ตุ่มยุงกัด (Mosquito bites)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 9 กันยายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ตุ่มยุงกัดเกิดได้อย่างไร?
- ตุ่มยุงกัดติดต่อไหม?
- ตุ่มยุงกัดมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นตุ่มยุงกัด?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- รักษาและดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีตุ่มยุงกัด?
- ตุ่มยุงกัดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ตุ่มยุงกัดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันตุ่มยุงกัดอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- ตุ่มมดกัด (Ant bites)
- ตุ่มแพ้แมลงกัด (Insect bite reaction)
- ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อย: การปฐมพยาบาล การรักษาและการป้องกัน (Bee, Wasp, Hornet, and Ant stings)
- โรคเท้าช้าง (Lymphatic filariasis)
- ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)
บทนำ
ยุงกัด (Mosquito bites) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะที่เป็นตุ่มคันจาก ถูกกัดโดยยุงรำคาญที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Culex quinquefasciatus เท่านั้น ไม่นับรวมถึงยุงที่ทำให้เกิดโรคเฉพาะอื่นๆเช่น ยุงลายที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก หรือยุงก้นปล่องที่ทำให้เกิดโรคเท้า ช้าง
ตุ่มยุงกัดเกิดได้อย่างไร?
โดยปกติ ยุงตัวเมียจะต้องการเลือดเพื่อช่วยในการผลิตไข่ในการสืบพันธุ์ ยุงตัวเมียจึงต้องออกกัด/ดูดเลือดจากคนและสัตว์อื่น โดยตุ่มยุงกัดที่เกิดขึ้นเป็นผลจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อโปร ตีนในน้ำลายยุงที่ปล่อยออกมาขณะกัด
ตุ่มยุงกัดติดต่อไหม?
ตุ่มยุงกัดไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่ติดต่อไม่ว่าจะด้วยวิธีใดเช่น การสัมผัสตุ่มหรือจากการสัมผัสเสื้อผ้า เครื่องใช้
ตุ่มยุงกัดมีอาการอย่างไร?
หลังถูกยุงกัดโดยทั่วไปจะเกิดปฏิกิริยาเป็นตุ่มแดง คัน ตุ่มจะหายไปได้เองในระยะเวลาประ มาณ 20 - 30 นาที แต่ตุ่มอาจอยู่ได้นานกว่านั้นหากผู้ที่ถูกกัดมีอาการแพ้โปรตีนในน้ำลายยุง ซึ่งตุ่ม ยุงกัดมักพบบริเวณนอกร่มผ้าที่ยุงกัดได้ง่ายเช่น แขน ขา ใบหน้า
แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นตุ่มยุงกัด?
แพทย์วินิจฉัยได้ว่าเป็นตุ่มยุงกัดจาก
- การสอบถามประวัติทางการแพทย์ ประวัติถูกยุงกัด
- การตรวจร่างกาย และการตรวจดูรอยโรค
- ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่จำเป็นต้องตรวจสืบค้นเพิ่มเติมด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือเอกซเรย์
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หากตุ่มผิวหนังจากสาเหตุต่างๆที่รวมถึงตุ่มยุงกัดมีอาการ เช่น
- มีอาการคันมาก
- มีตุ่มจำนวนมาก หรือ
- ตุ่มมีการติดเชื้อ/เกิดเป็นหนอง ที่ดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น หรือ
- เมื่อกังวลในอาการ
*แต่ถ้ามีอาการแพ้รุนแรงหลังถูกยุง/แมลงกัด ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เช่น
- หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก
- มีผื่นคันขึ้นทั่วตัว
- ปวดท้อง
- หน้ามืด/ เป็นลม
รักษาและดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีตุ่มยุงกัด?
การรักษาและการดูแลตนเองเมื่อมีตุ่มยุงกัด ได้แก่
ก. โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องมีการดูแลรักษา ตุ่มจะหาย ได้เองในระยะเวลาประมาณ 20 - 30 นาที
ข.แต่ถ้ามีอาการคันมาก การดูแลรักษา เช่น
- การประคบเย็นลดอาการคัน โดยใช้ Ice-Pack หรือน้ำแข็งห่อผ้าสะอาด ประคบบริเวณตุ่มคัน ประมาณ 10 นาทีวันละ 1 - 3 ครั้ง
- ทายา Calamine lotion เพื่อให้ผิวรู้สึกเย็นสบาย ลดอาการคัน
- ทายาสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ แดง คัน ของตุ่ม (การอักเสบที่เกิดโดยไม่มีการติดเชื้อ) ถ้าเป็นหนองห้ามใช้ยากลุ่มนี้
- ห้ามแกะเกาเพราะจะทำให้เกิดรอยดำบริเวณตุ่มและบริเวณที่เกา และอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนตามมา ส่งผลให้ตุ่มเกิดเป็นแผล/หนอง
- รับประทานยาแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine เพื่อบรรเทาอาการคัน
- อาบน้ำได้ตามปกติ แต่ควรใช้สบู่ชนิดอ่อนโยนต่อผิว เช่น สบู่เด็กอ่อน
ตุ่มยุงกัดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
โดยทั่วไป มักไม่มีผลข้างเคียงจากตุ่มยุงกัด ตุ่มและอาการคันจะหายได้เองในระยะเวลาประ มาณ 20 - 30นาที แต่ในรายที่มีอาการแพ้โปรตีนในน้ำลายยุงมาก ตุ่มยุงกัดอาจมีอาการอยู่หลายวัน หรืออาจเกิดเป็นอาการลมพิษ หรืออาการแพ้รุ่นแรงที่เรียกว่า Anaphylaxis ได้
นอกจากนี้การแกะ/เกาตุ่มยุงกัดสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน/เกิดเป็นแผล หนอง และเกิดเป็นรอยดำหลังการอักเสบที่มีผลต่อความสวยงามได้
ตุ่มยุงกัดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค โดยทั่วไป ตุ่มยุงกัดจะหายได้เอง ระยะเวลาขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของร่างกายต่อโปรตีนในน้ำลายยุง ทั่วไปมักเป็น 20 - 30 นาที แต่บางคนอาจมีอาการได้นาน 2 - 3 วัน และน้อยมากๆที่จะพบมีอาการแพ้ที่รุนแรง (Anaphylaxis) นอกจากนี้คือ การติดเชื้อแบคทีเรีย/เป็นหนองของตุ่มจากการเกา ซึ่งอาจต้องพบแพทย์ถ้าเป็นมากเพื่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
ป้องกันตุ่มยุงกัดอย่างไร?
การป้องกันตุ่มยุงกัด คือการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดนั่นเอง วิธีง่ายๆที่ได้ผล คือ
- เลี่ยงสถานที่ยุงชุม
- สวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว สีอ่อนๆ โดยเฉพาะสีขาว
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงโดยเฉพาะรอบบ้านและรอบที่ทำงาน
- ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงเช่น ตะไคร้หอมระเหยที่ป้องกันยุงได้นานประมาณ 20 - 30 นาที น้ำ มันยูคาลิปตัสป้องกันยุงได้ประมาณ 2 ถึง 5 ชั่วโมง
- ใช้มุ้งลวดหรือนอนกางมุ้ง
บรรณานุกรม
1. ปรียากุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:ชื่อบท.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
2. Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine.eight edition.McGraw-Hill.2012