ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) ซึ่งจากศัพท์แพทย์ อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547 เรียกอาการนี้ว่า “ผิวหนังอักเสบออกผื่น” ที่จริงแล้วมิใช่ชื่อโรค แต่เป็นคำเรียกรวมของลักษณะผื่นผิวหนังที่มีอาการ คัน แดง ตกสะเก็ด ซึ่งเป็นผลจากผิวหนังอักเสบที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ และเนื่องจากผื่นผิวหนังอักเสบนี้เป็นผลจากหลายโรค จึงส่งผลให้เป็นอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อยในแผนกผู้ป่วยนอกของคลินิกโรคผิวหนังหรือของคลินิกตรวจโรคทั่วไป

ทั้งนี้จากการเก็บสถิติของสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ช่วง พ.ศ. 2554-2556 พบว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการผื่นผิวหนังอักเสบที่เป็นผู้ป่วยรายใหม่ที่แผนกผู้ป่วยนอกปีละประมาณ 15,000 ราย, ในส่วนทั่วโลกพบโรคนี้ได้ประมาณ 3.5%ของประชากรทั้งหมด , ทั้งนี้โรคนี้พบได้ในทุกเพศและในทุกวัยแต่พบบ่อยขึ้นในทารก

อนึ่ง: โรคหรืออาการนี้ คนไทยเรียกกันอีกหลายชื่อนอกจาก 2 ชื่อดังกล่าวในตอนต้น เช่น

  • ผิวหนังอักเสบ
  • ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง
  • โรคแพ้ผื่นคัน
  • โรคแพ้ผื่นคันผิวหนังอักเสบ
  • ผิวหนังอักเสบจากกรรมพันธุ์
  • ผื่นแพ้เอกซิมา

ผื่นผิวหนังอักเสบเกิดได้อย่างไร?

ผื่นผิวหนังอักเสบ

ผื่นผิวหนังอักเสบนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จาก

  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
  • โรคเซบเดิร์ม
  • โรคผื่นแพ้สัมผัส
  • อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนที่ครอบครัวมีประ วัติอาการนี้
  • อาจเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพราะพบอาการได้สูงขึ้นในกลุ่มคนที่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง หรือไม่ถูกสุขอนามัย

ผื่นผิวหนังอักเสบติดต่ออย่างไร?

ผื่นผิวหนังอักเสบนี้มิใช่โรคติดต่อ จึงไม่สามารถติดต่อระหว่างบุคคลได้ ไม่ว่าจะด้วยการ สัมผัส คลุกคลี ทางการหายใจและ/หรือใช้ของใช้ร่วมกัน กินอาหารร่วมกัน

ผื่นผิวหนังอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของผื่นผิวหนังอักเสบขึ้นกับระยะของการเกิดโรค

  • โดยระยะแรกที่มีผื่นขึ้นใหม่ๆ ผิวหนังจะมีลักษณะของการอักเสบคือ
    • จะมีผื่นแดง
    • ผิวบริเวณผื่นจะ
      • บวม
      • มีตุ่มน้ำเล็กๆใสๆเกิดขึ้น และมีน้ำเหลืองเยิ้ม
  • ในระยะต่อมา
    • น้ำเหลืองเยิ้มจากผื่นจะลดลง
    • ผื่นแห้งขึ้น ตกสะเก็ด และ มีอาการคัน
  • ถ้าผื่นผิวหนังอักเสบเกิดเป็นเวลานานหรือเรื้อรัง รวมกับมีการเกาซ้ำไปซ้ำมาจากอาการคัน ผื่นจะกลายเป็น ผื่นหนา แห้ง แข็ง เห็นลายเส้นของผิวหนังชัด และมีสีคล้ำ

อนึ่ง ผื่นผิวหนังอักเสบสามารถเกิดได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย อาจเกิดตำแหน่งเดียว หรือหลายตำแหน่งพร้อมกัน ที่พบเกิดบ่อยคือ ตามข้อพับต่างๆ

แพทย์วินิจฉัยผื่นผิวหนังอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยผื่นผิวหนังอักเสบได้จาก

  • ประวีติอาการ
  • ประวัติโรคประจำตัว
  • ประวัติโรคในครอบครัว
  • การตรวจร่างกายผู้ป่วย
  • การตรวจดูรอยโรค/ลักษณะผื่นที่ผิวหนัง

ส่วนการหาสาเหตุของการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบนั้น ขึ้นอยู่กับ

  • ประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย
  • การตรวจร่างกาย และ
  • การตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น หากสงสัยว่าผื่นนี้สาเหตุเกิดจากผื่นแพ้สัมผัส แพทย์อาจทำการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น
    • การตรวจวิธีเฉพาะทางโรคผิวหนังที่เรียกว่า “Patch test” เพื่อดูว่าสิ่งใด/สารใดเป็นสาเหตุให้ผิวหนังเกิดการแพ้

