นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 14 ตุลาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- นิ่วในท่อไตมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- นิ่วในท่อไตมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยนิ่วในท่อไตได้อย่างไร?
- รักษานิ่วในท่อไตอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากนิ่วในท่อไตไหม?
- นิ่วในท่อไตรุนแรงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีนิ่วในท่อไต? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันนิ่วในท่อไตได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Vesical calculi)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- ปวดหลัง: ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง (Back pain: Spinal disc herniation)
- ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)
- นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดี (Gallstone)
- ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
บทนำ
นิ่วในท่อไต (Ureteric stone หรือ Ureteric calculi) คือ โรคเกิดจากมีก้อนนิ่ว ขนาดเล็กหลุดจากก้อนนิ่วในไตหล่นเข้ามาอยู่ในท่อไตซึ่งเป็นท่อยาวขนาดเล็กที่เชื่อม ต่อระหว่างไตกับกระเพาะปัสสาวะ
นิ่วในท่อไต เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่ง พบได้ประมาณ 10% ของประชากรทั่วโลก
อนึ่ง ท่อไต(Ureter) เป็นอวัยวะมีหน้าที่นำส่งน้ำปัสสาวะจากไตเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ เป็นอวัยวะคู่เช่นเดียวกับไตคือ ท่อไตซ้ายและท่อไตขวา มีลักษณะเป็นท่อยาวขนาดเล็กขนาบอยู่ด้านข้างของกระดูกสันหลังช่วงเอวทั้งซ้ายและขวา ยาวประมาณ 25 - 30 เซนติเมตร (ซม.) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 - 5 มิลลิเมตร (มม.) ผนังของท่อเป็นเยื่อเมือกและกล้ามเนื้อ เพื่อบีบตัวช่วยการเคลื่อนตัวของน้ำปัสสาวะจากไตสู่กระเพาะปัสสาวะ
นิ่วในท่อไตส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กกว่า 5 มม. แต่อาจพบมีขนาดใหญ่กว่า 1 ซม.ได้ ซึ่งโดยทั่วไป นิ่วในท่อไตเมื่อมีขนาดประมาณ 1 มม. 87% จะหลุดออกมาได้เองกับน้ำปัสสาวะ, ถ้าขนาด 2 - 4 มม., 5 - 7 มม., 7 - 9 มม., และขนาดใหญ่กว่า 9 มม. ประมาณ 76%, 60%, 48%, และ 25% ตามลำดับ ที่จะหลุดได้เอง
ซึ่งนอกจากขนาดของก้อนนิ่วแล้ว โอกาสที่นิ่วจะหลุดได้เอง ยังขึ้นกับตำแหน่งของนิ่ว กล่าวคือ ก้อนนิ่วในส่วนปลายท่อไตจะหลุดได้ง่ายกว่าก้อนนิ่วที่อยู่ในส่วนต้นหรือในส่วนกลางของท่อไต
ทั้งนี้ โดยทั่วไปประมาณ 95% ก้อนนิ่วจะหลุดได้เองภายในระยะเวลา 4 - 6 สัปดาห์นับจากวินิจฉัยโรคได้
และเนื่องจากเป็นโรคสืบเนื่องกับนิ่วในไต จึงพบนิ่วในท่อไตได้ในผู้ใหญ่ และพบในผู้ชาย บ่อยกว่าในผู้หญิง 2 - 3 เท่าเช่นเดียวกับในโรคนิ่วในไต
นิ่วในท่อไตมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
เนื่องจากนิ่วในท่อไตเป็นก้อนนิ่วที่หล่นมาจากนิ่วในไต ดังนั้นชนิดของนิ่วจึงเช่นเดียวกับนิ่วในไตกล่าวคือ
- ส่วนใหญ่ประมาณ 75 - 85% เป็นนิ่วมีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นแคลเซียม ซึ่งคือ แคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate)
- 10 - 15% เป็นชนิด Struvive stone (แอมโมเนียม แมกนีเซียม ฟอสเฟต/Ammonium magnesium phosphate)
- 5 - 8% เป็นชนิดเกิดจากกรดยูริค (Uric acid) และ
- ประมาณ 1% เกิดจากสารซีสตีน (Cystine)
ซึ่งกลไกการเกิดนิ่วเหล่านี้คือ การตกตะกอนของสารเหล่านี้เรื้อรังในไต จนในที่สุดรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่ว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สารเหล่านี้ตกตะกอน เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น
- มีสารเหล่านี้เข็มข้นในปัสสาวะผิดปกติ หรือ
- มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ จึงก่อให้ปัสสาวะแช่ค้างอยู่นานในไต เช่น ท่อปัสสาวะตีบจากท่อปัสสาวะอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง หรือตีบแต่กำเนิด
