ผงเข้าตา (Dust in eye)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่างกายมีกลไกป้องกันผงเข้าตาอย่างไร?

ในสภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบันบรรยากาศเต็มไปด้วยมลภาวะ ขยะ ฝุ่นละออง ปลิวอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะสิงห์มอเตอร์ไซค์ และยังต้องเผชิญกับแมลงตัวเล็กๆที่บินสวนมา แม้แต่ชาวไร่ชาวนาก็อาจมีเศษใบไม้ เกสรดอกไม้ปลิวเข้าตา อาจกล่าวได้ว่าเกือบทุกคนมีโอกาสที่เศษผงเข้าตาได้ แต่ที่เราไม่ค่อยพบผู้ป่วยมาหาแพทย์ด้วยผงเข้าตามากนักเพราะร่างกายมีกลไกในการป้องกันมิให้ผงเข้าตาได้ง่ายๆได้หลายอย่างอาทิเช่น คิ้ว ขนตา หนังตา และน้ำตา

  • คิ้ว (Eyebrow) เป็นอีกด่านที่เป็นแผงกั้นมิให้ผงเข้าตา อีกทั้งขนตาไวต่อการสัมผัสมาก หากมีเศษผงถูกขนตาจะส่งผลให้ตากระพริบหรือหลับตาทันที เป็นการป้องกันไม่ให้ผงเข้าไปในตา
  • หนังตาหรือเปลือกตา (Eyelid) ทำหน้าที่ปิดเปิดตา หากเราผ่านไปที่มีฝุ่นละอองเราสามารถ สั่งให้หนังตาปิดลงเพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่นนั้นได้ อีกทั้งหนังตาอาจปิดได้โดยอัตโนมัติหากมีสิ่งแปลกปลอมปลิวผ่าน ทั้งนี้ในคนปกติจะมีการกระพริบตาเป็นระยะๆเพื่อเกลี่ยน้ำตาที่ผิวดวงตาทำให้ผิวตาเรียบใสและขณะเดียวกันชะล้างสิ่งแปลกปลอมรวมทั้งฝุ่นผงออกได้
  • น้ำตา (Tear) ในภาวะปกติจะมีน้ำตามาหล่อลื่นผิวตาให้ชุ่มชื้น น้ำตาที่ฉาบอยู่บางๆทำให้เรามักไม่รู้สึกว่ามีน้ำตา ซึ่งหากมีสิ่งแปลกปลอม/ฝุ่นผง ต่อมน้ำตาจะเร่งสร้างน้ำตาออกมามากกว่าปกติเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอม/ฝุ่นผงนั้นๆ ทุกคนที่เคยมีผงเข้าตาจะรู้ดีว่าจะมีน้ำตาไหลมากกว่าปกติ

ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีผงเข้าตาอย่างไร?

ผงเข้าตา

ในบางครั้งกระบวนการดังกล่าวในหัวข้อแรกเช่น คิ้วและน้ำตาไม่สามารถกั้นสิ่งแปลกปลอม /ฝุ่นผงได้ทั้งหมด ดังนั้นเมื่อมีฝุ่นผงเข้าตาจึงควรปฏิบัติดังนี้

1. อย่าขยี้ตาเพราะนอกจากฝุ่นผงจะไม่ออกแล้วอาจทำให้ฝุ่นผงนั้นไปเขี่ยผิวตาดำ (กระจกตา) ทำให้ตาดำเกิดแผลถลอกหรือมีแผลกว้างขึ้นหรืออาจทำให้ผงยิ่งฝังลึกลงไป ทำให้ยากแก่การเอาผงออกยิ่งขึ้น

