ปากนกกระจอก (Angular cheilitis) หรือ โรคขาดวิตามิน บี-2 (Vitamin B-2 deficiency)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม? และแหล่งอาหาร

โรคปากนกกระจอก (Angular cheilitis หรือ Angular stomatitis หรือ Angular cheilosis) หรือ โรคขาดวิตามิน บี-2 (Vitamin B-2 deficiency หรือ Riboflavin deficiency หรือ Ariboflavinosis) คือโรคที่มุมปากทั้งสองข้างเกิดการอักเสบสาเหตุจากร่างกายขาดวิตามิน บี-2 (Vitamin B-2 อีกชื่อ คือ Riboflavin)

ปัจจุบัน โรคปากนกกระจอกเป็นโรคพบไม่บ่อยนัก เป็นโรคพบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบสูงขึ้นในผู้สูงอายุ ทั้งนี้ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน

วิตามินบี-2 เป็นวิตามินที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ดังนั้นร่างกายจึงได้รับวิตามินนี้จากอาหาร ทั้งนี้วิตามินบี-2 มีอุดมสมบูรณ์ในอาหารหลากหลายชนิด จึงมักไม่ค่อยพบการขาดวิตามินบี-2 ซึ่งโดยทั่วไป ถ้าเกิดการขาด มักไม่ค่อยพบการขาดเฉพาะแต่วิตามินบี-2 แต่มักเกิดร่วมกับการขาดวิตามินต่างๆหลายชนิดซึ่งรวมทั้งวิตามินบีอื่นๆ(วิตามินบีรวม)ด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะเกิดจากภาวะขาดอาหารโดยรวมทุกชนิดนั่นเอง ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเป็นการขาดวิตามิน บี-2

แหล่งอาหาร:

แหล่งอาหารของวิตามินบี-2 มีอยู่มากมายในอาหารต่างๆ ซึ่งที่มีวิตามินบี2ในปริมาณสูง เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ตับ ไต นม เนยแข็งชนิด Cottage cheese โยเกิร์ต ผักใบเขียวต่างๆโดยเฉพาะพวกใบเขียวเข้ม (เช่น ผักโขม และบรอกโคลี) หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วกินฝัก มะเขือเทศ เห็ดต่างๆ ข้าวกล้อง ถัวเหลือง

อย่างไรก็ตามวิตามินบี-2 จะเสื่อมคุณสมบัติได้ง่ายเมื่อโดนแสงสว่าง (Light) แต่ไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน คือทนความร้อนได้ดี(Heat-stable vitamin)

วิตามินบี-2 มีประโยชน์และโทษอย่างไร?

ปากนกกระจอก

ประโยชน์และโทษของวิตามินบี 2 ได้แก่

ก. ประโยชน์:

วิตามินบี-2 มีหน้าที่/ประโยชน์ช่วยในการใช้พลังงานทั้งที่ได้จาก คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และจากโปรตีน ช่วยการทำงานของเอนไซม์ต่างๆของเซลล์ ช่วยสร้างกรดไขมัน กรดอะมิโน และช่วยการสร้างสารต้านอนุมูลอิสสระที่ชื่อว่า กลูตาไทโอน (Glutathione) ร่วมทั้งช่วยเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เล็กดูดซึมธาตุเหล็ก

ข. โทษ:

ปัจจุบัน การศึกษาทางการแพทย์ยังไม่พบผลข้างเคียง หรือโทษ จากการบริโภควิตามินบี-2 เสริมอาหารในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องทั้งในทารกจนถึงในผู้สูงอายุ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ร่างกายจึงกำจัดส่วนเกินออกทางปัสสาวะได้ง่าย ไม่เหลือสะสมปริมาณสูงในร่างกาย

โรคปากนกกระจอกเกิดได้อย่างไร?

