ปวดหลังช่วงล่าง (Low back pain)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ปวดหลังช่วงล่างเกิดได้อย่างไร?
- อะไรเป็นสาเหตุของปวดหลังช่วงล่าง?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงของปวดหลังช่วงล่าง?
- อาการปวดหลังช่วงล่างเป็นอย่างไร? อาการอะไรที่ต้องรีบพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยสาเหตุปวดหลังช่วงล่างได้อย่างไร?
- รักษาปวดหลังช่วงล่างอย่างไร?
- ปวดหลังช่วงล่างรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันปวดหลังช่วงล่างได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคไขสันหลัง (Spinal cord disease)
- โรคไต (Kidney disease)
- ปวดหลัง: ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง (Back pain: Spinal disc herniation)
- กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis)
- โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน (Lumbar spondylolisthesis)
- โรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ (Lumbar spinal stenosis)
- มะเร็ง (Cancer)
บทนำ
หลังช่วงล่าง (Low back) คือ ตำแหน่งด้านหลังช่วงจากปลายกระดูกซี่โครงซี่สุดท้ายลงมาจนถึงตำแหน่งกระดูกใต้กระเบนเหน็บ (Sacrum) ซึ่งเป็นตำแหน่งของกระดูกสันหลัง (Spine) ส่วนเอว ข้อที่ 1 (Lumbar spine เรียกย่อว่า L spine ซึ่งมีทั้งหมด 5ข้อ) ไปจนถึงกระ ดูกใต้กระเบนเหน็บข้อที่ 1 (Sacrum เรียกย่อว่า S spine ซึ่งมีทั้งหมด 5 ข้อ) ทั้งนี้ ส่วนหลังช่วงล่าง ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่สำคัญ และเป็นต้นเหตุให้เกิดอาการเจ็บปวด คือ กล้าม เนื้อ เอ็น กระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง และเส้นประสาท
อนึ่ง “ปวดหลัง” เป็นคำที่คนทั่วไปชอบใช้ ซึ่งโดยทั่วไปมักหมายถึง การปวดหลังช่วงล่าง ซึ่งในบทความนี้ เมื่อใช้คำว่า “ปวดหลัง ก็จะหมายถึง การปวดหลังช่วงล่าง” แต่ในทางการแพทย์ หลัง จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ หลังช่วงล่าง ดังได้กล่าวแล้ว และหลังช่วงบน (Upper back) บางคนเรียก หลังช่วงกลาง (Middle back) คือ หลังส่วนที่เป็นด้านหลังของทรวงอก/กระดูกสันหลังช่วงทรวงอก (Thoracic หรือ Dorsal spine เรียกย่อว่า T spine หรือ D spine)
ปวดหลังช่วงล่าง (Low back pain) เป็นอาการที่พบบ่อยมากอาการหนึ่ง บางการศึกษารายงานว่า เป็นอาการพบบ่อยเป็นที่ 2 รองจากอาการปวดศีรษะในผู้ใหญ่อายุ 20-30 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ 80% ของผู้ใหญ่จะเคยมีอาการนี้มาแล้ว โดยประมาณว่า 41% ของคนในช่วงอายุ 26-44 ปี มักเคยมีอาการปวดหลังในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้โอกาสปวดหลังเกิดได้ใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย
เมื่ออาการปวดหลังช่วงล่างเกิดอย่างเฉียบพลัน ซึ่งมักจะหายได้เอง หรือรักษาหายได้ภายในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เรียกว่า “ปวดหลังช่วงล่างเฉียบพลัน” แต่ถ้าอาการปวดหลังช่วงล่างค่อยเป็นค่อยไป และถึงแม้รักษาก็ยังมีอาการอยู่นานเกิน 3 เดือนขึ้นไป เรียกว่า “ปวดหลังช่วงล่างเรื้อรัง”
ปวดหลังช่วงล่างเกิดได้อย่างไร?
