การตรวจเลือด การเจาะเลือดตรวจ (Blood test)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

การตรวจเลือด หรือ การเจาะเลือดตรวจ (Blood test) เป็นการตรวจวินิจฉัยโรควิธีหนึ่งที่ช่วยแพทย์ในการหาสาเหตุของอาการ หรือของภาวะต่างๆทั้งที่ปกติและที่ผิดปกติ หรือของโรค ซึ่งการรู้สาเหตุจะนำมาซึ่งการดูแลรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย

การตรวจเลือด เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ /การตรวจทางห้องแลบ (Laboratory test ย่อว่า Lab test) ที่มีขั้นตอน วิธีการที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และไม่ค่อยเกิดผลข้างเคียง และถ้าเกิด ก็จะเป็นผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่มักไม่รุนแรง ดังนั้นการตรวจเลือดจึงเป็นการตรวจที่ให้บริการได้แม้ในคลินิกทั่วไปที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ยกเว้นการตรวจเลือดเฉพาะโรคบางชนิดเท่านั้นที่มีให้บริการเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง หรือโรงพยาบาลที่เป็นสถานศึกษา เช่น การตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น

การตรวจเลือด เป็นวิธีการตรวจที่ตรวจได้ในทุกเพศและทุกวัยตั้งแต่ทารกในครรภ์ ไปจนถึงผู้สูงอายุ

ค่าใช้จ่ายในการตรวจเลือดที่เป็นการตรวจพื้นฐาน (เช่น ซีบีซี, ค่าน้ำตาลในเลือด, ค่าการทำงานของตับและไต) จะไม่แพง ผู้ป่วยสามารถเสียค่าใช้จ่ายได้ และมักรวมอยู่ในการให้บริการฟรีของรัฐ

การตรวจเลือดพื้นฐาน หรือการตรวจเลือดในการตรวจสุขภาพทั่วไปที่รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี ได้แก่ การตรวจเลือด

  • ซีบีซี / CBC ดูเม็ดเลือดและการทำงานของไขกระดูก ซึ่งเรียกการตรวจนี้ว่า การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด
  • ดูค่าน้ำตาลในเลือด/ ตรวจดูโรคเบาหวาน)
  • ดูค่าไขมันในเลือด ดูโรคไขมันในเลือดสูง
  • ดูค่าการทำงานของตับ และของไต เพื่อดูโรคตับ โรคไต ในเบื้องต้น และ
  • ดูค่าเกลือแร่ในเลือด เพื่อดูภาวะสมดุลของเกลือแร่

การตรวจเลือดโดยทั่วไปเกือบทั้งหมด เป็นการเจาะตรวจจากหลอดเลือดดำ ยกเว้นบางครั้งที่เป็นการตรวจวินิจฉัยบางโรค บางภาวะ ที่จำเป็นต้องตรวจจากเลือดแดง/หลอดเลือดแดง เช่น ในภาวะผิดปกติของการหายใจที่เรียกว่า Respiratory alkalosis (ภาวะความเป็นกรดด่างและออกซิเจนในเลือดแดงผิดปกติ) ซึ่งการตรวจเลือดจากหลอดเลือดแดง แพทย์จะเป็นผู้เจาะเลือดเอง แต่ถ้าเป็นการเจาะตรวจจากหลอดเลือดดำ อาจเป็นแพทย์ พยาบาล หรือบุคคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมสำหรับการนี้

เนื่องจากการตรวจเลือด เป็นการตรวจที่ง่าย สะดวก ให้บริการได้ทุกแห่ง ไม่เจ็บมาก โดยทั่วไปไม่มีผลข้างเคียงจากการตรวจ ค่าใช้จ่ายไม่แพง และช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งใช้เป็นข้อมูลป้องกัน/ดูแลโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคไต, โรคตับ, เป็นต้น จึงเป็นการตรวจที่แพทย์นิยมที่สุด รองจากการตรวจร่างกาย

การตรวจเลือดมีประโยชน์ หรือมีข้อบ่งชี้อย่างไร?

