ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย (Glossopharyngeal Neuralgia)

สารบัญ

บทนำ

หลายคนคงสงสัยว่าตนเองเป็นอะไร อยู่ดีๆ ก็มีการปวดแปล๊บๆ (แปลบ) เสียว บริเวณลำ คอ โคนลิ้น หน้าหู หรือบางครั้งก็กลืนอาหารแล้วเจ็บ เสียวในคอมาก พยายามดูก็ไม่มีแผลใดๆ ไปพบแพทย์ตรวจก็ไม่พบความผิดปกติ สงสัยว่าจะมีก้างปลาติดคอหรือเปล่า ก็ไม่เคยได้ทานปลาเลยช่วงนี้ จึงสงสัยว่าเป็นอะไรกันแน่ ลองติดตามบทความนี้แล้ว ท่านจะทราบว่าอาการดัง กล่าว คืออะไร

อาการเจ็บแปล๊บๆ เสียว คืออาการอะไร?

อาการเจ็บแปล๊บๆ หรือเสียวขึ้นมาทันทีนั้น คือ อาการปวดที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งจะแตกต่างจากการปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดแผล อาการปวดเหตุจากระบบประสาทที่เราคุ้นเคยมากที่สุด คือ อาการปวดฟัน เนื่องจากมีรอยโรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณฟันซีกนั้นๆ อาการปวดจะเป็นขึ้นมาทันที เป็นระยะเวลาไม่นาน เพียงแค่ไม่กี่วินาที ปวดแบบเจ็บแปล๊บหรือเสียวจนสะดุ้ง

ปวดเหตุเส้นประสาทคืออะไร?

อาการปวดเหตุเส้นประสาทเป็นโรค/อาการที่พบไม่บ่อยเมื่อเทียบกับอาการผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ แขน ขา อ่อนแรง อาการปวดเหตุเส้นประสาทนั้นส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุที่มากกว่า 65 ปีขึ้นไป และในผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดชนิดนี้?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการปวดเหตุเส้นประสาททุกชนิด คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบา หวาน ไตวาย และ/หรือ โรคหลอดเลือดสมอง

ปวดเสียวแปล๊บในช่องคอ หรือกลืนอาหารแล้วเจ็บคืออะไร?

บางคนมีอาการ ปวด/เจ็บ เสียวแปล๊บในช่องคอ หรือ เจ็บคอ ลิ้น เวลากลืนอาหารโดยไม่มีไข้ ไม่มีแผลในช่องปากหรือช่องคอ ก้างปลาติดคอก็ไม่ใช่ เพราะช่วงนี้ไม่ได้ทานปลาเลย รวมทั้งการปวดบริเวณใบหู ช่องหู ไปพบแพทย์ หู คอ จมูก ตรวจก็ไม่พบความผิดปกติ ไปพบทันตแพทย์ก็ไม่มีความผิดปกติเช่นกัน แต่ก็ยังมีอาการปวดเสียวแปล๊บเป็นๆ หายๆ จนมีความทุกข์ทรมานอย่างมาก อาการดังกล่าวน่าจะเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 (Glossopharyngeal neuralgia) เนื่องจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 นั้น จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการนำกระแสประสาทมายังบริเวณ ช่องคอ คอหอย ต่อมน้ำลายหน้าหู ดังนั้นเมื่อเกิดความผิด ปกติ ก็จะมีอาการดังกล่าวได้ ในที่นี้ขอเรียกว่า”อาการปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย (Glosso pharyngeal neuralgia)”

ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยเกิดจากอะไร?

อาการปวดเหตุประสาทคอหอยดังกล่าว เกิดจากมีรอยโรคบริเวณเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 โดยสาเหตุนั้นอาจเกิดจาก หลอดเลือดบริเวณก้านสมองโป่งพอง หรือ คดงอแล้วไปกดทับหรือเบียดเส้นประสาทเส้นที่ 9 หรือ เกิดจากก้อนเนื้องอก หรือมีการอักเสบของเส้นประสาทดัง กล่าว โดยส่วนใหญ่แล้วไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรง และแพทย์มักหาสาเหตุไม่พบ

เส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 คืออะไร? มีหน้าที่อะไร?

