ปัสสาวะรดที่นอน (Bedwetting)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ปัสสาวะรดที่นอน (Bedwetting หรือ Enuresis หรือ Nocturnal enuresis) เป็นภาวะ หรือ อาการ ผิดปกติที่เกิดจากการควบคุมการปัสสาวะไม่ได้ ส่งผลให้เกิดการปัสสาวะรดที่นอนในช่วงนอนหลับตอนกลางคืน (Nocturnal enuresis) หรืออาจปัสสาวะรดเสื้อผ้าในช่วงกลางวัน (Diurnal enuresis) หรือเกิดขึ้นทั้งช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน (Mixed enuresis) ทั้งนี้ปัสสาวะรดที่นอนจะถือเป็นภาวะปกติ เมื่อเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 4 ปี เพราะเป็นช่วงอวัยวะต่างๆในร่างกาย รวมทั้งระบบสมองและระบบประสาทซึ่งควบคุมการปัสสาวะยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เด็กวัยก่อน 5 ปีจึงไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้

นิยาม: นิยามของปัสสาวะรดที่นอน คือ เด็กตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไปและยังคงปัสสาวะรดที่นอนอยู่ โดยถ้าอายุช่วง 5-6 ปีการปัสสาวะรดที่นอนหมายถึงปัสสาวะรดที่นอนตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปต่อเดือน และเมื่ออายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป การปัสสาวะรดที่นอนหมายถึงการปัสสาวะรดที่นอนตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไปต่อเดือน ส่วนคำจำกัดความของปัสสาวะรดเสื้อผ้า ยังไม่มีการกำหนดจำนวนครั้ง เพราะพบได้น้อยกว่าการปัสสาวะรดที่นอนมาก จึงหมายความกว้างๆว่า เด็กปัสสาวะรดเสื้อผ้าบ่อยจนผู้ปกครอง หรือคุณครูคิดว่าเป็นปัญหา หรือในทางคลินิก หมายถึงเด็กอายุมากกว่า 4 ปี ปัสสาวะรดชั้นในในช่วงกลางวัน หรือปัสสาวัรดที่นอนช่วงกลางคืนหลังอายุ 6 ปีไปแล้ว หรือภายหลังจากที่ปัสสาวะได้อย่างปกติ 3 เดือนแล้ว จึงมีปัสสาวะรด(กลางวัน และ/หรือกลางคืนก็ได้)

ทั้งนี้ เมื่อเด็กปัสสาวะรดที่นอนตั้งแต่เกิด และยังคงปัสสาวะรดที่นอนต่อเนื่องจนถึงอายุ 5 ปีขึ้นไป ไม่เคยมีช่วงที่ปัสสาวะปกติเลย เรียกว่า ปัสสาวะรดที่นอนปฐมภูมิ (Primary enuresis) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยประมาณ 75-85% ของภาวะนี้ทั้งหมด แต่ถ้าเมื่อช่วงเด็กเล็กปัสสาวะรดที่นอน แต่อาการหายไปจนสามารถควบคุมการปัสสาวะได้เป็นปกติติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนแล้วกลับมามี อาการซ้ำใหม่อีก เรียกว่า ปัสสาวะรดที่นอนทุติยภูมิ (Secondary enuresis) ซึ่งพบได้ประมาณ 15-25% ซึ่งปัสสาวะรดที่นอนทุติยภูมินี้จะพบได้สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

ส่วนปัสสาวะรดที่นอนปฐมภูมิเป็นภาวะพบได้บ่อย แต่จะพบลดลงได้เรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น โดยมีรายงาน พบได้ประมาณ 23%เมื่ออายุ 5 ปี, ประมาณ 10%เมื่ออายุ 7ปี, ประมาณ 4%เมื่ออายุ 10ปี, และน้อยกว่า 5% ในช่วงวัยรุ่น ส่วนในผู้ใหญ่พบได้ประมาณ 0.5-2% ทั้งนี้พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 เท่า

ปัสสาวะรดที่นอนมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ปัสสาวะรดที่นอน

