บัญชียาหลักแห่งชาติ (National Essential Medicine)

“บัญชียาหลักแห่งชาติ” คืออะไร?

บัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นกลไกหนึ่งในการส่งเสริมระบบการใช้ยาของประเทศ ให้สอด คล้องกับหลักปรัชญาวิถีชีวิตพอเพียง โดยจัดให้มีรายการยาที่มีความจำเป็นในการป้องกันและแก้ ไขปัญหาสุขภาพของคนไทย ด้วยกระบวนการคัดเลือกยาที่โปร่งใส และการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ทำไมต้องมี “บัญชียาหลักแห่งชาติ”?

ที่ต้องมี บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อ

  • ให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ให้สามารถเข้าถึงยาได้ โดยสามารถใช้ยาได้ตรงกับโรค และ
  • ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ไม่ใช้ยาฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น

“บัญชียาหลักแห่งชาติ”มีประโยชน์อย่างไร?

ประโยชน์ของบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ

  • เพื่อสร้างเสริมระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สมราคา
  • มีความคุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและความสามารถในค่าใช้จ่ายของสังคม
  • เป็นบัญชียาที่มีประสิทธิภาพ (Effective list) เพื่อให้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ระ บบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สามารถอ้างอิงเป็นสิทธิประโยชน์ด้านยา (Pharmaceutical benefit scheme) ได้อย่างยั่งยืน และเป็นธรรม
  • ใช้เป็นแนวทางในการเลือกใช้ยา ตามขั้นตอน ตามความรุนแรงของอาการ และของโรค อย่างสมเหตุผล
  • ส่งเสริมการใช้ยาด้วยความพอดี โดยประโยชน์ที่ได้รับจากยาต้องมากกว่าความเสี่ยง (ผลข้างเคียงจากยา และ/หรือจากการแพ้ยา) ที่อาจเกิดขึ้น (Positive benefit-to-risk ratio)
  • ส่งเสริมการใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ต้นทุน (Maximization of cost-effectiveness) ควบคู่กับการเพิ่มคุณภาพการรักษา โดยเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงยาที่มีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้
  • “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ในทางปฏิบัติใช้อย่างไร?

    ในทางปฏิบัติ

    • ยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ต้องเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาในประเทศ เว้นแต่เป็นยาที่ได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนดจากกระทรวงสาธารณสุข โดยต้องคำนึงถึงยาที่มีการผลิต และ/หรือ จำหน่ายในประเทศ เพื่อให้มียาจำนวนเพียงพอต่อผู้ป่วย เป็นหลักด้วย
    • ควรเป็นยาเดี่ยว (ยาชนิดเดียวใน 1 เม็ดยา) หากจำเป็นต้องเป็นยาผสม (มียาหลายชนิดในเม็ดยา เช่น วิตามินรวม) จะต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่แสดงว่ายาผสมมีข้อดีกว่า หรือเท่าเทียมกับยาเดี่ยวในด้านความปลอดภัย ประโยชน์ และค่าใช้จ่าย
    • หากเป็นยาที่มีหลายข้อบ่งใช้ แต่มีความเหมาะสมที่จะใช้เพียงบางข้อบ่งใช้ ให้ระบุข้อบ่งใช้และเงื่อนไขการสั่งใช้ยา เพื่อให้การใช้ยาดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม เงื่อนไขการสั่งใช้ต้องมีความชัดเจน เอื้อต่อการใช้ยาเป็นขั้นตอน ตามระบบบัญชียาย่อย ซึ่งแบ่ง เป็นบัญชีย่อย ก. ข. ค. ง. และ จ.
      • บัญชี ก. คือ ยาสำหรับสถานพยาบาลทุกระดับ เป็นยาที่ได้รับการเลือกใช้เป็นอันดับแรก
      • บัญชี ข. คือ ใช้ยาบัญชี ก.ไม่ได้ หรือไม่ได้ผล
      • บัญชี ค. คือ ยาที่ใช้กับโรคเฉพาะทาง โดยแพทย์ผู้ชำนาญ ถ้าใช้ไม่ถูกต้องอาจเกิดพิษ หรืออันตรายต่อผู้ป่วยได้
      • บัญชี ง. คือ เป็นยาที่มีหลายข้อบ่งใช้ (หลายสรรพคุณ) แต่มีความเหมาะสมเพียงบางข้อบ่งใช้ หรือมีการใช้ยาในวงจำกัดไม่แพร่หลาย หรือมีราคาแพงกว่ายาในกลุ่มเดียวกัน
      • บัญชี จ.(1) คือ เป็นยาสำหรับโครงการพิเศษของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วย งานรัฐ ต้องมีการติดตามประเมินการใช้ยาตามโครงการ
      • บัญชี จ.(2) เป็นยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ ซึ่งมีการจัดกลไกกลางเป็นพิเศษในการกำกับการเข้าถึงยา

    ทั้งนี้ ยาที่อยู่ในรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ จะระบุชื่อยาเป็น ยาชื่อสามัญ/ยาสามัญ (Generic name) เช่น

    • ยาลดการหลั่งกรดกลุ่มโปรตอนปั๊ม ชื่อสามัญ คือ Omeprazole ขณะที่ยาต้นแบบ (Original drug) คือ Losec
    • หรือ ยาแก้ปวด ลดไข้ กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDS) ชื่อสามัญ คือ Diclofenac ยาต้นแบบคือ Volta ren เป็นต้น

    จากการควบคุมการผลิตยาของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทุกท่านจึงไม่ควรกังวลถึงประสิทธิภาพของยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และในยาชื่อสามัญ (อ่านเพิ่มเติมในเรื่องของยาสามัญ และยาต้นแบบได้ในบทความในเว็บ haamor.com เรื่อง ประเภทยา:ยาชื่อสามัญและยาต้นแบบ)

    บรรณานุกรม

    1. บัญชียาหลักแห่งชาติ. nlem@fda.moph.go.th [2013,Sept2].