เส้นประสาทสมองของคนเรานั้นมีทั้งหมด 12 คู่ โดยมีต้นกำเนิดอยู่ภายในสมองตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่ส่วนสมองใหญ่จนถึงสมองส่วนก้านสมอง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท) ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 นั้น อยู่ที่บริเวณก้านสมองส่วนล่าง เส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 นี้จะเดินทางผ่านมายังบริเวณฐานสมอง ผ่านออกมานอกสมอง เพื่อนำสัญญาณกระแสประสาทมาเลี้ยงอวัยวะต่างๆ คือ ต่อมน้ำลายหน้าหู โคนลิ้น คอหอย และช่องลำคอ ดังนั้นถ้ามีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้นต่ออวัยวะข้างเคียงต่อเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 เดินทางผ่านมานั้น ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดโป่งพอง ก้อนเนื้องอก กระดูกที่ผิดรูป หรือเกิดการอักเสบของเส้นประสาทเอง ก็จะส่งผลให้มีอาการผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 9 นี้ได้

เมื่อมีอาการปวดดังกล่าวเมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์?ใครมีโอกาสเกิดปวดฯหลังเกิดงูสวัด?

ผู้ที่มีอาการผิดปกติ คือ มีอาการปวดดังกล่าว ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการปวดที่รุนแรงจนรบกวนกิจวัตรประจำวันหรือการดำรงชีวิต จนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และถ้ามีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น แขน ขาอ่อนแรง หรือ มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ควรต้องรีบไปพบแพทย์ทัน ที

แพทย์จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นการปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย?

สิ่งสำคัญที่สุดในการให้การวินิจฉัยโรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย คือการสอบถามประ วัติที่ละเอียดจากผู้ป่วย ว่ามีอาการอย่างไร ร่วมกับการตรวจร่างกายทางระบบประสาท และตรวจช่องคอ ช่องปาก และต่อมน้ำลายหน้าหูว่า มีความผิดปกติหรือไม่ กรณีอาการปวดเหตุเส้น ประสาทคอหอยนั้นจะต้องไม่พบความผิดปกติอื่นๆ นอกจากอาการปวดที่เป็นลักษณะของอา การปวดเหตุประสาท ต่อจากนั้น แพทย์ต้องพยายามหาสาเหตุของอาการดังกล่าว โดยการส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT-Scan brain) หรือ ตรวจสนามแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอสมอง (MRI-brain) หรือ การตรวจอื่นๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะผิดปกติอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วย เพื่อหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการ จะได้รักษาที่ต้นเหตุ

ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยนั้นรักษาอย่างไร?

อาการปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย มีวิธีรักษาที่สำคัญ คือ

  • การใช้ยารักษาอาการปวด เหมือนกับโรคปวดเหตุประสาทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิดของยา วิธีการใช้ยา หรือผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนต่างๆของยา
  • และต้องหาสาเหตุว่าอาการปวดนั้นเกิดจากอะไร

โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะเริ่มให้ยากลุ่มยากันชัก หรือกลุ่มยาต้านอาการเศร้าก่อน ยาที่ได้ ผลดี คือ Amitriptyline (อะมิทิพทีลีน) หรือ Carbamazepine (คาร์บามาซีปีน) โดยแพทย์จะเริ่มให้ยาขนาดต่ำๆก่อนเสมอ ด้วยเหตุผลหลัก คือ ลดโอกาสการแพ้ยากันชัก ลดผลแทรกซ้อนของยาต้านเศร้า และผู้ป่วยบางรายก็ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยาขนาดต่ำ แต่ถ้าได้ยาแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้น แพทย์ก็จะค่อยๆเพิ่มขนาดยาตามอาการปวดและตามการตอบสนอง ทุก 1-2 สัปดาห์

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากยา เช่น ลมพิษ ผื่นแดงคันตามตัว ใบหน้า หรือไข้ขึ้น มีแผลในปาก เดินเซ เห็นภาพไม่ชัด ท้องผูก และ/หรือ ท้องเสีย

ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยจะหายหรือไม่?

ผลการรักษาอาการปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย ขึ้นกับสาเหตุของโรค ถ้าสามารถแก้ไขต้นเหตุได้ อาการปวดก็หายดี แต่ถ้าไม่สามารถรักษาต้นเหตุได้ อาการก็เป็นๆหายๆ

การรักษาโดยส่วนใหญ่ใช้เวลานานหลายเดือน แพทย์ต้องการไม่ให้มีอาการกลับเป็นซ้ำ จึงให้ทานยาเพื่อควบคุมอาการอยู่ในระยะเวลาหนึ่ง เมื่ออาการหายดีไม่ปวดเลย แพทย์ก็จะค่อยๆลดขนาดยาลงอย่างช้าๆ และถ้าไม่มีอาการเลยก็สามารถหยุดยาได้ แต่บางกรณีผู้ป่วยก็กลับมีอาการเป็นซ้ำได้อีก แพทย์ก็จะเริ่มรักษาให้ยาใหม่อีกครั้ง

ปวดเส้นประสาทคอหอยมีผลข้างเคียงไหม? เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตใบหน้าไหม?

กรณีอาการปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุนั้น ผู้ป่วยจะไม่มีโอกาสเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาตใบหน้า แต่ถ้าอาการดังกล่าวมีสาเหตุจากหลอดเลือดกดเบียดทับ หรือมีก้อนเนื้องอก ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการอัมพาตใบหน้าได้ เนื่องจากเส้นประสาทใบหน้าและเส้น ประสาทคอหอยอยู่ใกล้กันจึงมีโอกาสถูกกดเบียดได้

ผู้ป่วยควรรักษาต่อเนื่องหรือไม่? ซื้อยาเองได้หรือไม่?

การรักษาโรคที่ดีนั้นต้องรักษาต่อเนื่อง การซื้อยาทานเองนั้นไม่แนะนำอย่างยิ่งครับ เพราะยาที่ทานนั้นเกิดผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนได้ง่าย การพบแพทย์นั้นแตกต่างจากการซื้อยาทานเองในหลายๆประเด็น เช่น การได้สอบถามอาการผู้ป่วย ผลแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากยา และการประเมินผลการรักษา จะสามารถหยุดยาหรือต้องปรับยาหรือไม่

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การพบแพทย์ก่อนนัดนั้น สามารถพบได้ในกรณี

  • อาการปวดเป็นรุนแรงขึ้น
  • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว
  • เกิดผลแทรกซ้อนจากยารักษา
  • ไม่มั่นใจว่ามีปัญหา/อาการใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ หรือ กังวลในอาการ

เมื่อรู้ว่าเป็นโรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย ควรดูแลตนเองอย่างไร?

ผู้ป่วยที่เป็นโรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยนี้ ควรสังเกตตนเองว่า อาการ ที่เป็นอยู่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าอาการผิดปกตินั้นรุนแรงมากขึ้น และ/หรือมีอาการผิดปกติทางระ บบประสาทเพิ่มขึ้น ก็ควรรีบมาพบแพทย์

ที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ การสังเกตอาการแพ้ยา หรือผลแทรกซ้อนที่เกิดจากยาที่ใช้รักษา

ข้อห้ามต่างๆสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ไม่มี ยกเว้นเรื่องการทานยาเพิ่มเติมกรณีมีโรคหรือภาวะอื่นๆเพิ่มเติม เพราะยาที่ใช้รักษาโรคนี้นั้น มีโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆได้ง่าย ดัง นั้นจึงต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ถึงยาต่างๆที่ผู้ป่วยใช้อยู่ด้วยเสมอ

ป้องกันปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยได้ไหม?

ปัจจุบัน โรคนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้

สรุป

ผมหวังว่าผู้อ่านคงหายข้องใจแล้วนะครับว่าอาการเจ็บแปล๊บ เสียวนั้นคืออะไร และรักษาอย่างไร