วิตามิน บี 1-6-12 (Vitamin B 1- 6 - 12 ) หรือ นิวโรเบียน (Neurobion)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 กันยายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- วิตามิน บี 1-6-12 มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- วิตามิน บี 1-6-12 มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- วิตามิน บี 1-6-12 มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- วิตามิน บี 1-6-12 มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- วิตามิน บี 1-6-12 มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วิตามิน บี 1-6-12 อย่างไร?
- วิตามิน บี 1-6-12 มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาวิตามิน บี 1-6-12 อย่างไร?
- วิตามิน บี 1-6-12 มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วิตามิน (Vitamin)
- โรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathy)
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน (Diabetic Neuropathy)
- โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์ เส้นประสาทอักเสบเหตุจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Neuropathy)
- ปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัด (Herpetic and Post-herpetic neuralgia)
- วิตามินบีรวม (B-complex vitamins)
บทนำ
‘วิตามิน บี-รวม (Vitamin B- complex หรือ หลายคนเรียกย่อว่า B complex)’ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผสมตัวยาหรือสารสำคัญของ ‘วิตามิน บี’ มากกว่า 1 ชนิดอยู่ในตำรับเดียวกัน วิตามินบีรวมของตลาดยาไทยที่พบเห็นได้บ่อยมักมีส่วนประกอบของ ‘วิตามิน บี1 บี6 และ บี12 (Vitamin B 1-6-12)’ แต่ปริมาณตัวยาวิตามิน บี ของแต่ละบริษัทก็ยังมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสูตรตำรับที่นำไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยาชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จัก เช่น ยานิวโรเบียน (Neurobion)
ยากลุ่มวิตามิน บี เป็นยาที่ละลายน้ำได้ดี และขับออกจากร่างกายโดยผ่านมากับปัสสาวะเป็นส่วนมาก แต่นั่นมิได้หมายความว่ายาจะไม่ทำอันตรายหรือไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับร่าง กาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายต่อยาของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน
วิตามิน บี 1-6-12 มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
วิตามิน บี 1-6-12 มีสรรพคุณใช้บำบัดและรักษาพยาธิสภาพหรือโรคที่เกี่ยวกับระบบปลายประสาท อาทิเช่น
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน (Diabetic neuropathy) ที่มักมีอาการชามือ-เท้า
- โรคเส้นประสาทอักเสบเหตุจากแอลกอฮอล์/สุรา (Alcoholic neuropathy)
- อาการปวดจากเส้นประสาท (Neuralgia) หรือ ปวดเหตุประสาท (Neuropathic pain)
- การอักเสบของปลายประสาทอันมีสาเหตุจากโรคงูสวัด (ปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัด)
- อาการปวดปลายประสาทบริเวณคอ (Neuralgia of cervical syndrome)
- อาการปวดปลายประสาทบริเวณหลัง
- บำบัดรักษาการอักเสบของเส้นประสาทในสมองเมื่อได้รับอุบัติเหตุ
- รักษาภาวะขาดวิตามินบี ของร่างกาย
วิตามิน บี 1-6-12 มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
วิตามิน บี 1-6-12 มีกลไกการออกฤทธิ์โดย เป็นวิตามินที่จำเป็นต่อกระบวนการเผาผลาญ พลังงานของเซลล์ประสาทในร่างกาย การได้รับวิตามิน บี 1-6-12 ที่เพียงพอและเหมาะสม จะทำให้กระ บวนการทำงานของเซลล์ประสาทเป็นไปอย่างปกติและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะในร่างกายที่มีผลกระทบกลับมาทำหน้าที่ได้เช่นเดิม แต่ทั้งนี้ร่างกายต้องได้รับสารอาหารอื่นๆที่เพียงพอและเหมาะสมร่วมด้วย
วิตามิน บี 1-6-12 มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
วิตามิน บี 1-6-12 มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
ก. จำหน่ายในรูปแบบยาเม็ด: ที่ประกอบด้วยตัวยาวิตามิน เช่น
- วิตามิน บี 1 (Thiamin disulfate) 100 มิลลิกรัม
- วิตามิน บี 6 (Pyridoxine HCL) 200 มิลลิกรัม
- วิตามิน บี 12 (Cyanocobalamin) 200 ไมโครกรัม
ข.จำหน่ายในรูปแบบยาฉีด ใน 3 มิลลิลิตร: ประกอบด้วยตัวยา เช่น
- วิตามิน บี 1 (Thiamin disulfate) 100 มิลลิกรัม
- วิตามิน บี 6 (Pyridoxine HCL) 200 มิลลิกรัม
- วิตามิน บี 12 (Cyanocobalamin) 5,000 ไมโครกรัม
*****หมายเหตุ:
ปริมาณยาของวิตามิน บี1 บี6 และ บี12 ของแต่ละบริษัทผู้ผลิต อาจมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับสูตรตำรับที่จดทะเบียนกับคณะกรรมการอาหารและยา
วิตามิน บี 1-6-12 มีขนาดรับประทานอย่างไร?