โรคปากนกกระจอกเกิดจากการขาดวิตามินบี-2 ซึ่งเป็นวิตามินสำคัญช่วยการเจริญเติบโตและซ่อมแซมเซลล์ที่บาดเจ็บเสียหายโดยเฉพาะกับเซลล์เยื่อบุผิวของอวัยวะต่างๆ ดังนั้นเมื่อขาดวิตามิน บี-2 จึงมักเกิดการบาดเจ็บและการอักเสบขึ้นกับเซลล์เหล่านี้ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ เซลล์ของเยื่อมุมปาก ของลิ้น ของผิวหนัง ของเยื่อตา และของแก้วตา

อย่างไรก็ตาม การอักเสบของมุมปาก/ปากนกกระจอกไม่ใช่อาการเฉพาะจากขาดวิตามินบี-2 เพียงสาเหตุเดียว ทั้งนี้สามารถพบได้จากสาเหตุอื่นๆซึ่งที่พบได้บ่อย เช่น

  • ปากแห้งจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด, ยาทางจิตเวชบางชนิด, ยาขับปัสสาวะ
  • ปากแห้งจากโรคเบาหวาน
  • จากภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก
  • ภาวะขาดสังกะสี
  • การติดเชื้อรา หรือ เชื้อแบคทีเรีย (พบได้น้อย) ที่มุมปาก
  • ในผู้สูงอายุที่ช่องปากแคบลงจากฟันหักทั้งหมด จึงส่งผลให้เกิดแผลที่มุมปากได้ง่าย
  • ผลข้างเคียงจากได้รับ วิตามิน เอ สูงอย่างต่อเนื่อง
  • ที่พบได้บ่อย แต่ไม่ได้เกิดจากโรคหรือภาวะผิดปกติ คือการที่ปากแห้งมากในฤดูหนาว และใช้น้ำลายเลียริมฝีปากบ่อยๆ ซึ่งจะยิ่งทำให้ปากและมุมปากแห้งและแตกได้ง่ายด้วยมักเป็นความเชื่อที่ว่า ยิ่งใช้น้ำลายเลียริมฝีปาก จะยิ่งช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับริมฝีปาก

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคปากนกกระจอก?

ดังกล่าวแล้วว่า ในคนทั่วไปมักไม่ค่อยพบเกิดการขาดวิตามินบี-2 เนื่องจากเป็นวิตามินที่มีอุดมสมบูรณ์ในอาหารหลากหลายชนิด แต่อย่างไรก็ตาม มีบางภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการขาดวิตามินบี2ได้ ซึ่งมักเกิดจากขาดสารอาหารอื่นๆร่วมด้วย ทั้งนี้เพราะสาเหตุต่างๆเหล่านั้นมักเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะขาดอาหารในภาพรวม ไม่ได้เป็นสาเหตุเฉพาะเจาะจงที่ขาดเฉาะวิตามิน บี-2 โดยปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น ได้แก่

  • มีโรคเรื้อรังของลำไส้ เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือท้องเสียเรื้อรัง ทั้งนี้เพราะวิตามินบี-2 จะถูกดูดซึมในส่วนของลำไส้เล็ก
  • ขาดอาหารเรื้อรังจาก ภาวะทางเศรษฐกิจ หรือจากโรคพฤติกรรมผิดปกติในการกิน (Bulimia nervosa)
  • เด็กอ่อนที่กินนมแม่ เพราะแม่ขาดอาหาร
  • ผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแล หรือมีปัญหาทางเศรษฐกิจ
  • หญิงตั้งครรภ์ เพราะร่างกายต้องการบี12เพิ่มขึ้นในการเลี้ยงดูทารก
  • หญิงให้นมบุตร เพราะร่างกายต้องการบี12เพิ่มขึ้นในการผลิตน้ำนม

คนทั่วไปควรได้รับวิตามินบี-2 วันละเท่าไร?

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไปต่อปริมาณวิตามินบี-2 ที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies)ปี ค.ศ. 2011 คือ

โรคปากนกกระจอกมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคปากนอกระจอกคือ

  • มีแผลที่มุมปาก มักเกิดพร้อมกันที่มุมปากทั้ง 2 ข้าง แต่อาการแต่ละข้างอาจมากน้อยต่างกัน
  • ลักษณะแผลจะเป็นแผลเปื่อย ร่วมกับมีตุ่มพองแตกเป็นร่อง เจ็บ แผลมีสารคัดหลั่งออกสีเหลือง
  • บางแผลจะตกสะเก็ด
  • แผลค่อนข้างออกสีแดง และมีเลือดออกได้
  • ซึ่งแผลอาจติดเชื้อรา หรือติดเชื้อแบคทีเรียได้
  • แผลอาจเป็นอยู่นาน3-4 วัน หรือเรื้อรัง ทั้งนี้ขึ้นกับระยะเวลาของการขาดวิตามินบี-2

นอกจากแผลเปื่อยที่มุมปากทั้งสองข้างแล้ว ยังอาจพบอาการร่วมอื่นๆได้อีก ที่พบได้บ่อย คือ

