ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)

สารบัญ

บทนำ

ถุงยางอนามัยชาย (Male condom) เป็นเครื่องมือที่ใช้ช่วยการคุมกำเนิด มีประสิทธิภาพเหนือกว่าวิธีคุมกำเนิดชนิดอื่นๆ เพราะถ้าใช้อย่างถูกวิธีแล้ว สามารถทั้งป้องกันการตั้งครรภ์และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะโรคเอดส์ได้เป็นอย่างดี

ถุงยางอนามัยชายมีกี่ชนิด?

ถุงยางอนามัยชาย มีชนิดและรูปแบบแตกต่างกันมากมาย นอกจากจุดประสงค์ในการคุม กำเนิดแล้ว ยังเพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการร่วมเพศด้วย ถุงยางอนามัยชายมีการผลิตให้มีขนาด รูปร่างและสีสันที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งชนิดที่ปลายเรียบหรือมีกระเปาะ หรือถุงเก็บน้ำอสุจิที่ส่วนปลายของถุงยาง บางชนิดมีสีสดุดตาหรือเคลือบสารเรืองแสงมองเห็นในที่มืด มีทั้งชนิดทึบแสงหรือบางใส บางชนิดมีกลิ่นหรือรสชาติของผลไม้ หรือน้ำหอมชนิดต่างๆ บางชนิดเคลือบสารหล่อลื่นหรือตัวยาบางชนิดเพื่อช่วยทำให้ร่วมเพศได้ยาวนานขึ้น

ถุงยางอนามัยชายทำจากวัสดุอะไร?

โดยทั่วไปเกือบ 100% ถุงยางอนามัยชายทำจากยางธรรมชาติ (Latex) ทำให้มีราคาถูกและสามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำ เช่น K-Y jelly ได้ แต่ไม่สามารถใช้กับสารที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม เพราะจะมีฤทธิ์กัดกร่อนทำให้เนื้อยางเสื่อมสภาพหรือฉีกขาดขณะใช้งานได้

สำหรับผู้ที่แพ้ยางธรรมชาติ ก็อาจเลี่ยงมาใช้ถุงยางอนามัยที่ผลิตจากสารสังเคราะห์ เช่น Polyurethrane ได้ ซึ่งจะมีราคาแพงกว่าและหายาก แต่ถุงยางชนิดนี้สามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นหรือตัวยาที่มีส่วนผสมของน้ำมันได้

ถุงยางอนามัยทั้งสองชนิดนี้สามารถป้องกันการตั้งครรภ์และการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)ได้ดี

ถุงยางอนามัยอีกชนิดหนึ่งทำจากเนื้อเยื่อธรรมชาติ เช่น ลำไส้ใหญ่ของแกะ ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้ เพราะเนื้อเยื่อจะมีรูพรุนเล็กๆอยู่ทั่วไป ทำให้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

ถุงยางอนามัยชายมีประสิทธิภาพอะไรบ้าง?

ถ้าใช้ถุงยางอนามัยชายอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอตลอดการมีเพศสัมพันธ์ จะมีโอกาสการตั้งครรภ์ประมาณ 2% แต่ถ้าใช้ไม่ถูกวิธี ใช้ไม่สม่ำเสมอ หรือใช้สลับกับการคุมกำเนิดชนิดอื่น มีโอกาสการตั้งครรภ์สูงถึง 18%

ข้อได้เปรียบของถุงยางอนามัยชายเหนือการคุมกำเนิดวิธีอื่นก็คือสามารถป้องกันการติดเชื้อกามโรค (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ได้ทั้งชายและหญิง ไม่ว่าจะร่วมเพศทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก

ถุงยางอนามัยชายป้องกันการติดเชื้อกามโรคอะไรได้บ้าง?