นอกจากนั้น ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดนิ่วในท่อไตเป็นปัจจัยเสี่ยงเดียวกับการเกิดนิ่วในไต เพราะเป็นการเกิดโรคสืบเนื่องกัน เช่น
- จากพันธุกรรม
- จากดื่มน้ำน้อย
- จากมีการติดเชื้อเรื้อรังในทางเดินปัสสาวะ
- จากกินอาหารมีสารต่างๆที่ก่อการตกตะกอนในปัสสาวะในปริมาณสูงต่อเนื่อง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘นิ่วในไต’)
นิ่วในท่อไตมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของโรคนิ่วในท่อไตคือ
- เมื่อก้อนนิ่วมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ นิ่วจะผ่านออกมาทางปัสสาวะได้เอง
- แต่เมื่อก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเมื่อมีการติดเชื้อในไต และ/หรือในกระเพาะปัสสาวะ จะส่งผลให้ท่อไตอักเสบบวม รูท่อไตจึงตีบแคบลง ก้อนนิ่วจึงค้างติดอยู่ได้ง่ายในท่อไต ซึ่งอาการพบบ่อยของนิ่วในท่อไตกรณีเหล่านี้คือ
- ปวดท้องมากบริเวณเอว หรือผู้ป่วยบางคนใช้คำว่า ปวดหลัง มักร้าวลงมายังขาหนีบ หรือ อวัยวะเพศ เป็นการปวดบีบเป็นพักๆ เรียกในทางแพทย์ว่า รีนัลโคลิค (Renal colic)
- อาจร่วมกับ คลื่นไส้ อาเจียน
- เมื่อมีการติดเชื้อร่วมด้วย มักมี ไข้ มีได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ
- อาจมีปัสสาวะน้อย และมักพบร่วมกับปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ตรวจได้จากการตรวจปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ
แพทย์วินิจฉัยนิ่วในท่อไตได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยนิ่วในท่อไตได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเคยเป็นนิ่วในไตหรือในท่อปัสสาวะ หรือปัสสาวะมีก้อนนิ่วปน การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ การตรวจภาพไต/หลอดไตด้วยเอกซเรย์ และ/หรืออัลตราซาวด์ และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะ
อนึ่ง นิ่วในถุงน้ำดี (ซึ่งไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับนิ่วในไตหรือนิ่วในท่อไต เป็นคนละเรื่อง คนละโรค แต่ให้อาการคล้ายคลึงกันได้) และอาการของโรคนิ่วในท่อไต มักคล้ายคลึงกับการปวดท้องจากหลายสาเหตุ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร และโดยเฉพาะเมื่อเป็นนิ่วในท่อไตข้างขวา แพทย์ต้องแยกออกจากโรคไส้ติ่งอักเสบ และโรคนิ่วในถุงน้ำดี
รักษานิ่วในท่อไตอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคนิ่วในท่อไตขึ้นกับ
- ขนาดของก้อนนิ่ว
- การที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อร่วมด้วย และ
- โรคของไต (เช่น เมื่อมีไตบวมร่วมด้วย)
โดยแนวทางวิธีรักษาโรคนิ่วในท่อไต ได้แก่
- ในผู้ป่วยที่ก้อนนิ่วเล็กกว่า 1 ซม. ไม่ติดเชื้อ ไม่มีโรคของไต แพทย์มักรักษาโดยให้ ยาแก้ปวด ยาขับนิ่ว(ยาเพิ่มการขยายตัวและเพิ่มการบีบตัวของท่อไต) ยาปฏิชีวนะ ยาลดอาการบวมของท่อไต และแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ อาจวันละถึง 2 ลิตร เพื่อรอให้นิ่วหลุดออกได้เอง โดยจะนัดตรวจผู้ป่วยบ่อยๆร่วมกับการตรวจตำแหน่งของนิ่วด้วยอัลตราซาวด์
- แต่ถ้าก้อนนิ่วไม่เคลื่อนที่/ยังคงอุดตัน แพทย์อาจพิจารณาเอาก้อนนิ่วออก ซึ่ง
- มักเป็นการสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ
- การส่องกล้องท่อไตเพื่อดึง/ขบก้อนนิ่วออก
- แต่บางครั้งอาจเป็นการผ่าตัดเอานิ่วออกโดยการผ่าตัดผ่าน ไต หรือผ่านท่อไต โดยตรงซึ่งมักใช้กรณีก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ และ/หรือเมื่อแพทย์รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
- แต่ถ้านิ่วก้อนใหญ่ตั้งแต่ 1 ซม.ขึ้นไป ผู้ป่วยติดเชื้อและ/หรือมีโรคของไต แพทย์มักแนะนำการสลายนิ่วตั้งแต่แรก
*อนึ่ง การจะเลือกรักษาด้วยวิธีใด ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และดุลพินิจของแพทย์เป็นแต่ละกรณีผู้ป่วย
นอกจากนั้นคือ การรักษานิ่วในไต เพราะตราบใดที่ยังมีนิ่วในไต ก็จะมีโอกาสเกิดนิ่วในท่อไตย้อนกลับเป็นซ้ำเสมอ(แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของโรค ‘นิ่วในไต’ ได้จากบทความในเว็บ haamor.com)
มีผลข้างเคียงจากนิ่วในท่อไตไหม?