อาการปวดหลังช่วงล่าง เกิดได้จากหลายกลไก ทั้งจากการเสื่อม และโรคกล้ามเนื้อ โรคของเอ็น โรคกระดูก และโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งการเสื่อมเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดปุ่มกระดูกงอกเล็ก ๆ (Osteophyte) ซึ่งเป็นกลไกที่ร่างกายใช้ซ่อมแซมเนื้อเยื่อกระดูกสันหลังที่เสื่อมถอย ส่งผลให้เกิดการเบียดกดประสาทไขสันหลัง ส่งผลให้เกิดอาการ ปวด เจ็บ ชา กล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง รวมทั้งส่งผลถึงการทำงานของกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ และของทวารหนัก ส่งผลให้กล้ามเนื้อควบคุมการขับถ่ายเหล่านี้หย่อนยาน จึงเกิดการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้น้อยลง ทั้งนี้เพราะส่วนหลังช่วงล่าง มีหน้าที่รองรับน้ำ หนักของร่างกาย เป็นส่วนที่ร่างกายใช้เคลื่อนไหวซ้ำๆตลอดเวลา เพื่อการทรงตัว การทำงาน การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การหยิบจับ ก้ม เงย ยกของ ดังนั้น จึงเกิดการเสื่อมถอยของเซลล์ต่างๆได้ง่ายเมื่อมีอายุสูงขึ้น
อะไรเป็นสาเหตุของปวดหลังช่วงล่าง?
สาเหตุของการปวดหลังช่วงล่าง ได้แก่
- การทำงานมากเกินไปของกล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อจึงเกิดการบาดเจ็บอักเสบ (โดยไม่มีการติดเชื้อ) ซึ่งพบเป็นสาเหตุได้เท่ากับหรือมากกว่า 70% ของการปวดหลังช่วงล่างทั้งหมด
- โรค/ภาวะ ปวดหลังจากหมอนรองกระดูกเสื่อม พบเป็นสาเหตุประมาณ 14%
- โรค/ภาวะกระดูกสันหลังยุบตัวจากภาวะ/โรคกระดูกพรุน พบประมาณ 4%
- กระดูกสันหลังเคลื่อนจากสาเหตุต่างๆ เช่น ยกของหนัก เล่นกีฬา พบประมาณ 2%
- โรค/ภาวะโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ(Lumbar spinal stenosis) จึงเบียดรัดประ สาทสันหลัง พบประมาณ 3%
- กระดูก หรือเนื้อเยื่อหลังช่วงล่างติดเชื้อ พบประมาณ 0.01%
- กระดูกหลังช่วงล่างอักเสบจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง พบประมาณ 0.3%
- โรคมะเร็งแพร่กระจายสู่กระดูกสันหลังช่วงล่าง พบประมาณ 0.7%
- เป็นอาการปวดสืบเนื่องมาจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะในช่องท้อง หรือในอุ้งเชิงกราน พบประมาณ 2% เช่น จากการอักเสบของต่อมลูกหมาก มดลูก โรค/ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคนิ่วในไต โรคนิ่วในท่อไต โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือโรคกรวยไตอักเสบ
ใครมีปัจจัยเสี่ยงของปวดหลังช่วงล่าง?