การตรวจเลือด

ประโยชน์/ข้อบ่งชี้ของการตรวจเลือด ได้แก่

  • แยกว่า อาการไข้ เกิดจากการติดเชื้อหรือไม่ และน่าจะเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย หรือจากเชื้อไวรัส
  • ตรวจการทำงานของเนื้อเยื่อ/ อวัยวะสำคัญต่างๆว่า ปกติ หรือ ผิดปกติ และมากน้อยเพียงใด เช่น ตรวจการทำงานของไขกระดูก ของไต ของตับ
  • ช่วยวินิจฉัยโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคไต, โรคตับ, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เช่น เอชไอวี, ซิฟิลิส)
  • วินิจฉัยชนิดของเชื้อโรค เช่น ในการตรวจเพาะเชื้อ, ในโรคไข้จับสั่น
  • วินิจฉัยโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งตับ บางชนิด (ชนิด HCC), โรคมะเร็งอัณฑะ , โรคมะเร็งรังไข่ , โรคมะเร็งสมองบางชนิด (เช่น เนื้องอกเจิมเซลล์)
  • ใช้ประเมินผลรักษาและติดตามผลการรักษาในโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคตับ, โรคไต, และโรคมะเร็งบางชนิดที่เซลล์มะเร็งสร้างสารมะเร็ง (Tumor marker)
  • วินิจฉัย และติดตามผล โรคเลือดทุกชนิด
  • ช่วยวินิจฉัยและหาสาเหตุของโรคซีด
  • วินิจฉัยโอกาสเกิดเลือดออกแล้วหยุดยาก
  • วินิจฉัยประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อในการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา
  • เป็นการตรวจสุขภาพโดยทั่วไป เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น

ข้อห้ามตรวจเลือดมีอะไรบ้าง?

ไม่มีข้อห้ามในการตรวจเลือด เพราะเป็นการตรวจที่เกือบไม่มีผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อน

ผลข้างเคียงจากการตรวจเลือดมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากการตรวจเลือด ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ ข้อห้ามฯ’ คือทั่วไปไม่มีผลข้างเคียง ยกเว้น

  • เมื่อเจาะเลือดแล้วกดรอยเจาะเลือดไม่ดีโดยเฉพาะเมื่อเป็นโรคเลือดหรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ นอกจากเลือดอาจออกมาก ยังอาจเกิดรอยห้อเลือดได้ซึ่งจะหายได้เอง
  • ในผู้ป่วยที่เลือดออกแล้วหยุดยากที่ต้องกดรอยเจาะเลือดให้แน่นและนานพอตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ เพราะเลือดที่ออกจากแผลเจาะจะหยุดยาก
  • แผลเจาะเลือดอาจติดเชื้อถ้าผู้เจาะเลือดไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และ/หรือใช้อุปกรณ์การเจาะฯ/เข็มที่ไม่สะอาดพอ

ขั้นตอนการตรวจเลือดเป็นอย่างไร?

ขั้นตอนในการตรวจเลือดมีดังนี้

ก. การพบแพทย์: การตรวจเลือดที่ถูกต้องควรเป็นการตรวจตามคำแนะนำของแพทย์ คุณควรพบแพทย์ก่อน เพื่อการพูดคุยปรึกษาประวัติทางการแพทย์ต่างๆของคุณ เช่น โรคประจำตัว, การใช้ยาต่างๆ, ข้อบ่งชี้ในการตรวจเลือดของคุณ, และการตรวจร่างกาย ทั้งนี้รวมถึง น้ำหนักตัว, ส่วนสูง, การตรวจสัญญาณชีพ (ชีพจร, อัตราการหายใจ, อุณหภูมิร่างกาย, และความดันโลหิต) ซึ่งทั้งหมดจะเป็นข้อมูลสำคัญในการช่วยแพทย์ในการแปลผลที่ได้จากการตรวจเลือดได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม

