น้ำยาบ้วนปาก ยาบ้วนปาก (Gargle)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 2 พฤษภาคม 2557
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลิ่นปาก (Bad breath)
- ฟันผุ (Dental caries)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
***น้ำยาบ้วนปากจำเป็นหรือไม่จำเป็น?
หากคุณแปรงฟันได้ถูกวิธี ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ (Fluoride) น้ำยาบ้วนปาก/ยาบ้วนปาก/ยาน้ำบ้วนปาก (Gargle หรือ Mouth wash) ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรเลย แต่หากคุณเป็นคนที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ และแปรงฟันไม่ค่อยถูกวิธี น้ำยาบ้วนปากก็เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมในการป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปากได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาในช่องปาก ไม่ว่าจะ ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมีกลิ่นปาก (ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนหันมาใช้น้ำยาบ้วนปาก) ควรต้องพบทันตแพทย์เสมอ เพื่อรักษาอาการเหล่านั้นที่ต้นเหตุเสียก่อน เพราะน้ำยาบ้วนปากไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย หากไม่รักษา’สาเหตุ’ให้ถูกวิธี
***ประเภทของน้ำยาบ้วนปาก
ผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากแบ่งประเภทได้ 5 กลุ่ม/ประเภท คือ
- กลุ่มที่ช่วยกลบกลิ่นและสร้างความสดชื่นในช่องปากด้วยน้ำมันหอมระเหย
- กลุ่มที่ผสมสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ร่วมกับฟลูออไรด์
- กลุ่มที่ผสมสารเพื่อลดปัญหาในช่องปากบางประการ เช่น ลดการเสียวฟัน ลดคราบหินปูน (ฟัน ขาว)
- กลุ่มสำหรับเด็ก และ
- ครอบจักรวาล คือรวมกลุ่ม 1-3 ไว้ในขวดเดียวกัน
1) กลุ่มที่ช่วยกลบกลิ่นและสร้างความสดชื่นในช่องปากด้วยน้ำมันหอมระเหย
กลิ่นหอมที่ได้จากน้ำยาบ้วนปากในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) ซึ่งไม่เพียงให้กลิ่นหอมและความรู้สึกเย็นสดชื่น แต่ยังมีฤทธิ์ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ด้วย
โดยน้ำมันหอมระเหยที่นิยมใช้ได้แก่ Methyl Salicylate, ไธมอล (Thymo), เมนทอล (Men thol), Eucalyptol, Peppermint oil, Clove oil (น้ำมันกานพลู) เป็นต้น
น้ำยาบ้วนปากกลุ่มนี้ช่วยกลบกลิ่นปากได้ราว 2 - 3 ชั่วโมงหลังใช้ (เนื่องจากน้ำมันหอมระ เหยช่วยระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค) แต่กลิ่นหอมที่เกิดจากน้ำยาบ้วนปากจะอยู่ได้ไม่นานประมาณ 20 นาที ก็จะจางไป
เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยจะออกฤทธิ์ได้ดีในแอลกอฮอล์ น้ำยาบ้วนปากกลุ่มนี้ จึงผสมแอล กอฮอล์ในความเข้มข้นที่ 10-30% ซึ่งทำให้เกิดภาวะแสบร้อนที่ไม่พึงประสงค์ หลายคนจึงใช้น้ำยาบ้วนปากได้ไม่นานเท่าที่คำแนะนำระบุ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพลดลงไป ปัจจุบันจึงมีสูตรไร้แอลกอ ฮอล์ออกมาเป็นทางเลือก
2) กลุ่มที่ผสมสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ร่วมกับฟลูออไรด์
การเติมสารฆ่าเชื้อหรือระงับเชื้อจุลินทรีย์ลงในน้ำยาบ้วนปาก ก็เพื่อลดจำนวนจุลินทรีย์ในปากลง เนื่องจากจุลินทรีย์ก่อให้เกิดกลิ่นปาก แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้องคือใช้ในระยะเวลาที่ไม่นานพอ ที่สารจะถูกดูดซับไว้ในช่องปาก ก็แทบไม่มีผลอะไรในการระงับเชื้อ ดังนั้นต้องใช้ให้ตรงตามคำแนะ นำในเอกสารกำกับยา
