ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) เป็นโรคเกิดจากมีการอักเสบของเซลล์ตับอ่อน (Pancreas) อาจทั้งจากการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ เช่น เกิดจากพิษของสุรา หรือ จากการติดเชื้อ เช่น จากเชื้อไวรัส(โรคติดเชื้อไวรัส) หรือ แบคทีเรีย

ตับอ่อน เป็นอวัยวะในช่องท้อง อยู่ใต้ต่อกระเพาะอาหาร จัดเป็นอวัยวะในระบบทางเดินอาหารเช่นเดียวกับตับ (Liver) แต่ตับอ่อนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตับ เป็นคนละอวัยวะ ไม่ เกี่ยวข้องกัน เพียงแต่มีชื่อภาษาไทยที่พ้องกัน ซึ่งผู้เขียนไม่ทราบที่มา แต่เข้าใจเองว่า อาจเป็นเพราะ เป็นอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อเหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดเล็ก และเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มกว่าตับ จึงได้ชื่อว่า ตับอ่อน (ในภาษาไทย) ซึ่ง Pancreas มาจากภาษากรีก หมายถึง เนื้อสด (Flesh)

บางท่านเปรียบเทียบว่า ตับอ่อนมีลักษณะและขนาดเหมือนกล้วยหอม ประกอบด้วยเซลล์หลัก 2 ชนิด คือ เซลล์จากต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland) และเซลล์จากต่อมมีท่อ หรือ ต่อมขับออก (Exocrine gland) โดยต่อมไร้ท่อ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิด ที่เรารู้จักกันดี คือ ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของน้ำตาลในเลือดที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวาน ส่วนต่อมมีท่อ มีหน้าที่สร้างน้ำย่อยอาหาร ซึ่งช่วยย่อยอาหารในลำไส้เล็ก โดยเฉพาะการย่อยไขมัน

ตับอ่อนอักเสบ เป็นโรคของผู้ใหญ่ มักพบในอายุ ตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป จนถึง ผู้สูงอายุ โดยการอักเสบของตับอ่อนทั่วไป เกิดได้ 2 แบบ คือ โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pan creatitis) และ โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (Chronic pancreatitis)

ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

ก. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis)

คือ โรคที่เกิดการอักเสบ กับเซลล์ของตับอ่อนอย่างเฉียบพลัน อาจทันที หรือค่อยๆมีอาการภายใน 2-3 วัน ทั้งนี้ อาการจะดีขึ้น และหายเป็นปกติได้ภายหลังการรักษาภายในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ เป็นโรคพบทั่วโลก พบประมาณ 5-80 รายต่อประชากร 100,000 คน ผู้ชายพบบ่อยกว่าในผู้หญิง

ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

ข. ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (Chronic pancreatitis) คือ โรคที่เซลล์ตับอ่อนมีการอักเสบ ต่อเนื่องเรื้อรังตลอดชีวิตโดยเซลล์ตับอ่อนไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาปกติได้อีก โดยอาจเกิด

  • ตามหลังการอักเสบเฉียบพลันที่รักษาไม่หายเพราะสาเหตุยังคงอยู่ เช่น ผู้ป่วย ยังคงดื่มสุราเรื้อรัง จึงส่งผลให้มีการอักเสบเฉียบพลันที่เกิดต่อเนื่องจนกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง หรือ
  • อาจเกิดจากมีการอักเสบเฉียบพลันซ้ำกันหลายๆครั้ง

ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ทั่วโลกพบประมาณ 50 รายต่อประชากร 100,000 คน พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงเช่นกัน

อนึ่ง: การอักเสบเรื้อรัง เซลล์ตับอ่อนจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ อาจกลายเป็นพังผืด หรือบางครั้งเซลล์ที่อักเสบและตายจะรวมตัวกันเกิดเป็นถุงน้ำ เรียกว่า ‘ถุงน้ำตับอ่อนที่เกิดจากตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (Pancreatic pseudocyst)’

ตับอ่อนอักเสบเกิดได้อย่างไร?

