นอร์อิทิสเตอโรน (Norethisterone) หรือ พริมโมลูท เอ็น (Primolut N)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 ธันวาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- นอร์อิทิสเตอโรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- นอร์อิทิสเตอโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นอร์อิทิสเตอโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นอร์อิทิสเตอโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- นอร์อิทิสเตอโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการนอร์อิทิสเตอโรนอย่างไร?
- นอร์อิทิสเตอโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานอร์อิทิสเตอโรนอย่างไร?
- นอร์อิทิสเตอโรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ประจำเดือน (Menstruation)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis / Chocolate cyst)
- ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea)
- กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome)
- ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
บทนำ
ยานอร์อิทิสเตอโรน (Norethisterone หรือ Norethindrone) เป็นยาจำพวกฮอร์โมนเพศที่อยู่ในอนุพันธ์ของ Progesterone วงการแพทย์นำมาใช้รักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome) ซึ่งมักแสดงออกโดยมีอารมณ์หงุดหงิดแปรปรวน โมโหง่าย ปวดศีรษะ ซึมเศร้า รักษาอาการปวดประจำเดือน รักษาภาวะประจำเดือนมาผิดปกติ รักษาภาวะหลังหมดประจำเดือน (วัยหมดประจำเดือน) ใช้เลื่อนประจำเดือน และป้องกันภาวะเลือดออกจากมดลูก ซึ่งยาชื่อการค้าที่คนคุ้นเคยคือ ‘พริมโมลูท เอ็น (Primolut N)’
ตลาดยาบ้านเรา สามารถพบฮอร์โมนนอร์อิทิสเตอโรนในรูปแบบยาเดี่ยว 5 มิลลิกรัม/เม็ด ฮอร์โมนตัวนี้ดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะไปรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ (มากกว่า 95%) และถูกเปลี่ยนโครงสร้างโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประ มาณ 7 ชั่วโมงเพื่อกำจัดนอร์อิทิสเตอโรน 50% ออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะ 50 - 80% และอุจจาระประมาณ 40%
กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้บรรจุยานอร์อิทิสเตอโรนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ อยู่ในหมวดยาฮอร์โมนสำหรับสตรีเพศ และอยู่ในหมวดยาอันตราย การสั่งจ่ายขนาดรับประทานที่ปลอด ภัยและเหมาะสม ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
นอร์อิทิสเตอโรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
นอร์อิทิสเตอโรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (Dysfuntional uterine bleeding)
- รักษาภาวะขาดประจำเดือน (Primary & secondary amenorrhea)
- รักษาภาวะกลุ่มอาการก่อนมีประจ้ำเดือน (Premenstrual syndrome)
- รักษาภาวะผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงของต่อมบริเวณเต้านม (Mastopathy)
- ใช้เลื่อนประจำเดือน (Timing of menstruation)
- รักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
นอร์อิทิสเตอโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยานอร์อิทิสเตอโรนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อผนังมดลูกชั้นเอนโดมีเทรียม (Endometrium: เยื่อบุโพรงมดลูก) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระยะโพรลิเฟอเรทีฟ (Proliferative: ระยะที่เนื้อเยื่อมีการเจริญเติบโต) ไปเป็นระยะซีครีเอทอรี (Secreatory: ระยะเจริญเติบโตของต่อมที่สร้างฮอร์โมนเพศ) จึงทำให้ไม่มีการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ทำให้เกิดเป็นประจำเดือน
นอกจากนี้ ยานอร์อิทิสเตอโรนยังควบคุมภาวะเลือดออกจากมดลูกให้กลับมาเป็นปกติ และช่วยป้องกันการตกไข่
ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ข้างต้น ยานี้จึงมีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
นอร์อิทิสเตอโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
นอร์อิทิสเตอโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
หมายเหตุ: ยังมีการนำยานอร์อิทิสเตอโรนไปผสมร่วมกับฮอร์โมนเพศตัวอื่นๆ เพื่อใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิด แต่เมื่อเป็นยาในรูปแบบยาเดี่ยวจะใช้รักษาอาการตามสรรพคุณที่แจ้งไว้ข้างต้น
นอร์อิทิสเตอโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
นอร์อิทิสเตอโรนมีขนาดรับประทานในผู้ใหญ่ เช่น
ก. รักษาเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (Dysfuntional uterine bleeding): เช่น
- รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 10 วัน
- การป้องกันการกลับมาเป็นใหม่: รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 - 3 ครั้ง ในวันที่ 19 ถึงวันที่ 26 ของรอบเดือน เป็นเวลา 3 รอบประจำเดือน
ข. รักษาภาวะขาดประจำเดือน (Primary & secondary amenorrhea): เช่น
- เริ่มรับประทานที่ต้นสัปดาห์ที่ 8 หลังจากการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด
ค. รักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome): เช่น
- รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 - 3 ครั้ง โดยเริ่มช่วงวันที่ 19 ถึงวันที่ 26 ของรอบเดือน
ง. รักษาภาวะผิดปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลงของต่อมบริเวณเต้านม (Mastopathy): เช่น
- รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 - 3 ครั้ง โดยเริ่มช่วงวันที่ 19 ถึงวันที่ 26 ของรอบเดือน