ถุงยางอนามัยชายสามารถป้องกันหรือลดการติดเชื้อหนองใน พยาธิในช่องคลอด (การติดเชื้อทริโคโมแนส) ซิฟิลิส แผลริมอ่อน โรคเริมอวัยวะเพศ ไวรัสหูดเอชพีวี (HPV) ไวรัสตับอักเสบบี รวมทั้งโรคเอดส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ควรจำให้ดีว่า อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถป้องกันได้ 100% เพราะถุงยางอนามัยอาจเกิดการรั่วซึม ฉีกขาดหรือหลุดระหว่างการใช้งาน และเชื้อกามโรคหลายชนิดสามารถติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น การเสียดสี สัมผัสของผิวหนังที่ถุงยางอนามัยครอบคลุมไม่ถึง หรือแม้แต่การจุมพิตก็อาจติดต่อได้เช่นกัน

ข้อดีของการใช้ถุงยางอนามัยชายคืออะไร?

ข้อดีของการใช้ถุงยางอนามัยชาย คือ

  • สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ทันทีเมื่อหยุดใช้และต้องการมีบุตร
  • ราคาไม่แพง และหาซื้อได้ง่ายตามร้านทั่วไป เช่น ร้านขายยาหรือร้านสะดวกซื้อตลอด 24 ชั่วโมง ศูนย์อนามัยหรือโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งก็มีแจกฟรีด้วยซ้ำไป
  • สามารถพกติดตัวได้ง่ายทั้งชายและหญิง
  • ไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงหรือผลของฮอร์โมนเหมือนยาคุมกำเนิดชนิดกินหรือฉีด
  • ช่วยป้องกันภาวะหลั่งเร็วในผู้ใช้บางราย จึงช่วยยืดเวลาแห่งความสุขให้ยาวนานขึ้น

ข้อเสียของการใช้ถุงยางอนามัยคืออะไร?

ข้อเสียของการใช้ถุงยางอนามัย คือ

  • ผู้ใช้หลายคู่อาจไม่พอใจเพราะรู้สึกมีถุงยางอนามัยขวางกั้นความสุขและความแนบแน่น
  • อารมณ์สะดุดจากการเสียเวลาใส่ถุงยางอนามัย อารมณ์ไม่ต่อเนื่อง บางรายถึงกับอวัยวะเพศอ่อนตัวไปเลยก็มี
  • ต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย จะต้องการใช้ฝ่ายเดียว เช่น ฝ่ายหญิงอยากให้ใช้ แต่ฝ่ายชายไม่ยินยอมก็อาจไม่สามารถใช้ได้
  • บางรายอาจเกิดปัญหาจากการใช้ เช่น แพ้ยางธรรมชาติ หรือถุงยางอนามัยมีขนาดไม่พอดี ก็อาจไม่มีความสุขในการใช้ และอาจหลวมหลุดหรือฉีกขาดได้

มีข้อแนะนำการใช้ถุงยางอนามัยชายอย่างไร?

  • ข้อเท็จจริง

    บ้านเรา เรื่องเพศยังค่อนข้างเป็นเรื่องปกปิด แม้จะค่อนข้างเปิดเผยมากขึ้นในสมัยนี้แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีการสอนวิธีใช้ถุงยางอนามัยให้ถูกต้องอย่างเปิดเผย ทั้งๆที่มีการใช้อย่างแพร่ หลาย ส่วนมากมักจะเรียนรู้ด้วยตนเองหรือศึกษาจากตัวอย่างในหนัง Rate–X ที่ซื้อมาดูกัน ดัง นั้น จึงเกิดข้อผิดพลาดในการใช้ขึ้นบ่อยๆ เช่น เกิดการตั้งครรภ์ หรือ ติดเชื้อกามโรค (โรคติด ต่อทางเพศสัมพันธ์) ที่พบบ่อยมากๆทำให้สูตินรีแพทย์ต้องถูกปลุกในยามวิกาลก็คือ การที่ถุง ยางอนามัยหลุดเข้าไปในช่องคลอดแล้วไม่สามารถเอาออกมาได้ ต้องมาให้แพทย์ใช้เครื่องมือคีบออก แสดงว่ายังใช้ถุงยางอนามัยไม่เป็นนั่นเอง

