ปัสสาวะไม่ออก (Urinary retention)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ปัสสาวะไม่ออก หรือ ฉี่ไม่ออก(Urinary retention)คือ อาการหรือภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกได้หมดตามปกติ ส่งผลให้อาจไม่มีปัสสาวะออกเลยทั้งๆที่ปวดปัสสาวะ/เบ่งปัสสาวะเต็มที่แล้ว หรือ ปัสสาวะแต่ละครั้งปริมาณน้อยกว่าปกติมาก, ลำปัสสาวะไม่พุ่ง, ปวดปัสสาวะ/เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน, บางคนอาจมีกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ร่วมด้วย

ปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออก พบบ่อยทั่วโลก พบทุกอายุโดยเฉพาะชนิดเกิดเฉียบพลัน แต่ในชนิดเกิดเรื้อรัง มักพบในเพศชายสูงอายุ (ประมาณ 10%ในเพศชายอายุช่วง50-70ปี และเพิ่มเป็นประมาณ30%เมื่ออายุช่วง70ปีขึ้นไป) พบในเพศหญิงน้อยกว่าเพศชายประมาณ10เท่าโดยมีรายงานประมาณ 1 รายต่อประชากรเพศหญิง1แสนราย/ปี

ชนิดของปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออก

ปัสสาวะไม่ออก

ปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออก มี 2ชนิด ตามลักษณะอาการที่เกิดและระยะเวลาที่เกิดอาการ คือ

  • ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน: อาการปัสสาวะไม่ออกเกิดทันที มักเกิดร่วมกับปวดปัสสาวะมากและปวดท้องน้อยมากเสมอ และอาจคลำได้ก้อนเนื้อซึ่งคือกระเพาะปัสสาวะที่ขยายใหญ่จากมีน้ำปัสสาวะคั่งที่อยู่ตรงกลางเหนือกระดูกหัวหน่าว, จัดเป็น’อาการรุนแรง/ภาวะฉุกเฉิน’ที่ต้องรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ทันที ซึ่งปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลันพบได้ทุกเพศทุกวัย
  • ปัสสาวะไม่ออกเรื้อรัง: เป็นอาการไม่รุนแรง อาการจะค่อยๆเกิดแต่ต่อเนื่องที่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิต เช่น
    • ปัสสาวะบ่อยเพราะปัสสาวะแต่ละครั้งมักปริมาณไม่มาก มีปัสสาวะเหลือคั่งในกระเพาะปัสสาวะเสมอหลังปัสสาวะทุกครั้งซึ่งเป็นปัจจัยให้ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน
    • มักไม่มีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย อาจเพียงรู้สึกปวดหน่วงๆไม่มากในท้องน้อยเป็นครั้งคราว
    • ลักษณะลำปัสสาวะจะแตก ไม่พุ่ง บางครั้งอาจไหลซึมออกมาเอง หรือ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    • อาการมักพบในเพศชายสูงอายุ(ประมาณ 50-60ปีขึ้นไป)ซึ่งพบบ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ10เท่า

ปัสสาวะไม่ออกมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออก มีหลากหลาย ได้แก่

ก. มีการอุดกั้น/อุดตัน/กดเบียดทับ กระเพาะปัสสาวะส่วนต่อกับท่อปัสสาวะ, และ/หรือภายในในท่อปัสสาวะ, และ/หรือที่ปากท่อปัสสาวะ

  • สาเหตุในเพศชาย: เช่น
    • โรคต่อมลูกหมากโต
    • ท่อปัสสาวะ/ปากท่อปัสสาวะตีบ เช่น อาจมีพังผืดจากการอักเสบ เรื้อรังของท่อปัสสาวะ เช่น จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • สาเหตุในเพศหญิง: เช่น
    • มีเนื้องอก/ก้อนเนื้อในท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกมดลูก, เนื้องอกรังไข่
    • โรค /ภาวะมดลูกหย่อน
    • มะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธ์ภายในของสตรี เช่น มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, มะเร็งซาร์โคมามดลูก
    • กะบังลมหย่อน
    • การตั้งครรภ์ ที่รวมถึงวิธีคลอดบุตร เช่น การคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ
  • สาเหตุในทั้ง2เพศ: เช่น
    • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
    • นิ่วในท่อปัสสาวะ
    • มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
    • เนื้องอก/มะเร็งท่อปัสสาวะ
    • ท้องผูกเรื้อรังจนก้อนอุจจาระในไส้ตรงและทวารหนักกดเบียดทับ กระเพาะปัสสาวะ และ/หรือ ท่อปัสสาวะ
    • ท่อปัสสาวะตีบแคบที่มักเกิดตามหลังการอักเสบเรื้อรัง เช่น สวนปัสสาวะบ่อย, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • อุดตันจากก้อนเลือด/ลิ่มเลือดกรณีมีเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะหรือในระบบทางเดินปัสสาวะ
    • โรคเลือดที่ทำให้เลือดออกง่ายร่วมถึงเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะ/อวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะจนเกิดเป็นลิ่มเลือดอุดกั้นในกระเพาะปัสสาวะและ/หรือในท่อปัสสาวะ

