ตาแดงจากไวรัส (Viral conjunctivitis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 26 กรกฎาคม 2563
- Tweet
สารบัญ
- โรคตาแดงมีสาเหตุจากอะไร?
- ตาแดงจากเชื้อไวรัสเกิดจากอะไร? มีอาการอย่างไร?
- ตาแดงจากเชื้อไวรัสติดต่อได้อย่างไร? ป้องกันได้อย่างไร?
- ตาแดงจากเชื้อไวรัสรักษาอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- เยื่อตาอักเสบ (Conjunctivitis)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
- การตรวจตา การตรวจสุขภาพตา (Eye examination)
- ยูเวียอักเสบ การอักเสบของยูเวีย (Uveitis)
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- น้ำตาเทียม (Artificial tears)
โรคตาแดงมีสาเหตุจากอะไร?
ตาแดง (Conjunctivitis) เป็นภาวะที่บริเวณตาขาวมีสีแดงกว่าปกติ หรือมีสีแดงกว่าคนอื่น หรือมีสีแดงกว่าตาอีกข้าง เกิดได้จากหลายภาวะ ดังเช่นคำพูดที่ว่า “เป็นไข้จนตาแดงก่ำเชียว” “อดนอนจนตาแดงเชียว” “นอนมากเกินไป ตื่นมาตาแดง” “ร้องไห้จนตาแดง” “หนูน้อยเป็นไอกรน ไอมากจนตาแดงทั้ง 2 ข้าง” “ขยี้ตาจนตาแดงไปหมด” “ตาทั้งแดงทั้งแฉะ” “ตาแดงร่วมกับตามัว” “ตาถูกลมถูกแดดมากจนแดง” ฯลฯ วลีดังกล่าวบ่งให้เห็นว่า ตาแดงอาจพบได้ในหลายภาวะ ทั้งๆที่ไม่มีโรคตาก็ได้ อาจเป็นเพียงอดนอน ร่างกายอ่อนเพลีย ขยี้ตามาก หรือที่มีโรคภายในตาบริเวณเยื่อตาก็ได้ เช่น เยื่อตาอักเสบ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคเยื่อตาติดเชื้อแบคทีเรียหรือติดเชื้อไวรัส หรือถูกฝุ่นละออง
เยื่อตา เป็นเนื้อเยื่อบางๆบุอยู่ใต้หนังตาทั้งบนและล่างลึกเข้าไปข้างในใต้หนังตา แล้วย้อนมาบุปกคลุมตาขาวจนชิดขอบตาดำ นั่นคือบริเวณตาขาวของเรา ซึ่งเยื่อบุตาขาวหรือเยื่อตาขาวหรือเยื่อตาหรือผิวของตาขาว จะคล้ายเยื่อบางๆที่บุภายในปากนั่นเอง
เนื่องจากเยื่อบุตาขาวนี้เป็นส่วนที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้ง ลม ฝุ่น แสงแดด ตลอดจนเชื้อโรคต่างๆที่อยู่ในบรรยากาศ เยื่อตาจึงมีโอกาสเกิดการอักเสบ ติดเชื้อได้ง่าย ทั้งติดเชื้อแบคทีเรียและตลอดจนติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของตาแดงเกิดจากโรค
ทั้งนี้ บทนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘โรคตาแดงจากติดเชื้อไวรัส (Viral Conjunctivitis)’ เท่า นั้น เพราะพบได้บ่อยและแพร่ระบาดได้รวดเร็วมาก
ตาแดงจากเชื้อไวรัสเกิดจากอะไร? มีอาการอย่างไร?