  • การเตรียมตัว

    ก่อนที่จะใช้ถุงยางอนามัยในการร่วมเพศจริงๆ เราควรต้องฝึกให้ชำนาญก่อน โดยไปหาซื้อถุงยางอนามัยมาหัดใส่เองที่บ้าน ซื้อมาให้มากๆ หลายๆขนาด เพื่อเลือกขนาดที่กระชับกับอวัยวะเพศได้ดีที่สุด บางคนขี้อายเวลาไปซื้อก็ไม่กล้าซื้อขนาดเล็กๆ ทำเป็นเลือกชื้อขนาดใหญ่ๆ เพื่อปกปิดขนาดของตัวเอง เวลานำไปใช้งานจริงก็อาจมีปัญหาได้

    การได้ลองฝึกใส่ให้ชำนาญก่อน จะได้รู้ว่าเราแพ้วัสดุยางที่ใช้หรือไม่ ถ้าใช้แล้วเกิดผื่นคันหรือระคายเคือง จะได้เลือกชนิดที่ทำจากสารสังเคราะห์จะได้ไม่แพ้ ขนาดเส้นรอบวงของถุง ยางอนามัยจะมีเขียนบอกไว้ที่กล่อง มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร จะวัดขนาดของตัวเองก่อนไปซื้อ หรือซื้อมาลองหาขนาดที่พอดีที่บ้านก็ได้ อย่าลืมดูวันหมดอายุด้วย ปกติถ้าเก็บไว้ในที่ร่มมิดชิด จะมีอายุการใช้งานนานประมาณ 5 ปีนับจากวันผลิต

  • การใช้งาน

    โดยทั่วไปจะมีคำแนะนำวิธีใช้แนบมาด้วยในกล่องบรรจุอยู่แล้ว ควรอ่านให้เข้าใจก่อนใช้ ถ้าเป็นชนิดที่มีกระเปาะเก็บน้ำอสุจิที่ปลายเป็นถุงเล็กๆยื่นออกมา ก็ใช้มือบีบไล่อากาศในกระ เปาะออกจนแบน จากนั้นจึงนำมาสวมใส่ปลายอวัยวะเพศในขณะที่กำลังแข็งตัว ใช้นิ้วมือรูดขอบถุงยางที่ม้วนอยู่ด้านนอก รูดให้แนบกับอวัยวะเพศไปหาส่วนโคน คล้ายกับตอนใส่ถุงเท้า โดยปกติจะรูดได้ง่ายมาก ถ้ารูดแล้วไม่ขึ้นหรือรูดไม่สะดวก แสดงว่าน่าจะใส่กลับข้าง ให้กลับให้ถูกต้อง ฝึกใส่ให้แคล่วคล่องว่องไวก่อนไปใช้งานจริง เพราะถ้าเกิดปัญหาในขณะร่วมเพศจริงๆ อาจทำให้ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย หรือหมดอารมณ์เพศได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้เสียเวลาในการใส่ถุงยางอนามัย อันจะทำให้อารมณ์เพศสะดุดทั้งของตัวเองและของคู่นอน ควรเตรียมถุงยางอนามัยไว้ใกล้ๆ ที่สามารถเอื้อมหยิบมาใช้ได้ง่ายๆ ไม่ต้องลุกเดินไปหยิบ ควรแกะซอง และวางถุงยางอนามัยไว้ในลักษณะพร้อมใช้ได้ทันที ดูให้ดีว่าขอบม้วนไปด้านไหน จะได้ไม่ใส่กลับข้าง และอย่าลืมเตรียมถุงยางอนามัยไว้หลายๆอัน เผื่อเกิดชำรุด หลุด ฉีกขาดหรือต้องการร่วมเพศอีกครั้ง การร่วมเพศแต่ละครั้งต้องใช้ถุงยางอนามัยใหม่เสมอ และต้องใส่ให้เรียบร้อยตั้ง แต่ก่อนร่วมเพศขณะอวัยวะเพศชายกำลังแข็งตัวตลอดไปจนสิ้นสุดการร่วมเพศ

    สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางช่องทางอื่น เช่น ทางทวารหนัก หรือทางปาก ก็ควรต้องฝึก ปฏัติในการใช้งานเช่นเดียวกัน และเนื่องจากถุงยางอนามัยชายที่มีจำหน่ายในบ้านเราเกือบ 100% ทำจากยางธรรมชาติ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นหรือยาทาชนิดใดๆทั้ง สิ้น เพราะอาจมีน้ำมันหรือสารเคมีบางชนิดมาทำให้คุณภาพยางเสื่อมได้ แม้แต่ยาสอดในช่องคลอดบางชนิดก็อาจมีฤทธิ์กัดกร่อนถุงยางอนามัยให้รั่วซึมได้ ถ้าต้องการสารหล่อลื่นจริงๆ ควรใช้เพียงน้ำเปล่าหรือ K-Y gel ทาที่ปลายถุงยางหรือปากช่องคลอดก่อนร่วมเพศก็พอ ถ้าต้อง การสารที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น สารหล่อลื่นชนิดพิเศษ หรือสารที่ยืดเวลาในการร่วมเพศ ก็ให้เลือกซื้อถุงยางอนามัยที่มีสารที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการชนิดบรรจุสำเร็จรูปมาจากโรงงานแล้วเท่านั้น ขอย้ำว่าอย่านำสารชนิดใดๆมาทาหรือเคลือบถุงยางอนามัยเองโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากอาจมีผลเสียต่อคุณสมบัติของถุงยางอนามัยแล้ว ยังอาจทำให้คู่นอนของคุณเกิดอาการแพ้หรือได้รับอันตรายจากสารที่นำมาใช้ได้

    โดยทั่วไปถุงยางอนามัยที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดจะได้รับการทดสอบให้ได้มาตร ฐานจากผู้ผลิตอยู่แล้ว ดังนั้น ในการใช้งานควรใช้ถุงยางอนามัยครั้งละ 1 ชิ้นก็พอ มีผู้ใช้งานบางรายใส่ถุงยางอนามัยครั้งละหลายๆชิ้น เพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป เช่น ต้องการเพิ่มขนาดอวัยวะเพศ ชะลอการหลั่งไว หรือป้องกันการฉีกขาดได้ดีขึ้น แต่เป็นความเข้าใจผิด เพราะอาจทำให้ถุงยางอนามัยชำรุดหลุดได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผิวของยางจะเรียบและลื่น ไม่สา มารถกระชับแนบแน่นเหมือนสัมผัสกับผิวหนังอวัยวะเพศได้ ดังนั้น การร่วมเพศแต่ละครั้งใช้ถุง ยางอนามัยเพียงชิ้นเดียวก็เพียงพอแล้ว

  • การถอดถุงยางอนามัย

    ทีนี้ก็มาถึงตอนสำคัญอีกครั้ง หลังร่วมเพศเสร็จและหลั่งน้ำอสุจิเรียบร้อยแล้ว ต้องรีบใช้นิ้วมือบีบรัดถุงยางอนามัยให้แนบกับโคนอวัยวะเพศ เพื่อป้องกันการหกหรือไหลล้นของน้ำอสุจิออกมา จากนั้นก็รีบถอนอวัยวะเพศพร้อมถุงยางอนามัยออกมาในขณะที่อวัยวะเพศยังแข็งตัวอยู่ เพราะถ้ารอจนอวัยวะเพศอ่อนหดตัวแล้ว เวลาถอนอวัยวะเพศออกมา ถุงยางอนามัยอาจจะไม่ตามออกมาด้วย อาจจะหลุดค้างอยู่ในช่องคลอด แล้วถ้าล้วงออกเองไม่ได้ ก็ต้องไปให้หมอเอาออกให้ที่โรงพยาบาล ต้องเสียเวลา เสียเงิน เสียหน้า แถมยังอาจตั้งครรภ์ หรือติดเชื้อกาม โรค (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)ได้

