, และโรค Chronic actinic dermatosis ซึ่งทำให้เกิดผื่นคันเรื้อรังบริเวณผิวหนังที่สัมผัสแสง แดด
- ผื่นแพ้แสงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกร่างกาย: กระตุ้นให้เกิดอาการผื่นแพ้เมื่อสัมผัสกับแสงแดด (Photoallergic dermatitis) ตัวอย่างเช่น ในบางคนที่แพ้น้ำหอม เมื่อถูกแสงแดดกระตุ้นจะทำให้เกิดอาการผื่นแพ้ขึ้น หรือผื่นที่ถูกกระตุ้นให้เกิดจากการโดนแสงแดดหลังสัมผัสพืชบางชนิด เช่น มะกรูด มะนาว
- ผื่นแพ้แสงที่เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: ตัวอย่างเช่น อาการผื่นจากผิวหนังที่เกิดจากการรับประทานยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะบางชนิด แล้วผิวหนังได้รับแสงแดด เช่น ยา Tetra cycline และยังมียาอีกหลายชนิดที่ทำให้ผิวเกิดการไวเกิน (Sensitive) ต่อการถูกกระตุ้นจากแสง แดดได้ เช่น ยาฆ่าเชื้อรา Griseofulvin , ยารักษาสิว Retinoic acid , ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAID)
- ผื่นแพ้แสงที่เป็นส่วนหนึ่งของอาการในโรคของระบบอวัยวะอื่นๆในร่างกาย: เช่น ผื่นแพ้แสงในคนที่เป็นโรคเอสแอลอี (SLE)
- ผื่นแพ้แสงที่เกิดจากการขาดวิตามิน: ทั้งที่เป็นโรคแต่กำเนิด หรือมาเกิดเป็นภาย หลัง เช่น ในคนที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ตัวอย่าง เช่น ผื่นจากภาวะขาดวิตามินบี3 (โรค Pellagra)
ผื่นแพ้แสงเกิดได้อย่างไร?
การที่ผิวหนังมีการตอบสนองต่อแสงแดด เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่นจาก
- ยาบางชนิด(ดังกล่าวแล้วใน หัวข้อ บทนำ)
- สารเคมีบางชนิด
- โรคทางกายต่างๆ (เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี )
- โรคทางพันธุกรรม และ
- บางส่วนยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
ซึ่งเมื่อเกิดผื่นแพ้แสงขึ้น แนวทางในการหาสาเหตุเพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุว่า เกิดจากโรคในในกลุ่มโรคใด คือ การรวบรวมข้อมูลทั้งจาก
- การสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจรอยโรคที่ผิวหนัง และ
- การตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ผื่นแพ้แสงติดต่ออย่างไร?
โรคผื่นแพ้แสง เป็นโรคเฉพาะตัว ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม เช่น ทางอาหาร น้ำดื่ม การหายใจ คลุกคลี สัมผัสตัว/สัมผัสรอยโรค และ/หรือสัมผัสเครื่องใช้
ผื่นแพ้แสงมีอาการอย่างไร ?
เนื่องจากสาเหตุของโรคในกลุ่มผื่นแพ้แสงนี้เกิดได้จากหลายโรค จึงมีอาการได้หลายลักษณะ จุดในการสังเกตตนเองว่า เรามีโรคผื่นแพ้แสงที่เกิดจากการตอบสนองของผิวหนังที่ผิด ปกติต่อแสงแดดหรือไม่ อาการเหล่านี้ที่จะกล่าวถึง คือข้อสังเกตที่แตกต่างของอาการผื่นแพ้แสงกับโรคผิวหนังที่เกิดจากสาเหตุอื่น ซึ่งอาการ/ข้อสังเกตเหล่านี้ ได้แก่
- ผื่นผิวหนังที่ผิดปกติ จะพบบริเวณผิวหนังที่ได้รับแสงแดด เช่น บริเวณใบหน้า แขน ขา ลำคอ ที่อยู่นอกร่มผ้า
- มักไม่พบผื่นในบริเวณผิวหนังที่ไม่ถูกแสงแดด เช่น ข้อพับ เปลือกตาบน และผิวหนังในร่มผ้า
- อาการขึ้นผื่นจะเป็นมากขึ้นเมื่อสัมผัสแสงแด เช่น ในช่วงที่มีกิจกรรมกลางแจ้งมาก ช่วงเที่ยวทะเล ช่วงฤดูร้อน
- ลักษณะของผื่นแพ้แสงนั้นมีได้หลายลักษณะขึ้นกับสาเหตุของแต่ละโรคที่ทำให้เกิดผื่นแพ้แสง เช่น อาจมีลักษณะผื่นคันเหมือนอาการแพ้ทั่วไป หรือมีลักษณะผื่นแดง แสบ เหมือนอาการผิวไหม้
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
หากมีผื่นผิวหนังผิดปกติที่สงสัยว่ามีสาเหตุจากผื่นแพ้แสง สามารถพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการวินิจฉัย รักษา และรับคำแนะนำได้เสมอ
แพทย์วินิจฉัยผื่นแพ้แสงได้อย่างไร?
