ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 20 กันยายน 2563
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ยาทีโนโฟเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาทีโนโฟเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาทีโนโฟเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาทีโนโฟเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาทีโนโฟเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาทีโนโฟเวียร์อย่างไร?
- ยาทีโนโฟเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาทีโนโฟเวียร์อย่างไร?
- ยาทีโนโฟเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอดส์ (AIDS)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Viral hepatitis B)
- ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent)
บทนำ
ยาทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) เป็นยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral agent) ในที่นี้ หมายถึง เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ยาทีโนโฟเวียร์มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเชื่อมต่อดีเอ็นเอ (DNA) ของรีโทรไวรัส โดยทำการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Trans criptase enzyme) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของไวรัสจากอาร์เอ็นเอ (RNA) ไปเป็นดีเอ็นเอ (DNA) เพื่ออาศัยในโครโมโซมของเจ้าบ้าน (Host หมายถึง มนุษย์) ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอ ดังนั้นเมื่อยาทีโนโฟเวียร์เข้าสู่ร่างกายจะถูกร่างกายเปลี่ยนแปลงเป็นสารที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตสได้ ส่งผลทำให้กระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) ของรีโทรไวรัสหยุดชะงัก ทำให้ปริมาณรีโทรไวรัสในร่างกายลดลง
ยาทีโนโฟเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาทีโนโฟเวียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
ก. สำหรับรักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV): โดยใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่น อีก 2 ชนิด เช่น เอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) และ เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) และ
ข. สำหรับรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง: โดยมักถูกพิจารณาใช้เป็นยาตัว แรกเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อไวรัสตับอักเสบดื้อยา หรือถูกพิจารณาเปลี่ยนมาใช้ทีโนโฟเวียร์ในผู้ป่วยที่เริ่มใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่อการดื้อยาสูงมาก่อน เช่น เคยเริ่มใช้ยาลามิวูดีน (Lamivu dine) หรือ เทลบิวูดีน (Telbivudine) มาก่อน แล้วยังคงตรวจพบปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV DNA, Hepatitis B Virus DNA) ในเลือด หลังได้รับการรักษานาน 24 สัปดาห์ ซึ่งอาจได้รับการพิจารณาเปลี่ยน/เพิ่มยาทีโนโฟเวียร์ในการรักษาต่อไป
ยาทีโนโฟเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ทีโนโฟเวียร์จัดเป็นยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral agent) กลุ่ม Nucleoside Analog Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทํางานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่ช่วยสร้างดีเอ็นเอ (DNA) จากอาร์เอ็นเอ (RNA) ของรีโทรไวรัสเพื่อให้ไวรัสมีดีเอ็นเอ สำหรับเพิ่มจำนวนในเซลล์เจ้าบ้านที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอได้ ดังนั้นเมื่อได้ยาทีโนโฟเวียร์เข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ทำให้มีฤทธิ์ต้านรีโทรไวรัส โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์รีเวิร์สทรานส คริปเตสของรีโทรไวรัส จึงส่งผลทำให้การเชื่อมต่อดีเอ็นเอของไวรัสหยุดชะงัก เชื้อรีโทรไวรัสจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้
สำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ยาทีโนโฟเวียร์จะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยตัวยาออกฤทธิ์ที่บริเวณเร่งปฏิกิริยาหลัก (Active site) ของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตสของไวรัสฯ จึงส่งผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริป เตส ทำให้กระบวนการการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนของไวรัสฯถูกยับยั้ง จำนวนเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจึงลดจำนวนลงเรื่อยๆ
ยาทีโนโฟเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาทีโนโฟเวียร์ในประเทศไทยมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ ดังนี้ ยาเม็ดขนาด 300 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ ยังมียาสูตรผสมระหว่างยาทีโนโฟเวียร์กับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่น คือ อะทริป พา (Atripla) เป็นยาต้านเอชไอวีสูตรผสม ใน 1 เม็ดประกอบด้วย ยาทีโนโฟเวียร์ 300 มิลลิกรัม, เอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) 600 มิลลิกรัม, และเอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) 200 มิลลิกรัม
ยาทีโนโฟเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาทีโนโฟเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น
ขนาดยาและการปรับขนาดยาสำหรับสำหรับเด็ก:
ก. ขนาดยาสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี: เช่น
- ยาไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
- เด็กอายุ 2 ปี - 12 ปี และน้ำหนักน้อยกว่า/เท่ากับ 35 กิโลกรัม: 8 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโล กรัม วันละ 1 ครั้ง
- เด็กอายุมากกว่า 12 ปี ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักมากกว่า/เท่ากับ 35 กิโลกรัม: 300 มิลลิ กรัม วันละ 1 ครั้ง
ข.ขนาดยาสำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง: ใช้ในเด็กอายุมาก กว่า 12 ปี ขึ้นไป (ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนการใช้ยาในเด็กอายุต่ำกว่า12ปี) หรือมีน้ำหนักมากกว่า/เท่ากับ 35 กิโลกรัม: 300 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยระยะเวลาในการรักษานั้นอ้างอิงตามผู้ใหญ่
ค.ขนาดยาในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะไตบกพร่อง: เริ่มปรับขนาดยาในผู้ป่วยเด็กที่มีค่าการ ทำงานของไตน้อยกว่า 50 มิลลิลิตร และปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไต
ง.ขนาดยาในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยเด็กที่ มีการทำงานของตับบกพร่อง
ขนาดยาและการปรับขนาดยาสำหรับสำหรับผู้ใหญ่:
ก. ขนาดยาสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี: เช่น 300 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยรับ ประทานคู่กับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นอีก 2 ชนิด เช่น เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) และเอฟ ฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz)
ข. ขนาดยาสำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง: เช่น 300 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยระยะเวลาในการได้รับยานั้นพิจารณา ดังนี้
- กรณี Hapatitis Be antigen (HBeAg)เป็นบวก: รักษาด้วยยามากกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี จากนั้นติดตามเพื่อพิจารณาว่าภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเกิด HBeAg seroconversion หรือ ยัง (หมายถึงในผู้ป่วยรายที่ตรวจพบ HBeAg จะมีเป้าหมายในการรักษาคือ ใช้ยาจนกระ ทั่งตรวจไม่พบ HBeAg ในเลือดร่วมกับมีภูมิคุ้มกันต่อ HBeAg/anti-HBe เกิดขึ้น) และอาจไม่พบ HBV DNA (ปริมาณไวรัสตับอักเสบในเลือด) ซึ่งเมื่อเกิด HBeAg serocon version แล้ว ยังคงให้ยาทีโนโฟเวียร์ต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือนจึงสามารถหยุดยาได้
- กรณี Hapatitis Be antigen (HBeAg)เป็นลบ: รักษาด้วยยามากกว่า 1 ปี จนกระ ทั่ง Hapatitis B surface antigen (HBsAg) ไม่ปรากฏ ควรติดตามปริมาณไวรัสในผู้ป่วย ที่กำลังได้รับการรักษาด้วยยานี้ หากปริมาณไวรัสลดจำนวนลงไม่มากหลังได้รับยาเป็นเวลา 6 เดือน อาจพิจารณาเปลี่ยนยาหรือให้การรักษาด้วยยาอื่นเพิ่มเติม เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดสภาวะดื้อยาทีโนโฟเวียร์ จึงควรเพิ่มยาต้านไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังในกลุ่มที่ไม่มีการดื้อยาข้ามกลุ่ม (Cross resistance) เช่น ลามิวูดีน (Lamivudine), เทอร์บิวูดีน (telbivudine), เอ็นตริคาเวียร์ (Entecavir) หรือเปลี่ยนการรักษาเป็นการฉีดยาเพกกิเลท อินเตอร์ฟีลอน (Pegylated interferon) แทน
ค. ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง: เริ่มปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีค่าการทำงานของไตน้อย กว่า 50 มิลลิลิตร และควรปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไต
ง. ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของ ตับบกพร่อง
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาทีโนโฟเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทีโนโฟเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาทีโนโฟเวียร์สามารถผ่านรกและน้ำนมได้ ซึ่งอาจทำให้ยาเข้าสู่ตัวทารกและก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้หญิงที่กำลังได้รับยาทีโนโฟเวียร์อยู่ให้นมบุตร เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่าย ทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก และป้องกันอาการข้างเคียงของยาต่อลูก