กลไกที่ทำให้เกิดตับอ่อนอักเสบที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่แพทย์เชื่อว่า การอักเสบของตับอ่อน เกิดจากน้ำย่อยอาหารจากตับอ่อน โดยเฉพาะชนิดที่เรียกว่า ทริปซิน (Trypsin) ซึ่งเป็นน้ำย่อยโปรตีน ที่ปกติจะไม่ทำงานเมื่ออยู่ในตับอ่อน จะทำงานต่อเมื่อเข้าไปอยู่ในลำไส้เล็ก โดยเซลล์ของลำไส้เล็กตอนบนจะสร้างเอนไซม์ ชื่อ Enterokinase หรือ Enteropeptidase ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้น้ำย่อยตับอ่อนทำงาน แต่เมื่อเซลล์/เนื้อเยื่อตับอ่อนอักเสบจากสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จะส่งผลให้เกิดสารเคมีผิดปกติต่างๆขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้น้ำย่อยของตับอ่อนโดยเฉพาะ ทริปซินทำงาน น้ำย่อยเหล่านี้จึงย่อยสลายเซลล์/เนื้อเยื่อของตับอ่อน จึงก่อให้เกิดเป็นโรคตับอ่อนอักเสบขึ้น

ซึ่งในการอักเสบเฉียบพลัน การอักเสบจะเกิดชั่วขณะ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เซลล์/เนื้อเยื่อตับอ่อนก็จะฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติ

แต่ถ้าเป็นการอักเสบเรื้อรัง เซลล์/เนื้อเยื่อตับอ่อนจะค่อยๆถูกทำลายกลายเป็นพังผืดอย่างถาวร ไม่สามารถสร้างน้ำย่อยและสร้างฮอร์โมนได้ ดังนั้นร่างกายจึงขาดน้ำย่อยอาหาร และขาดฮอร์โมนต่างๆ โดยเฉพาะฮอร์โมนอินซูลิน ผู้ป่วยจึงเกิดภาวะขาดอาหาร/ทุพโภชนา และมักเกิดเป็นโรคเบาหวานขึ้น

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากมีการทำลาย หรือ เกิดการอักเสบโดยตรงต่อเซลล์ของตับอ่อนจากสาเหตุต่างๆ เช่น จากแอลกอฮอล์จากดื่มสุรา หรือการอักเสบของเนื้อเยื่อตับอ่อนจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง

ตับอ่อนอักเสบมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ดังกล่าวแล้วในบทนำว่า โรคตับอ่อนอักเสบทั้งอักเสบเฉียบพลันและอักเสบเรื้อรัง มีการเกี่ยวพันกัน โดยการอักเสบเรื้อรัง เกิดต่อเนื่องมาจากการอักเสบเฉียบพลัน ดังนั้นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงเดียวกัน ที่พบบ่อยมี 2 สาเหตุซึ่งรวมกันเป็นประมาณ 80% ของโรคตับอ่อนอักเสบทั้งหมด คือ จากโรคนิ่วในถุงน้ำดี (และโรคนิ่วในท่อน้ำดี) และจากการดื่มสุรา

1. จากโรคนิ่วในถุงน้ำดี โดยนิ่วจากถุงน้ำดี ที่หลุดเข้าท่อน้ำดี (โรคนิ่วในท่อน้ำดี) ซึ่งท่อน้ำดีนี้จะเปิดเข้าลำไส้เล็กตำแหน่งเดียวกับท่อตับอ่อน นิ่วในท่อน้ำดี จึงก่อการอุดตันและการอักเสบของท่อตับอ่อน และกลายเป็นสาเหตุของตับอ่อนอักเสบในที่สุด

2. จากการดื่มสุรา ซึ่งมักเกิดตามหลังการดื่มสุราอย่างหนักต่อเนื่องประมาณ 2-12 ชั่วโมง แต่บางคนอาจนาน 1-3 วัน และบางคนที่ไวต่อแอลกอฮอล์เป็นพิเศษจะเกิดตามหลังการดื่มสุราเพียงเล็กน้อยได้ ทั้งนี้ เกิดจากพิษของแอลกอฮอล์ทำลายเซลล์ตับอ่อนโดยตรง

นอกจากนี้ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่พบน้อยกว่า โดยรวมกันเป็นประมาณ 20% ของการเกิดตับอ่อนอักเสบ ได้แก่