วิตามิน บี 1-6-12 มีขนาดรับประทาน เช่น
ก.ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร การปรับเปลี่ยนขนาดและระยะเวลาในการรับประทานขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นผู้พิจารณาเท่านั้น การรับประทานวิตามินบีเป็นระยะเวลานาน สามารถก่อให้เกิดผลเสียตามมาได้ เช่น หากร่างกายได้รับวิตามิน บี 6 มากกว่า 1 กรัม/วัน เป็นเวลาต่อเนื่องมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป สามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษกับระบบประสาทได้(Neurotoxic effects, เช่น อาการชาตามร่างกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาด้านความคิด/ความจำ)
ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็กมีจำกัด ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็ก ต้องขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึง วิตามิน บี 1-6-12 ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะวิตามิน บี 1-6-12 อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานวิตามิน บี 1-6-12 สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
วิตามิน บี 1-6-12 มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มวิตามินบีรวม ที่รวมถึง วิตามิน บี 1-6-12 สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผล ข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีอาการเหงื่อออกมาก
- หัวใจเต้นเร็ว
- ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการคัน หรือมีอาการคล้ายเป็นลมพิษ และ
- อาการอื่นที่อาจพบเห็นได้ เช่น
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ท้องเสีย
- ปวดท้อง
มีข้อควรระวังการใช้วิตามิน บี 1-6-12 อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ วิตามิน บี 1-6-12 ที่รวมถึง วิตามินบีรวม เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยา วิตามินบีต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในสูตรตำรับยาต่างๆ
- ไม่สมควรใช้ วิตามินบีรวม ชนิดเม็ดสำหรับรับประทานในเด็กเล็ก
- อาจเกิดพยาธิสภาพหรืออาการโรคของเส้นประสาทได้ หากผู้ป่วยได้รับ วิตามิน บี 6 มาก กว่า 50 มิลลิกรัมโดยเฉลี่ยต่อวัน เป็นเวลาต่อเนื่องนาน 6 - 12 เดือนขึ้นไป
- ยาเม็ด วิตามิน บีรวม ชนิดเม็ด มักมีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบ ควรระวังการใช้ยา ในผู้ป่วยที่แพ้น้ำตาลแลคโตส
- ระวังการใช้วิตามิน บีรวม กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร มีรายงานว่ามารดาที่ได้รับวิตามิน บี 6ต่อเนื่อง มากกว่า 600 มิลลิกรัม/วัน อาจทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้น้อยลงกว่าปกติ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามรับประทานยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมวิตามิน บี 1-6-12 ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
วิตามิน บี 1-6-12 มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
วิตามิน บี 1-6-12 ที่รวมถึงวิตามินบีรวม มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ วิตามินบีรวม ที่มีวิตามินบี6 เป็นองค์ประกอบ ร่วมกับยาบางชนิด จะทำให้ประสิทธิผลในการรักษาโรคของวิตามินบี 6 ด้อยลงไป ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา Isoniazid, Cycloserine, Penicillamine, Hydralazine
- การใช้วิตามินบีรวม โดยมีวิตามินบี 1 เป็นองค์ประกอบร่วมกับยาขับปัสสาวะ เช่นยา Furozemide เป็นเวลานานๆ จะทำให้ปริมาณวิตามิน บี 1 ในกระแสเลือดลดต่ำลงได้อย่างรวดเร็ว
- การใช้วิตามิน บีรวมที่มีวิตามินบี 6 เป็นองค์ประกอบร่วมกับยาที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน เช่นยา Levodopa พบว่าวิตามินบี 6 จะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาโรคพาร์กินสันของ Levodopa ลดน้อยและด้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงที่จะใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาวิตามิน บี 1-6-12 อย่างไร?
ควรเก็บยาวิตามิน บี 1-6-12 เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
วิตามิน บี 1-6-12 มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
วิตามินบี 1-6-12 มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
3 B (3 บี) | Atlantic Lab |
3-Vitabee (3-ไวตาบี) | Chew Brothers |
Ammi-Vita (แอมมี-ไวตา) | MacroPhar |
B1 B6 B12 Utopian (บี1 บี6 บี12 ยูโทเปียน) | Utopian |
B1-6-12 (บี 1-6-12) | Chinta |
Beromin Forte (เบอโรมิน ฟอร์ท) | Condrugs |
B-Trimin (บี-ไตรมิน) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Cori-3B (โครี-3บี) | A N H Products |
Cyriamine/Cyriamine Fort (ซีไรอามีน/ซีไรอามีน ฟอร์ท) | Pharmasant Lab |
Genavit (เจนาวิต) | General Drugs House |
K.B. Tribemin (เค.บี. ทริเบมิน) | K.B. Pharma |
Masa 3B (มาซา 3บี) | Masa Lab |
Mila-Vita (มิลา-ไวตา) | Milano |
Neubee Forte (นูบี ฟอร์ท) | Medifive |
Neurobex (นูโรเบ็กซ์) | British Dispensary (L.P.) |
Neurobion (นูโรเบียน) | Merck |
Nuro-B (นูโร-บี) | T.O. Chemicals |
Nuvit (นูวิต) | Pharmaland |
O.S.T. Vit (โอ.เอส.ที. วิต) | Greater Pharma |
One Six Twelve (วัน ซิก ทเวล) | M & H Manufacturing |
Princi-B Fort (พรินซี-บี ฟอร์ท) | sanofi-aventis |
Saebin F 1-6-12 (เซบิน เอฟ 1-6-12) | Chinta |
Sambee (แซมบี) | Medicpharma |
Tribemed (ทริเบเมด) | Medicpharma |
Tribemine (ทริเบมิน) | Utopian |
Tribesian (ทริเบเซียน) | Asian Pharm |
Triple-B (ทริเปิล-บี) | B L Hua |
Trivit-B (ไตรวิต-บี) | T P Drug |
Uto Vitavit (ยูโท ไวตาวิต) | Utopian |
Vitabion (วิตาเบียน) | Unison |
Vitamin B 1-6-12 GP(วิตามิน บี 1-6-12 จีพีโอ) | GPO |
Vitamin B1+6+12 T Man (วิตามิน บี1+6+12 ที แมน | T. Man Pharma |
Vitelsix (วิตเอลซิก) | Unison |
Vitron (ไวทรอน) | Pharmaland |
บรรณานุกรม
1 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fMalaysia%2fdrug%2finfo%2fNeurobion%2f%3ftype%3dfull#Indications [2020,Sept5]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fNeurobion%2f [2020,Sept5]