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดหลังช่วงล่าง คือ
- สูงอายุ มักอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะขาดฮอร์โมนเพศที่เป็นตัวเพิ่มการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก
- มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ขาดการออกกำลังกาย นั่งๆ นอนๆ
- น้ำหนักตัวเกิน หรือ โรคอ้วน
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง
- โรคข้อเสื่อม
- โรคมะเร็ง ระยะแพร่กระจาย (ระยะที่ 4)
- มีอาชีพใช้หลังมาก เช่น ยกของหนัก กีฬาที่ต้องใช้หลัง (เช่น มวยปล้ำ)
- สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ ก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุน และโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆรวมทั้งกระดูกจึงขาดเลือดหล่อเลี้ยง
- ปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ จะส่งผลถึงการทำงานของกล้ามเนื้อ รวมทั้งกล้ามเนื้อหลัง ก่ออาการปวดหลังช่วงล่างเรื้อรัง เช่น ความเครียด อาการซึมเศร้า
- อาจจากพันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนที่ครอบครัวมีอาการนี้
- การตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักจากครรภ์ จะกดทับกระดูกสันหลัง ก่อให้เกิดการบาด เจ็บของกระดูกและกล้ามเนื้อส่วนหลังได้ นอกจากนั้นอาจจากผลของฮอร์โมนที่เพิ่มผิดปกติจากการตั้งครรภ์ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อต่างๆ โดย เฉพาะกล้ามเนื้อและกระดูก
อาการปวดหลังช่วงล่างเป็นอย่างไร? อาการอะไรที่ต้องรีบพบแพทย์?
อาการที่พบได้จากปวดหลังช่วงล่าง คือ
- ปวดหลังบนกระดูกสันหลังช่วงล่าง และ/หรือ ปวดทั้งแผ่นหลัง
- อาจปวดร้าวลงขาด้านใดด้านหนึ่ง มักเกิดเพียงด้านเดียว
- เคลื่อนไหวหลังไม่ได้เพราะเจ็บ/ปวด ก้มตัวไม่ได้ เพราะเจ็บ
- ยืนตรงไม่ได้เพราะเจ็บ/ปวดหลัง
อาการปวดหลังช่วงล่างที่ต้องรีบพบแพทย์ ภายใน 1-2 วัน หรือ ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ คือ มีอาการปวดหลังร่วมกับ
- ปวดหลังมาก โดยเฉพาะเมื่ออายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
- มีไข้ หนาวสั่น หรือมีอาการทางปัสสาวะ เช่น ปวด เบ่ง แสบ เมื่อปัสสาวะ
- ส่วนหลังได้รับอุบัติเหตุ
- ปวดหลังมากช่วงกลางคืน หรือถึงแม้นอนพัก
- ปวดบริเวณก้นกบ (กระดูกสันหลังชิ้นที่อยู่ล่างสุดของลำตัว)
- ชาบริเวณขา เท้า
- กลั้นอุจจาระ และ/หรือปัสสาวะไม่อยู่
- เป็นโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง
- เป็นโรคมะเร็ง
- กินยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง เพราะผลข้างเคียงของยาตัวนี้ คือ ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
- ใช้ยาเสพติด เพราะส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆได้ทั่วร่างกายรวมทั้งของกระดูกและข้อ
- หลังการดูแลตนเองแล้วอาการปวดหลังไม่ดีขึ้นภายใน 6 สัปดาห์
แพทย์วินิจฉัยสาเหตุปวดหลังช่วงล่างได้อย่างไร?
โดยทั่วไป ในระยะแรก แพทย์วินิจฉัยสาเหตุปวดหลัง และให้การรักษาช่วงแรกจากประ วัติอาการและการตรวจร่างกายเท่านั้น ซึ่งการรักษามักได้ผล รักษาอาการได้หายประมาณ 90 % ของผู้ป่วย มีเพียงประมาณ 10% เท่านั้นที่ต้องให้การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็น เอกซเรย์ธรรมดาภาพกระดูกสันหลัง หรือตรวจภาพกระดูกสันหลังด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือคลื่นแม่เหล็กเอมอาร์ไอ
รักษาปวดหลังช่วงล่างอย่างไร?