ปัจจุบัน สารฆ่าเชื้อหรือระงับเชื้อที่นิยมใช้ได้แก่ กลุ่มน้ำมันหอมระเหยอย่าง ไธมอล หรือ เมนทอล และกลุ่ม Quaternary ammonium salts ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีและไม่เป็นพิษ ในความเข้มข้นที่ใช้ (ไม่เกิน 0.5 %) ตัวที่ควรรู้จักคือ Cetylpyridinum chloride (เซธิลไพริดิเนียม คลอไรด์)
น้ำยาบ้วนปากสูตรไร้แอลกอฮอล์ หรือที่โฆษณาว่า สดชื่นไม่แสบปาก จะนิยมใส่สาร Cetylpyridinum chloride เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อ แทนการใช้กลุ่มน้ำมันหอมระเหยที่จะออกฤทธิ์ได้ไม่ดี หากไม่ใช้แอลกอฮอล์ในการทำละลาย
ส่วนข้อเสียของ Cetylpyridinum chloride คือจะให้รสขมติดปาก ดังนั้นในการผลิตจึงต้องมีการใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลเพื่อช่วยปรับรสชาติ
กลุ่มคลอเฮกซิดีน (Chlorhexidine) ซึ่งในกลุ่มนี้จะไม่มีวางขายในห้างสรรพสินค้า จะต้องสั่งจ่ายโดยทันตแพทย์ เนื่องจากสารในกลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อมาก และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ เพราะจะทำให้เกิดคราบที่ฟัน และการรับรสของลิ้นลดลง
สำหรับฟลูออไรด์ที่ผสมในน้ำยาบ้วนปาก จะมีผลในการป้องกันฟันผุได้จริง แต่ต้องใช้ให้ถูก ต้อง คือ อมหรือกลั้วปากให้นานอย่างน้อย 1 นาที และไม่บ้วนน้ำตาม (เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ควรดื่มน้ำหรือกินอาหาร หลังการบ้วนปากเป็นเวลา 30 นาทีด้วย)
น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นคำเตือนที่ต้องระบุไว้บนฉลากสินค้า เพราะอาจส่งผลข้างเคียงจากฟลูออไรด์ที่มากเกินไปต่อเด็กได้ (เช่น การเจริญเติบโตผิดปกติของกระดูก รวมถึงของฟัน) เพราะปกติคนเราจะได้รับฟลูออไรด์จากน้ำดื่ม และจากยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์อยู่แล้ว (เพราะเราแปรงฟันทุกวัน)
3) กลุ่มที่ผสมสารเพื่อลดปัญหาในช่องปากบางประการ เช่น ลดการเสียวฟัน ลดคราบหิน ปูน (ฟันขาว)
น้ำยาบ้วนปากในกลุ่มที่ลดอาการเสียวฟัน จะใช้สาร Potassium Nitrate เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ ร่วมกับการใช้สารฆ่าเชื้อ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการเสียวฟัน
ส่วนกลุ่มที่ลดคราบหินปูน และช่วยลดคราบต่างๆที่มาติดฟัน จนดูเหมือนว่าช่วยทำให้ฟันขาวขึ้น นิยมใช้ สาร Zinc Chloride, Zinc Lactate หรือ Zinc Citrate เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ
4) น้ำยาบ้วนปากสำหรับเด็ก
กลุ่มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันฟันผุสำหรับเด็ก สารออกฤทธิ์ตัวสำคัญจึงเป็นสารฟลูออ ไรด์ ซึ่งจะไม่มีสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และไม่มีแอลกอฮอล์ผสม
อนึ่ง เนื่องจากผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากสำหรับคนทั่วไปในท้องตลาดปัจจุบัน แทบไม่มีที่ผสมแต่เพียงฟลูออไรด์อย่างเดียว โดยไม่ผสมสารฆ่าเชื้อร่วมด้วย ดังนั้น หากไม่ต้องการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ต้องการแต่ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุอย่างเดียว ก็สามารถเลือก ใช้น้ำยาบ้วนปากในกลุ่มสำหรับเด็กได้