ข. การเตรียมตัวก่อนตรวจเลือด: คือ การงดอาหาร น้ำดื่ม และยาต่างๆก่อนตรวจเลือด ซึ่งมักเป็นระยะเวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง (บางตำราว่า 6-8ชั่วโมงน่าจะใช้ได้) ซึ่งโดยทั่วไปเพื่อความสะดวกมักตรวจเลือดประมาณ 8 โมงเช้า ดังนั้น แพทย์ พยาบาลจึงแนะนำให้งดอาหาร น้ำดื่มตั้งแต่เที่ยงคืนไปจนกว่าจะเจาะ/ตรวจเลือดแล้วเสร็จ ผู้ป่วยจึงควรเตรียมยาต่างๆที่บริโภคอยู่มาด้วย เพื่อการกินยาตามปกติหลังการตรวจเลือดเสร็จสิ้น ส่วนอาหาร สถานพยาบาลที่บริการการตรวจเลือดมักมีอาหารขายอยู่แล้วซึ่งสามารถรับประทานอาหารตามปกติได้เลยหลังตรวจเลือดแล้วเสร็จ

  • การงดอาหาร น้ำดื่ม และยาต่างๆ ก็เพื่อให้การตรวจได้ผลถูกต้อง โดยไม่ได้รับการรบกวนจากสิ่งที่บริโภค นอกจากค่าการตรวจจะถูกต้องแม่นยำแล้ว ยังสามารถใช้เปรียบเทียบค่าการตรวจในแต่ละครั้งได้แม่นยำ เพราะไม่มีตัวกวนจากสิ่งที่บริโภค
  • อย่างไรก็ตาม มีการตรวจเลือดบางชนิด ที่จะไม่ถูกรบกวนจากการบริโภค การตรวจจึงทำได้เลย ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร งดยา เช่น การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC), การตรวจเพาะเชื้อจากเลือด เป็นต้น
  • ดังนั้นในการตรวจเลือด จึงควรถามแพทย์ พยาบาลให้แน่นอนว่า ต้องงดอาหาร น้ำดื่ม ยา หรือไม่ และจะกลับมาบริโภคได้เมื่อไหร่ เพราะเจ้าหน้าที่ที่เจาะเลือด จะไม่ทราบข้อมูลการตรวจของคุณ จึงไม่สามารถแนะนำ และตอบคำถามของคุณได้ถูกต้อง
  • เนื่องจากการตรวจเลือด มักเจาะเลือดที่ข้อพับแขน การสวมใส่เสื้อแขนสั้น จึงสะดวกกว่า ถ้าใส่เสื้อแขนยาว ควรเลือกสีเข้ม เพราะการใส่สีขาว เมื่อเปื้อนเลือดจะเห็นได้ชัด และซักออกได้ยาก