ปัจจุบันมักเรียกการอักเสบของเยื่อตาที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม อะดีโนไวรัส(Adenovirus) และ เอนเทโรไวรัส (Enterovirus) ว่า “โรคตาแดง” หรือ “ตาแดงชนิดติดต่อ” เนื่องจากโรคนี้ติดต่อไปยังผู้อื่นได้ง่าย มักจะมีการระบาดเป็นครั้งคราว เมื่อระบาดแต่ละครั้ง มีผู้คนติดโรคมากมาย แต่เดิมทีโรคนี้มักเป็นในหน้าฝน หน้าน้ำท่วม เพราะทำให้เชื้อโรคกระจายได้ง่าย แต่ในระยะหลัง โรคนี้พบได้ตลอดปี เป็นแบบประปรายตลอดปี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเราทราบถึงวิธีระบาดของโรคนี้ (จะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป) และให้ความระมัดระวังกันมากขึ้น ทำให้เชื้อมักระบาดในวงจำกัด เช่น ในบ้านเดียวกัน ในที่ทำงาน หรือในโรงเรียนเดียวกัน
เมื่อได้รับเชื้อ อาจเกิดอาการตาแดงในวันรุ่งขึ้นไปจนถึง 2 สัปดาห์ก็ได้ โดยเริ่มรู้สึกระ คายเคืองในตา น้ำตาไหล ตาแดง มีความรู้สึกคล้ายมีผงหรือเม็ดทรายอยู่ในตา มักเป็นข้างเดียวก่อน ถ้าไม่ระวังอาจลามไปตาอีกข้างในเวลาต่อมา ซึ่งพบเป็น 2 ข้างได้ถึง 2 ใน 3 ของผู้ป่วย โดยทั่วไปมักจะมีน้ำตาออกมาเป็นน้ำใสๆหรือเป็นเมือกเล็กน้อย แต่เมื่อมีติดเชื้อแบคที เรียซ้ำเติม จึงจะมีขี้ตาข้นคล้ายหนองได้
ตาแดงจากติดเชื้อไวรัส ยังมีหนังตาบวมแดง บริเวณเยื่อตาอาจพบเป็นตุ่มเล็กๆ กระจายไปทั่ว บางรายมีจุดเลือดเล็กๆกระจาย บางรายอาจพบเป็นเลือดเป็นปื้นใหญ่ๆได้ เป็นที่มาของคำว่า เลือดออกในตาร่วมกับตาแดง (Haemorrhagic conjunctivitis) ซึ่งหมายถึง มีการอักเสบของเยื่อตาร่วมกับมีเลือดออกด้วย
ผู้ป่วยบางรายอาจมีน้ำตาไหล โดยน้ำตามีเลือดปนจนทำให้ผู้ป่วยตกใจว่ามีเลือดออกได้ และผู้ที่เป็นมากๆ อาจมีขี้ตาปนเมือกจนเป็นแผ่นติดเยื่อตาได้
ความผิดปกติทั้งหมดของโรคตาแดงจากเชื้อไวรัส จะอยู่ที่หนังตาและเยื่อตาเท่านั้น ส่วนของตาดำจะยังปกติดี จึงไม่มีผลต่อการมองเห็น โดยผู้ป่วยโรคนี้จะยังมองเห็นได้ปกติ ลักษณะที่สำคัญอีกประการของโรคตาแดงจากเชื้อไวรัสนี้ มักจะพบการอักเสบและเจ็บบริเวณต่อมน้ำเหลืองหน้าหูด้วย
อาการตาแดงจะค่อยๆหายไปในเวลาประมาณ 7 วัน บางคนอาจหายเป็นปกติเลย หรือบางคน การอักเสบอาจลุกลามเข้าตาดำ เกิดการอักเสบของตาดำเป็นจุดกระจายเล็กๆ ซึ่งระยะนี้อาจทำให้ตามัวลงได้เล็กน้อย การอักเสบของตาดำจะคงอยู่ราวๆ 1 - 2 สัปดาห์ ส่วนน้อยอาจ จะอยู่เป็นเดือน แต่อาการไม่สบายตาต่างๆจะค่อยๆหายไป
ตาแดงจากเชื้อไวรัสติดต่อได้อย่างไร? ป้องกันได้อย่างไร?
เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้ติดต่อไปตาอีกข้างหรือไปยังผู้อื่นได้ง่ายจากการสัมผัสเชื้อโดยตรง เชื้ออาจปนเปื้อนติดอยู่ตามนิ้วมือผู้ป่วย ซึ่งอาจไปจับต้องสิ่งของอื่น ทำให้เชื้อโรคติดอยู่บริเวณนิ้ว หากผู้อื่นมาจับต้องสิ่งของนั้นๆ เชื้อโรคก็จะติดมือผู้นั้น และติดต่อเข้าตาผู้นั้นได้เมื่อมือสัม ผัสตา
การดูแลป้องกันจึงควรแยกผู้ป่วยออกจากกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เช่น ในค่ายทหาร โรงงานอุตสาหกรรม ที่ทำงานที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนอยู่ประจำ จำได้ว่าเมื่อหลายๆปีที่แล้ว ที่โรคตาแดงนี้เพิ่งระบาดในประเทศไทย ทำให้โรงเรียนหนึ่งที่มีเด็กนักเรียนประจำ จำเป็นต้องปิดโรงเรียนชั่วคราวเนื่องจากมีเด็กนักเรียนเป็นตาแดงกันค่อนห้อง
โรคตาแดงนี้แม้จะไม่ทำให้การมองเห็นลดลง แต่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง บั่นทอนการทำงาน ทำลายสุขภาพจิต เกิดความไม่สบาย จึงควรพยายามอย่างยิ่งที่จะป้องกันและควบ คุมโรคนี้ให้อยู่ในเขตจำกัด โดยการดูแลอนามัยส่วนบุคคลให้ดี (รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ) หมั่นล้างมือ รักษาความสะอาดผ้าเช็ดหน้า (ควรใช้ทิชชู่สะอาดดีกว่าใช้ผ้า เช็ดหน้า เพราะดูแลการติดต่อได้ดีกว่า) เสื้อผ้า และไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย
ทั้งนี้หากมีคนเป็นตาแดง ควรพยายามแยกให้อยู่คนเดียว โรคจะลดการระบาดลงอย่างมาก เป็นวิธีป้องกันโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพ
ตาแดงจากเชื้อไวรัสรักษาอย่างไร?
การรักษาตาแดงจากติดเชื้อไวรัส เนื่องจากเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาอะไรที่ฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง ยาที่ใช้หยอดตาส่วนมาก คือใช้ยาหยอดปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจใช้น้ำตาเทียมร่วมกับยาลดอาการระคายเคือง
การใช้ผ้าชุบน้ำเย็น (รักษาความสะอาดทั้งผ้าและน้ำเสมอ) ประคบ จะช่วยให้อาการระคายเคืองตาน้อยลง ผู้ป่วยบางรายมีอาการ เจ็บตา เคืองตามาก แพทย์อาจสั่งยาหยอดตา ประเภทมียาสเตียรอยด์ร่วมกับยาปฏิชีวนะให้ชั่วคราว (อย่าซื้อยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือ เภสัชกร เพราะยาฯมีผลข้างเคียงสูง เช่น เพิ่มโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียในลูกตา และโรคต้อหิน เมื่อใช้ไม่ถูกต้อง)
แม้จะไม่มีข้อห้ามในการใช้สายตาระหว่างที่เป็นตาแดง แต่การใช้สายตามากๆทำให้เคืองตา น้ำตาไหลมากขึ้น จึงควรลดการใช้สายตาลงบ้าง หลีกเลี่ยงการใช้ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ร่วมกับผู้อื่น
โดยทั่วไปโรคตาแดงจากติดเชื้อไวรัสจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ โดยที่สายตาจะกลับ มาปกติเหมือนเดิม
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อเป็นตาแดงควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ (เมื่อไม่มีจักษุแพทย์ พบแพทย์ทั่วไปก่อนก็ได้) เพราะตาแดงเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ต้อหิน เป็นต้น
- ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 1 - 2 วัน เมื่อ
- เกิดตาแดงร่วมกับ มีไข้ และ/หรือเคืองตามาก
- ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อ
- เกิดตาแดงร่วมกับ มีสายตาผิดปกติ เห็นภาพไม่ชัด