บรอมเฮกซีน (Bromhexine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 มิถุนายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาบรอมเฮกซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาบรอมเฮกซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาบรอมเฮกซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาบรอมเฮกซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาบรอมเฮกซีนควรทำอย่างไร?
- ยาบรอมเฮกซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาบรอมเฮกซีนอย่างไร?
- ยาบรอมเฮกซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาบรอมเฮกซีนอย่างไร?
- ยาบรอมเฮกซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- โรคหืด (Asthma)
- ยาขับเสมหะ (Expectorants) และยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
- โรคหวัด (Common cold)
- ยาแก้หวัด (Cold medication)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาบรอมเฮกซีน (Bromhexine ) คือ ยาที่ใช้รักษาโรคระบบทางเดินหายใจอันเนื่องจากการมีเสมหะมาก ทำให้หายใจไม่สะดวกและมีอาการไอตามมา
ยาบรอมเฮกซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
สรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้ของยาบรอมเฮกซีน คือ
- เป็นยาละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอจากโรคหวัด
ยาบรอมเฮกซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาบรอมเฮกซีนคือ เพิ่มสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ และทำให้ขนกวัดหรือขนของเซลล์ (Cilia) ซึ่งอยู่ที่ผนังท่อทางเดินหายใจของมนุษย์โบกพัดนำเอาสิ่งสกปรกรวมถึงเสมหะออกจากท่อทางเดินหายใจ
ยาบรอมเฮกซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาบรอมเฮกซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ด ขนาด 8 มิลลิกรัม
- ยาน้ำเชื่อม, อิลิกเซอร์ (Elixir) ขนาด 4 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)
ยาบรอมเฮกซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
มีขนาดการใช้ยาบรอมเฮกซีนที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ, ความรุนแรง, สภาวะความเจ็บป่วยของร่างกาย, ดุลพินิจของแพทย์, ดังนั้นจึงควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อรับประทานเอง ขนาดรับประทานสูงสุดในผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 8 - 16 มิลลิกรัม/ครั้ง วันละไม่เกิน 3 ครั้ง ส่วนในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ควรต้องอยู่ในคำแนะนำของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาบรอมเฮกซีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด และอาการของการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- โรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบรอมเฮกซีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิ/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาต่างๆอาจผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทายาบรอมเฮกซีนควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาบรอมเฮกซีน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไปให้รับประทานขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาบรอมเฮกซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ของยาบรอมเฮกซีน เช่น
- อาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร - ลำไส้
- ปวดหัว
- ง่วงนอน
- เหงื่อออกมาก
- ผื่นคัน
- มีอาการไอเพิ่มขึ้น
- หลอดลมตีบ
มีข้อควรระวังการใช้ยาบรอมเฮกซีนอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาบรอมเฮกซีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ระวังการใช้ยาในผู้ที่มีประวัติเป็น โรคกระเพาะอาหาร - ลำไส้ ด้วยยามีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร - ลำไส้
- ระวังการใช้ยาในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหืด ด้วยยาอาจก่อให้เกิดภาวะหลอดลมตีบ
- ระวังการใช้ยากับผู้ที่มีภาวะตับ - ไตผิดปกติ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาบรอมเฮกซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาบรอมเฮกซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยังไม่พบรายงานว่า ยาบรอมเฮกซีน มีปฏิกิริยาระหว่างยาร่วมกับยาอื่น
ควรเก็บรักษายาบรอมเฮกซีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาบรอมเฮกซีน เช่น
- เก็บยาให้พ้นแสงแดด
- เก็บยาในที่แห้ง
- สามารถเก็บยาในอุณหภูมิห้องได้
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาบรอมเฮกซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อทางการค้าของยาบรอมเฮกซีน และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ASOVON (อโซวอน) | Medicine Products |
AXISTAL (อะซิสทอล) | Asian Pharm |
BISOLVON (ไบโซลวอน) | Boehringer Ingelheim |
BISOLVON EX (ไบโซลวอน เอ็กซ์) | Boehringer Ingelheim |
BOMEXIN (โบมีซิน) | Pond’s Chemical |
BROMOSON (โบรโมซัน) | Unison |
BROMSO (บรอมโซ) | T.O. Chemicals |
BROMSO – EX (บรอมโซ- เอ็กซ์) | T.O. Chemicals |
BROMXINE (บรอมซีน) | General Drugs House |
BROMXINE ATLANTIC (บรอมซีน แอทแลนติค) | Atlantic Lab |
BRONCHOPREX (บรอนโคเพร็ก) | Kenyaku |
BRONCLEAR (บรอนเคลียร์) | Polipharm |
COHEXINE (โคเฮ็กซีน) | Community Pharm PCL |
DEXBROXINE (เด็กซ์โบรซีน) | Pharmasant Lab |
DISOL (ไดซอล) | Siam Bheasach |
IDA (ไอดา) | The Forty – Two |
IDA – D (ไอดา-ดี) | The Forty – Two |
KUPA (คูปา) | M & H Manufacturing |
MANOVON (มาโนวอน) | March Pharma |
MIHEXINE (ไมเฮ็กซีน) | Milano |
MUCOLATE (มูโคเลท) | Pharmasant Lab |
MUCOXIN (มูโคซิน) | Pharmasant Lab |
NASOREST EXPECTORANT (นาโซเรส เอ็กเพ็กทอแรนท์) | Community Pharm PCL |
OHEXINE (โอเฮ็กซีน) | Greater Pharma |
PRESCO (เพรสโค) | Polipharm |
ROBITUSSIN ME (โรบิทัสซิน เอ็มอี) | Wyeth Consumer Healthcare |
TAUGLICOLO (ทอจิกโคโล) | Siam Bheasach |
TROMADIL (โทรมาดิล) | Biolab |
TUSNO (ทัสโน) | Milano |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bromhexine [2021,June12]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/bromhexine%20elixir%20patar [2021,June12]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/bromxine [2021,June12]