น้ำยาบ้วนปากสำหรับเด็ก ห้ามใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี เพราะเด็กอาจได้รับฟลูออไรด์สูงเกินไปจนเกิดโทษได้ และสำหรับเด็กที่ฟันผุมาก ผู้ปกครองอาจเสริมด้วยน้ำยาบ้วนปากสำหรับเด็กหลังการแปรงฟันได้ แต่ถ้าเด็กได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างดีแล้ว น้ำยาบ้วนปากก็ไม่จำเป็น
5) กลุ่มครอบจักรวาล (Total care)
กลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า โทเทิล แคร์ คือ ดูแลหมดทุกสิ่งอย่าง ทั้งฆ่าเชื้อ ทำให้ปากสดชื่น ป้อง กันฟันผุ ลดคราบหินปูน และลดเสียวฟัน ซึ่งไม่จำเป็นเท่าไหร่ ควรเลือกใช้ให้ตรงตามความต้อง การดีกว่า
***ประสิทธิภาพในการลดกลิ่นปาก
จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปาก จะช่วยลดกลิ่นปากได้ชั่ว คราว ‘โดยจะควบคุมกลิ่นปากได้ประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น’ ไม่ใช่ใช้ตอนเช้าควบคุมได้ไปจนถึงเย็น เพราะฉะนั้นอาจใช้น้ำยาบ้วนปากได้เป็นครั้งคราว กรณีที่ต้องการความมั่นใจ
แต่หากจะใช้เพื่อระงับกลิ่นปาก ป้องกันไม่ให้มีกลิ่นปาก ควรป้องกันด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การทำความสะอาดลิ้น เพราะฝ้าขาวบนลิ้นเป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก ขณะเดียวกันควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันก่อนแปรงฟันเข้านอนทุกวัน
ถ้ามีกลิ่นปาก ก็ต้องหาสาเหตุว่ามาจากสาเหตุอะไร เช่น ฟันผุ เป็นโรคเหงือก โรคระบบทาง เดินอาหาร ทอนซิลอักเสบ หรือ ไซนัสอักเสบ ก็ควรรักษาแก้ที่ต้นเหตุจะดีกว่า เพราะน้ำยาบ้วนปาก เพียงระงับกลิ่นปากชั่วคราว แต่ไม่ได้แก้ที่สาเหตุของการเกิดกลิ่นปาก
***น้ำยาบ้วนปากกับเด็ก
เด็ก ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำยาบ้วนปาก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากเลยทุกประเภท ไม่ว่าจะมีแอลกอฮอล์ หรือไม่มีแอลกอฮอล์ผสม เพราะการควบคุมการกลืนยังไม่ดี ขณะที่บ้วนปาก เด็กอาจกลืนกินน้ำยาบ้วนปากลงไปด้วย
น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ผสม จึงมีคำเตือนห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งความจริงน้ำยาบ้วนปากของเด็ก มักจะใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ โดยผู้ปกครองจะซื้อให้เด็กใช้ในกรณีที่ลูกฟันผุมากๆ แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ หากสอนดูแลให้เด็กแปรงฟันให้สะอาดด้วยการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
อย่างไรก็ตามหากผู้บริโภคดูแลสุขภาพเหงือกและฟันให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เป็นโรคเกี่ยวกับฟัน ฟันผุ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับเหงือกแล้ว เชื่อว่าน้ำยาบ้วนปากจะเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่เกินความจำเป็นก็เป็นได้ เนื่องจากราคาต่อขวดนับว่าสูงอยู่ทีเดียว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการบ้วนเงินทิ้งไปเปล่าๆนั่นเอง
***สิ่งสำคัญเมื่อใช้น้ำยาบ้วนปาก
สิ่งสำคัญเมื่อใช้น้ำยาบ้วนปากที่ต้องจำไว้เป็นหลักเบื้องต้น 2 ข้อ คือ
ข้อ 1 ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากแทนการแปรงฟันโดยเด็ดขาด ถ้าจะใช้ ให้ใช้น้ำยาบ้วนปากเป็นส่วนที่เสริมเพิ่มเติมจากการแปรงฟันตามปกติ