ปัสสาวะรดที่นอนมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจาก

ก.ปัสสาวะรดที่นอนปฐมภูมิ: สาเหตุที่แน่นอนของปัสสาวะรดที่นอนปฐมภูมิ ยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาเชื่อว่าน่าเกิดจากหลายสาเหตุ หรือหลายปัจจัยร่วมกัน ซึ่งสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • พันธุกรรม เพราะพบภาวะนี้ได้สูงถึงประมาณ 77%ในเด็กที่ทั้งพ่อและแม่มีประวัติปัสสาวะรดที่นอนช่วงเป็นเด็ก พบได้ประมาณ 43% ถ้ามีพ่อ หรือแม่คนใดคนหนึ่งมีประวัติปัสสาวะรดที่นอน และพบได้ ประมาณ 15% ที่ทั้งพ่อและแม่ไม่มีประวัติปัสสาวะรดที่นอน นอกจากนี้ ในคู่แฝด เมื่อมีคนหนึ่งปัสสาวะรดที่นอน อีกคนจะมีอาการด้วยเช่นกัน และยังพบว่าเด็กที่ปัสสาวะรดที่นอนมักมีความผิดปกติในโครโมโซม (Chromosome) คู่ที่ 5, 8, 12, 13, หรือ 22
  • สมอง และ/หรือระบบประสาทที่ควบคุมการปัสสาวะเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กทั่วไป ซึ่งอาจพบร่วมกับเด็กพูดช้า หรือทำอะไรได้ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน
  • อาจมีการสร้างฮอร์โมนควบคุมปริมาณน้ำปัสสาวะในช่วงกลางคืนลดลงกว่าปกติ จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำปัสสาวะสูงกว่าคนทั่วไปในช่วงนอนหลับกลางคืน
  • อาจมีกระเพาะปัสสาวะเล็กกว่าคนทั่วไป
  • กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอาจทำงานลดลงในช่วงนอนหลับ
  • อาจมีโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ทำให้นอนหลับลึก เมื่อปวดปัสสาวะจึงไม่รู้สึกตัว
  • อาจมีปัญหาอารมณ์ จิตใจ เช่น พ่อแม่หย่าร้าง หรือปัญหาจากโรงเรียน แต่สาเหตุนี้ เป็นสาเหตุพบได้น้อยมากๆในปัสสาวะปฐมภูมิ

ข. ปัสสาวะรดที่นอนทุติยภูมิ สาเหตุของปัสสาวะรดที่นอนทุติยภูมิ ได้แก่

  • ท้องผูกเรื้อรัง เพราะก้อนอุจจาระจะส่งผลถึงการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะด้วย
  • โรคของกระเพาะปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ หรือการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติจากโรคทางประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคของต่อมไร้ท่อ ที่ส่งผลให้ลดการสร้างฮอร์โมนควบคุมปริมาณปัสสาวะ ปริมาณปัสสาวะจึงสูงขึ้น
  • โรคเบาหวาน (โรคเบาหวานในเด็กและในวัยรุ่น) เพราะส่งผลให้เกิดกระเพาะปัสสาวะ หรือประสาทควบคุมกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่าย
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน จากต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
  • มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น หลับลึกจนไม่รู้ตัวว่าปวดปัสสาวะ หรือโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ (Sleep apnea)
  • โรคลมชัก
  • มีพยาธิเข็มหมุด ซึ่งกระตุ้นการบีบตัวของทวารหนัก ส่งผลกระตุ้นกระเพาะปัสสาวะให้บีบตัวผิดปกติด้วย
  • มีปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ เช่น ปัญหาจากโรงเรียน หรือ ปัญหาครอบครัว

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุปัสสาวะรดที่นอนได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุปัสสาวะรดที่นอนได้ด้วยการสอบถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งจากเด็ก และจากผู้ปกครอง ประวัติภาวะนี้ในครอบครัว โรคประจำตัวของเด็ก ยาที่ใช้อยู่ ประวัติการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ปัญหาจากเพื่อน โรงเรียน และจากครอบครัว การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ อาจตรวจอุจจาระถ้าสงสัยสาเหตุจากพยาธิ และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ตรวจการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ทั้งนี้ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ นอกจากนั้นแพทย์อาจ แนะนำให้ทำบันทึกการปัสสาวะประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อค้นหาสาเหตุ และความสัมพันธ์ของอาการกับปัจจัยต่างๆที่กระตุ้นให้เกิดอาการนี้

รักษาปัสสาวะรดที่นอนอย่างไร?