    เมื่อถอนอวัยวะเพศออกมาทั้งหมดแล้ว ก็รูดถุงยางอนามัยออกได้ แต่อย่าเพิ่งทิ้ง บีบถุง ยางให้แน่นแล้วรูดให้น้ำอสุจิไปอยู่ปลายถุง ตรวจสอบดูว่ามีน้ำอสุจิรั่วซึมออกมาหรือถุงยางอนา มัยมีรอยฉีกขาดหรือไม่ ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยก็ผูกมัดที่ปากถุงเพื่อกันไม่ให้น้ำอสุจิไหลออกมาเลอะเทอะ ใช้กระดาษห่อให้มิดชิดก่อนนำไปทิ้งขยะ ถ้าเป็นถังขยะติดเชื้อด้วยก็จะดีที่สุด

สำหรับผู้ที่ร่วมเพศทางช่องทางอื่น แม้จะไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ แต่ก็ควรถอดให้ถูกต้องเช่นเดียวกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากทั้งสองฝ่าย

มีวิธีปฏิบัติเมื่อถุงยางอนามัยชายชำรุดอย่างไร?

ถึงแม้จะปฏิบัติอย่างถูกต้องทุกอย่างแล้ว โดยทั่วๆไป ก็มีโอกาสที่ถุงยางอนามัยจะฉีกขาด รั่ว หรือหลุดในระหว่างการร่วมเพศได้ถึง 2% จึงจำเป็นต้องมีถุงยางอนามัยสำรองไว้หลาย ๆอัน เพื่อจะได้เปลี่ยนทันทีที่เกิดปัญหาหรือต้องการร่วมเพศซ้ำอีก

เมื่อถอนอวัยวะเพศออกมาทั้งหมดแล้ว ก็รูดถุงยางอนามัยออกได้ แ ในกรณีที่ถุงยางอนามัย รั่ว ฉีกขาด หรือหลุด ฝ่ายหญิงต้องรีบรับประทานยาคุมกำเนิดฉุก เฉินทันทีเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ (กรณีคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยชายเพียงวิธีเดียว) และควรทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอกทั้งสองฝ่ายด้วยน้ำสบู่ ทำความสะอาดอย่างนุ่มนวลไม่ให้เกิดบาดแผล ฝ่ายหญิงไม่ควรสวนล้างภายในช่องคลอด เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปในโพรงมดลูกง่ายขึ้น การใส่ยาฆ่าอสุจิ (Spermicide) ในช่องคลอดทันที ก็อาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้

สรุป

ถุงยางอนามัยชาย สามารถลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ และการติดเชื้อกามโรค (โรค ติดต่อทางเพศสัมพันธ์)ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ 100%

ถุงยางอนามัยชายส่วนใหญ่ทำจากยางธรรมชาติ (Latex) ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ร่วมกับครีมหรือน้ำมันหล่อลื่น เพราะจะทำให้เกิดการรั่วหรือฉีกขาดได้

ใช้ถุงยางอนามัยชายใหม่ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ใช้ให้ถูกวิธี และสม่ำเสมอตลอดตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดการมีเพศสัมพันธ์

รีบถอนอวัยวะเพศพร้อมถุงยางอนามัยในขณะที่อวัยวะเพศยังแข็งตัว และอย่าลืมตรวจการรั่วซึมของถุงยางอนามัยทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นการใช้ ซึ่งถ้าตรวจพบการชำรุดของถุงยางอนา มัย ทั้งสองฝ่ายจะต้องรีบทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอกด้วยน้ำสบู่ ฝ่ายหญิงต้องรับประ ทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (กรณีคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยชายวิธีเดียว) และใส่ยาฆ่าอสุจิในช่องคลอดโดยไม่ต้องสวนล้างช่องคลอด

บรรณานุกรม

  1. Consumer Union: Condoms: Extra protection. Consumer Reports 2005; February.
  2. National Institute of Allergy and Infectious Diseases. Workshop Summary: Scintific Evidence on Condom Effectiveness for Sexually Transmitted Diseases (STI) Prevention. July 20, 2004.
  3. Warner L, Steiner MJ. Male condoms. In: Contraceptive Technology, 19th ed, Hatcher RA, Guest F, Stewart F, Stewart G, Kowal D, Trussell J, Cates W, Policar M (Eds), Ardent Media Ne York 2008.
  4. Halperin DT, Steiner MJ, CasselHM, et al. The time has come for common ground on preventing sexual transmission of HIV. Lancet 2007;364:1913.