จ. การเลื่อนประจำเดือน (Timing of menstruation): เช่น
- รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ช่วงการรับประทานยาต้องไม่เกิน 10 - 14 วัน โดยเริ่มรับ ประทานก่อนที่ประจำเดือนจะมา 3 วัน หลังจากหยุดยาภายใน 2 - 3 วันประจำเดือนจะมาตาม ปกติ ถ้าไม่มีประจำเดือนมาหลังหยุดยาให้รีบไปปรึกษาแพทย์
ฉ. รักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis): เช่น
- ให้เริ่มรับประทานตั้งแต่วันที่ 5 ของรอบเดือน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง, และเพิ่มเป็นครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เมื่อพบว่าอวัยวะเพศหญิงเริ่มมีเลือดเปื้อนออกมาคล้ายจะมีรอบเดือน (Event of spotting), เมื่อประจำเดือนหยุด ให้เริ่มต้นรับประทานใหม่เป็นเวลา 4 - 6 เดือน
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานอร์อิทิสเตอโรน ก่อน หรือ พร้อมอาหาร ก็ได้
- ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยานี้ ต้องอยู่ในคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยานี้เอง
- เด็ก:การใช้ยานี้ในเด็กที่มีประจำเดือนแล้ว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยานอร์อิทิสเตอโรน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยานอร์อิทิสเตอโรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้ อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยานอร์อิทิสเตอโรน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
นอร์อิทิสเตอโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ไม่ค่อยพบผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ใดๆจากการใช้ยานอร์อิทิสเตอโรน นอกจาก อาจมีอาการคลื่นไส้
มีข้อควรระวังการใช้นอร์อิทิสเตอโรนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานอร์อิทิสเตอโรน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยด้วยโรคตับระยะรุนแรง หรือ ผู้มีเนื้องอกในตับ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรค Dubin-Johnson syndrome Rotor syndrome (โรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งของตับที่พบได้น้อยมาก)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้มีประวัติ เป็นดีซ่าน เป็นเริม หรือมีอาการผื่นคันขึ้นอย่างรุนแรงในขณะตั้ง ครรภ์
- หากพบอาการดังต่อไปนี้ ควรต้องหยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดหัว เจ็บหน้าอก ปวดท้อง/เจ็บท้องโดยเฉพาะตำแหน่งตับ (ด้านขวาตอนบนของช่องท้อง) มีผื่นคันขึ้นตามร่างกาย และ/หรือ มีอาการคล้ายเป็นดีซ่านหลังใช้ยานี้
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่เคยมีภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งอาจทำให้อาการโรคของเบาหวานรุนแรงขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า เพราะจะทำให้อาการโรครุนแรงขึ้น และควร หยุดยานี้ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หากภาวะซึมเศร้ามีอาการรุนแรงมากขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง : ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานอร์อิทิสเตอโรนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
นอร์อิทิสเตอโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานอร์อิทิสเตอโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
ก. การใช้ยานอร์อิทิสเตอโรนร่วมกับยาบางกลุ่ม สามารถลดประสิทธิภาพในการรักษาของยานอร์อิทิสเตอโรน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกันโดยไม่จำเป็น ยาบางกลุ่มดังกล่าว เช่น
- ยากันชักยาต้านชัก: เช่นยา Carbamazepine, Phenytoin, Primidone
- ยาต้านเชื้อรา: เช่นยา Griseofuvin
- ยาต้านเอชไอวี: เช่นยา Amprenavir
ข. การใช้ยานอร์อิทิสเตอโรนร่วมกับยาเบาหวาน เช่นยา ยาอินซูลิน พบว่าฤทธิ์ในการรักษาของอินซูลินจะลดลงไป แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานที่เหมาะสมให้กับคนไข้
ค. การใช้ยานอร์อิทิสเตอโรนร่วมกับยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง เช่นยา Diltiazem อาจทำให้ฤทธิ์ของยานอร์อิทิสเตอโรนเพิ่มมากขึ้นจนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงติดตามมา แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานที่เหมาะสมให้กับคนไข้
ควรเก็บรักษานอร์อิทิสเตอโรนอย่างไร?
ควรเก็บยานอร์อิทิสเตอโรน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
นอร์อิทิสเตอโรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานอร์อิทิสเตอโรน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Activelle (แอคทิเวล) | Novo Nordisk |
Anamai (อนามัย) | Thai Nakorn Patana |
Norterone (นอร์เทอโรน) | Acdhon |
Primolut N (พริมโมลูท เอ็น) | Bayer HealthCare Pharma |
Steron (สเตอรอน) | West-Coast Pharm |
Sunolut (ซูโนลูท) | Sunward |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Norethisterone [2020,Dec12]
2 https://www.drugs.com/drug-interactions/norethindrone-index.html?filter=2#I [2020,Dec12]
3 http://home.intekom.com/pharm/schering/primlutn.html [2020,Dec12]
4 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fPrimolut%2520N%2f%3ftype%3dbrief[2020,Dec12]
5 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fnorethisterone%3fmtype%3dgeneric[2020,Dec12]
6 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=norethisterone [2020,Dec12]