ค. วิธีตรวจเลือด และการดูแลตนเองหลังตรวจเลือด: โดยทั่วไป เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยนั่งเก้าอี้ แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในรถนอนหรือผู้ป่วยที่ต้องนอนเตียงก็จะตรวจเลือด/เจาะเลือดได้ในท่านอน ทั้งนี้ตำแหน่งที่หลอดเลือดจะเห็นเด่นชัด คลำพบ และมีขนาดใหญ่พอดีกับการตรวจ คือหลอดเลือดที่ข้อพับแขนด้านใดก็ได้ที่ผู้ป่วยสะดวกหรือที่เห็นหลอดเลือดชัดเจน ผู้เจาะจะมีวิธีกระตุ้นให้หลอดเลือดเด่นชัด โดยใช้สายรัด รัดเหนือหลอดเลือดที่จะเจาะ อาจให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวข้อพบ หรือตบเบาๆ อาจให้ผู้ป่วยกำมือ เมื่อเห็นและ/หรือคลำหลอดเลือดได้ชัดเจน ก็จะเช็ดทาบริเวณที่จะเจาะเลือดเพื่อทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแอลกอฮอล์ เมื่อน้ำยาแห้งก็จะ ทำการเจาะเลือดโดยใช้เข็มสะอาดขนาดเล็ก ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และดูดเลือดเข้ากระบอกบรรจุให้ได้ปริมาณเลือดตามความต้องการตรวจ ปลดสายรัด (ระหว่างดูดเลือดผู้ป่วยจะกำมือ หรือแบมือปกติก็ได้ ไม่มีผลต่อการไหลของเลือด) เมื่อได้ปริมาณเลือดครบ ก็จะถอนเข็มออก โดยมีสำลีสะอาดกดรอยเจาะเลือด และจะปิดเทปไว้เพื่อรัดให้สำลีแน่น เป็นการสิ้นสุดการเจาะเลือด ถ้าผู้ป่วยไม่มีนัดตรวจอื่นที่ต้องงดอาหาร ก็สามารถกินอาหาร กินยาได้ตามปกติ กลับไปทำงาน กลับบ้าน หรือกลับไปพบแพทย์ได้ตามปกติ หรือพบแพทย์ตามวันนัดฟังผล เจ้าหน้าที่/แผนกเจาะเลือดไม่มีหน้าที่แจ้งผลตรวจกับผู้ป่วยหรือกับครอบครัวผู้ป่วย

ทั้งนี้ ก่อนเจาะเลือด เจ้าหน้าที่ จะตรียมอุปกรณ์สำหรับการนี้ให้พร้อมก่อน คือ อ่านใบสั่งจากแพทย์, เตรียมหลอดใส่เลือด, และปิดชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวผู้ป่วย วันที่ เข็ม กระบอกเจาะ สายรัดแขน หมอนหนุนแขน สำลีแอลกอฮอล์ และ สำลีเปล่าที่ใช้กดรอยเจาะ เป็นต้น

บางครั้งในการตรวจซีบีซี เพียงการตรวจเดียว ซึ่งสามารถใช้ปริมาณเลือดเป็นหยดได้ การตรวจจึงอาจโดยการใช้ปลายเข็มเจาะจากปลายนิ้วที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน เช่น นิ้วนาง ทั้งนี้ภายใต้เทคนิคที่สะอาดปลอดภัยเช่นเดียวกับการเจาะเลือด

อนึ่ง: ผู้ป่วยต้องดูแลตนเองหลังเจาะเลือด โดยต้องช่วยกดสำลีให้แน่น หรือ พบข้อแขนให้แน่นด้วย โดยทั่วไปประมาณ 1-2 นาที เลือดก็จะหยุดไหล อย่ารีบทิ้งสำลี รอให้แน่ใจจริงๆว่าเลือดหยุดแน่นอน จึงทิ้งสำลีในถังขยะทั่วไปได้ แต่ถ้าเห็นสำลีชุ่มเลือด หาผ้าสะอาดกดทับรอยเจาะเลือดให้แน่นพร้อมต้องรีบกลับไปที่แผนกที่ผู้ป่วยรักษาอยู่ หรือ แผนกฉุกเฉิน เพราะที่ห้องเจาะเลือดไม่มี แพทย์ พยาบาล ที่จะดูแลเรื่องนี้

ง. การแปลผล: การแปลผลการตรวจเลือดที่ถูกต้อง ต้องเป็นการแปลผลจากแพทย์เท่านั้น ดังได้แนะนำตังแต่แรกแล้วว่า ก่อนตรวจเลือดควรพบแพทย์ก่อน ซึ่งแพทย์จะนัดฟังผลตรวจ ดังนั้นถ้าเป็นโปรแกรมรับตรวจเลือดโดยไม่มีการพบแพทย์ก่อน หรือผู้แปลผลไม่ใช่แพทย์ คุณควรไตร่ตรองก่อนตัดสินใจตรวจ ไม่ควรดูที่ราคาเพียงอย่างเดียว

