ปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ (Transplant rejection)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่

ปฏิกิริยาต่อต้านอวัยวะใหม่(Transplant rejection หรือ Graft rejection หรือ Tissue rejection หรือ Organ rejection) คือ กระบวนการทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ระบบภูมิคุ้มกันที่ร่างกายนำมาใช้เพื่อต่อต้านเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ที่ได้รับการเปลี่ยนหรือการปลูกถ่ายเพื่อชดเชยเนื้อเยื่อ/อวัยวะเดิมที่เสียหายจนไม่สามารถทำงานได้อีก เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูก การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ การปลูกถ่ายตับ/การผ่าตัดเปลี่ยนตับ การปลูกถ่ายไต/การผ่าตัดเปลี่ยนไต ทั้งนี้เพราะร่างกายตอบสนองว่า เนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่นี้ เป็นสิ่งแปลกปลอมที่จะก่ออันตรายต่อร่างกาย ร่างกายจึงต้องกำจัดออกไป ซึ่งการต่อต้านเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่นี้จะส่งผลให้เนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่เกิดการอักเสบ

เนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ที่คุณสมบัติทางภูมิคุ้มกันเข้าได้กับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่เมื่อนำมาปลูกถ่าย จะทำให้ร่างกายมีการต่อต้านต่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่น้อยลง เรียกว่า “Matched tissue/organ” แต่ถ้าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าไม่ได้กับเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ เรียกเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่นั้นว่า “Mismatched tissue/organ”

Transplant rejection มี 3 แบบคือ

ก. Hyperacute rejection คือ การต่อต้านเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ ที่เกิดภายใน 2-3นาที หลังการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ เช่น การได้รับเลือดที่มีกลุ่มเลือดต่อต้านกัน ซึ่งจะมีความรุนแรงของปฏิกิริยาสูงสุด

ข. Acute rejection คือ การต่อต้านเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ ที่เกิดในสัปดาห์แรก-3เดือน หลังร่างกายที่ได้รับเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่

ค. Chronic rejection คือ การต่อต้านเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ที่เกิดต่อเนื่อง ยาวนาน กว่า 3 เดือน ซึ่งจะมีความรุนแรงของปฏิกิริยาน้อยที่สุดใน 3 แบบ แต่จะมีปฏิกิริยาต่อเนื่องเรื้อรังยาวนาน

อาการ:

อาการของปฏิกิริยาต่อต้านเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ คือ

  • เนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่จะมีการทำงานผิดปกติที่ตรวจพบได้จาก อาการผิดปกติต่าง และจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายร่างกาย อาจปวดเมื่อยเนื้อตัว แน่นอึดอัด เป็นต้น
  • อาจมีไข้ มีได้ทั้งไข้ต่ำ หรือไข้สูง
  • อาจ ปวด บวม ในตำแหน่งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่
  • มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยเนื้อตัว ไอ
  • หายใจลำบาก
  • อาการที่ขึ้นกับชนิดของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ เช่น ไตวาย(อาการ เช่น ปัสสาวะปริมาณน้อย ปัสสาวะเป็นเลือด)ในกรณีปลูกถ่ายไต, ตับวาย(อาการเช่น ปวดท้อง ตอนบน ตับโตคลำได้ ตัว/ตาเหลือง คลื่นไส้อาเจียน)กรณีปลูกถ่ายตับ, เป็นต้น

การวินิจฉัย:

แพทย์วินิจว่าเกิดปฏิกิริยาต่อต้านเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ได้จาก อาการผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจสืบค้นเพิ่มเติมต่างๆ เช่น การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ด้วย เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ ทั้งนี้ การจะตรวจวิธีใดขึ้นกับชนิดของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่และดุลพินิจของแพทย์

การรักษา

การรักษาปฏิกิริยาต่อต้านเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ คือ

  • การให้ยาต่างๆเพื่อกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย(ยากดภูมิคุ้มกัน)ซึ่งต้องกินยาเหล่านี้ตลอดชีวิต และ
  • การรักษาประคับประคองตามอาการผู้ป่วย เช่น การให้ยาลดไข้กรณีมีไข้ การให้ออกซิเจนกรณีมีปัญหาทางการหายใจ เป็นต้น

การพยากรณ์โรค:

เมื่อเกิดปฏิกิริยาต่อต้านเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ การพยากรณ์โรคที่จะเก็บเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ไว้ได้ หรือจะต้องนำเอาเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่ออกจากร่างกายผู้ป่วย จะขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญที่ทำให้การพยากรณ์โรคไม่ดี เช่น เนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่เป็นชนิดMismatched, เนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่เป็นชนิดไม่สมบูรณ์หรือได้รับมาจากผู้ป่วยที่ร่างกายไม่สมบูรณ์, ผู้ป่วยมีอายุมาก, ผู้ป่วยมีการติดเชื้อรุนแรงร่วมด้วย, ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยากดภูมิคุ้มกัน, ปฏิกิริยาต่อต้านเนื้อเยื่อ/อวัยวะใหม่เป็นปฏิกิริยาต่อต้านชนิด Hyperacute เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. https://medlineplus.gov/ency/article/000815.html [2017,Aug26]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Transplant_rejection [2017,Aug26]