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากโรคนิ่วในท่อไตคือ
- การติดเชื้อของไต/กรวยไต(กรวยไตอักเสบ) และ
- ถ้าก้อนนิ่วอุดกั้นท่อไตเรื้อรัง อาจเป็นสาเหตุให้ไตข้างนั้นบวม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อไตข้างนั้นสูญเสียการทำงานจนเกิดเป็นโรคไตเรื้อรังได้
นิ่วในท่อไตรุนแรงไหม?
โดยทั่วไปนิ่วในท่อไตเป็นโรคไม่รุนแรง มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หาย ยกเว้นเมื่อปล่อยเรื้อรังจนไตเสียการทำงาน
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีนิ่วในท่อไต? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร?
การดูแลตนเองเมื่อมีนิ่วในท่อไตและการพบแพทย์/การมาโรงพยาบาล ได้แก่
- เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉินเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงต่อไต ไม่ควรซื้อยามากินเอง นอกจากนั้นคือ
- ต้องรักษานิ่วในไตควบคู่ไปด้วยเสมอตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
ทั้งนี้ ทั่วไป การดูแลตนเองเมื่อมี นิ่วในท่อไต คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งในบางผู้ป่วย แพทย์แนะนำให้ดื่มน้ำถึงวันละ2ลิตร
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารต้นกำเนิดของนิ่ว ดังกล่าวในหัวข้อ’สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ และพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการเลวลง เช่น ปวดเอ็ว/ปวดหลังมากขึ้น กลับมามีไข้ หนาวสั่น
- มีอาการใหม่ๆเกิดขึ้น เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียมาก วิงเวียนศีรษะมาก ใจสั่นทุกครั้งที่กินยา
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันนิ่วในท่อไตได้อย่างไร?
การป้องกันนิ่วในท่อไตคือ การป้องกัน’นิ่วในไต’นั่นเอง เพราะสาเหตุของนิ่วในท่อไตเกิดจากนิ่วในไต(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘นิ่วในไต’) ซึ่งที่สำคัญคือ
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆตามแพทย์/พยาบาลแนะนำเมื่อเคยเป็นนิ่วในไตหรือในท่อไต แต่ถ้าไม่เคยเป็นนิ่ว ควรดื่มน้ำสะอาดวันละอย่างน้อย 6 - 8 แก้ว (เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลวซึ่งต้องปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ)
- จำกัดอาหารที่มีสารต่างๆที่เป็นสาเหตุของนิ่วในไต เช่น
- สารออกซาเลตมีสูงใน ยอดผัก ถั่วรูปไต และผักกะเฉด
- กรดยูริคมีสูงในอาหารโปรตีน และยอดผัก
- และสารซีสตีนมีสูงในอาหารโปรตีน (เนื้อสัตว์ต่างๆ)
- ไม่ซื้อ วิตามิน เกลือแร่ เสริมอาหารกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นสาเหตุของนิ่วในไต รวมถึงนิ่วในท่อไตได้ เช่น วิตามิน ดี วิตามิน ซี และแคลเซียม เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิด นิ่วในไต กรณีกินต่อเนื่องในปริมาณมากเกินไป
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- Cooper, J., Stack, G., and Cooper, T. (2000). Intensive medical management of ureteral calculi. Urology. 56, 575-578.
- Gettman, M., and SEGURA, J. (2001). Current evaluation and management of renal and ureteral stones. Saudi Medical Journal. 22,306-314.
- Lee, F. (2008). Update on the management of ureteric stones. The Hong Kong Medical Diary. 13, 11-12.
- Taylor, J., and Rideout, S. (2011). Ureteral calculi: what should you consider before intervening. The Journal of Family Practice. 60, 232-233.
- http://emedicine.medscape.com/article/437096-overview#showall [2018,Sept22]
- https://www.cua.org/themes/web/assets/files/management_of_ureteral_calculi.pdf [2018,Sept22]