2. ส่องกระจกหรือให้ผู้อื่นช่วยดูว่ามีเศษฝุ่นผงติดอยู่ที่ใด ถ้าเป็นฝุ่นละออง เศษดิน ทราย อาจติดอยู่ที่เยื่อบุตาขาวหรือวางอยู่บนผิวตาดำ บางรายผงอาจอยู่ในซอกเยื่อบุตาหรืออาจติดอยู่ที่เยื่อบุตาที่บุหนังตาส่วนบน (กรณีนี้ต้องพลิกหนังตาบนขึ้นถึงจะเห็น) ตราบใดที่ผู้ ป่วยมีอาการเคืองตาก็น่าจะมองหาผงให้พบ บางครั้งผงอาจมีขนาดเล็กหรือไม่มีสีที่ทำให้ยากแก่การมองเห็น การส่องไฟฉายในทิศทางต่างๆบางมุมอาจช่วยทำให้เห็นเงาสะท้อนของเศษผงได้โดยเฉพาะผงเล็กๆที่ติดที่ผิวตาดำ ถ้าพบผงที่เยื่อบุตาขาวอาจเอาออกได้ง่ายโดยวิธีล้างตาด้วยน้ำสะอาด หรือลืมตาและกลอกตาในน้ำสะอาด หรือแม้แต่ใช้ไม้พันสำลีหรือชายผ้าสะอาด เขี่ยออกได้ แต่ทุกขั้นตอนต้องล้างมือให้สะอาดก่อน ถ้าพยายามแล้วผงไม่ออกแสดงว่าติดแน่นควรพบแพทย์หรือจักษุแพทย์

3. ถ้าเป็นผงเหล็กจากการขัดหรือเคาะตีเหล็ก ผงเหล็กอาจติดอยู่ที่ผิวตาดำ ผงเหล็ก มักจะมีเหลี่ยมคมจึงฝังอยู่ค่อนข้างแน่น อีกทั้งตาดำเป็นส่วนที่ไวต่อความรู้สึกมาก ไม่อาจใช้ไม้พันสำลีเขี่ยได้เพราะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด การพยายามเขี่ยยิ่งจะทำให้เศษเหล็กฝังลึกลงไป อีกจึงไม่ควรพยายามไปเขี่ยเอง อาจลองใช้น้ำล้างตาดู ถ้าไม่ออกหรือยังเคืองตาควรต้องรีบพบแพทย์หรือจักษุแพทย์ฉุกเฉินเพื่อให้เอาผงเหล็กออกจะปลอดภัยกว่า เมื่อเอาผงเหล็กออกแล้ว มักมีสนิมติดค้างในตา แพทย์อาจต้องนัดมาเขี่ยออกทีหลังหากครั้งแรกเขี่ยออกไม่หมด เมื่อมีการเขี่ยผงออกจากตาดำมักมีรอยแผลถลอกของผิวตาดำเสมอ จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยยาหยอด ปฏิชีวนะอย่างน้อย 24 - 48 ชม. จนกว่าแน่ใจว่าไม่มีการติดเชื้อ (ไม่ควรซื้อยาใช้เองอย่างน้อยควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ)

มีผลแทรกซ้อนอะไรบ้างเมื่อฝุ่นผงเข้าตา?

ฝุ่นผงเข้าตาอาจเป็นเรื่องขี้ผงเพราะผงหลุดไปเองหรือเขี่ยออกได้ง่ายเป็นส่วนใหญ่ ในบางครั้งผงที่เข้าตานั้นสกปรกมีเชื้อโรคก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาขาวหรือแม้แต่ตาดำ (กระจกตา) ได้ ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่เยื่อบุตาทำให้เจ็บตาเคืองตามีขี้ตา รักษาได้ไม่ยาก