- แจ้งบุคลากรทางการแพทย์เสมอ หากช่วงที่ผ่านมาลืมกินยา/ไม่ได้รับยา หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอทุกวันได้ เนื่องจากยาทีโนโฟเวียร์เป็นยาจำเป็นที่ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาอย่างเคร่งครัดทุกวัน
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทีโนโฟเวียร์ควรปฏิบัติ เช่น
สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยทีโนโฟเวียร์: ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกวันอย่างเคร่งครัด โดยรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง สามารถรับประทานเวลาใดก็ได้ เนื่องจากอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยา แต่เพื่อให้ระดับยาในร่างกายคงที่ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน พบว่าอาหารประเภทไขมันสูงจะเพิ่มปริมาณยาที่ถูกดูดซึมเพื่อการเอื้อประโยชน์ในร่างกายโดยรวมได้
กรณีลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประ ทานยามื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า เช่น ปกติรับประทานยาเวลา 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 20.00 น. ตอนเวลา 7.00 น. ของวันถัดมา ก็ให้รับประทานยามื้อ 20.00 น. ทันที แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รอรับ ประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติในช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
*การรับประทานยาเกินขนาดโดยอุบัติเหตุ ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง ไม่มียาต้านพิษที่จำเพาะเจาะจงสำหรับยาทีโนโฟเวียร์ โดยอาจพิจารณาให้ถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal) เพื่อ กำจัดยาที่เหลืออยู่ที่ยังไม่ถูกดูดซึม การล้างไตเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือดสามารถทำได้ แต่พบว่าการล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือด (Hemodialysis) เป็นเวลา 4 ชั่วโมง สามารถกำจัดยาไปได้เพียง 10% ดังนั้น โดยทั่วไปการรักษาจึงเป็นการเฝ้าระวังสัญญาณชีพและให้การรักษาตามอาการทางคลินิกของผู้ป่วยเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาต้านไวรัสที่ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ระดับยาในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยามีขนาดต่ำ เสมือนเป็นการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ เป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมาได้
ยาทีโนโฟเวียร์ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยาทีโนโฟเวียร์ที่พบได้บ่อย เช่น
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- ปวดตามร่างกาย
- ปวดศีรษะ /ปวดหัว
- ปวดท้อง
- ปวดหลัง
- เป็นไข้
- ท้องอืด
- คลื่นไส้-อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- อาจพบอาการผื่นที่ผิวหนัง
- นอกจากนี้ ในช่วงที่กำลังได้รับการรักษาด้วยยานี้ ผู้ป่วยอาจเกิด
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) และ
- ภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipide mia) โดยเฉพาะค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
มีข้อควรระวังการใช้ยาทีโนโฟเวียร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทีโนโฟเวียร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
- ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติไตบกพร่อง เนื่องจากยาถูกกำจัดออกทางไตเป็น หลัก และพบรายงานการเกิดไตวายเฉียบพลัน และภาวะ Fanconi syndrome (การบาดเจ็บในท่อไตส่วนต้น โดยมีอาการคือ ขับปัสสาวะมากขึ้น กระหายน้ำมาก และขาดน้ำ ฟอสเฟตในเลือดต่ำ โพแทสเซียมในเลือดต่ำ) ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคไตอยู่ก่อน หรือกำลังได้รับยาหรือสาร พิษที่มีผลพิษต่อไต หรือเกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรติดตามค่าการทำงานของไต โดยการตรวจเลือดติดตามค่าซีรัมครีทีนีน (Serum Creatinine) ทุก 3 เดือนในปีแรก และทุกๆ 6 เดือนในปีถัดไป และติดตามระดับฟอสฟอรัส/ฟอสเฟตอย่างใกล้ชิด
- ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) หรือเคยมีประวัติ กระดูกหัก โดยอาจพิจารณาเสริมวิตามิน ดี และ แคลเซียมในผู้ป่วยที่ต้องได้รับยานี้และมีประวัติโรคดังกล่าว และ/หรือทำการตรวจความหนาแน่นกระดูก (Bone Mineral Density: BMD) เป็นระยะๆตามดุลพินิจของแพทย์