แนวทางการรักษาปัสสาวะรดที่นอน คือ การรักษาสาเหตุ และการป้องกันการเกิดปัสสาวะรดที่นอนในช่วงการรักษาสาเหตุ

การดูแลรักษาป้องกันการปัสสาวะรดที่นอน เช่น

  • การอธิบายให้เด็ก/ผู้ป่วย และครอบครัวได้เข้าใจ ไม่ล้อเรียน ไม่เครียด ไม่เห็นเป็นเรื่องน่าอาย และไม่ลงโทษ แต่ช่วยกันแก้ไข ปรับปรุง
  • ให้เด็กดื่มน้ำมากขึ้นในช่วงกลางวัน แต่ลดอาหารและการดื่มน้ำในช่วงเย็น และไม่ดื่มน้ำ หรือเครื่องดื่มต่างๆก่อนนอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงเพื่อลดปริมาณปัสสาวะช่วงกลางคืน
  • งดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เพราะจะเพิ่มปริมาณปัสสาวะ และกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยและมาก เช่น ชา กาแฟ โคลา และเครื่องดื่มชูกำลัง
  • การปลุกเด็กให้ลุกขึ้นปัสสาวะ ก่อนช่วงเวลาที่สังเกตได้ว่าเด็กมักปัสสาวะรดที่นอน
  • การติดสัญญาณเตือนเมื่อเสื้อผ้าเริ่มเปียก จากการปัสสาวะ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำ
  • การสวมใส่เสื้อนอนที่ ถอดได้ง่าย และจัดเตียงนอนเพื่อป้องกันปัสสาวะเปียกรดที่นอน ผ้าห่ม หรือเครื่องนอนอื่นๆ เพื่อช่วยลดความเครียด ความกังวลของเด็ก
  • การฝึกการขับถ่ายและปรับพฤติกรรมในการขับถ่าย หรือการใช้ชีวิต รวมทั้ง การกิน การดื่ม ซึ่งแพทย์ พยาบาล และ/หรือนักจิตวิทยาจะเป็นผู้แนะนำ
  • การใช้ยาโดยคำแนะนำของแพทย์ เมื่อการดูแลดังได้กล่าวแล้วไม่ได้ผล ซึ่งอาจต้องใช้ทั้งยา และการปรับพฤติกรรมดังกล่าวร่วมกัน ซึ่งยาที่ใช้อาจเป็นยาในกลุ่มที่ใช้ทางด้านจิตเวช เพื่อช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาท แต่สามารถมีผลต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้ ไม่ได้หมายความว่า เด็กเป็นโรคทางจิตเวช และ/หรือยาฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณน้ำปัสสาวะ และ/หรือยาต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ปัสสาวะรดที่นอนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ปัสสาวะรดที่นอนเป็นภาวะที่ดูแลรักษาให้หายได้เสมอ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ไม่แก้ไข อาจก่อผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ ต่อเด็ก จนอาจส่งผลถึงการเรียน บุคลิกภาพ และความประพฤติของเด็กได้ ดังนั้นเมื่อพยายามดูแลเด็ก หรือดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น จึงควรปรึกษาแพทย์เสมอ เพื่อหาสาเหตุ และเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรรอจนเด็ก หรือตนเองเกิดปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ เพราะการแก้ไข รักษาปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ เป็นเรื่องยากเมื่อเกิดการสะสมของปัญหายาวนาน

ควรดูแลอย่างไรเมื่อปัสสาวะรดที่นอน? และควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลเมื่อเด็กปัสสาวะรดที่นอน หรือตัวเองปัสสาวะรดที่นอน คือ การเข้าใจ อธิบายให้เด็กเข้าใจด้วย พยายามหาสาเหตุ ช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ถือเป็นเรื่องน่าอาย และไม่มีการลงโทษ

เมื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุ โดยเฉพาะถ้ามีการปัสสาวะรดที่นอนชนิดทุติยภูมิ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุเสมอ

ป้องกันปัสสาวะรดที่นอนอย่างไร?

การป้องกันปัสสาวะรดที่นอน ที่อาจช่วยได้ คือ

  • สอน และฝึกการขับถ่ายที่ถูกวิธีตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก
  • รู้จักเข้าห้องน้ำเมื่อปวดปัสสาวะ ไม่กลั้นไว้ ไม่นั่งแช่นานๆ
  • ปัสสาวะก่อนเข้านอนเสมอ
  • งดอาหาร น้ำดื่ม เครื่องดื่ม ก่อนนอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง
  • งด/จำกัดเครื่องดื่มมีกาเฟอีนดังกล่าวแล้ว
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกาย (ลดโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ) และเพื่อสุขภาพจิตที่ดี

บรรณานุกรม

  1. http://emedicine.medscape.com/article/1014762-overview#showall [ 2017,Jan28].
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Nocturnal_enuresis [ 2017,Jan28].
  3. Ramakrishnan, K. (2008). Evaluation and treatment of enuresis. Am Fam Physician. 78, 489-496.
  4. Robson, W. (2009). Evaluation and management of enuresis. N Engl J Med. 360, 1429-1436.
  5. Thiedke, C. (2003). Nocturnal enuresis. Am Fam Physician. 67, 1499-1506.
Updated 2017,Jan28