  • สูบบุหรี่ ซึ่งเกิดจากสารพิษจากบุหรี่ทำลายเซลล์ตับอ่อนโดยตรง
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด และยารักษาวัณโรค/ ยาวัณโรคบางชนิด
  • ภาวะผิดปกติทางการใช้พลังงานของร่างกาย เช่น โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคเรื้อรังบางชนิดที่ก่อให้เกิดสารเคมีเป็นพิษขึ้นในร่างกาย เช่น ในโรคไตเรื้อรัง
  • โรคที่เป็นสาเหตุให้มีเกลือแร่ แคลเซียมในเลือดสูง เช่น การกินวิตามินดี และแคลเซียมในปริมาณสูงต่อเนื่อง
  • การติดเชื้อแบคทีเรียของตับอ่อน
  • การติดเชื้อไวรัสของตับอ่อน เช่น ในโรคคางทูม หรือโรคเอดส์
  • โรคออโตอิมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง
  • ตับอ่อนได้รับบาดเจ็บโดยตรง เช่น จากอุบัติเหตุ หรือจากการผ่าตัดในช่องท้อง
  • พันธุกรรมบางชนิดที่เป็นสาเหตุให้เกิดมีตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง สาเหตุนี้พบได้น้อยมาก เช่นในโรคซิสติกไฟโบรซิส
  • โรคมะเร็งตับอ่อน โรคมะเร็งถุงน้ำดี หรือโรคมะเร็งท่อน้ำดี แต่สาเหตุจาก มะเร็งเป็นสาเหตุพบน้อย
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน

ตับอ่อนอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของ ตับอ่อนอักเสบ ได้แก่

ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

ก. อาการของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่

  • ปวดท้องเฉียบพลันตรงช่องท้องตรงกลางส่วนบน ปวดมาก ปวดตื้อๆ ต่อเนื่องเป็นวัน หรือหลายวันติดต่อกัน และมักปวดร้าวไปด้านหลังจากการที่ตับอ่อนเป็นอวัยวะอยู่ลึกในช่องท้องส่วนอยู่ติดทางด้านหลัง อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อ กินอาหาร, ดื่มเครื่องดื่มโดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางคนที่มีโรคเรื้อรังอื่นๆที่มีผลต่อการอักเสบของปลายประสาท อาจมีตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันโดยมีอาการปวดท้องไม่มากได้ เช่น ในโรคเบาหวาน หรือโรคไตเรื้อรัง
  • ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แน่นท้อง
  • สะอึก /(สะอึก2)
  • มีไข้ มีได้ทั้งไข้สูง หรือไข้ต่ำ
  • ถ้าเป็นการอักเสบชนิดรุนแรง จะมีอาการของ
    • ภาวะขาดน้ำ (ผิวแห้ง กระหายน้ำ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว) และ/หรือ
    • อาการจากการอักเสบของอวัยวะต่างๆร่วมด้วย เช่น ปอดอักเสบ/ปอดบวม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน

ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

ข: อาการของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ได้แก่

  • อาการเช่นเดียวกับตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันเมื่อมีตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันทับซ้อนการอักเสบเรื้อรัง
  • ปวดท้อง ลักษณะอาการปวดเช่นเดียวกับการอักเสบเฉียบพลัน แต่ความรุนแรงน้อยกว่า เป็นการปวดท้องเรื้อรัง และนอกจากจะปวดมากขึ้นจาก อาหาร เครื่องดื่มแล้ว ยังปวดมากขึ้นเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ผอมลงต่อเนื่อง ทั้งๆที่อาจกินได้ปกติ จากอาหารดูดซึมไม่ได้เพราะขาดน้ำย่อย อาหารจากตับอ่อน เกิดเป็นโรคขาดอาหาร/ทุพโภชนา
  • อ่อนเพลีย
  • ท้องเสียเรื้อรัง อุจจาระมีลักษณะเป็นไขมันจากไขมันย่อยไม่ได้เพราะขาดน้ำย่อยไขมันจากตับอ่อน เมื่อเป็นมาก เมื่ออุจจาระ จะมีไขมันลอยขึ้นมาให้เห็นในโถส้วม และอุจจาระมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • อาการของโรคเบาหวานเมื่อเป็นมากจนตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลินลดลงมาก
  • บางครั้งอาจมี ตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) จากการอักเสบเรื้อรัง ก่อให้เกิดการดึงรั้งปากท่อน้ำดีที่อยู่ติดกับปากท่อตับอ่อน ส่งผลให้เกิดการอุดกั้นทางเดินน้ำดีจากตับ น้ำดีจึงท้นเข้าหลอดเลือดก่ออาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง, มีปัสสาวะสีเหลืองเข้ม, และน้ำดีไหลลงลำไส้ไม่ได้ จึงส่งผลให้อุจจาระมีสีซีด (ปกติสีของอุจจาระเป็นสีจากน้ำดี)

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ จำเป็นต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ อาจภายใน 24 ชั่วโมง หรือฉุกเฉิน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

แพทย์วินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรังได้ด้วยวิธีการเดียวกัน คือ วินิจฉัยจาก

  • ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการรักษาทั้งในอดีตและในปัจจุบัน การดื่มสุรา สูบบุหรี่
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือดดูค่าน้ำย่อยต่างๆของตับอ่อน เช่น Amylase
  • การตรวจภาพตับอ่อนด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ
  • อาจมีการตรวจด้วยวิธีเฉพาะอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ส่องกล้องตรวจทางเดินน้ำดี และท่อตับอ่อน ที่เรียกว่า อีอาร์ซีพี (ERCP/ ,Endoscopic retrograde cholangiopancreatography) ซึ่งอาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเมื่อตรวจพบรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา, และ/หรือ การดูดเซลล์จากรอยโรคเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา

รักษาโรคตับอ่อนอักเสบอย่างไร?

