น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 24 ตุลาคม 2564
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- ยาใส่แผล ยาทำแผล (Antiseptic)
- โรคติดเชื้อปรสิต (Parasitic infection)
- น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อคืออะไร?
- แบ่งน้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อเป็นประเภทใดบ้าง?
- น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้ออยู่ในรูปแบบใดบ้าง?
- มีข้อบ่งใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้ออย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้ออย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้ออย่างไร?
- การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อในหญิงตั้งครรภ์/ให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อเป็นอย่างไร?
- ข้อควรจำ
- บรรณานุกรม
น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อคืออะไร?
น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics) คือ สารเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้งหรือฆ่าเชื้อจุลชีพ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส(โรคเชื้อไวรัส), ยีสต์, และเชื้อโปรโตซัว (Protozoa/ โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว) โดยน้ำยาฆ่าเชื้อนี้ไม่มีอันตรายต่อเซลล์สิ่งมีชีวิตอื่นๆ(เช่น คน)จึงสามารถใช้กับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตได้โดยตรงเช่น บาดแผล เนื้อเยื่อเมือก หรือผิวหนัง
แบ่งน้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อเป็นประเภทใดบ้าง?
แบ่งน้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อตามโครงสร้างทางเคมีได้ดังนี้
1. แอลกอฮอล์: เช่น เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) และ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol)
2. คลอเฮกซิดีน (Chlorhexidine)
3. กลุ่มฮาโลเจน (Halogen releasing agents): เช่น
- ไอโอดีน (Iodine): เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน (Tincture iodine)
- ไอโอโดฟอร์ (Iodophor): เช่น โพวิโดนไอโอดีน (Povidone iodine)
- คลอรีน (Chlorine)
4. เฮกซะคลอโรฟีน (Hexachlorophene)
5. สารประกอบควอเตอร์นารีแอมโมเนียม (Quaternary ammonium compound): เช่น เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride)
6. กลุ่ม Oxidizing agents:
- สารประกอบเปอร์ออกซิเจน (Peroxygen compound) เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออก ไซด์ (Hydrogen peroxide), กรดเปอร์อะซิติก (Peracetic acid, PAA)
- สารประกอบเปอร์แมงกาเนตเช่น โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนตหรือด่างทับทิม (Potassium Permanganate)
7. โลหะหนัก: เช่น ไทเมอร์โรซอล (Thimerosal, Merthiolate), เมอร์โบรมิน/ยาแดง (Merbromin)
8. Antibacterial dyes: เป็นสารมีสีมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น เจนเชียนไวโอเลต (Gentian Violet) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คริสตัลไวโอเลต (Crystal Violet) ซึ่งเป็นยาที่มีสีม่วง, และอะคริเฟลวีน/ยาเหลือง (Acriflavine) เป็นยาที่มีสีเหลือง
น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้ออยู่ในรูปแบบใดบ้าง?
รูปแบบของน้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื่อ เช่น
- ยาสารละลาย (Solutions): เช่น โพวิโดนไอโอดีน
- ยาทิงเจอร์ (Tinctures/ยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์): เช่น ไทเมอร์โรซอล
- ยากลั้วคอ (Gargles): เช่น น้ำยาไอโอดีน
- ยาครีม (Creams): เช่น เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride)
- ยาผงสวนล้าง (Douche Powders): ใช้สวนล้างช่องต่างๆของร่างกายเช่น ช่องคลอดได้แก่ เฮกซะคลอโรฟีน, คลอเฮกซิดีน
- ยาเจลลี่ (Jellies) หรือยาเจล: เช่น คลอเฮกซิดีน, แอลกอฮอล์
- ยาขี้ผึ้ง (Ointments): เช่น คลอเฮกซิดีน
- ยาป้าย (Paints): เช่น เจนเชียนไวโอเลต
มีข้อบ่งใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้ออย่างไร?
มีข้อบ่งใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อ เช่น
- เช็ดผิวหนังเพื่อทำความสะอาดก่อนฉีดยา เจาะเลือด ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และ/หรือก่อนผ่าตัด
- ใช้ฟอกมือก่อนผ่าตัด
- ใช้ฆ่าเชื้อในช่องปาก
- ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกก่อนตรวจภายใน เตรียมคลอด หรือก่อนผ่าตัด
- ทำความสะอาดบาดแผลหรือใส่แผลเพื่อฆ่าเชื้อโรค
- ใช้อาบน้ำทารกแรกเกิดเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟฟิโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
มีข้อห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้ออย่างไร?