ข้อที่ 2 คือ การใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อลดอาการที่เกิดขึ้นในช่องปาก เช่น ลดเหงือกอักเสบ ลดกลิ่นปาก ลดการเสียวฟัน ฯลฯ อาจทำให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรงตามมาได้ เนื่องจากว่า สาเหตุโดยตรงไม่ ได้รับการแก้ไข แต่อาการที่เกิดขึ้นบรรเทาลงจากคุณสมบัติของน้ำยาบ้วนปาก ทำให้เราละเลยที่จะไปพบทันตแพทย์เพื่อการรักษา
อีกประการ ปัจจุบันในท้องตลาดมีน้ำยาบ้วนปากมากมายหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อก็โฆษณาว่ามีสรรพคุณต่างๆกัน การเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากอะไรจะต้องดูส่วนผสม สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ ที่ระบุอยู่ที่ฉลาก/ฉลากยา ว่าเป็นอะไร (ควรใช้แว่นขยายส่องดู เพราะส่วนที่เขียนส่วนผสมมักจะตัวเล็กมากๆ)
***คนที่ควรจะใช้น้ำยาบ้วนปาก
คนที่ควรใช้น้ำยาบ้วนปาก ได้แก่
- ในคนที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ เช่น มีฟันผุเกิดขึ้นใหม่ทุกปี ต้องไปอุดฟันบ่อยๆ หรือคนที่กินขนมหวานจุกจิก (ห้ามปากตัวเองไม่ได้) การแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์อย่างเดียวอาจไม่พอ สามารถเพิ่มน้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ได้ ซึ่งมักจะเป็น โซเดียมฟลูออไรด์ 0.5% อมนาน 2-3 นาทีทุกวัน อมแล้วบ้วนทิ้งโดยไม่ต้องบ้วนน้ำซ้ำอีก เพื่อให้ฟลูออไรด์ยังคงติดอยู่ที่ฟันได้นานขึ้น อาจอมน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์หลังแปรงฟันหรือก่อนนอนก็ได้
- คนที่ไม่สามารถแปรงฟันได้สะอาดพอ เช่น คนพิการ หรือผู้สูงอายุที่ควบคุมมือได้ไม่ค่อยดีนัก หรือในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบหรือเป็นโรคปริทันต์อักเสบ (การอักเสบของทั้งเหงือกและฟัน) อยู่บ่อยๆ การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคร่วมกับการแปรงฟัน ก็อาจจะช่วยลดจำนวนเชื้อโรคที่อยู่ในแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่หลงเหลือจากการแปรงฟันลงได้ ทำให้เหงือกอักเสบลดลง
- ในคนที่มีอาการเสียวฟัน ก็ควรจะเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารโพแทสเซียมไนเตรต
- ส่วนกลุ่มคนสุดท้ายที่อาจเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ก็คือ คนที่มีกลิ่นปาก สาเหตุส่วนใหญ่ของกลิ่นปากมาจากเชื้อโรคบนโคนลิ้นและโรคปริทันต์อักเสบ น้ำยาบ้วนปากที่ใช้ จึงควรเป็นน้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ เช่น น้ำยาบ้วนปากที่เป็นน้ำมันหอมระเหย น้ำยาบ้วนปากผสมคลอเฮกซิดีน หรือ น้ำยาบ้วนปากผสมเซททิล ไพลิดิเนียม คลอไรด์ ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารที่มีกลิ่นหอมสดชื่นเพียงอย่างเดียว เพราะจะสามารถระงับกลิ่นปากได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เป็นการกลบกลิ่นปาก ไม่ได้กำจัดสาเหตุของการเกิดกลิ่นปากโดยตรง
อนึ่ง ‘น้ำยาบ้วนปากทุกกลุ่ม ไม่มีข้อห้ามในหญิงให้นมบุตร และ ในหญิงที่มีการตั้งครรภ์’
บรรณานุกรม
1. http://www.tcijthai.com/tcijthai/view.php?ids=3096 [2014,April 13].
2. http://www.bloggang.com [2014,April13]
3. http://pantip.com/topic/30082732 [2014,April14]