ผิวแห้ง (Dry skin)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 22 สิงหาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- อะไรเป็นสาเหตุและกลไกการเกิดภาวะผิวแห้ง?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดผิวแห้ง?
- อาการของผิวแห้งเป็นอย่างไร?
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะผิวแห้งได้อย่างไร?
- แพทย์รักษาภาวะผิวแห้งอย่างไร?
- ภาวะผิวแห้งก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ผิวแห้งมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีผิวแห้ง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันภาวะผิวแห้งได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- สเตียรอยด์ ยาสเตียรอยด์ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact Dermatitis)
บทนำ
ผิวแห้ง หรือ ภาวะผิวแห้ง หรือ อาการผิวแห้ง (Dry skin หรือ Xerosis) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในฤดูหนาวที่มีอากาศแห้ง อาการของผิวแห้งมีตั้งแต่ผิวแห้งเล็กน้อยที่ไม่สังเกตเห็น ไม่มีอาการ, หรือผิวแห้งมากจนมีอาการคันและติดเชื้อแบคทีเรียจากการเกา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
ผิวแห้งพบได้ทุกวัย ตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ไปจนถึงผู้สูงอายุ และทั้งเพศหญิงและเพศชาย
อะไรเป็นสาเหตุและกลไกการเกิดภาวะผิวแห้ง?
ผิวแห้ง เกิดจากการที่ผิวหนังสูญเสียน้ำให้กับบรรยากาศโดยการระเหยออก ยิ่งอากาศในบรรยากาศแห้งโดยเฉพาะฤดูหนาว จะทำให้น้ำในผิวหนังระเหยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น จึงมีโอกาสการเกิดผิวแห้งได้ง่ายขึ้น
การระเหยของน้ำออกจากผิวหนังนั้น โดยปกติจะมีการป้องกันด้วยชั้นของผิวหนังซึ่งมีส่วนประกอบเสมือนกำแพงอิฐที่มีเซลล์ที่ผิวหนังชั้นนอกเป็นก้อนอิฐ และไขมันของผิวหนัง (Fatty acid, Ceramides, Cholesterol) เชื่อมก้อนอิฐแต่ละก้อนไว้ หากเกิดความบกพร่องของกำแพงผิวหนังนี้ ก็จะทำให้ผิวหนังเสียน้ำสู่อากาศรอบตัว เกิดภาวะผิวแห้งได้เช่นกัน
ตัวอย่างปัจจัยที่มีผลในการทำลายชั้นกำแพงของผิวหนังนี้ เช่น
- มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่มีปัญหาภาวะผิวแห้งนั้นมีเพิ่มขึ้นทุกปีในระยะหลังนี้ โดยอาจเนื่องมาจาก พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เราอาบน้ำอุ่น, ฟอกสบู่กันบ่อยมากขึ้น จึงทำให้สูญเสียไขมันที่ประกอบอยู่ในชั้นผิวส่วนนอกของผิวหนัง
- องค์ประกอบของกำแพงของผิวหนังในแต่ละส่วนของร่างกายมีส่วนประกอบในสัดส่วนที่ต่างกันไป ปัญหาผิวแห้งในแต่ละส่วนของร่างกายจึงมีความรุนแรงและอาการไม่เท่ากัน จากการศึกษาพบว่า บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้าเป็นส่วนที่มีการระเหยของน้ำได้มากที่สุด จึงเกิดปัญหาผิวแห้งได้ง่ายเมื่อเทียบกับผิวหนังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ใบหน้า เป็นต้น
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดผิวแห้ง?
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะผิวแห้ง แบ่งเป็น
- สาเหตุ/ปัจจัยจากภายในร่างกาย: โดยมีอายุเป็นปัจจัยสำคัญ ยิ่งอายุมากขึ้น ผิวมีแนว โน้มที่จะแห้งมากขึ้น โดยเฉพาะหลังอายุ 60 ปี
- สาเหตุ/ปัจจัยจากภายนอกร่างกาย: ขึ้นกับสภาพแวดล้อม และกิจกรรม/พฤติกรรมต่างๆ เช่น
- ผู้ที่อยู่ในสภาพอากาศแห้ง มีแนวโน้มจะเกิดผิวแห้งได้มากกว่า
- รวมถึงผู้ที่ชอบอาบน้ำอุ่น/น้ำร้อน แช่น้ำอุ่น/น้ำร้อนเป็นประจำด้วย
- และผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสกับ สบู่ ผง ซักฟอก บ่อยๆ ก็ทำให้เกิดผิวแห้งบริเวณที่สัมผัสสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้
อาการของผิวแห้งเป็นอย่างไร?
เนื่องจาก น้ำเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่นและมีการผลัดเซลล์ผิวหนังไปตามปกติ ในรายที่ผิวหนังแห้งไม่มาก จะสังเกตผิวหนังดูแห้งด้าน เห็นร่องลายของผิวหนังชัด ผิวขาดความยืดหยุ่น เมื่อผิวแห้งมากขึ้น จะส่งผลให้ผิวหนังเกิดอาการ แห้ง คัน ลอก เป็นสะเก็ด
ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่? แพทย์วินิจฉัยภาวะผิวแห้งได้อย่างไร?
สามารถไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาลได้เสมอ หากมีข้อสงสัยจากมีอาการคันผิวหนัง หรือคิดว่าตนเองมีผิวแห้ง เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลผิวหนัง
โดยทั่วไป แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการผิวแห้งได้จาก
- การสอบถามประวัติอาการของผู้ป่วย
- การตรวจร่างกาย และ การตรวจดูผิวหนัง
- แต่ในกรณีที่มีอาการมาก หรือมีลักษณะชวนสงสัยว่า มีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง/ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก หรือ โรคผื่นแพ้สัมผัส อาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทาน, หรือการตรวจทดสอบการแพ้สารต่างๆของผิวหนัง ที่เรียกว่า Patch test เป็นต้น
แพทย์รักษาภาวะผิวแห้งอย่างไร?
แนวทางการรักษาผิวแห้ง ได้แก่
- การใช้ โลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นต่อผิว (Skin moisturizer) ซึ่งควรเลือกเป็นชนิดที่ไม่ผสมน้ำหอมหรือเจือสีเพื่อลดโอกาสแพ้สารเหล่านั้น โดยใช้ทาหลังอาบน้ำเช้า-เย็นและระหว่างวันเมื่อรู้สึกว่าผิวแห้ง
- หากผิวแห้งมาก มีอาการอักเสบคัน หรือติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนจากการเกา (มีแผล หนอง)
- สามารถใช้ยาทาสเตียรอยด์ทาลดการอักเสบและคันของผิวได้ แต่ควรเป็นระยะเวลาสั้นๆไม่เกิน 2 สัปดาห์ (เพราะถ้าใช้ติดต่อนานเกิน 2 สัปดาห์ ยาจะก่อผลข้างเคียงต่อผิวหนัง เช่น ก่อการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อกับผิวหนัง ผิวหนังบาง ผิวตรงนั้นเกิดแผลและติดเชื้อได้ง่าย)
- อาจรับประทานยาแก้แพ้กลุ่มแอนติฮิสตามีน(Antihistamine)เพื่อลดอาการคัน
- และ/หรือ ทา/หรือกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียกรณีมีแผลติดเชื้อแบคทีเรีย
ภาวะผิวแห้งก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากผิวแห้ง คือ การเกิดการอักเสบของผิวหนัง (Asteatotic eczema) ลักษณะเป็น ผิวแห้ง แดง คัน เป็นขุย และ/หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนในบริเวณที่คันจากมีแผลแตก และ/หรือจากการเกา คือ มีอาการแดง เจ็บ อาจมีหนอง
ผิวแห้งมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ผิวแห้ง ไม่ใช่ภาวะ/อาการรุนแรง อาการมักดีขึ้นหลังใช้โลชันและปฏิบัติตนเพื่อเลี่ยงอาการผิวแห้ง แต่อาการจะเกิดเป็นซ้ำได้เสมอ เมื่อสัมผัสกับอากาศเย็นแห้ง เช่น ในฤดูหนาว หรือเดินทางไปต่างประเทศในประเทศเขตอากาศหนาว
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีผิวแห้ง?
การดูแลตนเองเมื่อมีผิวแห้ง ได้แก่
- หลีกเลี่ยงอากาศแห้งและเย็นจัด
- ไม่อาบน้ำนาน ไม่แช่น้ำนาน
- ฟอกสบู่เฉพาะบริเวณที่จำเป็น เช่น รักแร้ ขาหนีบ ลำตัว เลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว
- ไม่อาบน้ำอุ่นหรือร้อนจัด
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
เมื่อผิวหนังมีอาการ แดง คันมากขึ้น หรือเป็นหนอง หรือเมื่อกังวลในอาการ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หรือ ถ้าเคยพบแพทย์แล้ว ก็ควรพบแพทย์ก่อนนัด
ป้องกันภาวะผิวแห้งได้อย่างไร?
การป้องกันภาวะผิวแห้ง ได้แก่
การปฏิบัติตนเพื่อเลี่ยงผิวแห้ง เช่น
- หลีกเลี่ยงอากาศแห้งและเย็นจัด
- ไม่อาบน้ำนาน ไม่แช่น้ำนาน
- ไม่อาบ/แช่ น้ำอุ่นจัด น้ำร้อน
- ฟอกสบู่เฉพาะบริเวณที่จำเป็น เช่น รักแร้ ขาหนีบ ลำ ตัว และ
- เลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว เช่น สบู่เด็กอ่อน
- ใช้โลชันดังกล่าวใน’หัวข้อ การรักษา’ เพื่อให้ความชุ่มชื้นผิวเป็นประจำทุกวัน
บรรณานุกรม
- Leslie Baumann,MD.Cosmetic dermatology second edition.The McGraw-Hill Companies,Inc 2002
- Dry skin .American family physician.org . http://www.aafp.org/afp/2003/0915/p1145.html [2020,Aug15]