นอกจากนั้น ผลการตรวจเลือดระหว่างห้องตรวจ/ห้องแลบต่างๆอาจไม่ตรงกันเพราะต่างกันในเทคนิค (เช่น ยี่ห้อเครื่องตรวจ หรือ น้ำยาตรวจ) ดังนั้น ในการตรวจจึงจำเป็นต้องมีค่าปกติของแต่ละการตรวจกำกับในใบรายงานผลด้วยเสมอ เมื่อท่านอ่านผลเอง ควรต้องดูค่าปกติของแต่ละการตรวจควบคู่ไปด้วยเสมอ

จ. การรับทราบผล: ในการตรวจเลือด มี 2 กรณี คือ

  • ถ้าต้องการผลรีบด่วน มักจะได้ผลในระยะเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง (ค่าใช้จ่ายในการตรวจจะสูงขึ้น และ ผลตรวจที่ได้อาจผิดพลาดได้) ซึ่งจะใช้เฉพาะกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นหลัก
  • แต่โดยทั่วไป ผลตรวจเลือดโดยทั่วไปจะได้รับผลตรวจจากห้องแลบประมาณ 24 ชั่วโมงหลังตรวจ แต่การฟังผลมัก ขึ้นกับ มีการตรวจอื่นๆที่แพทย์ต้องใช้แปลผลร่วมกัน เช่น เอกซเรย์ หรือผลจากการตรวจทางพยาธิวิทยา รวมทั้งความรุนแรงของอาการผู้ป่วย และวันทำงานของแพทย์ด้วย ดังนั้นทั่วไปแพทย์มักนัดฟังผลพร้อมผลการตรวจอื่นๆ

ตัวอย่าง คำย่อ ในการตรวจเลือดพื้นฐานที่ควรทราบ

คำย่อที่ใช้ นิยมอ่านตรงตามอักษร เช่น CBC อ่านว่า ซี-บี-ซี, BUN อ่านว่า บี-ยู-เอน, เป็นต้น ซึ่งการตรวจที่ใช้บ่อย ใช้ คำย่อ ดังนี้

  • Alb (Albumin), Glob (Globulin) คือ ค่าสารโปรตีนในเลือด
  • Bilirubin คือ สารสีเหลือง ที่ทำให้เกิดภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง (โรคดีซ่าน)
  • Ca (Calcium) คือ ค่าแคลเซียม
  • Cr (Creatinine), BUN (Blood urea nitrogen) ดูการทำงานของไต
  • CBC คือการตรวจการทำงานของไขกระดูก หรือ ความสมบูรณ์ของเลือด ที่จะประกอบด้วยค่าต่างๆที่สำคัญคือ
    • Hgb (Hemoglobin), Hct (Hematocrit) , rbc (red blood cell) คือ ปริมาณเม็ดเลือดแดง ทั้ง 3 ตัว ใช้บอกค่าเม็ดเลือดแดง
    • wbc (white blood cell) คือ เม็ดเลือดขาว
    • plt (platelet) คือ เกล็ดเลือด
  • FBS (Fasting blood sugar) หรือ PBS (Plasma blood sugar) คือ ค่าน้ำตาลในเลือด
  • LDL คือ ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี
  • HDL คือไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี
  • Na หรือบางครั้ง อาจใช้ว่า N (Sodium), K (Potassium) คือ เกลือแร่สำคัญ
  • SGOT (AST), SGPT (ALT), ALK คือ ค่าการทำงานของตับ
  • Cholesterol/คอเลสเตอรอล หรือ Total cholesterol คือ ค่าไขมันคอเลสเตอรอลรวมทั้งหมด
  • Triglyceride คือ ไขมันที่เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด(โรคหัวใจ2)
  • Uric acid คือ กรดยูริค ที่เกี่ยวกับโรคเกาต์

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Blood [2019,Sept28]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Blood_test [2019,Sept28]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_human_blood_components [2019,Sept28]
  4. https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/blood-tests [2019,Sept28]