แนวทางการรักษาอาการปวดหลังช่วงล่าง คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับ ประคองตามอาการ
การรักษาสาเหตุ เช่น การรักษา โรคกระดูกพรุน การฉายรังสีรักษากรณีเกิดจากการแพร่ กระจายของโรคมะเร็ง การรักษาทางจิตเวช และบางครั้งเป็นส่วนน้อยอาจใช้การผ่าตัดในกรณี อาการปวดเกิดจากโรคปวดหลังจากหมอนรองกระดูก หรือเกิดจากโรคกระดูกเคลื่อนกดทับประ สาท หรือกดทับไขสันหลัง เป็นต้น รวมทั้งในกรณีเป็นการปวดหลังซึ่งปวดร้าวมาจากโรคอื่นๆในช่องท้อง หรือในอุ้งเชิงกราน การรักษา คือ การรักษาสาเหตุของโรคนั้นๆเช่นกัน เช่น รักษาโรคนิ่วในไต เป็นต้น
การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การพักผ่อนซึ่งไม่ควรเกิน 2 วัน เพราะยิ่งหยุดการเคลื่อนไหว อาการปวดจะยิ่งเพิ่มขึ้น แพทย์มักแนะนำให้เคลื่อนไหวเท่าที่พอทำได้ การกินยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ การประคบร้อน สลับประคบเย็น (บางคนอาการดีขึ้น บางคนไม่ได้ผล) และ/หรือการทำกายภาพบำบัด
ปวดหลังช่วงล่างรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
โดยทั่วไป เมื่อเป็นการปวดหลังเฉียบพลันจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ไม่ใช่จากอุบัติเหตุ อาการมักดีขึ้นภายใน 3-4 วันหลังการดูแลตนเอง และลดการใช้หลัง แต่อาการปวดเรื้อรัง มักรักษาไม่หาย และมักมีอาการรุนแรงเป็นครั้งคราว ซึ่งโดยทั่วไปมักใช้เพียงการรักษาประคับประ คองตามอาการ
ผลข้างเคียงที่พบได้จากการปวดหลัง คือ การลดลงของคุณภาพชีวิต เพราะเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต รวมทั้งในการทำงาน
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีอาการปวดหลังช่วงล่าง คือ
- พักการใช้หลัง ระวังการนั่ง ยืน เดิน นอน การยกของ ก้ม เงย
- กินยาแก้ปวด
- พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่พอจะทำได้ เพราะยิ่งไม่เคลื่อนไหว อาการปวดจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
- อาจประคบร้อน ประคบเย็น หรือ ทั้งร้อนและเย็นสลับกัน ซึ่งจะได้ผลต่างกันในแต่ละคน
- การนวดด้วยยาทาภายนอก ซึ่งอาจได้ผลในบางคน
- การใส่เครื่องพยุงหลัง ซึ่งได้ผลในบางคน
- ลดน้ำหนักเมื่ออ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกิน
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่ออาการปวดหลังเลวลง หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 6 สัปดาห์
- รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 1-2 วัน หรือ ฉุกเฉิน ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการของปวดหลังช่วงล่าง
ป้องกันปวดหลังช่วงล่างได้อย่างไร?
การป้องกันอาการปวดหลังช่วงล่าง คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และสาเหตุดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ ที่หลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งให้การดูแล รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง หรือเป็นสาเหตุ
นอกจากนั้น ที่สำคัญอีกประการ คือ การเรียนรู้วิธี นั่ง ยืน นอน ลุกขึ้น ยก แบก ลาก ของหนักที่ถูกต้อง อาจจากปรึกษา แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด หนังสือ หรือทางอินเทอร์ เน็ต
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Back_pain [2017,Feb25]
- Kinkade, S. (2007). Evaluation and treatment of acute low back pain. Am Fam Physician. 75, 1181-1188.
- Last, A., and Hulbert, K. (2009). Chronic low back pain: evaluation and management. Am Fam Physician. 79, 1067-1074.
- http://en.wikipedia.org/wiki/Low_back_pain [2017,Feb25]
- Nguyen, T., and Randolph, D. (2007). Nonspecific low back pain and return to work. Am Fam Physician. 76, 1497-1502.
- http://www.spine-health.com/conditions/upper-back-pain [2017,Feb25]
Updated 2017,Feb25