การวินิจฉัยผื่นแพ้แสงเช่นเดียวกับโรคผิวหนังอื่นๆ คือ
- การสอบถามประวัติทางการแพทย์ ซึ่งผื่นแพ้แสงนั้น การวินิจฉัยต้องการประวัติที่ค่อนข้างละเอียด ทั้งกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์ ยา สารเคมีต่างๆที่สัมผัสในชีวิตประจำวัน เพื่อหาความสัมพันธ์กับสาเหตุที่กระตุ้นให้ผิวหนังเกิดการตอบสนองต่อแสงแดดที่ผิดปกติ
- การตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุของโรคอื่นๆ
- การตรวจรอยโรคที่ผิวหนังเพื่อยืนยันว่า รอยโรคเกิดในบริเวณที่ผิวหนังสัมผัสแสงแดด
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุของโรคทางกายที่อาจเป็นสาเหตุของผื่นแพ้แสง ซึ่งที่สำคัญคือ
- การตรวจเพื่อทดสอบการตอบสนองของผิวหนังต่อแสงแดดว่า มีการตอบสนองที่ผิดปกติหรือไม่ (Phototesting) ซึ่งทำได้เฉพาะในศูนย์โรคผิวหนังขนาดใหญ่ เช่น โรงเรียนแพทย์
รักษาผื่นแพ้แสงอย่างไร?
การรักษาผื่นแพ้แสงขึ้นกับสาเหตุของผื่นแพ้แสงนั้น ตัวอย่าง เช่น
- ผื่นแพ้แสงที่เกิดจากการแพ้สารเคมี การรักษาคือ การเลี่ยงสัมผัสกับสารเคมีนั้น และรักษาตามอาการด้วยยาทาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง
- ผื่นแพ้แสงที่เกิดจากการขาดวิตามิน การรักษาจะโดยการให้วิตามินนั้นๆเสริมอาหาร
- เมื่อผื่นแพ้แสงเกิดจากโรคลูปัส-เอสแอลอี การรักษาคือการรักษาโรคเอสแอลอี
ผื่นแพ้แสงก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่เกิดจากผื่นแพ้แสง ตัวอย่าง เช่น
- ทำให้เกิดปัญหาด้านความงามในผู้ป่วยที่มีรอยโรคตามใบหน้าและลำตัว และ
- เกิดความไม่สบายตัวจากอาการแสบคัน
ผื่นแพ้แสงมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของผื่นแพ้แสงขึ้นกับสาเหตุ ถ้ารักษาควบคุมสาเหตุได้ อาการผื่นแพ้แสงก็จะดีขึ้น ควบคุมได้ เช่น หากเกิดจากอาการแพ้สารเคมี เมื่อหยุดสัมผัสสารเคมี ร่วมกับการรักษาตามอาการ ผื่นแพ้แสงก็จะดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตัวอาการผื่นแพ้แสงเอง โดยส่วนใหญ่มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษา ควบคุมได้จากการหลีกเลี่ยงแสงแดด และการใช้ยาทาที่รอยโรคเพื่อการรักษาอาการทางผิวหนัง เช่น ขึ้นผื่น แสบ คัน
ดูแลตนเองและป้องกันผื่นแพ้แสงอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีผื่นแพ้แสง จะเช่นเดียวกับการป้องกันการเกิดผื่นแพ้แสง ซึ่งได้แก่
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด โดยเฉพาะเวลาที่มีแสงแดดจัด คือเวลา 10.00 - 15.00 นาฬิ กา
- ป้องกันผิวหนังได้รับแสงแดดโดยตรง ด้วยการทาครีมกันแดดทั้งใบหน้า แขนขา ในและนอกร่มผ้า ร่วมกับใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันแสงแดด เช่น สวมเสื้อกางเกงแขนยาว ขายาว ใช้ร่ม สวมหมวกปีกกว้าง สวมแว่นตากันแดด
- ระมัดระวังและสังเกตปฏิกิริยาของผิวหนังเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำหอม ครีม โลชัน เพื่อการหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์นั้นๆ
บรรณานุกรม
1. ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:ชื่อบท.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
2. Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine :chapter.eight edition.McGraw-Hill.2012
3. Photodermatitis . University of Maryland Medical Center .last review 12/28/2012.