ข. การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะและ/หรือของท่อปัสสาวะ:

  • สาเหตุในเพศชาย: เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อจนเป็นหนอง
  • สาเหตุในเพศหญิง: เช่น การอักเสบติดเชื้อรุนแรงในช่องคลอดจนส่งผลให้ ปากท่อปัสสาวะที่เปิดออกภายนอกร่างกายอักเสบบวมจนอุดตัน
  • สาเหตุในทั้ง2เพศ: เช่น ไขสันหลังอักเสบ เช่น วัณโรคไขสันหลัง, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ส่งผลให้ปากท่อปัสสาวะอักเสบ บวม และ/หรือเกิดหนอง

ค. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: เช่น

  • ยาแก้แพ้ เช่น ยาเซทิไรซีน, ยาคลอเฟนิรามีน
  • ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิก เช่นยา ไฮออสไซยามีน
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า (TCAs) เช่น ยาอะมิทริปไทลีน
  • ยากลุ่มโอปิออยด์
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ที่ทำให้มีเลือดออกในระบบทางเดินปัสสาวะ/กระเพาะปัสสาวะจนเกิดเป็นลิ่มเลือดอุดกั้นในกระเพาะปัสสาวะและ/หรือท่อปัสสาวะ

ง. อุบัติเหตุต่อกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และ/หรือ ระบบประสาทควบคุมเนื้อเยื่อ/อวัยวะในท้องน้อย เช่น ท้องน้อยถูกกระแทกรุนแรง

จ. มีโรคสมอง หรือโรคไขสันหลัง หรือโรคเส้นประสาท ที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะ: เช่น อัมพาต: โรคหลอดเลือดสมอง, ไขสันหลังอักเสบ, โรคพาร์กินสัน, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ฉ. ผลข้างเคียงจากการตรวจและ/หรือการรักษาโรค: เช่น หลังส่องกล้องตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ, หลังผ่าตัดในช่องท้อง/ช่องท้องน้อย, การผ่าตัดอวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะโดยเฉพาะผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ, หลังใส่ท่อปัสสาวะ หรือใส่ท่อฯคาไว้เป็นระยะเวลายาวนาน

ช. ปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ/โรคจิตเวช ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ต้องการปัสสาวะจึงกลั้นปัสสาวะตลอดเวลา

ปัสสาวะไม่ออกมีอาการอย่างไร?

อาการจากปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออก ได้แก่

ก. ปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออกเฉียบพลัน: อาการสำคัญหลัก คือ

  • ปัสสาวะไม่ออกทันที/เฉียบพลันทั้งๆที่เบ่งปัสสาวะเต็มที่แล้ว บางครั้งไม่มีน้ำปัสสาวะออกเลย แต่บางครั้งมีน้ำปัสสาวะออกได้บ้างแต่ปริมาณน้อยผิดปกติ ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดร่วมกับ
    • ปวดท้องน้อยตอนล่างมาก
    • บางครั้งเมื่อเบ่งปัสสาวะมากๆอาจมีเลือดปนออกมาจากปากท่อปัสสาว
    • คลำได้คล้ายก้อนเนื้อเหนือกระดูกหัวหน่าว ซึ่งคือกระเพาะปัสสาวะที่มีน้ำปัสสาวะกักคั่งจนขยายใหญ่)

ข. ปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออกเรื้อรัง: อาการหลัก เช่น

