ต่อมหมวกไต (Adrenal gland)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 มีนาคม 2561
- Tweet
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- ฮอร์โมนต่อมหมวกไต
- ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland)
- ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus)
- ฮอร์โมนจากไฮโปธาลามัส
- ฮอร์โมนต่อมใต้สมอง
ต่อมหมวกไต (Adrenal gland หรือ Suprarenal gland) เป็นต่อมไร้ท่อ ขนาดปานกลาง เป็นต่อมคู่ ซ้าย ขวา อยู่ในตำแหน่งยอดของไตทั้งสองข้าง มีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยมโดยฐานอยู่ด้านยอดไต ในผู้ใหญ่ ต่อมฯแต่ละข้างมีขนาดประมาณ 5x3x1 เซนติเมตร และหนักข้างละประมาณ 4-6 กรัม มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนควบคุมเกลือแร่ (Mineralocorticoid) ฮอร์โมนตอบสนองต่อภาวะเครียดของร่างกาย/Stress(Adrenalin หรือ Epinephrine) และส่วนน้อยเป็นฮอร์โมนเพศชาย (Androgen) ซึ่งฮอร์โมนต่อมหมวกไตจะทำหน้าที่เป็นตัวส่งข่าวสาร(Chemical messenger หรือเรียกสั้นๆว่า Messenger)โดยฮอร์โมนนี้ในกระแสเลือดจะไปกระตุ้นให้เซลล์ของเนื้อเยื่อต่างๆให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อมหมวกไตแบ่งออกเป็น 2 ส่วน/ชั้น คือ ต่อมหมวกไตส่วนนอก/ต่อมหมวกไตชั้นนอก เรียกว่า “Adrenal cortex” และต่อมหมวกไตส่วนใน/ต่อมหมวกไตชั้นใน เรียกว่า “Adrenal medulla”
ก. ต่อมหมวกไตส่วนนอก: ฮอร์โมนจากต่อมฯส่วนนี้มีหน้าที่เพื่อ คงสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย, ควบคุมความดันโลหิต, ช่วยการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียด(Stress)ต่างๆ, รวมถึงช่วยในกระบวนการ Metabolism, และกระบวนการเกิดการอักเสบของร่างกาย
นอกจากนั้นต่อมฯส่วนนี้ยังสามารถสร้างฮอร์โมนเพศชาย(Androgen)ได้ด้วย แต่จะมีบทบาทน้อยกว่าฮอร์โมนเพศชายจากอัณฑะมาก ซึ่งฮอร์โมนเพศชายจากต่อมหมวกไตยังช่วยการพัฒนาของอวัยวะเพศชายในช่วงวัยเด็ก ก่อนถึงวัยที่อัณฑะจะทำงานได้เต็มที่ นอกจากนั้นจะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะในเด็กหญิงช่วงเข้าสู่วัยรุ่นจากร่างกายสามารถปรับให้ฮอร์โมนเพศชายเปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนเพศหญิง(Estrogen)ได้
ทั้งนี้ฮอร์โมนจากต่อมฯส่วนนี้ จัดเป็นฮอร์โมนสำคัญที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งการทำงาน/การสร้างและหลั่งฮอร์โมนจากต่อมฯส่วนนี้จะอยู่ในกำกับดูแลของต่อมใต้สมอง และของไฮโปธาลามัส
ข. ต่อมหมวกไตส่วนใน: ต่อมฯส่วนนี้สร้างฮอร์โมนที่ร่างกายใช้ ตอบสนองต่อความเครียด ที่เรียกว่า “ฮอร์โมนเพื่อการต่อสู้หรือเพื่อการหนี( Fight or Flight hormone)” ซึ่งฮอร์โมนจากต่อมฯส่วนใน จัดเป็นฮอร์โมนที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้ การทำงานของต่อมฯส่วนในจะอยู่ในการกำกับควบคุมของ”ระบบประสาทอัตโนมัติ” ส่วนที่เรียกว่า “ระบบประสาทซิมพาทีติก(Sympathetic nervous system”
*อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ต่อมหมวกไต”, เรื่อง “ฮอร์โมนต่อมหมวกไต”, เรื่อง “ไฮโปธาลามัส“, เรื่อง”ฮอร์โมนจากไฮโปธาลามัส,“ เรื่อง “ต่อมใต้สมอง”, เรื่อง “ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง”
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Adrenal_gland [2018,Feb24]
- http://www.pathologyoutlines.com/adrenal.html [2018,Feb24]
- http://www.yourhormones.info/glands/adrenal-glands/ [2018,Feb24]
Updated 2018, Feb24