มีข้อห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อ เช่น
- น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อส่วนใหญ่เป็นยาใช้ภายนอกห้ามรับประทาน
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
- ห้ามใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนปิดแผลเพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นตาย
- ไม่ควรใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนกับผิวหนังอ่อนนุ่มเช่น บริเวณใบหน้า ตา เนื้อเยื่ออ่อน (เช่น เยื่อเมือก อวัยวะเพศ) อวัยวะสืบพันธุ์ และผิวหนังของเด็กเล็ก เพราะอาจทำให้ระคายเคืองได้
- ไม่ควรใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนที่ไว้เก็บนานเพราะแอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่อาจระเหยไปมากจนทำให้ความเข้มข้นของยาเพิ่มขึ้น แผลจะระคายเคืองได้มากขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้ออย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อ เช่น
- ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบๆแผล เว้นบริเวณที่เป็นแผลเพราะจะแสบและระคายเคืองและทำให้แผลหายช้า
- ควรเก็บแอลกอฮอล์ไว้ให้พ้นจากแสงสว่าง แสงแดด และความร้อนเพราะแอลกอฮอล์ติดไฟได้
- ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ไม่เหมาะกับแผลที่เป็นโพรงลึก และหากใช้แล้วไม่มีฟองฟู่แสดงว่ายาเสื่อมคุณภาพแล้ว
- ระวังการใช้ยาที่มีสีแล้วล้างออกยากเช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน ยาแดง และยาเจนเชียนไวโอเลต เพราะนอกจากจะมีสีติดผิวหนังแล้วอาจทำให้สีเปื้อนเสื้อผ้าหรือสิ่งอื่นๆได้
การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อในหญิงตั้งครรภ์/ให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรควรเป็น ดังนี้เช่น
- สามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อต่อไปนี้ได้อย่างปลอดภัยเช่น แอลกอฮอล์, เฮกซะคลอโรฟีน, คลอเฮกซิดีน, เจนเชียนไวเลต และไฮโดรเจอเปอร์ออกไซด์
- น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบเช่น ทิงเจอร์ไอโอดีนและโพวิโดนไอโอดีนควรใช้ปริมาณแต่น้อยๆและไม่ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะยาถูกดูดซึมได้และอาจทำให้ต่อมไทรอยด์ของทารกทำงานผิดปกติได้
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาเฮกซะคลอโรฟีน, ไทเมอร์โรซอล และยาแดง เพราะหากหญิงตั้งครรภ์ได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้เกิดพิษต่อทารกในครรภ์ได้
การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อในผู้สูงอายุควรเป็น เช่น
- ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีผิวแห้งอยู่แล้ว การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อบางชนิดอาจทำให้ผิวหนังยิ่งแห้งและระคายเคืองได้
- ผู้สูงอายุอาจมีโรคประจำตัวบางชนิดที่ทำให้มีบาดแผลเรื้อรัง และเป็นวัยที่แผลหายช้า ดังนั้นควรระวังการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อติดต่อกันเป็นเวลานานๆเพราะอาจทำให้ได้รับพิษจนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ อาการไม่พึงประสงค์) จากการใช้ยาเหล่านั้นได้
การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อในเด็กควรเป็น เช่น
- ผิวหนังของเด็กบอบบาง มีความชื้นสูงดูดซึมสารต่างๆเข้าสู้ผิวหนังได้ดีกว่ากว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นถ้าใช้ยาทาผิวหนังอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ อาการไม่พึงประสงค์) จากการใช้ยาได้มากกว่าเช่นกัน
- หากใช้เฮกซะคลอโรฟีนในเด็กแรกเกิดเป็นประจำ ยาจะสะสมในร่างกายเด็กจนอาจทำให้เกิดความผิดปกติของหัวใจหรือของสมองเด็ก และหากใช้เฮกซะคลอโรฟีนในทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจส่งผลให้เด็กเกิดสมองบวม (Cerebral edema) หรือชักได้
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อเป็นอย่างไร? ?
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/พิษ)จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อ เช่น
- น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อที่ใช้ทาผิวหนังอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองหรือผิวแห้งได้
- หากน้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อโดนบาดแผลอาจทำให้ระคายเคืองแผล รู้สึกแสบร้อน
- การใช้เมอร์โบรมินหรือยาแดงในปริมาณมากและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดพิษ จากสารปรอทได้เช่น ผิวหนังที่ทายาพอง, ท้องเสีย, ปวดท้อง และเป็นพิษต่อไต
ข้อควรจำ
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมน้ำยาฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อ) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- ณัฐสิทธิ์ ตันสกุล. สารฆ่าเชื้อ (Antiseptic and Disinfectant) https://ic2topsecret.files.wordpress.com/2011/01/antiseptic_and_disinfectant.pdf [2021,Oct23]
- Mcdonnell, G., and Russell, A.D. Antiseptics and Disinfectants: Activity, Action, and Resistance. Clinical Microbiology Reviews 12 (January 1999) : 147-179.
- Schaefer C., Peters P., Miller R.K. Drug During Pregnancy and Lactation: Treatment Options and Risk Assessment. 3. Elsevier. 2015
- https://mssd.nmd.go.th/wp-content/uploads/2019/03/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%86%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD.pdf [2021,Oct23]
- http://www.chulapedia.chula.ac.th/index.php?title=%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%A5 [2021,Oct23]
- https://s3.amazonaws.com/thai-health/%E0%B8%99-%E0%B8%B3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%86-%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7-%E0%B8%AD-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%87%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7-%E0%B8%AD-antiseptics [2021,Oct23]