ทีเอ็นเอ็ม ระยะโรคมะเร็งทีเอ็นเอ็ม (TNM cancer staging)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 23 ตุลาคม 2561
- Tweet
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- สัญลักษณ์โรคมะเร็ง (Symbol of cancer)
- มะเร็งในเด็ก (Pediatric cancer)
- ระยะโรคมะเร็งทีเอ็นเอ็มคืออะไร? ใช้กับมะเร็งชนิดไหน?
- จัดระยะโรคมะเร็งทีเอ็นเอ็มอย่างไร?
- ประโยชน์และข้อจำกัดของการจัดระยะโรคมะเร็งแบบทีเอ็นเอ็มคืออะไร?
- บรรณานุกรม
ระยะโรคมะเร็งทีเอ็นเอ็มคืออะไร? ใช้กับมะเร็งชนิดไหน?
ระยะโรคมะเร็งทีเอ็นเอ็ม (TNM cancer staging หรือ TNM classification of malignant Tumours) ย่อว่า ทีเอ็นเอ็ม(TNM) คือ การจัดระยะโรคมะเร็งที่ละเอียดกว่าระยะโรคมะเร็งทั่วไป เพราะจะแยกย่อยได้เป็น ระยะของก้อนมะเร็ง, ระยะของมะเร็งที่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง, และระยะของมะเร็งที่แพร่กระจายระยะไกล เช่น ทางกระแสโลหิต ดังนั้น TNM จึงเป็นระยะโรคมะเร็งที่ละเอียด และเป็นระยะโรคมะเร็งนิยมใช้โดยแพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็ง เพื่อช่วยเป็นแนวทางบอกวิธีรักษาและการพยากรณ์โรคมะเร็งได้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
ทั้งนี้ระยะโรคมะเร็งTNM มีรายละเอียด ดังนี้
ก. T หมายถึง ลักษณะก้อนมะเร็ง(Tumor)ที่รวมถึงขนาดและการรุกรานของก้อนเนื้อ ทั้งนี้ T ยังแบ่งย่อยตามความรุนแรงโรคที่เพิ่มขึ้นเป็น
- Tx หมายถึง ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ของก้อนมะเร็ง
- T0 หมายถึง ตรวจหาด้วยวิธีการทางการแพทย์แล้วไม่พบก้อนมะเร็ง
- Tis หมายถึง เซลล์มะเร็งยังไม่รุกรานออกนอกเนื้อเยื่อชั้นเยื่อบุผิว (Preinvasive)
- T1,หรือ T2, หรือ T3, หรือ T4 หมายถึง ขนาดก้อนมะเร็งที่โตขึ้นและรุกราน/ลุกลามมากขึ้นตามตัวเลขที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของมะเร็งนั้นๆ นอกจากนี้ มะเร็งบางชนิดอาจแบ่งย่อยแต่ละT เป็น a,b,c ตามความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้น เช่น T1a,T1b,T1c เป็นต้น
ข. N หมายถึง ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง(Regional lymph node) และแบ่งย่อยเป็น
- N0 หมายถึง โรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง
- N1,หรือ N2, หรือ N3 หมายถึง จำนวนต่อมน้ำเหลือง, ขนาดต่อมน้ำเหลือง, การเกิดต่อมน้ำเหลืองข้างเดียว(ซ้าย หรือ ขวา) หรือทั้ง2ข้าง, และตำแหน่งต่อมน้ำเหลืองที่โรคลุกลาม ทั้งนี้แสดงถึง การรุกราน/ลุกลามมากขึ้นตามลำดับตัวเลขที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของมะเร็งนั้นๆ นอกจากนี้มะเร็งบางชนิดอาจแบ่งย่อยแต่ละ Nเป็น a,b,c ตามความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้น เช่น N1a,N1b,N1c เป็นต้น
ค. M หมายถึงการแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นๆทั่วตัว(Distant metastasis) ทั่วไปมักแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ส่วนน้อยแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองไปยังท่อน้ำเหลือง และ/หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ห่างไกลจากก้อนมะเร็ง แบ่งย่อยเป็น
- M0 หมายถึง ยังไม่มีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย
- M1 หมายถึง มีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆแล้ว นอกจากนี้ มะเร็งบางชนิดยังแบ่งเป็น M1a หรือ M1b ตามความรุนแรงที่สูงขึ้นของโรคที่แพร่กระจาย
จัดระยะโรคมะเร็งทีเอ็นเอ็มอย่างไร?
การจัดระยะโรคTNM จะนำเอาทั้ง T, N, และM มารวมกัน เช่น T1N0M0, T1,N2,M1, หรือ T1aN2bM0 เป็นต้น ซึ่งจะแตกเป็นระยะย่อยๆได้มากมายที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อแพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็ง
อนึ่ง การจัดระยะโรคมะเร็งTNM ปัจจุบันมี2ระบบใหญ่ ที่แตกต่างกันเล็กน้อย คือ
- จัดทำโดยองค์กรแพทย์โรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า the American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC ที่แพทย์ทั่วโลกส่วนใหญ่นิยมใช้
- จัดทำโดยองค์กรแพทย์นานาประเทศที่เรียกว่า the Union for International Cancer Control ย่อว่า UICC ที่มักใช้ในบางประเทศของยุโรป
ประโยชน์และข้อจำกัดของการจัดระยะโรคมะเร็งแบบทีเอ็นเอ็มคืออะไร?
ประโยชน์และข้อจำกัดของการจัดระยะโรคมะเร็งแบบทีเอ็นเอ็ม คือ
ก. ประโยชน์: การจัดระยะโรคมะเร็งแบบทีเอ็นเอ็มมีประโยชน์กว่าการจัดระยะโรคมะเร็งแบบเป็นระยะ1-4 หรือ ระยะ0-4 คือ
- บอกรายละเอียดการรุราน/ลุกลาม แพร่กระจายของโรคมะเร็งได้มากกว่า ละเอียดกว่า
- แพทย์ใช้เป็นแนวทางช่วยเลือกวิธีรักษาได้เหมาะสมกว่า
- บอกการพยากรณ์โรคได้แม่นยำกว่า
ข.ข้อจำกัด: TNM จะ ยุ่งยาก ซับซ้อน ต่อความเข้าใจ และการเข้าถึง สำหรับแพทย์สาขาอื่น คนทั่วไป ผู้ป่วยมะเร็ง และครอบครัวผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งบุคคลกลุ่มดังกล่าวจึงเหมาะต่อการใช้การจัดระยะโรคมะเร็ง เป็นระยะ0-4 ที่นิยมใช้กันทั่วโลกมากกว่าการจัดระยะโรคฯแบบTNM
บรรณานุกรม
- Edge, S. et al. (2010). AJCC: Cancer staging handbook. New York: Springer
- https://cancerstaging.org/references-tools/Pages/What-is-Cancer-Staging.aspx [2018,Oct6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/TNM_staging_system [2018,Oct6]