  • ริมฝีปากแตกเป็นร่อง เจ็บ
  • ลิ้นอักเสบ เจ็บ บวม แดง
  • ผื่นแดงขึ้นบริเวณถุงอัณฑะในผู้ชาย หรือที่อวัยวะเพศภายนอกในผู้หญิง
  • อาจมีตาแดงจากเยื่อตาอักเสบชนิดไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
  • เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกก่อนวัย
  • อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของตาบอดกลางคืน
  • อาจมีภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากเยื่อบุลำไส้เล็กดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อยลง
  • อ่อนเพลีย
  • ปลายประสาทอักเสบ
  • อาจมีอาการปวดศีรษะไมเกรนได้
  • ถ้าในขณะตั้งครรภ์ มารดาขาดวิตามินบี-2 อาจก่อให้ทารกมีความพิการแต่กำเนิดบางชนิด เช่น
    • ปากแห่วงเพดานโหว่
    • โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ผนังกั้นระหว่างแต่ละห้องของหัวใจผิดปกติ(Septal defect) และ/หรือ
    • เด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์

แพทย์วินิจฉัยโรคปากนกกระจอกอย่างไร?

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคปกนกกระจอกจากลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว คือ

  • จากการมีปากนกกระจอก การสอบถามประวัติอาการ การกินอาหาร ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการกินยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจลักษณะแผลเปื่อยที่มุมปากและการตรวจช่องปาก

บางครั้งอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เพื่อหาสาเหตุอื่นๆของแผลเปื่อยนั้น เช่น

  • การย้อมเชื้อจากแผลเปื่อย เมื่อสงสัยมีการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • หรือการตรวจเลือด CBC เมื่อสงสัยสาเหตุจากภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก เป็นต้น

รักษาโรคปากนกกระจอกอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคปากนกกระจอก คือ

  • การให้วิตามินบี-2 เสริมอาหาร อาจโดยการกิน หรือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อขึ้นกับความรุนแรงของอาการและสาเหตุของการขาดอาหาร และการเพิ่มอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี-2
  • และอาจให้วิตามินรวมเสริมอาหารร่วมด้วย เพราะดังกล่าวแล้วว่า โรคปากนกกระจอกมักเกิดร่วมกับการขาดวิตามินและเกลือแร่อื่นๆเสมอ เนื่องจากเป็นผลจากภาวะขาดอาหารโดยรวม

นอกจากนั้นคือ การรักษาแผลที่มุมปาก โดย

  • ยาครีมทาริมฝีปาก ให้ความชุ่มชื้น เช่น ขี้ผึ่งวาสเซลีน (Vaseline petroleum)
  • และ/หรือร่วมกับครีมยาปฏิชีวนะ หรือครีมยาต้านเชื้อรา หรืออาจเป็นยากิน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของการติดเชื้อที่เกิดร่วมด้วย
  • และการรักษาตามอาการอื่นๆ เช่น กินยาแก้ปวด/เจ็บเมื่อเจ็บแผล เป็นต้น

โรคปากนกกระจอกรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคปากนกกระจอกเป็นโรคมีการพยากรร์โรคที่ดี เป็นโรคไม่รุนแรง สามารถรักษาหายได้

ในส่วนผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราที่แผลมุมปาก
  • ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก
  • และอาจเกิดความรู้สึกเสียภาพลักษณ์ในบางคน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคปากนกกระจอก? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีแผลที่มุมปากเรื้อรัง ทั้งเกิดขึ้นข้างเดียว หรือเกิดทั้งสองข้าง ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเพื่อการหาสาเหตุโดยแพทย์ เพราะดังกล่าวแล้วว่า แผลที่มุมปากเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งนี้เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ป้องกันโรคปากนกกระจอกอย่างไร?

สามารถป้องกันโรคปากนกกระจอกได้ง่ายๆ ด้วยการกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน ร่วมกับการกิน ผัก ผลไม้มากๆในทุกมื้ออาหาร และเป็นอาหารว่าง

บรรณานุกรม

  1. Powers, H. (2003). Riboflavin (vitamin B-2) and health. Am J Clin Nutr. 77, 1352- 1360.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Angular_cheilitis[2019,June22]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Riboflavin[2019,June22]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly[2019,June22]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/125193-overview#showall[2019,June22]
  6. http://www.ndhealthfacts.org/wiki/Vitamin_B2[2019,June22]