ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)

สารบัญ

บทนำ

ถุงน้ำดี (Gallbladder) เป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องด้านขวาตอนบน โดยอยู่ใต้ต่อตับ มีลักษณะเป็นถุงขนาดเล็ก มีความจุประมาณ 35-50 มิลลิลิตร โดยมีท่อรับน้ำดี (Bile) ที่เรียกว่า ท่อ Cystic duct รับน้ำดีจากตับมาเก็บกักไว้ในถุงน้ำดี เพื่อนำส่งลำไส้เล็กตอนบนเพื่อช่วยการย่อยอาหาร โดยเฉพาะอาหารไขมัน ทั้งนี้ถุงน้ำดีจะมีหน้าที่ ช่วยทำให้น้ำดีเข็มข้นขึ้น จึงทำให้น้ำดีมีประสิทธิภาพในการย่อยอาหารได้ดีขึ้น

ถุงน้ำดี เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญน้อยในการดำรงชีวิต ดังนั้นในการรักษาโรคของถุงน้ำดี จึงสามารถผ่าตัดถุงน้ำดีออกได้ โดยผู้ป่วยหลังการผ่าตัดถุงน้ำดียังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่มีโอกาสเกิด ท้องอืด ท้องเฟ้อ (โรคอาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ) ได้สูงกว่าคนปกติ เมื่อผู้ที่ตัดถุงน้ำดีออกกินอาหารไขมันในปริมาณสูง เพราะร่างกายขาดน้ำดีที่มีคุณภาพสูงในการย่อยอาหารไขมัน

โรคถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystits) เป็นโรคเกิดจากการอักเสบของถุงน้ำดี ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นทันที และมีอาการรุนแรง แต่รักษาได้หายภายใน 1-2 สัปดาห์ เรียกว่า “โรคถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute cholecystitis)” แต่ถ้าการอักเสบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซ้ำๆ แต่ละครั้งจะไม่รุนแรง และมักมีอาการอักเสบไม่ชัดเจน เรียกว่า “โรคถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง (Chronic Cho lecystitis)”

โรคถุงน้ำดีอักเสบ เป็นโรคของผู้ใหญ่ พบได้บ่อยปานกลาง ในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีการผ่าตัดถุงน้ำดีเพื่อรักษาโรคถุงน้ำดีอักเสบประมาณ 500,000 รายต่อปี ทั้งนี้พบโรคได้ในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า

โรคถุงน้ำดีอักเสบเกิดได้อย่างไร?

โรคถุงน้ำดีอักเสบ

โรคถุงน้ำดีอักเสบมักเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ จากโรคนิ่วในถุงน้ำดี และ ไม่ใช่จากโรคนิ่วในถุงน้ำดี

  • สาเหตุจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี พบเป็นสาเหตุของถุงน้ำดีอักเสบสูงถึง 90-95% โดยก้อนนิ่วจะไปอุดตันท่อน้ำดี ส่งผลให้ น้ำดี ไหลออกจากถุงน้ำดีเข้าสู่ลำไส้ไม่ได้ ส่งผลให้ความดันในถุงน้ำดีสูงขึ้น จึงส่งผลถึงการกดเบียดหลอดเลือดต่างๆที่หล่อเลี้ยงถุงน้ำดี ถุงน้ำดีจึงขาดเลือด เนื้อเยื่อถุงน้ำดีจึงเกิดการบาดเจ็บ เกิดเป็นการอักเสบขึ้นและเมื่อร่วมกับการติดเชื้อโรค ซึ่งมักเป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อย คือ เชื้อ อีโคไล (E.coli) และเชื้อ Bacteroides จึงกลาย เป็นการอักเสบติดเชื้อ ทั้งนี้ ถ้าขาดเลือดมากขึ้น จะส่งผลให้เนื้อเยื่อถุงน้ำดีเน่าตาย หรือ เกิดการแตกทะลุของถุงน้ำดี ก่อการติดเชื้อรุนแรงในช่องท้องได้อีกด้วย (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
  • สาเหตุไม่ใช่จากนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งพบได้ประมาณ 5-10% เช่น เกิดจากถุงน้ำดีได้รับอุบัติเหตุจึงเกิดการฉีกขาด และ/หรือ ถุงน้ำดีติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ เกิดจาก เนื้องอกของถุงน้ำดี หรือของท่อน้ำดี หรือเกิดจากท่อน้ำดีตีบตันจากสาเหตุต่างๆที่ไม่ใช่จากนิ่ว เช่น การเกิดพังผืด
 