  • ผู้ป่วยจะยังถ่ายปัสสาวะได้เสมอ โดยแต่ละครั้งไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกหมด จึงมักมีอาการเหมือนถ่ายไม่สุด และยังรู้สึกปวดปัสสาวะอยู่เกือบตลอดเวลา อาการค่อยๆเกิดต่อเนื่องและค่อยๆแย่ลงช้าๆ ไม่รุนแรง แต่เป็นปัญหาต่อคุณภาพชีวิต
  • ปัสสาวะบ่อย มักมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน กลั้นปัสสาวะแต่ละครั้งได้ประมาณต่ำกว่า2ชั่วโมง
  • ปัสสาวะไม่เป็นลำ ไม่พุ่ง บางครั้งลำปัสสาวะสะดุด แล้วจึงกลับมาไหลออกอีก
  • อาจมีปัสสาวะเล็ดหรือซึมออกมาตลอดทั้งวัน
  • มักกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ปวดปัสสาวะกลางคืนจนต้องตื่นถ่ายปัสสาวะตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปต่อคืน
  • อาจรู้สึกปวดหน่วง หรือ แน่นอึดอัด ในบริเวณท้องน้อย แต่อาการไม่มาก

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออกดังได้กล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอโดยเฉพาะปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลันซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้

แพทย์วินิจฉัยปัสสาวะไม่ออกและหาสาเหตุได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออกและหาสาเหตุได้จาก

  • ซักถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย เช่น อายุ เพศ อาการต่างๆ ประวัติโรคประจำตัว การรักษาที่ผ่านมาในอดีตรวมถึงการผ่าตัด การตั้งครรภ์ วิธีในการคลอดบุตร การฉายรังสีรักษา การใช้ยาต่างๆ โรค/ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การมีเพศสัมพันธ์
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • การตรวจภายใน (เพศหญิง)
  • การตรวจทางทวารหนัก
  • การตรวจปัสสาวะ อาจร่วมกับการตรวจเชื้อ และ/หรือการตรวจเพาะเชื้อจากน้ำปัสสาวะ
  • ตรวจเลือดเพื่อช่วยวินิจฉัยสาเหตุ เช่น โรคเลือด, ดูค่าการทำงานของไต, โรคเบาหวาน
  • ตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งของมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชายกรณีต่อมลูกหมากโต
  • ส่องกล้องตรวจท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ และอาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเมื่อพบความผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • การตรวจภาพท้องน้อยด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ
  • การตรวจวิธีเฉพาะทางศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจหาปริมาณน้ำปัสสาวะที่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ(Post void residual volume)
    • การตรวจการทำงานต่างๆของระบบการไหลของปัสสาวะที่เรียกว่า Urodynamic tests

รักษาปัสสาวะไม่ออกอย่างไร?

แนวทางการรักษาปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออก ได้แก่ การรักษาเพื่อให้น้ำปัสสาวะไหลออกได้ตามปกติและ/หรือให้กระเพาะปัสสาวะ/ท่อปัสสาวะกลับมาทำงานได้ตามปกติ, และการรักษาสาเหตุ

⌘ กรณีปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออกเฉียบพลัน:

ก. แพทย์จะให้การรักษาเพื่อให้น้ำปัสสาวะสามารถไหลออกได้ตามปกติเพื่อลดอาการปวดท้อง, ลดโอกาสเกิดกระเพาะปัสสาวะแตก, และลดโอกาสเกิดภาวะไตวาย เช่น

  • แพทย์จะใส่สายสวนปัสสาวะผ่านทางปากท่อปัสสาวะ
  • ถ้าไม่สามารถใส่สายสวนฯผ่านท่อปัสสาวะได้ แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเล็กๆหน้าท้องน้อยเหนือหัวหน่าวเพื่อสอดใส่สายท่อปัสสาวะให้น้ำปัสสาวะไหลออกทางหน้าท้อง

ข. การรักษาสาเหตุ: เมื่อรักษาให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้แล้ว แพทย์จะให้การรักษาสาเหตุซึ่งจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุ เช่น รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือ โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น (แนะนำอ่านรายละเอียดที่รวมถึงวิธีรักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุดังได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ได้จากเว็บhaamor.com)

ค. การรักษาตามอาการ: เช่น

  • ให้ยาแก้ปวด, ยาลดไข้, และ/หรือ ยานอนหลับ ตามอาการ
  • รักษาภาวะขาดน้ำกรณีมีภาวะขาดน้ำ เช่น ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ

⌘ กรณีปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออกเรื้อรัง:

แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุ จึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนตามแต่ละสาเหตุ เช่น ต่อมลูกหมากโต, มดลูกหย่อน, กระบังลมหย่อน, โรคสมอง, โรคไขสันหลัง, หรือ มะเร็งต่างๆ

(แนะนำอ่านรายละเอียดที่รวมถึงวิธีรักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุดังได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ได้จากเว็บhaamor.com รวมถึงวิธีรักษา)

ปัสสาวะไม่ออกก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงที่พบได้จากภาวะปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออก เช่น

  • กรณีมีน้ำปัสสาวะกักคั่งมากในกรณีปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออกเฉียบพลัน การรักษานำน้ำปัสสาวะออกต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ร่างกายอาจเสียน้ำและ/หรือเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ จนอาจมีผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำจนอาจถึงขั้นเกิดภาวะช็อกได้
  • กรณีปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออกเรื้อรัง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเพิ่มความดันในระบบทางเดินปัสสาวะจนอาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้
  • การใส่สายสวนปัสสาวะ อาจเป็นสาเหตุเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ซ้ำๆได้

การพยากรณ์โรคของปัสสาวะไม่ออกเป็นอย่างไร?

ปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออกมีการพยากรณ์โรคต่างกันในแต่ละผู้ป่วยโดยขึ้นกับสาเหตุเป็นหลัก ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคในแต่ละผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมเป็นรายๆไป ซึ่งทั่วไป เช่น

  • การพยากรณ์โรคแย่เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง
  • แต่โดยทั่วไป แพทย์มักรักษาควบคุมอาการให้ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตได้เหมาะสมกับวัยและโรคที่เป็นสาเหตุ

(แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการนี้ที่รวมถึงการพยากรณืโรคได้จาก เว็บ haamor.com)

ดูแลตนเองอย่างไร?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

หลักการดูแลตนเองเมื่อมีอาการผิดปกติทางปัสสาวะ คือ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ตรวจหาสาเหตุเพื่อการดูแลรักษาแต่เนิ่นๆที่จะมีประสิทธิภาพควบคุมอาการได้เป็นอย่างดี ใกล้เคียงกับภาวะปกติ แต่ถ้ามีอาการปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลันต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

แต่หลังจากพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออกที่บ้าน ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดการใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟูตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำสม่ำเสมอ ตลอดชีวิต
  • ปรับพฤติกรรมการบริโภคเพื่อป้องกันท้องผูกเรื้อรัง
  • รักษา ควบคุม ป้องกัน โรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของอาการนี้ให้ได้ดี
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการนี้

(แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการนี้ได้จาก เว็บ haamor.com ที่รวมถึงเรื่องการดูแลตนเอง )

ป้องกันปัสสาวะไม่ออกอย่างไร?

การป้องกันปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออก ไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อย เพราะ

  • หลายสาเหตุป้องกันได้ เช่น
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดปัสสาวะไม่ออก/ฉี่ไม่ออก โดยใช้ยาแต่เท่าที่จำเป็นตามแพทย์สั่งและควรรู้จักผลข้างเคียงหลักของยาทุกชนิดที่บริโภค (อ่านเพิ่มเติมใน’หัวข้อสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’)
    • กินอาหารมีกากใยสูงเพื่อป้องกันท้องผูกเรื้อรัง
    • สตรีทุกคนโดยเฉพาะที่มีบุตรควรฝึกกายภาพฟื้นฟูกล้ามเนื้อในช่องท้องน้อย ’ขมิบช่องคลอด’เพื่อลดโอกาสเกิดมดลูกหย่อน/ กะบังลมหย่อน
    • ปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆเมื่อเริ่มรู้ตัวว่ามีปัญหาในการขับถ่าย
  • แต่หลายสาเหตุป้องกันไม่ได้ เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น

(แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการนี้ได้จาก เว็บ haamor.com ที่รวมถึงเรื่องการป้องกัน)

บรรณานุกรม

  1. David C. Serlin, et al. Am Fam Physi¬cian. 2018;98(8):496-503
  2. https://www.medicinenet.com/urinary_retention/article.htm [2021,April17]
  3. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15427-urinary-retention [2021,April17]
  4. https://www.niddk.nih.gov/health-information/urologic-diseases/urinary-retention [2021,April17]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Urinary_retention [2021,April17]
  6. https://patient.info/mens-health/prostate-and-urethra-problems/urinary-retention [2021,April17]