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อผิวหนังเกิดผื่นและอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการเลวลงหลังการดูแลตนเองภายใน 2 - 3 วัน สามารถมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยและเพื่อการรักษาที่ถูกต้องได้เสมอ

รักษาผื่นผิวหนังอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาผื่นผิวหนังอักเสบ:

  • ระยะเริ่มมีอาการ รักษาด้วย
    • การประคบผื่นด้วยความเย็น ลดอาการบวม ช่วยทำให้ผื่นแห้ง ลดการเกิดน้ำเหลือง และลดอาการคัน และ
    • ร่วมกับรับประทานยาแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine เพื่อลดอาการคัน
  • ส่วนในระยะหลังที่น้ำเหลืองลดลง แพทย์มักให้ใช้เป็นยาทาในกลุ่มยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบเรื้อรังของผิว

ทั้งนี้ การรักษาผื่นผิวหนังอักเสบ จะต้องร่วมกับการรักษาสาเหตุด้วยเสมอ ซึ่งการรักษาสาเหตุจะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ เช่น การรักษาควบคุมโรคเซบเดิร์ม ,หรือการรักษาควบคุมโรคผื่นแพ้สัมผัส เป็นต้น

นอกจากนั้น ผู้ป่วยต้องคอยสังเกตว่า อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ เพื่อการหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นนั้นๆ เช่น

  • ประเภท อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง
  • รวมไปถึงอุณหภูมิ
  • เหงื่อ และ
  • สิ่งแวดล้อม

ผื่นผิวหนังอักเสบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

เนื่องจากผื่นผิวหนังอักเสบมักมีอาการคัน การเกาผื่นมากและรุนแรง จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนังได้

ผื่นผิวหนังอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ผื่นผิวหนังอักเสบมีการพยากรณ์โรคโดยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ไม่ทำให้ตาย โดยอาการมักเป็นๆหายๆขึ้นกับสาเหตุของผื่นผิวหนังอักเสบนั้น เช่น หากเป็นผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากผื่นแพ้สัมผัส ถ้าไม่หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้ผิวหนังเกิดการแพ้/การอักเสบ ผื่นผิวหนังอักเสบก็จะเป็นๆหายๆจนกว่าจะเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดการแพ้นั้นได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีผื่นผิวหนังอักเสบคือ

  • พยายามเลี่ยงการเกาผื่นและตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนจากการเกา
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดการแพ้ของผิวหนัง
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
  • อาบน้ำเพื่อรักษาความสะอาดร่างกายวันละ 1 - 2 ครั้งโดยอาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง เลือก ใช้ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือทำให้ผิวแห้งเช่น ใช้สบู่เด็กอ่อน
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และไม่ก่อให้เกิดการเสียดสีระคายต่อผิวหนัง
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้การระคายเคืองผิวหนัง
  • ใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นกับผิว (Moisturizer) ชนิดที่ไม่ก่ออาการแพ้แก่ผิวหนัง เช่น ไม่มีส่วน ผสมของน้ำหอมหรือไม่ใส่สารกันบูด
  • สังเกตการใช้ชีวิตประจำวันว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ ให้หลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆ
  • ทายา/ กินยา ตามแพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • การฉีดวัคซีนต่างๆควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะอาจเกิดการแพ้ขึ้นผื่นที่รุนแรงจากแพ้วัคซีนรุนแรงได้
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

หลังการรักษา หากผื่นยังลุกลามมากขึ้นหรือผื่นเกิดการติดเชื้อเช่น เกิดหนอง แนะนำให้มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

ป้องกันเกิดผื่นผิวหนังอักเสบได้อย่างไร?

ป้องกันการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบได้โดย

  • เลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่างๆ
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเท่าที่จำเป็น เพื่อลดโอกาสเกิดผื่นผิวหนังอักเสบที่มีสาเหตุจากแพ้สาร เคมี
  • บำรุงผิวให้ชุ่มชื้นด้วยครีมที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น (Moisturizer) เป็นประจำเพื่อลดโอกาสเกิดการระคายเคืองของผิว
  • สังเกตการใช้ชีวิตประจำวันทั้งที่บ้านและที่ทำงานว่า มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นหรือก่อการระคายเคืองต่อผิว (รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม) ให้หลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุผื่นผิวหนังอักเสบให้ได้ดี

บรรณานุกรม

  1. ปรียากุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:ชื่อบท.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555 , อภิชาติ ศิวยาธร . โรคผิวหนังต้องรู้สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป . พิมพ์ครั้งที่ 5 .สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  2. Lowell A. Goldsmith, Stephen I. Katz, Barbara A. Gilchrest, Amy S. Paller, David J.Leffell, Klaus Wolff. Dermatology in general medicine. 8 ed.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Dermatitis [2021,April3]
  4. http://inderm.go.th/news/myfile/244345354f83d1e208_54-56.pdf [2021,April3]