- ระวังการใช้ยาทีโนโฟเวียร์ในผู้ป่วยตับบกพร่อง, ตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคอ้วน, เพศหญิง, และ /หรือใช้ยาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีรายงานการเกิดภาวะแลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis: ภาวะเลือดเป็นกรดจากการคั่งของกรดแลคติก ทำให้เซลล์ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่พียงพอ) โดยมีอาการคือ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนล้า อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยอาจมีอาการร่วมกับมีตับโตรุนแรงร่วมกับมีภาวะไขมันสะสมในตับ/ภาวะไขมันพอกตับ (Severe Hepatomegaly with steatosis) และควรหยุดยาทีโนโฟเวียร์ หากมีอาการทางคลินิกหรือผลตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการว่า มีภาวะตับโตรุนแรงร่วมกับไขมันสะสมในตับ
- นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติในการกระจายตัวของมวลไขมัน โดยมีภาวะไขมันฝ่อตัว (Lipoatrophy) มักพบไขมันฝ่อตัวบริเวณใบหน้า, แขน, ขา หรือก้น และอาจพบไขมันพอกตัวผิด ปกติโดยพบก้อนไขมันพอกที่คอด้านหลัง (Buffalo hump), เส้นรอบวงของคอขยายขึ้น 5 - 10 ซม., เต้านมขยายใหญ่ขึ้น, ไขมันสะสมตามอวัยวะภายในช่องท้องมากขึ้นทำให้มีพุง ในผู้ป่วยบางรายสามารถเกิดได้ทั้งภาวะไขมันฝ่อตัวและไขมันพอกตัวผิดปกติ
- ไม่ควรใช้ทีโนโฟเวียร์เป็นยาเดี่ยวสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีเกิดการดื้อยา ควรใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสตัวอื่นอีก 2 ชนิดดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ‘ขนาดรับประทาน’
- ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีร่วมด้วย (Co-infection) หากแพทย์พิจารณาแล้วผู้ป่วยยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาเอชไอวี แต่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาไวรัสตับอักเสบบี ให้รักษาด้วยยาอะดีโฟเวียร์ (Adefovir) หรือ เพกกีเลท อินเตอร์ฟีลอน (Pegylated interferon) โดยไม่แนะนำให้เริ่มใช้สูตรยาที่มียาทีโนโฟเวียร์ประกอบอยู่ ด้วยจุดประสงค์เพื่อป้อง กันการเกิดเชื้อเอชไอวีดื้อยา แต่สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่มีข้อบ่งชี้ของการรักษาเอชไอวีร่วมด้วยอยู่แล้ว ควรให้การรักษาด้วยสูตรยาที่มีทีโนโฟเวียร์ร่วมกับยาลามิวูดีน (Lamivudine) หรือเอ็มตริไซทราบีน (Emtricitabine) ประกอบอยู่
ยาทีโนโฟเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทีโนโฟเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
1. ยาทีโนโฟเวียร์สามารถเพิ่มระดับยาดีดาโนซีน (Didanosine: ยาต้านไวรัส) อย่างมีนัย สำคัญ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาดีดาโนซีนได้ เช่น ภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) และภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ/โรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathy) โดยแพทย์อาจพิจารณาลดขนาดยาดีดาโนซีนลง และติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยาดีดาโนซีนอย่างใกล้ชิด
2. ยาทีโนโฟเวียร์ถูกขับออกทางไตเป็นหลัก ดังนั้นการใช้ยาทีโนโฟเวียร์คู่กับยาที่กำจัดออกทางไตโดยกระบวนการขับผ่านท่อไต (Tubular secretion) ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกัน อาจ ทำให้เกิดการแย่งกันขับออกของยา เป็นผลทำให้มีความเข้มข้นของยาดังต่อไปนี้ อาจเพิ่มสูงขึ้นในร่างกาย เช่นยา อะดีโฟเวียร์ (Adefovir: ยาต้านไวรัส), ซิโดโฟเวียร์ (Cidofovir:ยาต้านไวรัส), อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir /Aciclovir: ยาต้านไวรัส), วาลอะไซโคลเวียร์ (Valacyclovir: ยาต้านไวรัส), แกงไซโคลเวียร์ (Ganciclovir: ยาต้านไวรัส
ควรเก็บรักษายาทีโนโฟเวียร์ย่างไร?
ควรเก็บยาทีโนโฟเวียร์ เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- ไม่เก็บยาในที่ร้อน
- ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาให้พ้นแสงแดด
- ไม่เก็บยาในรถยนต์หรือในห้องน้ำ
ยาทีโนโฟเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทีโนโฟเวียร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตดังนี้
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tenofovir (ทีโนโฟเวียร์) | GPO |
Ricovir (ริโคเวียร์) | Mylan |
Tenof (ทีนอฟ) | Hetero |
Viread (ไวลีด) | Gilead |
บรรณานุกรม
1. Taketomo CK, Hodding, JH, Kraus DM, .Pediatric & Neonatal Dosage Handbook, 19th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2012
2. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
3. Product Information: Tenofovir, GPO, Thailand.
4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
5. สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี และซี เรื้อรังในประเทศไทย ปี 2555. กรุงเทพฯ: สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย; 2555.