แต่หากมีการติดเชื้อที่กระจกตามักทำให้มีอาการปวดตา ตามัวร่วมด้วย นานเข้าเกิดเป็นแผลที่กระจกตาซึ่งยุ่งยากแก่การรักษา ต้องไม่ลืมว่าแผลอักเสบที่กระจกตาเป็นสาเหตุทำให้สูญเสียการมองเห็น ซึ่งที่สำคัญมักเริ่มมาจากผงเข้าตาก่อนเป็นส่วนใหญ่ แผลอักเสบที่กระจกตาต้องใช้เวลารักษายากง่ายขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุ บางครั้งรักษาได้หายแต่ก็อาจทำให้กระจกตาบางส่วนเป็นแผลเป็นเห็นเป็นฝ้าขาวร่วมกับสูญเสียการมองเห็นบางส่วน บางครั้งเมื่อเชื้อโรคเป็นชนิดรุนแรงหรือมารักษาช้าเกินไป กระจกตาอาจอักเสบรุนแรงจนต้องรักษาโดยการเปลี่ยนกระจกตา หรือบางรายรุนแรงมากโดยเชื้อโรคลุกลามเข้าภายในดวงตา การรักษาอาจถึงขั้นต้องผ่าตัดเอาตาออกเพื่อขจัดเชื้อโรคนั้นจึงเกิดการสูญเสียสายตาและดวงตาไปข้างหนึ่งจากเจ้าเศษผงเล็กๆนี้ได้

เมื่อฝุ่นผงเข้าตาควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีฝุ่นผงเข้าตาควรพบจักษุแพทย์หรือแพทย์เมื่อ

  • เป็นผงโลหะเพราะมักเป็นผงมีคม บาดเนื้อเยื่อตาได้ลึก
  • ผงมีขนาดใหญ่เพราะอาจก่อแผลขนาดใหญ่ต่อเนื้อเยื่อตา
  • เมื่อพยายามเขี่ยผงเองแล้ว (ต้องรักษาความสะอาดและอย่าทำรุนแรง) ผงยังติดฝังแน่นไม่ออก
  • มีอาการปวดตา แสบตามาก น้ำตาไหล ตาแดง บวม มีขี้ตา หรือเห็นภาพไม่ชัด
  • เมื่อยังกังวลในอาการถึงแม้ผงออกแล้ว หรือยังมีอาการต่างๆทางดวงตาเมื่อเขี่ยผงออกเองแล้ว

แพทย์วินิจฉัยฝุ่นผงเข้าตาอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยฝุ่นผงเข้าตาได้จากประวัติการได้รับฝุ่นผง อาการทางดวงตา การมองเห็น และการตรวจดวงตา โดยทั่วไปมักไม่มีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อนำฝุ่นผงออกจากตาด้วยวิธีการและเครื่องมือทางการแพทย์แล้ว แพทย์มักให้การดูแลรักษาตามอาการและตามดุลพินิจของแพทย์เช่น ให้น้ำตาเทียม ให้ยาหยอดตาปฏิชีวนะ แนะนำการพักสายตา และ/หรือการปิดตาด้านนั้นจนกว่าจะหายระคายเคือง และอาจนัดตรวจติดตามผลใน 1 - 2 วันหรือตามดุลพินิจของแพทย์

อย่างไรก็ตามถ้าเป็นฝุ่นผงที่บาดลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อดวงตา แพทย์มักต้องมีการตรวจเฉพาะต่างๆเพิ่มเติมและการดูแลรักษามักยุ่งยากซับซ้อนขึ้นทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ การบาดเจ็บของดวงตาที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์

ป้องกันฝุ่นผงเข้าตาอย่างไร?

วิธีป้องกันฝุ่นผงเข้าตาคือ

  • สวมใส่แว่นตากันแดดเสมอเมื่ออยู่ในที่มีฝุ่นละอองมาก หลับตาหรือหลบเข้าที่กำบัง
  • สวมใส่แว่นตาป้องกันดวงตาให้เหมาะสมกับงานที่ทำ
  • ดูแลคอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัส (Contact lens) อย่างถูกต้องเมื่อใส่คอนแทคเลนส์เพราะอาจมีฝุ่นผงติดได้ง่าย

บรรณานุกรม

  1. http://www.healthline.com/health/eye-foreign-object-in#Prevention8 [2016,April30]
Updated 2016, April 30