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงน้ำดีอักเสบ?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงน้ำดีอักเสบ คือ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี เพราะดังกล่าวแล้วว่า ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดของโรคถุงน้ำดีอักเสบเกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี และถุงน้ำดีอักเสบ คือ

  • เพศ พบโรคถุงน้ำดีในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย 2-3 เท่า มักพบในผู้หญิงที่ใช้ยาฮอร์โมนในการคุมกำเนิด หรือ กินยาฮอร์โมนเพศหญิงจากภาวะ/วัยหมดประจำเดือน ทั้งนี้เพราะฮอร์ โมนเพศหญิงจะเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดี จึงเพิ่มความเข็มข้นของคอเลสเตอ รอล น้ำดีจึงตกตะกอน ก่อนิ่วได้ง่าย
  • อายุ พบโรคได้สูงในผู้สูงอายุโดยเฉพาะเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป อาจเพราะคนในช่วงอายุนี้ มีโรคไขมันในเลือดสูง สูงกว่าอายุช่วงอื่นๆ
  • เชื้อชาติ พบโรคนี้ได้สูงในบางเชื้อชาติ เช่น ในคนอเมริกา เพราะพบว่า มีพันธุกรรมที่ทำให้มีคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง
  • พันธุกรรม พบโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้สูงเมื่อมีคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี
  • อาหาร พบว่าการกินอาหารไขมันสูงและมีใยอาหารต่ำเพิ่มโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
  • อ้วน โดยเฉพาะในผู้หญิง เพราะมักมีคอเลสเตอรอลสูงในน้ำดี
  • การเร่งลดน้ำหนัก โดยเฉพาะจากการกินอาหารบางประเภท จะเพิ่มคอเลสเตอรอลในน้ำดี และลดการบีบตัวของถุงน้ำดี
  • การกินยาลดไขมัน เพราะจะเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดี
  • ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะมีไขมันชนิดไตรกลีเซไรด์สูง(Triglyceride) ซึ่งเป็นไขมันเพิ่มโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
  • โรคเลือดบางชนิด จากมีเม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากกว่าปกติ จึงมีสาร บิลิรูบิน (Biliru bin) ในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้มีสารนี้ในน้ำดีสูงขึ้น สารนี้จึงตกตะกอนในถุงน้ำดีได้มากขึ้น จึงเกิดเป็นนิ่วได้สูงขึ้น
  • การอักเสบเรื้อรังของถุงน้ำดี เพราะส่งผลให้การบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง จึงมีน้ำดีคั่งอยู่ในถุงน้ำดีได้นาน สารต่างๆในน้ำดีจึงตกตะกอน เกิดเป็นนิ่วได้สูง
  • โรคเรื้อรังต่างๆที่ผู้ป่วยกินไม่ได้ ต้องให้อาหารทางหลอดเลือดดำต่อเนื่อง เพราะถุงน้ำดีจะไม่หดตัว เพราะไม่มีการย่อยอาหาร จึงเกิดการตกตะกอนของสารต่างๆในน้ำดี จึงเกิดเป็นนิ่วได้ง่าย
 

โรคถุงน้ำดีอักเสบมีอาการอย่างไร?

  • อาการของโรคถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน คือ
    • เจ็บ/ปวดลึกๆใต้ชายโครงขวา อาจร่วมกับกดเจ็บ (ตำแหน่งของถุงน้ำดี) ทันที โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้า อาจร้าวไปไหล่ขวา
    • มีไข้ มักเป็นไข้ต่ำ และมักมีหนาวสั่น แต่บางคนอาจมีไข้สูง
    • คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องเฟ้อ
    • เมื่อเป็นมากอาจมี ตา ต้วเหลือง (โรคดีซ่าน) อุจจาระสีซีด และปัสสาวะสีเหลืองเข็ม จากน้ำดีไหลลงสู่ลำไส้ไม่ได้ จึงย้อนเข้ากระแสเลือด หรือเมื่อเกิดถุงน้ำดีแตก จะมีไข้สูง หน้าท้องแข็ง เจ็บทุกส่วนของช่องท้อง จากการเกิด เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  • อาการของโรคถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง มักเป็นอาการไม่แน่นอน ไม่ชัดเจนเท่าอาการจากถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (ยกเว้นแต่เมื่อเกิดการติดเชื้อเฉียบพลันซ้ำซ้อนที่ให้อาการเหมือนการอักเสบเฉียบพลัน) อาจมีเพียงอาการเจ็บใต้ชายโครงขวา แต่ไม่มากในช่วงหลังกินอาหาร ร่วมกับมี ท้องอืด และท้องเฟ้อ เป็นประจำโดยเฉพาะเมื่อกินอาหารไขมัน
 

แพทย์วินิจฉัยโรคถุงน้ำดีอักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคถุงน้ำดีอักเสบทั้ง 2 ชนิดได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อดูการอักเสบติดเชื้อ การตรวจเลือดต่างๆ เช่น ดูการทำงานของตับ เพื่อวินิจฉัยแยกโรค เพราะบางครั้งอาการของโรคคล้ายคลึงกับกระเพาะอาหารอักเสบ หรือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร และ/หรือ โรคตับอ่อนอักเสบ การตรวจภาพตับและถุงน้ำดีด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และอาจมีการตรวจวิธีจำเพาะอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้น กับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจส่องกล้องทางเดินน้ำดี หรือ การตรวจโดยฉีดสีทางเอกซ เรย์ด้วยเทคนิคเฉพาะเพื่อดูทางเดินน้ำดี

รักษาโรคถุงน้ำดีอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคถุงน้ำดีอักเสบ ที่สำคัญ คือ การผ่าตัดถุงน้ำดี ซึ่งมักให้การผ่าตัดหลังควบคุมการติดเชื้อแล้วโดยการให้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาประคับประคองตามอาการ (เช่น ยาแก้ปวด ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน และการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อกินได้น้อย เป็นต้น) ทั้งนี้เพราะถ้าไม่ผ่าตัด การอักเสบมักย้อนกลับเป็นซ้ำอีก ซึ่งการผ่าตัด อาจเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง หรือโดยการผ่าหน้าท้อง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

โรคถุงน้ำดีอักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โดยทั่วไปโรคถุงน้ำดีอักเสบ รักษาได้หายเสมอภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าพบแพทย์ช้าจนเกิดถุงน้ำดีเน่าตาย หรือ ทะลุ อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ) และ/หรือในกระแสโลหิต/เลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ 5-50% ขึ้นกับอายุ สุขภาพผู้ป่วย ความรุนแรงของการติดเชื้อ และภาวะเชื้อดื้อยา

ส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากถุงน้ำดีอักเสบ มักเกิดในผู้ป่วยที่พบแพทย์ล่าช้า หรือ มีสุขภาพไม่แข็งแรง ซึ่งได้แก่ ภาวะถุงน้ำดีเน่าตาย หรือ ภาวะถุงน้ำดีทะลุ ที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงดังได้กล่าวแล้ว

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีโรคถุงน้ำดีอักเสบที่สำคัญ คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวในอาการของโรคถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน หรือคล้ายคลึงอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรดูแลตนเอง เพราะดังกล่าวแล้วว่า การวินิจฉัยโรคได้ล่าช้า อาจนำไปสู่ผลข้างเคียง/ภาวะ แทรกซ้อนที่รุนแรงได้

ป้องกันโรคถุงน้ำดีอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันถุงน้ำดีอักเสบเต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงได้ โดยลดปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ของการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • จำกัดการกินอาหารไขมัน
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคเบาหวาน
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคไขมันในเลือดสูง
  • เมื่อจะลดน้ำหนัก ควรต้องค่อยๆลดช้าๆ
 

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Cholecystitis http://en.wikipedia.org/wiki/Cholecystitis [2013,July18].
  3. Cholecystitis http://emedicine.medscape.com/article/171886-overview#showall [2013,July18].
  4. Gallbladder http://en.wikipedia.org/wiki/Gallbladder [2013,July18].
Updated 2013, July 18