การรักษาโรคตับอ่อนอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง คือ การรักษาสาเหตุ/ ปัจจัยเสี่ยง, การรักษาตามอาการ (การรักษาประคับประคองตามอาการ), และการดูแลรักษาโรค/อาการจากผลข้างเคียงของตับอ่อนอักเสบ

ก. การรักษาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น

  • การรักษานิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในท่อน้ำดีด้วยวิธีต่างๆตามขนาดก้อนนิ่ว, ตำแหน่งของนิ่ว, อาการผู้ป่วย, สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง นิ่วในถุงน้ำดี)
  • การงด/เลิก สุรา และบุหรี่
  • การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อตับอ่อนอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • อาจจำเป็นต้องมีการส่องกล้อง หรือผ่าตัดเพื่อเอานิ่วฯออกเมื่อโรคเกิดจากการมีนิ่วดังกล่าวแล้ว หรือ
  • อาจต้องผ่าตัดตับอ่อนออก ถ้าตับอ่อนอักเสบมากจนเกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อตับอ่อน

ข. การรักษาตามอาการ เป็นการรักษาที่สำคัญมาก ทั้งนี้เพราะ

  • ผู้ป่วยมักกินอาหาร/ดื่มน้ำได้น้อย จึงมักต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้สารอาหารและสารน้ำทางหลอดเลือดดำ และแก้ไขให้เกลือแร่ในเลือดอยู่ในสมดุลจนกว่าผู้ป่วยจะกินอาหารทางปากได้
  • ในบางครั้งเมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องให้สายให้อาหารผ่านทางจมูกเข้ากระเพาะอาหาร หรือเข้าสู่ลำไส้เล็ก เพื่อลดการกระตุ้นการทำงานของตับอ่อนจากอาหารที่กินเข้าไป และลดอาการคลื่นไส้-อาเจียน
  • นอกจากในเรื่องน้ำและอาหารแล้ว ยาแก้ปวด และยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ก็เป็นอีกตัวยาที่สำคัญ

อนึ่ง: ในผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง:

  • ต้องระวังเรื่องการกินยา/ใช้ยาต่างๆเพราะดังกล่าวแล้วว่า ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นพิษต่อเซลล์ตับอ่อน
  • จำกัดการกินอาหารไขมัน
  • กินยาเพื่อช่วยการย่อยอาหาร(ยาช่วยย่อย)
  • กิน หรือฉีด วิตามินต่างๆโดยเฉพาะชนิดที่ละลายในไขมัน เพราะร่างกายดูซึมไขมันได้ลดลง จึงมักขาดวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ, วิตามินดี, วิตามินอี, และ วิตามินเค
  • กินยาแก้ปวดเป็นประจำ โดยมีตารางกินยาคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง เช่นในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • บางคนจำเป็นต้องได้ยาคลายเครียด

ค. การดูแลรักษาโรค/อาการที่เกิดจากผลข้างเคียงของตับอ่อนอักเสบ เช่น โรคเบาหวาน, อาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง (ภาวะดีซ่าน), (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความ เรื่องเบาหวาน, เรื่องตัวเหลือง ตาเหลือง, และเรื่องดีซ่าน ) บางครั้งอาจต้องผ่าตัดตับอ่อน

โรคตับอ่อนอักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของตับอ่อนอักเสบ:

ก. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน: ทั่วไปเป็นโรคไม่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคค่อนข้างดี รักษาหายประมาณ 80% ภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์

แต่กรณี อาการรุนแรง มีโอกาสตายได้ประมาณ 2-10% ซึ่งโอกาสเกิดอาการรุนแรงจะสูง เมื่อมีสาเหตุจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี, หรือนิ่วในท่อน้ำดี มากกว่ามีสาเหตุจากสุรา

นอกจากนี้ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ยังสามารถเกิดเป็นซ้ำได้ ถ้ายังไม่สามารถรักษาควบคุมสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้

ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน กลุ่มที่มีอาการรุนแรง มักเกิดจากเซลล์/เนื้อเยื่อตับอ่อนที่อักเสบก่อให้เกิดสารเคมีหลายชนิดเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดการอักเสบในหลายๆอวัยวะพร้อมๆกัน ที่พบบ่อย คือ ปอด กล้ามเนื้อหัวใจ และไต จนก่อ ภาวะหายใจล้มเหลว, ภาวะหัวใจล้มเหลว, และไตวายเฉียบพลัน ซึ่งสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือรวมทั้งหมดเป็นสาเหตุของการตายได้

ปัจจัยเสริมให้ตับอ่อนอักเสบรุนแรง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันรุนแรง ได้แก่ โรคที่มีสาเหตุจากนิ่วในถุงน้ำดี และหรือ การดื่มสุราเรื้อรัง ร่วมกับมีปัจจัยดังต่อไปนี้ อาจปัจจัยเดียว หรือหลายปัจจัยร่วมกัน คือ

  • สูบบุหรี่
  • มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตับอ่อนร่วมด้วย
  • มีการตายของเซลล์ตับอ่อนมาก
  • มีไขมันในเลือดสูง
  • มีสารน้ำเกิดขังในตับอ่อน

ข. ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง: ทางการแพทย์จัดเป็นโรครุนแรง รักษาไม่หาย แต่บรรเทา อา การได้โดยผู้ป่วยต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ตลอดชีวิต เพราะมักมีผลข้างเคียงหลายอย่างตามมาที่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิต และเป็นสาเหตุตายได้เช่นกัน เช่น

  • อาการปวดท้องรุนแรงเรื้อรัง อาจถึงขั้นต้องใช้ยามอร์ฟีนในการรักษา
  • โรคเบาหวาน
  • ท้องเสียเรื้อรัง จนเกิด ภาวะขาดอาหาร(ทุพโภชนา) และ
  • เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งตับอ่อนได้ 2-18 เท่าของคนทั่วไปขึ้นกับว่าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงอื่นสำหรับเกิดมะเร็งร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ดื่มสุรา และ/หรือ สูบบุหรี่

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเป็นโรคตับอ่อนอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรังจะเช่นเดียวกัน ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆให้ครบถ้วน ถูกต้อง โดยเฉพาะยาแก้ปวด และยาช่วยย่อยอาหารต่างๆ
  • เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เลิก/ไม่สูบบุหรี่
  • ปรับพฤติกรรมการกินอาหาร ที่สำคัญ คือ
    • จำกัดอาหารไขมัน
    • จำกัดอาหารประเภทเนื้อแดง (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความ เรื่อง เนื้อแดง-เนื้อขาว-เนื้อดำ)
    • หลีกเลี่ยงอาหารทอด
    • หลีกเลี่ยงอาหาร/เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
    • จำกัด/หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มมีคาเฟอีน(กาเฟอีน) เช่น ชา กาแฟ โคลา เครื่องดื่มชูกำลัง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือมีอาการต่างๆเลวลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องเสียหรือท้องผูกต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคตับอ่อนอักเสบอย่างไร?

การป้องกันโรคตับอ่อนอักเสบ ที่สำคัญ คือ การลดปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamorr.com บทความเรื่อง นิ่วในถุงน้ำดี)
  • เลิก/ไม่ดื่มสุรา
  • เลิก/ไม่สูบบุหรี่
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
  • ไม่กินยาพร่ำเพรื่อ กินเฉพาะเมื่อจำเป็น และเมื่อซื้อยากินเอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาถึงผลข้างเคียงของยาเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Braganza, J. et al. (2011). Chronic pancreatitis. Lancet. 377, 1184-1197.
  2. Carroll, J. et al. (2007). Acute pancreatitis: diagnosis, prognosis, and treatment. Am Fam Physician. 75, 1513-1520
  3. Frossard, J. et al. (2008). Acute pancreatitis. Lancet.371, 143-152
  4. Nair, R. et al. (2007). Chronic pancreatitis. Am Fam Physician. 76,1679-1688
  5. http://emedicine.medscape.com/article/181364-overview#showall [2010,Jan18]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/181554-overview#showall [2010,Jan18]
  7. http://en.wikipedia.org/wiki/Pancreatitis [2010,Jan18]
  8. https://www.karger.com/Article/Fulltext/365306 [2010,Jan18]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Chronic_pancreatitis [2010,Jan18]
  10. https://www.hindawi.com/journals/grp/2017/1219464/ [2010,Jan18]